อะไรที่ทำให้ชนชาติที่ขึ้นชื่อว่าไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่เคยยอมแพ้อะไรง่ายๆ พ่ายแพ้ได้ สิ่งนั้นย่อมไม่ธรรมดา และน่าจะเหลือบ่ากว่าแรงต่อการต้านทานเป็นแน่ เชื่อหรือไม่ว่านี่คือสิ่งที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นกว่าค่อนประเทศเดือดร้อนและยังหาหนทางที่ดีที่สุดในการจัดการสิ่งเล็กๆ นี้อย่างเด็ดขาดไม่ได้

สิ่งเล็กๆ ที่ว่าก็คือละอองเล็กๆ ที่ปลิวว่อนอยู่ในอากาศและส่งผลให้เกิดอาการจาม น้ำหูน้ำตาไหลกับอาการที่เรียกว่า “คาฟุงโช” ซึ่งหมายถึงอาการแพ้ที่เกิดจากเกสรที่ปลิวมาจากป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่มากมายในประเทศญี่ปุ่น

เกสรที่ว่านี้ปลิวมาจากต้นสุกิ (Japanese Cedar)  ที่ปลูกกันอย่างมหาศาลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ควบคู่กับต้นฮิโนกิ (Japnese Cypress) และเกสรต้นสุกิที่ว่านี้มักจะปลิวมาตามลมเป็นจำนวนมากในทุกๆปีในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงของการเปลี่ยนฤดูจากฤดูหนาวสู่ฤดูใบไม้ผลิ และแน่นอนที่สุดในช่วงดังกล่าวนี้บรรดาสินค้าต่างๆก็มักจะมีผลิตภัณฑ์ป้องกันอาการแพ้พาเหรดออกมาเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์พ่นหน้า ผ้าปิดจมูก รวมไปถึงแว่นตา ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าทุกประเภทมาพร้อมกับงานโฆษณา

งานออกแบบโปสเตอร์ และสื่ออื่นๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพื่อแย่งชิงความสนใจจากบรรดาคนแพ้ทั้งหลาย และหนึ่งในสินค้าที่ทำออกมาได้น่าสนใจมากก็คือ ร้านแว่นตาที่มีสาขาอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “JINS” ที่น่าสนใจก็เพราะว่าในขณะที่หลายๆ ผลิตภัณฑ์มักกล่าวตรงๆ ถึงอาการแพ้ และการรักษาทั่วๆไป แต่โปสเตอร์ของ JINS ที่ทำขึ้นเพื่อขายแว่นตาที่มีลักษณะพิเศษกว่าแว่นทั่วไปคือจะมีกรอบครอบตาเราไว้คล้ายๆแว่นที่เราใส่ว่ายน้ำเพื่อปกป้องดวงตาของเราไม่ให้เผชิญกับเกสรโดยตรง และวิธีการคิดโปสเตอร์ของ JINS ก็คือการนำปัญหาของผู้บริโภคมาขยายให้ใหญ่ถึงใหญ่มากระดับเอเลี่ยนบุกโลก ซึ่งในแง่มุมของการเรียกร้องความสนใจอยู่ในประเภทการนำปัญหาของผู้บริโภคมาขยายให้ใหญ่และเพิ่มเติมความดราม่าให้เรื่องที่เราขยายนั้นมีความรู้สึก มีชีวิตชีวาในแบบที่ผู้บริโภคสัมผัสและเข้าถึงได้ เมื่อสองเรื่องที่ว่านี้มาเจอกันพร้อมกับการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่สามารถหยุดสายตาคนดูได้ ผสมกับการมีทิศทางที่ดีในการใช้ Art Direction หรือจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มีทิศทางในการใช้ศิลปะในการเล่าภาพเพื่อรองรับการเล่าเรื่องที่ดี มีรสนิยม และสุดท้ายท้ายสุดที่มีความสำคัญไม่แพ้ใครก็คือการใช้ถ้อยคำ (copywriting) ที่แหลมคม หรือความจริงง่ายๆ แต่ตรงขั้วหัวใจคนอ่าน ถ้าทั้งหมดที่กล่าวมาลงตัว แน่นอนที่สุดก็คือเราก็จะได้ผลงานที่น่าสนใจออกมาแน่ๆ ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้มีอยู่ในโปสเตอร์ที่ว่า สำหรับรายละเอียดในแง่การออกแบบนั้น น่าสนใจตรงที่การพาดหัวว่า “เกสรปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว 4 เท่า?!” แค่พาดหัวก็ทำให้คนสนใจและตะลึงกับสิ่งที่เขาจะต้องเผชิญได้อย่างดี  ตามด้วยภาพตะลึงสุดขั้วประหนึ่งการเห็นเอเลี่ยนกำลังบินลงมาบุกโลก ข้าวของหลุดมือกระจัดกระจาย เรียกร้องความสนใจจากสายตาคนดูได้ดีมาก แถมเพิ่มชีวิตชีวาให้น่ารักด้วยหมาที่ดูจะไม่รู้เรื่องรู้ราวตามประสาคนญี่ปุ่นที่มักมีอะไรน่ารักๆ แทรกมาในการเล่าเรื่องเสมอ ทั้งหมดมีแรงดึงดูด แม้กระทั่งคนที่ไม่ใส่แว่นตาอย่างผมยังเข้าไปดูใกล้ๆ และยืนดูอยู่นานว่าเขากำลังจะพูดกับใครว่าอะไร

นับเป็นการลำดับการสื่อสารที่ดีและลงตัวในแง่ของงานออกแบบ คือเริ่มจากคำที่ดึงดูดความรู้สึกคน คำที่พูดตรงกับความกลัว ความระแวงของคน ตามด้วยภาพที่น่าสนใจเลเวลสิบ ตามด้วยการนำเสนอการแก้ปัญหาให้สินค้าเป็นเหมือนฮีโร่ที่มากอบกู้ให้ทุกคนฝ่าภัยนี้ไปให้ใด้อย่างปลอดภัย แถมยังมีเสน่ห์ ทั้งหมดคือกระบวนการปราบสิ่งเล็กๆ ของวิธีคิดงานออกแบบของคนญี่ปุ่นที่ดีเลยทีเดียว นั่นคือไม่ใด้คุยโม้โอ้อวดว่าสินค้าดีอย่างไรท่าเดียว เพราะคงไม่มีใครอยากฟัง แต่กลับพลิกด้วยการเล่าปัญหาและสอดแทรกสินค้าเข้ามาเป็นฮีโร่ นับเป็น Case Study ที่ดี และทำให้เห็นว่า ในที่สุดแว่นตากันเกสรคือฮีโร่ที่จะมาปราบเหล่าร้ายให้ราบคาบได้

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ