ความรักระหว่างเรากับป้ายะโยะอิเป็นรักแรกพบ..

.

เราสบตากันครั้งแรกที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในปี 2009

ลูกบอลกลมสีแดงลายจุดสีขาว ล่องลอยเหมือนภาพฝันอยู่กลางหอศิลป์ เรายังมีภาพถ่ายตัวเองสมัยเป็นนิสิตยืนถ่ายคู่กับลูกบอลอีกลูกที่ถูกสกรีนแปะอยู่บนกำแพง ตอนนั้นยังไม่ประสีประสา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘ศิลปะคืออะไร สำคัญอะไรกับโลกใบนี้?’

Twist and Shout เป็นงานนิทรรศการใหญ่ที่ขนเอาผลงานของศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังมาจัดแสดงในเมืองไทย และนั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้ใกล้ชิดกับงานศิลปะจากแดนปลาดิบ จากนั้นในปี 2013 เราไปญี่ปุ่นครั้งแรก วันนั้นเป็นวันฝนตกพรำๆ เรากับเพื่อนไปเดินเล่นในย่านรปปงงิ (Roppongi) พอโผล่พ้นจากสถานีรถไฟใต้ดิน…ก็ต้องตกใจกับพื้นซีเมนต์ที่เต็มไปด้วยจุดแดงๆ เต็มไปหมด

แปลงดอกไม้สีแดงและสีขาวที่อยู่รอบๆ เหมือนจงใจถูกปลูกให้สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อมของการบุกรุกของเหล่าจุดแดง เรากับเพื่อนตื่นตาตื่นใจมาก สอดส่ายสายตาหาที่มาที่ไป กระทั่งเจอกับโปสเตอร์
ที่เป็นเบาะแสสำคัญ ปรากฏภาพคุณป้าผมบ๊อบสีแดง อ่านชื่อเลยได้รู้ว่าป้าคนนี้คือศิลปินผู้สร้างผลงานลายจุด ‘คุซะมะ ยะโยะอิ’ คนนี้นี่เอง! ต้องเป็นศิลปินคนเดียวกับงานลูกบอลสีแดงที่เราเคยไปถ่ายรูปด้วยแน่ๆ

นับจากนั้น เราก็ได้แต่ชื่นชมป้ามาในใจตลอดว่า…แค่วาดลายจุดก็ดังได้เหรอเนี่ย? เป็นความชื่นชมในรูปแบบที่โง่งมและตื้นเขินยิ่งนัก ความรักของเรากับป้ายังไม่ผลิบานเท่าไร ดูยังไงก็ไม่อิน แต่ความพีคอยู่ที่ปี 2017 ประเทศสิงคโปร์ได้ยกเอาผลงานชิ้นโบว์แดงของคุซะมะมาจัดแสดงที่ National Gallery ภายใต้ชื่อนิทรรศการ Life is the Heart of a Rainbow จู่ๆ เราก็รู้สึกว่างานนี้ไม่ธรรมดา เราจะไม่ไปไม่ได้ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดแสดง solo exhibition ของป้ายะโยะอิ เราจึงซื้อตั๋วเดินทางข้ามฟ้าไปหาป้า

เราไปสัมผัสป้าอีกครั้ง ผ่านโลกลายจุดของป้าที่ทำให้เรารักป้ามากยิ่งขึ้น หลังเดินจบงานก็ทำเอามึนหัวมาก! เพราะจุดของป้าเยอะเหลือเกิน แต่ในความมึนนั้นเราพบว่า เราได้ก้าวเข้าไปในโลกของป้า โลกแห่งภาพหลอน โลกแห่งความจมดิ่ง ความหมกหมุ่น โลกแห่งความกลัว โลกแห่งความลบเลือนตัวเองให้กลืนหายไปกับลายจุด

กล่าวอย่างให้เกียรติ คุซะมะ ยะโยะอิ (1929) เป็นศิลปินหญิงสูงวัยที่ยังคงทำงานศิลปะตราบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันศิลปินท่านนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเซวะ (Seiwa Hospital) ในกรุงโตเกียว ป้าจะเริ่มทำงานศิลปะตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็นทุกวัน (เดินทางไปกลับระหว่างโรงพยาบาลและสตูดิโอที่อยู่ไม่ไกลกัน) ผลงานในยุคหลังที่เต็มไปด้วยสีสันฉูดฉาดมีชื่อว่า ‘Eternal soul’ แปลว่า วิญญาณอันเป็นนิรันดร์ ต่างจากผลงานในชุด ‘Net’ หรือ ตาข่าย ซึ่งเป็นงานในยุคแรกของป้าที่ทำขึ้นในนิวยอร์ก ผลงานในยุคแรกๆ ของป้ามักจะมีเพียงสองเฉดสี ไม่ละลานตาเท่ากับงานในปัจจุบัน แต่ทำไมเราถึงรู้สึกกับงานชุดหลังเป็นอย่างมากก็ไม่รู้…อาจจะด้วยความหมายและด้วยความยืนยาวและมั่นคงต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของป้าก็เป็นได้

เราเดินออกมาจาก National Gallery สิงคโปร์ด้วยความรู้สึกฉ่ำปอด รู้สึกว่ามองท้องฟ้าก็มีลายจุด มองแก้วน้ำก็มีจุด กระพริบตาก็แล้วก็ยังเจอจุดระยิบระยับวูบวาบ ถ้าคุณมีอาการแบบนี้เมื่อได้ดูงานป้า แสดงว่าคุณอาจจะมาถูกทางก็ได้แล้วนะคะ จริงๆ เรื่องราวของป้ายะโยะอิ ยังมีอีกมากที่เราอยากเล่าให้ฟัง
ขอเกริ่นไว้ก่อนว่า ตอนต่อไปจะขอเอาเรื่องแซ่บๆ ของป้าตอนสาวมาเล่าสู่กันฟัง ป้าเปรี้ยวซ่าอย่าบอกใคร และป้าก็จุด จุด จุด มานานมากแล้วด้วย ไม่ได้เพิ่งมาดังเพราะจุดเร็วๆ นี้นะคะ

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ