10 อาหารท้องถิ่น ประจำจังหวัด มิเอะ

มิเอะ (Mie) คือจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าอิเสะ (Ise Jingu / Ise Shrine) ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นที่มีสาธุชนให้ความเคารพนับถือมากมาย ทำให้ภาพลักษณ์ของนักท่องเที่ยวไทยที่มีต่อจังหวัดมิเอะ มักจะนึกถึงวัด ศาลเจ้า และบ้านโบราณเป็นลำดับแรกๆ แต่แท้จริงแล้ว มิเอะ มีเมืองท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ รวมถึงมี อาหารท้องถิ่น ที่โดดเด่นตามอัตลักษณ์ของแต่ละเมือง อีกทั้งอยู่ใกล้กับเมืองนาโกย่า จึงเดินทางสะดวก เหมาะกับคนที่ตั้งต้นทริปที่นาโกย่าและอยากแวะไปเที่ยวจังหวัดข้างเคียง

นอกจากการแวะจุดชมวิวสวยอย่างโรงงานในเมืองยกกะอิจิ (Yokkaichi) ตอนกลางคืนหรือจุดชมวิวเมืองคุวานะ (Kuwana) แล้ว การท่องเที่ยวจังหวัดมิเอะให้คุ้มค่าที่สุดก็ต้องกินเมนูเด็ดของแต่ละเมือง ถึงจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ฉันไปเที่ยวมิเอะมาแล้ว” และก็ไม่แน่ว่าอาหารมิเอะนี่แหละอาจเป็นสิ่งที่ทำให้อยากกลับไปเที่ยวมิเอะอีก หรืออาจอยากลองอาหารที่คล้ายๆ กันในจังหวัดอื่นของญี่ปุ่น โดยคิจิได้รวบรวมอาหารพื้นเมืองจังหวัดมิเอะทั้งคาวหวานมา 10 ชนิด ที่ชาวมิเอะอยากให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองมากที่สุด

 

01 อากาฟุกุ (Akafuku) | ISE

อาหารท้องถิ่น จ.มิเอะ (Mie) - อากาฟุกุ (Akafuku)

ของขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัดมิเอะคือขนมหวานที่เรียกว่า อากาฟุกุ หรือ อากาฟุกุโมจิ (Akafuku Mochi) จากร้านขนมเก่าแก่ชื่อเดียวกันในเมืองอิเสะ (Ise) มีลักษณะเป็นถั่วแดงบดหุ้มแป้งโมจิซึ่งใช้เทคนิคการป้ายถั่วแดงให้คล้ายกับกระแสน้ำของแม่น้ำอิซุซุ (Isuzu River) โดยจำหน่ายแบบพร้อมรับประทานในราคากล่องละ 240 เยน และสามารถซื้อแบบกล่องใหญ่เป็นของฝากได้ในราคา 760 เยน (8 ชิ้น) หรือ 1,100 เยน (12 ชิ้น) ถือเป็นขนมที่ไม่ว่าใครที่มาเยือนเมืองอิเสะก็ต้องลองกินทุกคนInfo
อากาฟุกุ (Akafuku : 赤福)
Origin: เมืองอิเสะ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Akafuku (あかふく)

 

02 อิเสะอุด้ง (Ise Udon) | ISE

อาหารท้องถิ่น จ.มิเอะ (Mie) - อิเสะอุด้ง (Ise Udon)

ยังอยู่ที่เมืองอิเสะ แต่เปลี่ยนมาลองของคาวกันบ้าง นี่คือ อิเสะอุด้ง เมนูเส้นที่ไม่หวือหวาซึ่งตกทอดกันมาอย่างยาวนานในแถบนี้ โดดเด่นด้วยการราดซอสทามาริโชยุ (Tamari Shoyu) ที่มีรสออกหวานบนเส้นอุด้งขนาดใหญ่พิเศษ จนเป็นที่ร่ำลือกันว่าไม่ว่าใครที่ได้กินเข้าไปเพียงคำเดียวก็จะต้องติดใจจนอยากกินอีก ซึ่งดูเหมือนคำกล่าวนี้จะไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะดูเหมือนว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสักการะที่ศาลเจ้าอิเสะจะชื่นชอบเมนูนี้มากกว่าคนท้องถิ่นเสียอีกInfo
อิเสะอุด้ง (Ise Udon : 伊勢うどん)
Origin: เมืองอิเสะ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Fukusuke (ふくすけ), Okunoya (奥野家), Mameya (伊勢うどん まめや)

 

03 เทโกเนะซูชิ (Tekonezushi) | SHIMA

Tekone ซูชิ มิเอะ

คนรักปลาดิบต้องลอง เทโกเนะซูชิ ที่แม้หน้าตาอาจจะไม่ค่อยตรงกับซูชิที่เราคุ้นเคย แต่ญี่ปุ่นเขาถือว่าเป็นอาหารประเภทเดียวกับชิราชิซูชิ (Chirashi Sushi) นี่คือ อาหารท้องถิ่น ขึ้นชื่อจากเมืองชิมะ (Shima) จ.มิเอะ อันเป็นแหล่งประมงชั้นเลิศของจังหวัด นิยมใช้ปลาเนื้อแดงเป็นท็อปปิ้ง เช่น มากุโร่ หรือ คัตสึโอะ โดยมีการหมักซอสโชยุปรุงรสก่อนนำมาโปะข้าว เนื่องจากเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงมากจึงมักปรากฏในร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่ถ้าอยากลองแบบออริจินอลจริงๆ แนะนำให้ไปกินที่เมืองชิมะ จังหวัดมิเอะInfo
เทโกเนะซูชิ (Tekonezushi : 手こね寿司)
Origin: เมืองชิมะ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Otoya (おとや), Sushi Kyu (すし久), Ebimaru (海老丸)

 

04 หอยนางรมมาโตยะ (Matoya Oyster) | SHIMA

อาหารท้องถิ่น จ.มิเอะ (Mie) - หอยนางรมมาโตยะ (Matoya Oyster)

หอยนางรมมาโตยะ คือชื่อเรียกหอยนางรมที่มีการเพาะเลี้ยงในอ่าวมาโตยะ (Matoya Bay) ของเมืองชิมะ จนในปี ค.ศ. 2001 ได้จดทะเบียนการค้าและใช้เป็นชื่อแบรนด์หอยนางรมซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จุดเด่นคือรสที่หวานนุ่ม โดยจะคัดเลือกเฉพาะหอยที่มีอายุประมาณ 1 ปีมารับประทานเท่านั้น แนะนำให้กินช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เพราะเป็นหน้าที่หอยนางรมอร่อยที่สุด นิยมรับประทานแบบดิบๆ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาด เพราะเนื่องจากเป็นหอยที่เลี้ยงผ่านกระบวนการที่เรียกได้ว่าอนามัยที่สุดInfo
หอยนางรมมาโตยะ (Matoya Oyster : 的矢かき)
Origin: เมืองชิมะ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Hashimoto (はしもと), Ryori Ryokan Ikadasou Sanjo (料理旅館 いかだ荘 山上), Sato Fish Farm (佐藤養殖場)

 

05 หอยตลับ (Hamaguri) | KUWANA

อาหารท้องถิ่น จ.มิเอะ (Mie) - หอยตลับ (Hamaguri)

หอยอีกหนึ่งชนิดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมิเอะก็คือ หอยตลับ หรือ ฮามากุริ พบมากในแม่น้ำหลายสายของเมืองคุวานะ (Kuwana) ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำคิโสะ (Kiso River) แม่น้ำนาการะ (Nagara River) และแม่น้ำอิบิ (Ibi River) ว่ากันว่าหอยตลับเหล่านี้เจริญเติบโตโดยการกินแพลงตอนที่สะอาดและเปี่ยมไปด้วยสารอาหาร หอยตลับย่างจึงกลายเป็นเมนูที่ชาวเมืองคุวานะใกล้ชิดมาแต่สมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีหลายร้านที่นิยมนำไปทำเป็นหม้อไฟหอยตลับหรือหอยตลับชุบแป้งทอดอีกด้วยInfo
หอยตลับ (Hamaguri : はまぐり)
Origin: เมืองคุวานะ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Hamaguri Shokudo (はまぐり食道), Kawaichi (川市), Hinode (蛤料理 日の出)

 

06 เนื้อมัตสึซากะ (Matsusaka Beef) | MATSUSAKA

อาหารท้องถิ่น จ.มิเอะ (Mie) - เนื้อมัตสึซากะ (Matsusaka Beef)

สายเนื้อน่าจะคุ้นชื่อเป็นอย่างดีสำหรับ เนื้อมัตสึซากะ แบรนด์เนื้อวัวญี่ปุ่นพันธุ์ขนดำเกรดสูงสุดที่โด่งดังไปทั่วโลก คนญี่ปุ่นยกย่องให้เป็น 1 ในท็อป 3 เนื้อวัวที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น จุดเด่นคือเนื้อที่นุ่มจนละลายในปาก พร้อมด้วยรสหวานแบบหรูดูแพง ริ้วลายแลดูสวยงามเกินหน้าเกินตาจนจะเรียกว่าเป็นงานศิลปะฉบับเนื้อวัวก็คงไม่ผิด จะนำไปกินแบบปิ้งย่างยากินิกุ ชาบูชาบู สเต๊ก หรือข้าวหน้าเนื้อก็อร่อยสุดๆ ถ้าใครอยากลองเนื้อมัตสึซากะก็ต้องไปที่เมืองต้นกำเนิดซึ่งก็คือเมืองมัตสึซากะ (Matsuzaka) ในจังหวัดมิเอะนั่นเอง ที่นี่มีร้านเด็ดๆ เยอะมากInfo
เนื้อมัตสึซากะ (Matsusaka Beef : 松阪牛)
Origin: เมืองมัตสึซากะ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Wadakin (和田金), Gyugin Honten (牛銀 本店), Steak House Mimatsu (ステーキハウス 三松)

 

07 ยกกะอิจิทงเทกิ (Yokkaichi Tonteki) | YOKKAICHI

อาหารท้องถิ่น จ.มิเอะ (Mie) - ยกกะอิจิทงเทกิ (Yokkaichi Tonteki)

ถ้าปกติไม่รับประทานเนื้อวัว ก็มีสเต๊กหมูแสนอร่อยที่ชื่อ ยกกะอิจิทงเทกิ ของดีเมืองยกกะอิจิ (Yokkaichi) ซึ่งเป็น อาหารท้องถิ่น ในจังหวัด มิเอะ ที่เคยประกวดแล้วได้รับรางวัลมาแล้ว จุดเด่นคือซอสดำเข้มข้นชุ่มเนื้อหมูชิ้นโตซึ่งจะหั่นมาในรูปร่างคล้ายฝ่ามือกับนิ้ว จนมีชื่อเล่นว่า Gurobu (Glove) ที่หมายถึง “ถุงมือ” นั่นเอง นอกจากนี้ยังหอมกลิ่นกระเทียม และนิยมเสิร์ฟคู่กับกะหล่ำปลีสไลซ์ที่กินปริมาณไปครึ่งจาน ซึ่งรสชาตินั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละร้าน ปัจจุบันเป็นเมนูที่แพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่น แต่รสชาติอาจจะไม่เหมือนออริจินอลInfo
ยกกะอิจิทงเทกิ (Yokkaichi Tonteki : 四日市とんてき)
Origin: เมืองยกกะอิจิ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Matsumoto no Rairaiken (まつもとの来来憲), Takakura (隆座), Ichiraku (一楽)

 

08 คาเมยามะมิโสะยากิอุด้ง (Kameyama Miso Yakiudon) | KAMEYAMA

อาหารท้องถิ่น จ.มิเอะ (Mie) - คาเมยามะมิโสะยากิอุด้ง (Kameyama Miso Yakiudon)ภาพ: japan-web-magazine.com

 

คาเมยามะมิโสะยากิอุด้ง หรือ เส้นอุด้งผัดมิโสะ อาหารขึ้นชื่อจากเมืองคาเมยามะ (Kameyama) เป็นเมนูทำง่ายๆ แค่นำเส้นอุด้งไปผัดกับผัก เนื้อหมู ผสมซอสมิโซะแดง จึงเป็นหนึ่งในเมนูที่สามารถทำกินเองที่บ้านได้ ต้นกำเนิดมาจากร้านอาหารที่อยู่ติดกับถนนใหญ่ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนขับรถบรรทุกซึ่งแวะหาอะไรกิน อาหารที่ร้านเหล่านี้ทำขายจึงไม่ได้ใช้ของที่หรูหราหรือมีกรรมวิธีในการทำอันซับซ้อน แต่เป็นอะไรที่หาง่าย ทำง่าย และรสชาติเป็นที่พึงพอใจ ถือเป็นความอร่อยที่เกิดขึ้นจากตัววัตถุดิบในท้องถิ่นผสมผสานกับความเรียบง่ายนั่นเองInfo
คาเมยามะมิโสะยากิอุด้ง (Kameyama Miso Yakiudon : 亀山みそ焼きうどん)
Origin: เมืองคาเมยามะ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Kamehachi Shokudo (亀八食堂), Earl Grey (アールグレイ), Kawamori Shokudo (川森食堂)

 

09 สึเกี๊ยวซ่า (Tsu Gyoza) | TSU

สึเกี๊ยวซ่า เป็นอาหารประจำเมืองสึ (Tsu) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของจังหวัดมิเอะและเป็นที่ตั้งของเทศบาลจังหวัด โดดเด่นด้วยขนาดมหึมาที่เส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 15 เซนติเมตร และใช้การทอดน้ำมันเท่านั้น ส่วนไส้จะแตกต่างกันไปตามสูตรของแต่ละร้าน ส่วนความเป็นมานั้นเริ่มใน ปี ค.ศ. 1985 ที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งซึ่งตัดสินใจทำเกี๊ยวซ่ายักษ์เป็นอาหารกลางวันให้แก่เด็กๆ ไม่น่าเชื่อว่าในเวลาต่อมาจะกลายเป็นของขึ้นชื่อที่สุดของเมืองไปโดยปริยายInfo
สึเกี๊ยวซ่า (Tsu Gyoza : 津ぎょうざ)
Origin: เมืองสึ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Hyoka Gyoza Tsushinmachi-ten (氷花餃子 津新町店), Kinnabe Honten (金鍋本店), Ajuju (庵JUJU)

 

10 คิจินาเบะ (Kiji Nabe) | KUMANO

ปิดท้ายด้วย คิจินาเบะ หรือ หม้อไฟไก่ฟ้า เป็นอาหารพื้นเมืองดั้งเดิมของหมู่บ้านคิวะ (Kiwa) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองคุมาโนะ (Kumano) ในจังหวัดมิเอะ โดยวัตถุดิบก็คือไก่ฟ้าที่เลี้ยงในระบบเปิดบนพื้นที่ราว 16,000 ตารางเมตร ซึ่งเนื้อมีจุดเด่นตรงที่มันน้อย นำมาใส่ลงไปในหม้อไฟพร้อมกันกับผักชนิดต่างๆ เกิดเป็นอาหารที่ช่วยเติมความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งยังมีคุณค่าทางสารอาหาร เรียกได้ว่าคนรักสุขภาพต้องพึงพอใจอย่างแน่นอนInfo
คิจินาเบะ (Kiji Nabe : きじ鍋)
Origin: เมืองคุมาโนะ จังหวัดมิเอะ
Recommended Restaurant: Yamatoya (大和屋), Seiryuso (瀞流荘), Restaurant Seiran (レストラン瀞蘭)

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ