สารบัญ

ฟุคุดะ โทชิยูกิ | Toshiyuki Fukuda

หากพูดถึงความละเอียดอ่อน ประณีต และละเมียดละไมที่แสดงออกผ่านทางภาพวาดหรืองานศิลปะ “ญี่ปุ่น” นับว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน ฟุคุดะ โทชิยูกิ (Toshiyuki Fukuda) คือหนึ่งในศิลปินที่โลดแล่นอยู่ในวงการพู่กันมานานกว่า 30 ปี มีผลงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมากมายออกสู่สายตาชาวญี่ปุ่น แต่ละชิ้นล้วนมีเอกลักษณ์และน่าสนใจ จนคิจิมิอาจอดใจ จึงเลือกให้เป็นบุคคลที่อยากแนะนำให้รู้จักประจำสัปดาห์นี้

ฟุคุดะ โทชิยูกิ ศิลปินชื่อดังจากญี่ปุ่น

ฟุคุดะเกิดในปี 1967 เขาทุ่มเทให้กับการวาดรูปจนกระทั่งเรียนจบด้านสาขากราฟิกดีไซน์จาก Osaka University of Arts ก่อนผันตัวมาเป็นนักวาดภาพประกอบในงานสิ่งพิมพ์และงานโฆษณาที่มีผลงานหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ภาพประกอบปกหนังสือ ภาพปก CD ภาพประกอบหนังสือเด็ก รวมถึงออกแบบโลโก้ให้กับแบรนด์ต่างๆ รวมถึงผลงานหนังสือที่ชื่อ “Fukuda no Photo-e” และ “Fukuda Toshiyuki to Iku Finland” และในปี 2013 เขาเริ่มสร้างแบรนด์ของตนเองภายใต้ชื่อ “TENP” ที่นำภาพวาดมาพิมพ์ลงบนผืนผ้า กลายเป็นผลงานและสินค้าที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของใครหลายคนโดยไม่รู้ตัว เอาเป็นว่าเรามารู้จักเขาให้มากขึ้นอีกนิดผ่านบทสัมภาษณ์กันดีกว่า

 

Q. ช่วยเล่าแรงบันดาลใจให้เริ่มวาดภาพหน่อยได้ไหม

แรงบันดาลใจเริ่มจากที่คุณพ่อของผมเป็นช่างภาพ เลยทำให้ผมคุ้นเคยกับงานที่เป็นภาพถ่ายและดีไซน์เพื่อการค้าต่างๆ ตอนเด็กๆ ผมเองไม่ได้ชอบวาดรูปเป็นพิเศษ ก็วาดเหมือนเด็กทั่วไป แต่เพราะเรียนอย่างอื่นแล้วไม่ถนัดเลยหันมาทุ่มเทเรียนการวาดรูปแทน ผมเริ่มรู้ตัวว่าอยากจะเป็นนักวาดภาพประกอบตอนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว พอเรียนจบก็ไปสมัครทำงานบริษัทหนึ่งในโอซาก้าเลยครับ แต่ทำอยู่ได้ 4 ปีก็เกิดภาวะฟองสบู่แตก เศรษฐกิจย่ำแย่ ตอนนั้นน่าอายุประมาณ 24 ปี พอเจอเหตุการณ์แบบนี้บวกกับอยากทำอะไรด้วยตัวเองเลยออกมาเป็นฟรีแลนซ์แทนครับ

 

Q. ผลงานสร้างชื่อมีอะไรบ้าง

ภาพปกอัลบั้มของวงสปิตซ์ (Spitz) ออกแบบปกหนังสือของคุณคาโอริ เอคุนิ (Kaori Ekuni) ออกแบบลายผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ และผ้าพันท้องร่วมกับโฮโบะนิชิ (Hobonichi) นอกจากนี้ผมยังมีโอกาสได้เข้าไปช่วยงาน Anchor Coffee ของเมืองคาเซ็นนุมะ (Kesennuma) จังหวัดมิยางิ (Miyagi) หลังเกิดภัยสึนามิครั้งใหญ่ที่ผ่านมาด้วยครับ

Q. สไตล์ผลงานเป็นแบบไหน

ผมทำหลายอย่างครับ มีทั้งภาพลายเส้นและภาพเพ้นท์ ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยได้ใส่ใจเท่าไหร่ว่างานจะออกมาสไตล์ไหน มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อาจเป็นเพราะผมเบื่อความจำเจก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเพราะเบื่อก็เลยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะครับ บางคนที่ทำสไตล์เดิมของตัวเองต่อเนื่องมาตลอดเลยก็มี แต่ผมเป็นประเภทที่อยากลองอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ครับ

 

Q. สไตล์งานส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอะไร

ผมไม่ได้คลั่งไคล้อะไรหรือมีงานอดิเรกอะไรเป็นพิเศษ สไตล์งานส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน มุมมอง หรือแนวคิดตามแบบของผมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวเล่นกับเพื่อน ดูหนัง ท่องเที่ยว หรือพบปะผู้คน สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้วาดภาพในภายหลังครับ แต่ถ้าจะมีสักเรื่องโน้มน้าวให้ผมสร้างผลงาน คงเป็นเรื่องที่ผมชอบของเก่านี่แหละครับ

ภาพลายเส้นและภาพเพ้นท์ ฝีมือคุณฟุคุดะ 

 

Q. อุปกรณ์วาดภาพที่ใช้มีอะไรบ้าง

พวกภาพลายเส้นผมจะใช้ปากกาเมจิกที่หัวเล็กๆ หน่อยครับ เส้นที่หยุกหยิกๆหน่อยก็ใช้การสั่นมือตอนวาดเอา ส่วนภาพเพ้นท์ผมใช้สีกว็อช (Acrylic gouache) ทาลงบนทิชชู แล้วค่อยใช้ผงกาแฟสำเร็จรูปผสมแว็กซ์ทาตามลงไปอีกครั้ง ที่เลือกใช้กาแฟเพราะจะช่วยให้รู้สึกถึงความเก่าแก่โบราณ ผมไม่ค่อยใช้สีผสมกันแต่จะใช้สีใดสีหนึ่งไปเลย แล้วค่อยโรยผงกาแฟทับลงไปบนชิ้นงาน แต่ละชิ้นเลยมีอารมณ์และความรู้สึกแตกต่างกันไป

 

Q. เลือกโมทีฟ (Motif) ในการวาดภาพอย่างไร

ก่อนอื่นต้องดูว่าผู้จ้างงานอยากได้อะไรแล้วก็วาดครับ แต่บางคนก็ให้ผมเป็นคนครีเอทซึ่งผมจะใช้วิธีถามถึงสัตว์ที่เขาชอบ ส่วนใหญ่แล้วผมจะวาดรูปสัตว์ครับ

 

Q. ผลงานรูปสัตว์ส่วนใหญ่ดูไม่ค่อยสมจริง เป็นภาพแนวเสียดสีหรือเปล่า

ผมไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องนั้นเท่าไหร่ คิดว่าเป็นเอกลักษณ์งานของผมมากกว่า อีกอย่างผมวาดรูปน่ารักๆ ไม่ค่อยเป็นด้วย งานเลยออกมาอย่างที่เห็น คือไม่ได้บอกว่าภาพน่ารักๆนี่ดีหรือไม่ดีนะ แต่ผมไม่ค่อยถนัดไง สิ่งที่ผมคิดว่าน่ารักคนอื่นก็อาจจะมองต่างออกไปเป็นรูปแนวเสียดสีก็ได้ คำว่า “น่ารัก” นี่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนเลยครับ บางคนก็ไม่ชอบให้ตัวเองเหมือนคนอื่น เรื่องนี้ผมว่าไม่ใช่เรื่องที่จะเดาได้ว่าใครคิดอะไรยังไง

งานรูปสัตว์โดยฟุคุดะ โทชิยูกิ (Toshiyuki Fukuda)

 

Q. ผลงานต่างๆ ได้แสดงตัวตนออกมาด้วย

ผมค่อนข้างอายที่จะแสดงตัวตนออกมาครับ แต่คิดว่าก็คงมีออกมาบ้าง อาจจะเห็นเฉพาะส่วนท้องแต่คงไม่เห็นถึงตับไตไส้พุงหรอกครับ

 

Q. ความรู้สึกขณะวาดรูปเป็นอย่างไร

ทุกงานเวลาทำจะต้องสนุกครับ ถ้าเรารู้สึกเหนื่อยกับมันก็จะทำต่อไม่ได้ ก่อนวาดผมจะคิดถึงโมทีฟหรือมีเดียที่ต้องการก่อนแล้วไอเดียจะตามมาเอง บางครั้งอาจจะไม่ได้มาตรงๆ ก็มีคิดนอกกรอบบ้าง

 

Q. ศิลปินที่มีอิทธิพลต่อตัวเองและผลงาน

ศิลปินชาวญี่ปุ่นคนแรกที่มีอิทธิพลต่อผมคือคุณทาดาโนริ โยโค (Tadanori Yokoo) ครับ ผมชอบเขามาก

 

Q. จุดเริ่มต้นของ TENP มาจากไหน

เริ่มจากเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผมได้ไปเที่ยวงาน Tupera Tupera Workshop ของเพื่อนที่กรุงเทพฯ แล้วได้เจอกับคุณซาโตชิ ทาคิงุชิ (Satoshi Takiguchi) ซึ่งเป็นผู้จัดงาน เลยมีโอกาสได้คุยกันว่าอยากทำอะไรสักอย่างที่นำมาจัดนิทรรศการแล้วขายได้ด้วย คือพวกงานภาพประกอบนี่ หลังจากวาดเสร็จแล้วนำไปใช้ในหนังสือหรือในโฆษณามันก็จบแค่นั้น แต่ถ้าเป็นงานผ้า ผมคิดว่ามันอยู่กับเราในชีวิตประจำวัน คนใช้ผ้าไปเรื่อยๆ จนไม่เป็นทรง สีซีด ผ้าย้วย คือมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผมเลยอยากให้รูปวาดของตัวเองได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนครับ ก็เลยเกิดเป็นแบรนด์นี้ขึ้นมา

TENP โดยฟุคุดะ โทชิยูกิ (Toshiyuki Fukuda)

 

Q. TENP เป็นงานแบบไหน

ผมอยากทำอะไรหลายๆอย่างที่เกี่ยวกับผ้า จึงนำคำว่า “สิบ” ในภาษาอังกฤษและ “ผ้า” ในภาษาญี่ปุ่นมารวมกันจนเกิดเป็นชื่อแบรนด์ ผลงานเริ่มจาก TENP01 ซึ่งตอนนี้มีถึง TENP04 แล้ว คิดว่าอย่างน้อยที่สุดน่าจะมีถึง TENP10 ครับ TENP01 คืองานผ้าฝ้ายทอตาข่ายสองชั้น (Double Gauze) จากโรงงานฮาราดะ โอะริโมโนะ (Orimona Harada) ในจังหวัดวากายามะ (Wakayama) งาน TENP02 คือผ้าทอลายปักแบบซาชิโกะ โอริ (Ori Sashiko) ของจังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima) โดยใช้วิธีการทอคล้ายแบบด้ายพุ่งซึ่งที่ญี่ปุ่น มีเพียงแค่คนเดียวเท่านั้นที่ทอแบบนี้ได้ ผมขอให้เขาช่วยทอให้หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเทคนิคการทอแบบนี้จะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ ส่วน TENP03 เป็นกระเป๋าผ้า Tote Bag และงาน TENP04 เป็นซีรีส์ผ้าลินิน แต่ละงานที่ทำขึ้นมาผมให้ความสำคัญในการนำเนื้อผ้าที่แตกต่างกันมาใช้ โดยได้รับความร่วมมือจากช่างฝีมือที่ใช้เทคนิคประจำตัว ผสมผสานกับวัฒนธรรมและแนวคิดของแต่ละท้องถิ่นครับ

กระเป๋าผ้าที่ออกแบบโดย ฟุคุดะ โทชิยูกิ แบรนด์ TENP

ผ้าที่ออกแบบโดย ฟุคุดะ โทชิยูกิ แบรนด์ TENP

 

Q. งานภาพประกอบของ TENP เกี่ยวข้องกับสไตล์ยุโรปเหนือไหม

มีหลายคนบอกว่าภาพวาดของผมออกแนวไปทางยุโรปเหนือมานานแล้วครับ แต่ผมไม่ได้นึกถึงเลย ผมคิดว่าศิลปินชาวญี่ปุ่นทุกคนมีกลิ่นอายความเป็นยุโรปตอนเหนือซ่อนอยู่ในผลงานซึ่งผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ประเทศที่ผมชอบและไปบ่อยที่สุดคือฟินแลนด์ เพราะรู้สึกว่าชาวฟินแลนด์กับชาวญี่ปุ่นมีลักษณะนิสัยค่อนข้างคล้ายกันครับ

 

Q. มีผลงานหนังสือเกี่ยวกับฟินแลนด์ด้วยใช่ไหม

ใช่ครับ เป็นเรื่องการแนะนำฟินแลนด์ผ่านมุมมองของผมเอง ชาวฟินแลนด์เป็นคนใจดี อ่อนน้อมถ่อมตน ง่ายๆ ไม่เรื่องมาก และเข้ากันได้ดีกับชาวญี่ปุ่น ไม่ว่าจะไปกี่ครั้งก็ไม่รู้สึกว่าอยู่ต่างประเทศเลย เป็นประเทศที่อยู่อาศัยได้ อีกอย่างซาวน่าก็สนุกดีด้วยครับ

 

Q. ตอนนี้พักอาศัยอยู่ที่ไหน

อยู่ใกล้กับสวนอิโนะคะชิระ (Inokashira Park) ในโตเกียวครับ ตั้งแต่จากโอซาก้ามาอยู่ที่นี่ก็ประมาณ 13 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่แถวคิชิโจจิ (Kichijoji) นี่แหละครับ ผมมองว่าทั้งชิบุยะและชินจูกุมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเกินไป เลยเลือกคิชิโจจิที่สะดวก มีธรรมชาติ และมีความเป็นเมืองแบบกำลังพอดีครับ

 

Q. ประเทศไทยในความคิดเป็นอย่างไร

ก็คงมีคนอยู่หลายแบบนะครับ แต่เท่าที่ผมเจอมาทุกคนใจดีมาก คิดอยู่ตลอดว่าอยากกลับไปอีก แต่ก็ยังไม่ได้ไปสักที

 

Q. มีสถานที่ไหนที่ที่อยากแนะนำคนไทยไหม

ผมอยากแนะนำจังหวัดอาคิตะ (Akita) ครับ  เมื่อก่อนเคยเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับจังหวัดนี้ลงในนิตยสารนนบิริ (Nonbiri) อยู่ 4 ปี จังหวัดอาคิตะหิมะเยอะและหนามากครับ ไปไหนมาไหนลำบากหน่อย เลยเป็นที่นิยมน้อยกว่าจังหวัดอื่น แต่ความน่าสนใจมันอยู่ที่เราจะสนุกกับอะไรได้บ้าง ผมอยากให้ลองมาชมเทศกาลหรือทำกิจกรรมในฤดูหนาวของที่นี่ดูสักครั้ง  จะลองชิมอาหารท้องถิ่นอย่างคิริทัมโปะ (Kiritanpo) หรือข้าวเสียบไม้ย่างของที่นี่ก็ไม่เลว หรืออยากลงแช่ออนเซ็นท่ามกลางหิมะขาวโพลนก็ทำได้เช่นกันครับ

ฟุคุดะ โทชิยูกิ เจ้าของแบรนด์ TENP

 

Q. มีแนะนำพิเศษให้แก่ผู้ที่กำลังฝึกวาดภาพประกอบไหม

คงเป็นเรื่อง “มุมมอง” สิ่งเหล่านี้มักเกิดจากเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้คลั่งไคล้อะไรพิเศษ แต่มีวิธีมองเรื่องราวในแบบของตนเองซึ่งทุกคนมีตรงนี้ แต่คนที่ค้นหาเจอแล้วนำไปต่อยอดได้เร็วคือ “ผู้ชนะ” ไอเดียนั้นไม่ได้เกิดแค่ตอนวาดรูปเท่านั้น บางครั้งก็เกิดขึ้นได้ตอนอาบน้ำ ลองสังเกตแล้วค้นหาตัวเองดูนะครับ อีกอย่างหนึ่ง คนที่จะรู้ว่าอยากทำอะไรแต่กลับไม่เหมาะกับตัวเองแล้วกล้าที่จะหยุดนั่นก็ “ชนะ” เช่นกัน ซึ่งผมคิดว่าดีถ้าคนเรามีความยืดหยุ่นตรงนี้ อีกอย่างคือ ในยุคโลกาภิวัตน์ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองเหตุการณ์แบบสวนกระแส ทำให้งานส่วนใหญ่เป็นแบบทำกันเองขายกันเอง ส่วนน้อยเท่านั้นที่ผลิตส่งออกต่างประเทศ ต่างจากผมที่มองว่าตลาดยิ่งกว้างก็ยิ่งดี สำหรับกรณีของไทย ผมคิดว่าหากลองมองและทำผลงานที่สอดคล้องกับทิศทางของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปน่าจะดีขึ้นนะครับ

งานศิลปะโดย ฟุคุดะ โทชิยูกิ (Toshiyuki Fukuda)

 

ติดตามผลงานของคุณฟุคุดะได้ที่ช่องทางเหล่านี้

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ