Universal Design ในญี่ปุ่นที่วินวินทั้งผู้ออกแบบและผู้ใช้งาน
สารบัญ
Universal Design in Japan
Universal Design หรือ “อารยสถาปัตย์” อย่าเพิ่งตกใจไป จริงๆ แล้วมันก็คือการออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานของคนทุกกลุ่ม แล้วเจ้า Universal Design มาเกี่ยวอะไรกับการเที่ยว ญี่ปุ่น ?
ห้องน้ำอเนกประสงค์ในรถไฟชินคันเซ็น
Universal Design นี่แหละครับที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้พวกเราท่องเที่ยวญี่ปุ่น ได้อย่างสะดวกสบายราบรื่น เห็นอยู่แทบทุกที่ เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราแทบทั้งสิ้น เมื่อปี ค.ศ. 1994 ได้มีการออกกฏหมายเกี่ยวกับอาคารสำหรับผู้พิการและทุพพลภาพออกมาใช้ จึงมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม ระบบขนส่งมวลชน สถานที่สำคัญต่างๆ ฯลฯ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
01 ห้องน้ำ | Toilet
ห้องน้ำในญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในตัวอย่าง Universal Design ที่ชัดเจนที่สุด โดยมีการทำห้องน้ำอเนกประสงค์แยกออกมาต่างหาก รองรับผู้ที่มีความจำเป็นพิเศษทั้งหมด อาทิ ผู้ใช้วีลแชร์ หญิงตั้งครรภ์ รถเข็นเด็ก ผู้พิการทางสายตา ผู้ป่วยที่มีทวารเทียมทางหน้าท้อง ฯลฯ
ภายในห้องจะประกอบด้วย “สิ่งอำนวยความสะดวก” ที่ตอบโจทย์คนแทบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะราวจับ ที่นอนเปลี่ยนเสื้อผ่าเด็ก อ่างล้างทวารเทียมทางหน้าท้อง ปุ่มฉุกเฉินขอความช่วยเหลือ ตำแหน่งสิ่งของที่อยู่ต่ำกว่าปกติสำหรับผู้ใช้วีลแชร์
ห้องน้ำลักษณะนี้อาจเขียนว่า “Multiple-purpose Toilet” พร้อมสัญลักษณ์แสดงอยู่หน้าสุดของโซนห้องน้ำ เป็นมาตรฐานทั่วประเทศญี่ปุ่น ใครพาผู้สูงวัยนั่งวีลแชร์ มีภรรยาตั้งครรภ์ อุ้มเด็กอ่อน ฯลฯ ก็ไม่ต้องคอยห่วงเรื่องห้องน้ำ เที่ยวได้สนุกยาวๆ ไป
ทั้งนี้ ความจำเป็น/ความพิการบางอย่างไม่ได้มองเห็นได้ชัดเจนง่ายๆ จากภายนอก เราก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินคน(ที่ดูปกติ)ที่เข้าใช้บริการล่ะ
02 รถเมล์ | Bus
ญี่ปุ่นกำลังทยอยเปลี่ยนรถเมล์ใหม่เป็นประเภท Non-Step Bus โดยตัวรถสามารถลดระดับลงมารับผู้ใช้วีลแชร์ได้ หากยังขึ้นรถได้ไม่สะดวก คนขับจะหยิบแผ่นทางลาดมาบริการ
เมื่อขึ้นรถไปแล้วก็จะมีโซน Priority Parking จัดไว้ให้กว้างขวาง นอกจากวีลแชร์แล้วยังครอบคลุมคนท้องหรือผู้สูงวัยที่ใช้ไม้เท้า ตัวเบาะสามารถปรับยกขึ้นลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เวลาไม่มีวีลแชร์ก็ปรับลงนั่ง เวลาวีลแชร์มาก็ปรับขึ้น
03 สถานีรถไฟ | Train Station
เที่ยวญี่ปุ่นทั้งที จะหลีกเลี่ยงการขึ้นรถไฟคงจะไม่ได้ เพราะรถไฟเป็นขนส่งมวลชนที่ริเริ่มนำ Universal Design มาประยุกต์ใช้นานมาแล้ว และพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การเข้าสถานี โดยกว่า 97% ของสถานีรถไฟในญี่ปุ่นที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 5,000 คน/วัน เป็นเส้นทางแบบ Barrier-Free ที่ผู้คนต่างเคลื่อนที่ได้โดยไม่รู้สึกถึงอุปสรรค
สถานีหลายแห่งมี “ลิฟต์” ไว้บริการขึ้นลง มีเบรลล์บล็อก (ทางเดินผู้พิการทางสายตา) ครอบคลุมทุกพื้นที่ในตัวสถานีและสามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สถานีได้
แม้แต่ช่องผ่านประตูที่ต้องแตะตั๋วก็ออกแบบให้มีช่องกว้าง เพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์หรือนักท่องเที่ยวที่มีกระเป๋าเดินทางใบโตก็ผ่านทางได้ ตัวรถไฟยังจอดเทียบผิวชานชาลาได้ค่อนข้างแนบเนียน อีกทั้งมีห้องน้ำอเนกประสงค์ไว้บริการในหลายสถานี (สถานีใหญ่มีหมด)
04 ที่จอดรถ | Priority Parking
อีกหนึ่ง Universal Design ที่เห็นได้ง่ายและเป็นกระแสที่ทั่วโลกปรับปรุงทำกันอยู่ Priority Parking หาได้ทั่วไปใน ญี่ปุ่น ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ห้างสรรพสินค้า จุดสังเกตคือมีโลโก้วีลแชร์ ช่องกว้างใหญ่ แต่ไม่มีไม้กั้นอย่างใด และดีไซน์ด้วยสีสันที่ค่อนข้างเรียบๆ ไม่หวือหวา
05 ทางเท้า | Footpath
สิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยคือทางเท้าริมถนนที่เราเดินๆ กันนี่แหละ กุญแจหลักของ Universal Design ในเรื่องนี้คือหลีกเลี่ยงการมีขั้นต่างระดับที่ต้องก้าวขึ้น-ลง เป็นการทำให้ “ไร้ขั้น” (Stepless) นั่นเอง
ไร้ขั้น = ไม่มีสิ่งกีดขวาง สามารถเข็นกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ไปไหนมาไหนได้ราบรื่น ไม่ต้องกลัวสะดุดล้ม ไม่ต้องคอยยกกระเป๋าขึ้นลง
สิ่งที่เยี่ยมคือ ทำสอดคล้องกับทางเข้าอาคาร ทางข้ามต่างๆ เช่น ทางเข้ามีอาคาร ร้านค้าร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า มีรองรับทั้งขั้นบันไดและทางลาด หรือทางข้ามม้าลายเป็นสโลปเรียบเสมอกับผิวทางเท้า
เมื่อพูดถึงทางเท้าก็ต้องขอเกริ่นถึง “ทางเดินผู้พิการทางสายตา” เล็กน้อย เพราะเป็น Universal Design รูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะตัวเมือง ญี่ปุ่น ในถนนใหญ่และซอยหลายแห่งมีทางเดินผู้พิการสายตาครอบคลุมเชื่อมกันเป็นโครงข่าย สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้ เดินไปขึ้นรถไฟเพื่อไปเรียนหรือไปทำงาน
06 รถเข็น | Supermarket Cart
อย่ามองข้ามไป เวลาซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นเขาก็มีจัดประเภทรถเข็นมากมายไว้บริการลูกค้าแต่ละกลุ่ม คุณแม่มากับเด็กอ่อนก็แบบหนึ่ง คนใช้วีลแชร์ก็อีกแบบหนึ่ง เป็นความหลากหลายที่คิดรองรับไว้ตั้งแต่แรกเลย
07 แท็กซี่ | Taxi
เผื่อใครยังไม่ทราบ แท็กซี่ญี่ปุ่นกำลังทยอยเปลี่ยนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งรุ่นใหม่มีความสะดวกสบายและเข้าออกได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ประตูเปลี่ยนเป็นบานสไลด์ กระโปรงหลังเก็บของได้มากขึ้น แถมรองรับผู้ใช้วีลแชร์อีกด้วย!
08 โรงภาพยนตร์ | Theater
ก็มีจัดที่นั่งวีลแชร์ไว้เหมือนกันตามที่ระบุในกฏหมาย ซึ่งแน่นอนเมื่อมีแบบนี้ ทางเดินเข้าโรงหนังและห้องน้ำย่อมสอดคล้องตามกันไปด้วย
อันที่จริงไม่ใช่แค่ที่นั่งในโรงหนังเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงผังที่นั่งลักษณะนี้ทั้งหมดไม่ว่าจะห้องประชุม ห้องสัมมนาต่างๆ เป็นต้น
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง Universal Design ในชีวิตประจำวันที่ ญี่ปุ่น ซึ่งออกแบบโดยคิดคำนึงถึงคนหลากหลายกลุ่มให้ใช้งานง่าย เราในฐานะนักท่องเที่ยวก็พลอยได้อานิสงส์ไปด้วย