สารบัญ

O-nigiri

โอนิกิริ อาหารแห่งจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น

หลังจากที่กระแส ‘โอนิกิริ’ ฟีเวอร์กำลังระบาดไปทั่วเมืองอยู่ในตอนนี้ สัปดาห์นี้ Kiji จึงอดไม่ได้ที่จะหยิบเรื่องราวของโอนิกิริทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย มาตีแผ่และรีวิวจัดอันดับความอร่อยของโอนิกิริแบบไม่ต้องเสี่ยงทาย เพราะเราชิมให้คุณแล้ว จากโอนิกิริกว่า 69 ก้อน ที่มีขายอยู่ในกรุงเทพฯ

“にぎり” (อ่านว่า นิกิริ) แปลว่า “ปั้น” ส่วน” “お” (อ่านว่า โอ) คือ คำนำหน้ารูปสุภาพของคำว่า “ปั้น” เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน ก็จะได้คำว่า “おにぎり” (อ่านว่า โอนิกิริ) แปลว่า “ข้าวปั้น” ซึ่งเป็นอาหารแห่งจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น (Soul Food) ตัวแทนของรสชาติบ้านๆ ที่อบอุ่นและแสนคุ้นเคย ทำเองได้ง่าย ใช้ส่วนประกอบไม่มาก ไม่ต้องใช้เวลานานในการเตรียมและปรุง สามารถกินได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ใช้ตะเกียบ ช้อน ส้อม จะกินเป็นของว่างหรืออาหารมื้อหลักก็ได้ และในปัจจุบันคนญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องทำโอนิกิริกินเองอีกต่อไปแล้ว เพราะสามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงได้ทั่วไป

ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า คนญี่ปุ่นเริ่มปั้นข้าวกินกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ถูกขุดค้นพบที่จังหวัดอิชิกะวะ

(Ishikawa) คือซากฟอสซิลก้อนข้าวปั้นอายุกว่า 2,000 ปี จึงทำให้เราสามารถบอกได้ว่า คนญี่ปุ่นปั้นข้าวกินกันมาอย่างน้อยตั้งแต่ตอนต้นคริสต์ศักราชกันแล้ว แต่ในช่วงประมาณ 1,500 ปีแรก (ค.ศ.0 – ค.ศ.1500) ทุกคนยังไม่ได้มีข้าวปั้นกินกันทั่วไป เนื่องจากข้าวปั้นถูกจัดว่า เป็นอาหารสำหรับคนชั้นสูงและทหารกับนักรบที่มีเกียรติเท่านั้น กว่าข้าวปั้นจะกลายเป็นอาหารที่กินกันอย่างแพร่หลายในคนทุกระดับชั้น ก็เป็นช่วงยุคเอโดะ (ค.ศ.1600 – ค.ศ.1868) และในช่วงนี้เองมีการเริ่มนำสาหร่ายแผ่นแห้งมาห่อข้าวปั้น เพื่อไม่ให้เมล็ดข้าวเหนียวติดมือเวลาหยิบกิน ต่อมาในปี ค.ศ. 1978 ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ทำโอนิกิริออกวางจำหน่ายเป็นเจ้าแรกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่า ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจนร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ต้องทำโอนิกิริออกมาขายตามๆ กัน

 

เมื่อโอนิกิริมารวมร่างเข้ากับของดีประจำท้องถิ่น!

โอนิกิริไม่ได้มีแค่รูปทรงสามเหลี่ยมอย่างที่เรามักพบเห็นกันทั่วไปเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องถูกห่อด้วยแผ่นสาหร่ายแห้งสีดำๆ เสมอไปด้วย แท้จริงแล้วโอนิกิริมีความหลากหลายมาก ทั้งในด้านรูปร่าง รสชาติ ชนิดพันธุ์ข้าวที่นำมาใช้ ตลอดจนวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันจนได้เป็นโอนิริกิหนึ่งก้อน ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อโอนิกิริมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นผลผลิตท้องถิ่นที่จะแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่นี่แหละ ถ้าจังหวัดนั้นๆ เมืองนั้นๆ ปลูกอะไรได้เยอะ เป็นแหล่งจับปลาชนิดไหน หรือมีของดีประจำถิ่นเป็นอะไร ท้ายที่สุดก็จะถูกจับมาผสมกับข้าว และปั้นออกมาเป็นโอนิกิริได้ทั้งหมด
Photo By Onigiri Society

 

ซาเกะยาม่าสึเกะโอนิกิริ ข้าวปั้นผสมเนื้อปลาแซลมอนหมักเกลือและมีไข่ปลาแซลมอนเป็นท็อปปิ้ง ของ จ.ฮอกไกโด

จังหวัดฮอกไกโด

ซาเกะยาม่าสึเกะโอนิกิริ
ข้าวปั้นผสมเนื้อปลาแซลมอนหมักเกลือและมีไข่ปลาแซลมอนเป็นท็อปปิ้ง

 

คิคุคะโอะริโอนิกิริ ข้าวปั้นผสมเห็ด ถั่ว และดอกเบญจมาศ ของ จ.อะโอะโมะริ

จังหวัดอะโอะโมะริ

คิคุคะโอะริโอนิกิริ
ข้าวปั้นผสมเห็ด ถั่ว และดอกเบญจมาศ

 

มิโซะยากิโอนิกิริ ข้าวปั้นย่างมิโซะและประกบด้วยใบโอบะ ของ จ.ยามากาตะ

จังหวัดยามากาตะ

มิโซะยากิโอนิกิริ
ข้าวปั้นย่างมิโซะและประกบด้วยใบโอบะ

 

จังหวัดอิบารากิ

นัตโตะโอนิกิริ
ข้าวปั้นผสมถั่วหมักกับปลาชิราสึสองวัตถุดิบขึ้นชื่อประจำจังหวัด

 

โทโรโระคอมบุโอนิกิริ ข้าวปั้นคลุกสาหร่ายฝอย ของ จ.โทยามะ

จังหวัดโทยามะ

โทโรโระคอมบุโอนิกิริ
ข้าวปั้นคลุกสาหร่ายฝอยทั้งนี้จังหวัดโทยามะเป็นจังหวัดที่บริโภคสาหร่ายเป็นอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

 

อิกะโนะทาคิโกะมิโกฮังโอนิกิริ ข้าวปั้นจากข้าวหุงปลาหมึกถือเป็นอาหารประจำฤดูใบไม้ร่วง ของ จ.อิชิกะวะ

จังหวัดอิชิกะวะ

อิกะโนะทาคิโกะมิโกฮังโอนิกิริ
ข้าวปั้นจากข้าวหุงปลาหมึกถือเป็นอาหารประจำฤดูใบไม้ร่วง

 

โนซาวะนะโตะคาริคาริอุเมะโอนิกิริ ข้าวปั้นผสมผักโนซาวะนะและบ๊วยเม็ดเล็ก ของ จ.นากาโน่

จังหวัดนากาโน่

โนซาวะนะโตะคาริคาริอุเมะโอนิกิริ
ข้าวปั้นผสมผักโนซาวะนะและบ๊วยเม็ดเล็ก

 

 เท็นมุสึโอนิกิริ ข้าวปั้นไส้กุ้งเทมปุระทั้งตัวห่อสาหร่าย ของ จ.มิเอะ

จังหวัดมิเอะ

เท็นมุสึโอนิกิริ
ข้าวปั้นไส้กุ้งเทมปุระทั้งตัวห่อสาหร่าย

 

นาเอะเมชิ ข้าวปั้นผสมเมล็ดถั่วแดงคลุกผงถั่วเหลืองคั่วป่น ของ จ.เกียวโต

จังหวัดเกียวโต

นาเอะเมชิ
ข้าวปั้นผสมเมล็ดถั่วแดงคลุกผงถั่วเหลืองคั่วป่น

 

ชิโอะคอมบุโอนิกิริ ข้าวปั้นทรงถุงใส่ข้าวสารญี่ปุ่นผสมสาหร่ายดองเกลือ ของ จ.โอซาก้า

จังหวัดโอซาก้า

ชิโอะคอมบุโอนิกิริ
ข้าวปั้นทรงถุงใส่ข้าวสารญี่ปุ่นผสมสาหร่ายดองเกลือ

 

ซึดะชิโอนิกิริ ข้าวปั้นผสมมะนาวญี่ปุ่นและเนื้อปลาแซลมอนย่าง ของ จ.โทคุชิมะ

จังหวัดโทคุชิมะ

ซึดะชิโอนิกิริ
ข้าวปั้นผสมมะนาวญี่ปุ่นและเนื้อปลาแซลมอนย่าง

 

คัตสึโอะเมชิโอนิกิริ ข้าวปั้นผสมเนื้อปลาคัตสึโอะชิ้นโตๆ ของ จ.โคจิ

จังหวัดโคจิ

คัตสึโอะเมชิโอนิกิริ
ข้าวปั้นผสมเนื้อปลาคัตสึโอะชิ้นโตๆ

 

รีวิว 5 โอนิกิริ ปังๆ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น

เราเชื่อว่าหลายๆ คนต้องรักอาหารที่เวรี่เจแปนนีสตั้งแต่วัตถุดิบยันรูปทรงอย่างข้าวปั้นแน่ๆ รสอร่อย  ราคาไม่แพง หาซื้อง่าย แถมยังมีไส้/ท็อปปิ้งหลากรสให้เลือกลองตามจริตนิยม ซึ่งนับวันจะยิ่งล้ำและพัฒนาไปไกลขึ้นทุกที วันนี้เราคัดข้าวปั้น Top 5 ในใจมาแชร์ความอร่อยให้ปักหมุดไปตามกินกันตามสะดวก

 

โอนิกิริหน้า Salmon กับ Ikura (Family Mart)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โอนิกิริหน้า Salmon กับ Ikura (Family Mart)

โอนิกิริหน้า Salmon กับ Ikura

 

รัก รัก รัก คือ 3 คำที่ขอมอบให้แซลมอนปลายอดรักและน้องไข่ปลาอิคุระในรูปแบบโปะด้านบนข้าวปั้นปรุงรส ตามสไตล์ Harakomeshi อาหารขึ้นชื่อของเมืองเซ็นได จังหวัดมิยะงิ ปั้นด้วยข้าวญี่ปุ่นแท้ออกรสชาติเค็มนิดๆ กลิ่นละมุน อร่อยกลมกล่อม ไม่เด่นแย่งซีนท็อปปิ้งด้านบน เนื้อและไข่ปลาดีงามตามมาตรฐาน

 

โอนิกิริหน้าไก่ซึคุเนะย่างซอส (Family Mart)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โอนิกิริหน้าไก่ซึคุเนะย่างซอส (Family Mart)

โอนิกิริหน้าไก่ซึคุเนะย่างซอส

 

กัดคำแรกก็สัมผัสได้ถึงรสซอสเทอริยากิเข้มข้นในเนื้อไก่บด เข้ากันได้ดีกับข้าวสวยและสาหร่ายที่พาดบางๆ กินง่าย เพราะรสชาติใกล้เคียงอาหารไทย คนที่ชอบกินข้อไก่คงฟิน เพราะเขาบดผสมลงไปกับเนื้อไก่ให้ได้รสสัมผัสกรุบๆ ตอนเคี้ยวด้วย

 

โอนิกิริหน้าหมูย่าง (Lawson)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โอนิกิริหน้าหมูย่าง (Lawson)

โอนิกิริหน้าหมูย่าง

 

ความประทับใจแรกคือ หีบห่อเลอค่า วัตถุดิบที่ใช้ก็ไฮโซไม่แพ้กัน เนื้อหมูชั้นดีมาจากสเปน ส่วนข้าวใช้พันธุ์ Koshihikari อันโด่งดังจากจังหวัดนีงาตะ เมื่อกัดกินพร้อมสาหร่ายซึ่งมีรสเค็มอ่อนๆบวกกับรสเข้มข้นของซอสและรสหวานธรรมชาติของข้าว ก็ผสมผสานกันอย่างลงตัว เนื้อหมูนุ่มกำลังดี กินง่าย อุ่นให้ร้อนก่อนกินยิ่งอร่อย

 

โอนิกิริสไตล์ข้าวห่อไข่ Omu Rice (7-Eleven)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โอนิกิริสไตล์ข้าวห่อไข่ Omu Rice (7-Eleven)

โอนิกิริสไตล์ข้าวห่อไข่ Omu Rice

 

ยอมใจในไอเดียเก๋ที่หยิบเมนูแหวกขนบมาทำเป็นข้าวปั้น รสสัมผัสของไข่ที่โปะอยู่ด้านบน นุ่มเนียนเกินความคาดหวังและหนากว่าเจ้าอื่นในเมนูเดียวกัน ข้าวผัดซอสมะเขือเทศรสหนักเปรี้ยวไปนิด แต่เขาเคลมว่ามีไลโคปินเทียบเท่ามะเขือเทศ 1 ลูกเชียว ถ้าซื้อไก่คาราอาเกะมากินคู่กัน คือลงตัวสุดๆ

 

โอนิกิริทรงเครื่องผสมถั่วแระ, ข้าวบาร์เลย​์และสาหร่าย (Lawson)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โอนิกิริทรงเครื่องผสมถั่วแระ, ข้าวบาร์เลย​์และสาหร่าย (Lawson)

โอนิกิริทรงเครื่องผสมถั่วแระ, ข้าวบาร์เลย​์และสาหร่าย

 

ข้าว ถั่ว และสาหร่ายทรงเครื่องก้อนนี้เหมาะกับสายเฮลตี้มากๆ ในความผักไร้ท็อปปิ้ง มีความอร่อยกลมกล่อมที่มนุษย์ชอบกินเนื้อยังถูกใจ ชอบที่ความหวานของถั่วรับกับรสเค็มของข้าวอย่างลงตัว แถมเคี้ยวหนึบเพลินๆ กินเปล่าๆ กับซุปมิโซะร้อนๆ สักถ้วยคือฟีลลิ่งบิวตี้ฟูลจากภายใน หรือจะกินกับโปรตีนอื่นๆ ก็ลงตัว

 

รีวิว โอนิกิริ ไม่เสี่ยงทายในกรุงเทพฯ โดยกองบรรณาธิการ KIJI

อย่างที่เราได้เกริ่นนำไปแล้วในหน้าแรกว่า นี่จะเป็นรีวิวความอร่อยของโอนิกิริแบบที่คุณไม่ต้องมาเสี่ยงทายซื้อโอนิกิริมาชิมเองทีละก้อนว่า ก้อนไหนอร่อย ก้อนไหนไม่อร่อย โดยกองบรรณาธิการของ KIJI ได้ซื้อโอนิกิริ 69 ก้อน จาก 7 แหล่งในย่านสุขุมวิทมาชิมกันทั้งหมดแล้ว (เกณฑ์การให้คะแนนเป็นระดับความพึงพอใจของทีมงาน KIJI ซึ่งเป็นความชอบส่วนบุคคลค่ะ)

 

1. Karubi Buta Onigiri (Fuji Supermarket)

(40 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Karubi Buta Onigiri (Fuji Supermarket) ราคา 40 บาท

 

สำหรับอันดับที่ 1 ของเรานี้ ถ้าเป็นในด้านของรสชาติแล้ว ทุกคนแอบอยากที่จะให้ 10/10 คะแนนด้วยซ้ำ เพราะเนื้อหมูในซอสปรุงรสหอมมาก  แต่ติดอยู่แค่นิดเดียวคือ ปริมาณในส่วนของเนื้อหมูแสนอร่อยที่เป็นไส้ตรงกลางที่ออกจะมีน้อย และเราแอบรู้สึกว่า ไม่ค่อยสมดุลกับปริมาณข้าวสักเท่าไหร่

 

2. Pork Basil Onigiri with Fried Egg (Family Mart)

(35 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Pork Basil Onigiri with Fried Egg (Family Mart) ราคา 35 บาท

 

หนึ่งในโอนิกิริรสชาติไทยๆ ที่ต้องอุ่นร้อนก่อนกินของร้าน Family Mart เพิ่งเริ่มทำออกมาวางจำหน่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง รสจัด แต่ไม่เค็มมาก ถึงรสชาติผัดกะเพราหมูสับพริกสดจริงๆ แถมมีไข่ดาวเป็นท็อปปิ้งอีกด้วย เชื่อว่า เมนูนี้น่าจะถูกอกถูกใจคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นรสชาติที่เราๆ คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

 

3. Hainanese Chicken Onigiri (Family Mart)

(35 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Hainanese Chicken Onigiri (Family Mart) ราคา 35 บาท

 

และแล้วรสชาติไทยๆ ของร้าน Family Mart ก็เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 3 ด้วย โอนิกิริข้าวมันไก่และข้าวหมกไก่ ที่ข้าวมี 2 สี ประกบติดกันด้วยน้ำจิ้มไก่รสหวานหอม ฝั่งที่เป็นข้าวหมกมีความหอมเครื่องเทศดีมาก โดยรวมแล้วข้าวทั้งสองฝั่งไม่มันเท่ากับข้าวหมกหรือข้าวมันทั่วไป รสชาติอร่อยเพลินอย่างนุ่มนวล แต่ขอติว่า เนื้อไก่แผ่นบางไปนิด

 

4. Salmon Teriyaki Onigiri (7-Eleven)

(27 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Salmon Teriyaki Onigiri (7-Eleven) ราคา 27 บาท

 

จากโอนิกิริ 4 รสชาติที่เราได้ซื้อมาจากร้าน 7-Eleven และมาลองชิมกัน มีเพียงแค่รสนี้รสเดียวเท่านั้นที่สามารถชนะใจกองบรรณาธิการ KIJI และเข้ามาอยู่ในอันดับต้นๆได้ ด้วยเนื้อปลาแซลมอนฉ่ำซอสเทอริยากิ รสเข้มข้น หอมๆ หวานๆ เค็มนิดๆ เนื้อปลาแซลมอนก็ไม่มีกลิ่นคาวเลยอีกด้วย

 

5. Grilled Salmon (Fuji Supermarket)

(35 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Grilled Salmon (Fuji Supermarket) ราคา 35 บาท

 

โอนิกิริไส้เนื้อปลาแซลมอนย่าง ย่างออกมาได้ดี เนื้อไม่แห้งจนเกินไป แต่ปริมาณไส้ค่อนข้างน้อยมาก ต้องกัดกินแต่ข้าวเปล่าๆ ไปสัก 1-2 คำ กว่าจะเจอกับเนื้อปลาแซลมอนในที่สุด แต่ก็ถือว่ารสชาติอร่อยกำลังดี ถ้ากินไปถึงตรงที่มีเนื้อปลาแซลมอนกับข้าวอยู่พร้อมหน้ากัน

 

6. Asari Shigure (Fuji Supermarket)

(40 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Asari Shigure (Fuji Supermarket) ราคา 40 บาท

 

หอยอาซาริ หรือหอยลาย ถูกปรุงรสด้วยซอสที่ออกรสเผ็ดๆ เค็มๆ หวานๆ สัมผัสเคี้ยวหนึบดี ถ้าใครเคยกินยำเอ็นหอยเชลล์ปรุงสไตล์ญี่ปุ่นก็คงพอจะนึกรสชาติของไส้นี้ออกกันบ้าง ในส่วนของตัวหอยลายถูกปรุงรสให้ออกมาค่อนข้างจัดและเข้มข้นอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่ได้ให้ไส้มาเยอะแยะ แต่ต้องขอชมว่า ให้ปริมาณเนื้อหอยออกมาได้สมดุลกับข้าวมาก

 

7. Chicken Teriyaki (Max Valu)

(29 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Chicken Teriyaki (Max Valu) ราคา 29 บาท

 

โอนิกิริของ Max Valu เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 7 กับไส้ไก่เนื้อนุ่ม เคล้าด้วยซอสเทอริยากิรสชาติเข้มข้นกำลังดี แต่ให้ไส้น้อยไปหน่อย จนทำให้ต้องกินแค่ข้าวกับสาหร่ายไปหลายคำ ถ้าเพิ่มปริมาณไส้ให้มากกว่านี้อีกนิด รับรองว่าได้อยู่ในอันดับสูงกว่านี้แน่นอน

 

8. Anago (Peco Peco)

(55 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Anago (Peco Peco) ราคา 55 บาท

 

โอนิกิริไส้อานาโกะ หรือปลาไหลทะเล เป็นไส้ที่ไม่ได้มีขายอยู่ทั่วไป เพราะเนื้อของอานาโกะมีราคาค่อนข้างสูง ถ้าเปรียบเทียบราคากับโอนิกิริไส้อื่นๆ  เพราะเป็นปลาที่จัดว่ามีเนื้อที่ละเอียดและอร่อยอยู่แล้ว ทุกคนในทีม KIJI ก็ลงความเห็นกันว่า เนื้ออานาโกะเนียนละเอียดจริง แต่รสชาติของซอสปรุงรสน่าจะกลมกล่อมกว่านี้อีกสักหน่อย

 

9. Buta Kimuchi (Fuji Supermarket)

(35 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Buta Kimuchi (Fuji Supermarket) ราคา 35 บาท

 

ชื่อโอนิกิรินี้คือ หมูกิมจิ แต่ตอนที่เราผ่าก้อนนี้มาชิมกัน ไม่เจอหมูเลย ก็แอบงง จนต้องกลับไปอ่านชื่อซ้ำอีกครั้ง ว่ามันคือ หมูกิมจิ หรือแค่กิมจิเฉยๆ แต่สรุปมันก็คือ ไส้หมูกิมจิที่ไม่มีเนื้อหมูนี่เอง ก็เลยทำให้จากที่น่าจะได้อันดับสูงกว่านี้เพราะรสชาติดี ก็ต้องร่วงลงมาในอันดับนี้ ไม่รู้ว่าทีมงาน KIJI เจอชิ้นโชคดีที่เจอก้อนที่อาจจะมีแค่หนึ่งในร้อยเข้ารึเปล่ากันนะ

 

10. Salmon Mayonnaise (Lawson)

(40 บาท)

 

โอนิกิริ ในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศไทย : Salmon Mayonnaise (Lawson) ราคา 40 บาท

 

ไส้แซลมอนมายองเนสน่าจะเป็นหนึ่งในไส้โอนิกิริที่ขายมากที่สุด เพราะจากที่เราไปซื้อโอนิกิริมาจาก 7 แห่ง ทุกแห่งล้วนแล้วแต่มีไส้นี้ขายด้วยกันทั้งนั้น อาจจะเป็นเพราะคนไทยชอบกินปลาแซลมอนกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราทุกคนลงความเห็นกันว่า ไส้แซลมอนมายองเนสของ Lawson เนื้อปลาแซลมอนไม่แห้งหรือร่วนจนเกินไป ซอสมายองเนสกลิ่นไม่แรงเท่าไหร่ แต่รสชาติโดยรวมก็สามารถกินได้เพลินๆ  

 

Onigiri Fact

  • ข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จใหม่ๆ คือ ข้าวที่เหมาะสำหรับนำมาทำเป็นโอนิกิริมากที่สุด เพราะข้าวที่เพิ่งหุงสุกจะมีความนุ่มเหนียวและปริมาณความชื้นที่มากกว่าของข้าวที่หุงทิ้งเอาไว้นานแล้ว ทำให้เมล็ดข้าวเกาะตัวกันได้ดีมาก เมื่อถูกนำมาปั้นเป็นก้อนนั้นเอง
  • เกลือถือเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ขาดไม่ได้ในการทำโอนิกิริ นอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติแล้ว เกลือยังช่วยยืดอายุในการเก็บรักษาโอนิกิริอีกด้วย แต่จะใส่มากใส่น้อยก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน
  • ควรทำให้มือทั้งสองข้างเปียกก่อนและจากนั้นก็นำเกลือปริมาณเล็กน้อยมาถูบนฝ่ามือทั้งสองข้าง ง่ายๆแค่นี้ก็สามารถป้องกันไม่ให้ข้าวติดมือเวลาปั้นโอนิกิริได้แล้ว
  • ในสมัยก่อนที่จะมีการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ห่อโอนิกิริ คนญี่ปุ่นมักจะใช้ใบไผ่ห่อโอนิกิริของพวกเขาเวลาที่จะต้องพกติดตัวเดินทางไปไหนมาไหน

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ