ในคอลัมน์ บิ เล่มที่แล้วเราได้เริ่มเล่าประสบการณ์ในการไปแสดงผลงานที่ญี่ปุ่น ครั้งแรกแบบย่อๆ ให้ทุกคนได้อ่านกันเป็นตอนที่ 1 (ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่นี่) และในครั้งนี้จะมาเล่าต่อว่า ระหว่างเตรียมการแสดงผลงาน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มาอ่านกันต่อเลยครับ

 

Graphic Illustration ภาพโปสเตอร์น่ารักเชิญชวนไปชมงาน

07
เมื่อทางหอศิลป์ได้รับคําตอบว่า “พร้อมครับ” ที่จะเป็นศิลปินคนแรกที่ได้รับการจัดแสดงจากเรา เขาก็ตอบกลับมาทันทีพร้อมกับคําถามว่าผลงานที่จะจัดแสดงนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร จะเป็นเฟรมผ้าใบ, กรอบรูป, ติดตั้งกับพื้น หรือติดตั้งจากเพดาน เพื่อที่ทางทีมติดตั้งจะได้เตรียมพร้อมในเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ เมื่อได้รับอีเมลคําถามเช่นนี้ ในฐานะศิลปินหน้าใหม่ในวงการทั้งในและต่างประเทศถึงกับออกอาการเหวอเล็กน้อย เพราะยังไม่เคยแสดงงานเลยสักครั้งเลยในชีวิตแล้วเราจะแสดงในรูปแบบใดดี

 

 

08
นอกจากสารพัดคําถามที่เต็มไปด้วยรายละเอียดตามรูปแบบการทํางานของคนญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการนัดหมายจากฝ่ายติดตั้งให้เข้าไปดูสถานที่ และแนะนําให้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่จะมาช่วยงานเรา พร้อมกับแนะนําเจ้าหน้าที่ที่จะประสานงานทุกอย่างกับเราตลอดการแสดงงานในครั้งนี้

09
ต้องเล่านิดนึงว่า จากประสบการณ์จัดแสดงมา 2-3 ที่ ทุกครั้งและทุกที่จะมีเจ้าหน้าที่หลักที่จะคอยประสานงานกับเรา 1 คนเป็นพนักงานหลักที่จะติดต่อพูดคุยทุกเรื่องของการจัดงานกับเราคนเดียวเท่านั้น รวมถึงคอยดูแลทุกอย่าง เหมือนเป็นผู้ช่วยเพื่ออํานวยความสะดวกทุกอย่างของศิลปินเลยทีเดียว

 

ผลงาน เสื้อของ try2benice

 

10
เมื่อเข้าไปดูสถานที่ (ในการแสดงครั้งที่ 1) ปรากฎว่าเราได้แสดงในห้องโถงหลักบนชั้น 2 ลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมโล่งๆ ที่มีสเปซสวยงามมาก นั่นคือเมื่อเดินขึ้นบันไดไปถึงจะเห็นผลงานรวมๆ ของทั้งห้องแบบเต็มตา ถือว่าเป็นสถานที่ๆ ดีมาก รวมถึงแสงที่สาดเข้ามาจากผนังทางด้านขวาที่เปิดโล่ง โอ้ว สถานที่ช่างงดงามเหลือเกิน แล้วงานแกล่ะ จะยังไง?

 

ผลงาน ของTry2benice หมีในชุดมวยไทย

 

11
เอาล่ะ ถึงเวลาที่ต้องขบคิดแล้วว่า สเปซอันสวยงามขนาดนั้นเราควรทําอย่างไรกับมัน เพราะสิ่งหนึ่งที่ ศิลปิน ต่างชาติอย่างเราควรคํานึงถึงก็คือ เราจะขนย้ายผลงานจากไทยมาแสดงอย่างไรให้ดีที่สุด สะดวกที่สุดโดยที่ผลงานเสียหายน้อยที่สุด หรือถ้าจะผลิตผลงานในญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายก็ต้องสมเหตุสมผลที่สุด เพราะงานมีจํานวนเยอะมาก และถ้าเสร็จงาน เราจะขนกลับในลักษณะไหน ค่าขนส่งเท่าไร คุ้มค่าหรือเปล่า ผลงานอาจเกิดความเสียหายตอนขนส่งหรือไม่ สารพัดโจทย์ที่ต้องแก้ในเวลาอันสั้น เพราะกําหนดการวันจัดแสดงได้ถูกประชาสัมพันธ์ไปในสื่อต่างๆ ของหอศิลป์ ไปเรียบร้อยแล้วว่า “01 Exhibition : try2benice / Thai Artist”

 

12
หลังจากตีลังกาคิดมา 8 ตลบในเวลา 2-3 วัน พร้อมคําถามในอีเมลแทบทุกวันจากหอศิลป์ว่า “นี่ๆ งานแกอ่ะ จะแสดงด้วยรูปแบบไหน?” ก็เลยตั้งโจทย์เพิ่มเติมจากข้อจํากัดของ ศิลปิน พลัดถิ่นที่มีว่านอกจากนี้งานที่จะแสดงต้องชิ้นไม่ใหญ่จนเกินไปและสามารถขนมาแสดงได้ง่าย และเมื่อแสดงเสร็จแล้วต้องขนกลับง่าย สะดวกที่สุด คิดไปสารพัดรูปแบบจนมาลงเอยที่ เสื้อยืด เพราะผลงานของเราทั้งหมดนั้นเหมาะสมที่สุดที่จะแสดงบนเสื้อยืด ขนส่งสบายน้ำหนักเบา ขายในงานได้เมื่อแสดงงานเสร็จแล้วไม่ต้องขนกลับ ไม่ต้องหาที่เก็บ แค่ไปที่ไปรษณีย์แล้วส่งให้คนที่สั่งจองก็สบาย ง่าย และตอบโจทย์ทุกอย่างได้ดีมาก

 

ผลงาน หนังสือที่ไปจัดโชว์ในงาน

 

13
เป็นอันสรุปว่าตัดสินใจทํางานบนเสื้อยืด ด้วยความดีใจรีบตอบกลับไปว่า นี่คือนิทรรศการ “Nice T-shirts Exhibition” ครับ ซึ่งทางหอศิลป์ตกลง ตอบอีเมลกลับมาอย่างมีความสุข เราก็สบายใจไปเปราะนึง แต่ทว่าปัญหายังไม่หมดครับ

 

14
ปัญหาต่อไปก็ตามมาทันทีในอีเมลฉบับต่อมาด้วยข้อความว่า “เนื่องจากทางหอศิลป์ของเราเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยของจังหวัด หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นหน่วยงานราชการนั่นแหละ ทางเราจึงไม่สามารถให้ศิลปินขายผลงานในหอศิลป์ของเราได้” อ่านอีเมลจบแล้วได้แต่ก็ถอนหายใจเบาๆ และคิดว่าคงต้องเอาเสื้อยืดเกือบครึ่งร้อยตัวนั้นมาใส่เองอย่างแน่นอน เอาไว้ครั้งต่อไปจะมาบอกเล่าเรื่องราวหลังจากที่ต้องกลับมาคิดแก้ปัญหาใหม่นี้ 

ติดตามผลงานของ try2benice เพิ่มได้ทางเฟซบุ๊กเพจ Try2benice graphic design studio

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ