Chanko Nabe คืออะไร?

“จังโกะนาเบะ” (Chanko Nabe) หนึ่งในประเภทนาเบะที่เราอาจจะพอคุ้นหูหรือเคยได้ยินกันมาบ้าง ด้วยเหตุที่เป็นเมนูหลักที่ใช้ควบคุมน้ำหนัก บำรุงร่างกาย และเสริมสร้างกำลังของนักกีฬาซูโม่มาตั้งแต่ในอดีต หลายๆ คนอาจมองว่าจังโกะนาเบะเป็นเมนูที่กินง่ายทำง่ายมีอะไรก็ใส่ลงไปเน้นเยอะเอาไว้ก่อนซึ่งเราก็ว่าจริง – แต่เมนูหม้อไฟทำง่ายนี่แหละ ที่เป็นตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ ร้อยเรียงความกลมเกลียวความสามัคคีของยักษ์ใหญ่ใจดีเหล่านี้เข้าด้วยกัน

 

Chanko Nabe

 

ในเรื่องของพลังกาย แน่นอนว่านาเบะเป็นเมนูที่มีประโยชน์ทางโภชนาการต่อนักกีฬา ทั้งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ สารอาหารจากผักชนิดต่างๆ แต่จังโกะนาเบะเป็นอะไรที่มากกว่านั้น อย่างแรกคือชาวซูโม่ทุกคนถือว่าการกินนาเบะคือการฝึกฝน แม้จะต้องกินทุกมื้อทุกวันก็ห้ามปฎิเสธหรือเบื่อหน่าย เพราะหากไม่ฝึกฝนวิชาก็ไม่มีวันเก่งขึ้นได้ โดยแต่ละค่ายจะมี “จังโกะบัน” เป็นผู้รับหน้าที่เข้าครัวปรุงนาเบะ ซึ่งแน่นอนว่าบทบาทนี้คือหน้าที่ของน้องใหม่ในค่ายนั้นเอง หรือแม้แต่ลำดับในการกินนาเบะ การให้ความเคารพผู้อาวุโสหรือผู้มีตำแหน่งสูงกว่าอย่างรุ่นพี่เป็นคนตักก่อน ก็เป็นวิถีที่นักกีฬาซูโม่ทุกคนควรพึงปฎิบัติ

เมื่อถึงคราวแข่งขัน ใช่ว่าทุกคนจะได้รับชัยชนะกลับมา “จังโกะนาเบะ” จึงเป็นมากกว่าอาหารที่ให้พลังกาย หากแต่เป็นหม้อไฟพลังใจของคนในครอบครัว เพราะบางทีครอบครัวอาจไม่ได้หมายถึงการมีสมาชิกจำนวนมาก หากแต่หมายถึงการได้นั่งร่วมกินข้าวกับใครสักคนก็พอแล้ว

 

ทำไมต้องไก่ ?

 

Chanko Nabe

 

นอกจากปริมาณล้นหม้อจังโกะนาเบะมีอะไรอีกบ้าง อย่างแรกคือน้ำซุปเข้มข้นที่ได้จากการเคี่ยวซี่โครงไก่และผักต่างๆ หลายชนิด ปรุงรสเพิ่มเติมตามสูตรแต่ละค่าย ส่วนเรื่องผักและเครื่องเคียงเอาเป็นว่าอยากกินอะไรก็ใส่กันลงไป เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่เนื้อสัตว์ โดยปกติจังโกะนาเบะออริจินัลของชาวซูโม่จะต้องใส่เนื้อไก่เท่านั้น ห้ามใส่เนื้อสัตว์สี่ขาอย่างหมูหรือวัวเป็นอันขาด นั่นเพราะในการแข่งขันซูโม่ต้องยืนด้วยขาทั้งสองข้างเท่านั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพลาดเอามือแตะพื้นจะถือว่าแพ้ทันที ด้วยกฏกติกาข้อนี้ทำให้เนื้อไก่กลายเป็นอาหารมงคลของชาวซูโม่ และหมูกับวัวจึงกลายเป็นอาหารต้องห้ามนั่นเอง

 

Ryogoku
ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ถิ่นซูโม่ (และจังโกะนาเบะ)

ย่านเรียวโกกุ (Ryokoku) เขตสุมิดะ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งซูโม่และจังโกะนาเบะ

 

ย่านเรียวโกกุ เขตสุมิดะ รู้จักกันดีในนามดินแดนซูโม่ ย่านที่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวงการซูโม่ตั้งแต่ครั้งในอดีต เป็นที่ตั้งของสนามกีฬาเรียวโกกุโคะคุงิกัง (สนามกีฬาซูโม่แห่งชาติ) และยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ซูโม่ วัดเอโคอิน  (สถานที่จัดแข่งขันซูโม่ครั้งแรกเริ่ม) รวมไปถึงค่ายซูโม่ต่างๆ ที่ตั้งอยู่เรียงรายกระจายอยู่ทั่วทั้งย่าน

แน่นอน – มีซูโม่ก็ต้องมีจังโกะนาเบะ เรียวโกกุยังเต็มไปด้วยร้านนาเบะมากมาย เรียกว่าหลับตาเดินยังไงก็เจอ เจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นอดีตนักกีฬาซูโม่ บางร้านอินถึงกับสร้างลานประลองไว้ในร้าน บางร้านรีโนเวทตัวอาคารมาจากค่ายซูโม่เก่า ส่วนสูตรลับในการปรุงนาเบะแต่ละร้านก็มาจากสูตรประจำของแต่ละค่ายนั่นเอง

 

Nabe Bugyo
ลักษณะนิสัยจากวิธีการกินนาเบะ

เล่ากันสนุกๆ ในวงนาเบะ ว่ากันว่าชาวญี่ปุ่นสามารถแบ่งลักษณะนิสัยของกลุ่มเพื่อนๆ แค่เพียงได้นั่งกิน
นาเบะด้วยกันโดยแบ่งเป็น 4 ลักษณะดังนี้

 

Nabe Bugyo

 

01 Nabe Bugyo(鍋奉行)

“นาเบะบุเกียว” คือใครบางคนที่ทำให้เมนูนาเบะเกิดอรรถรสและศิลปะมากยิ่งขึ้น คอยแนะนำให้ความรู้เล็กๆ น้อยๆ แก่สมาชิกในวง รู้ลำดับขั้นตอนการใส่วัตถุดิบ เร่งไฟหรี่ไฟ เติมน้ำซุป ตักใส่ชามเล็กแจกจ่ายเพื่อนๆ ราวกับเชฟมิชลินสตาร์ บรรจงสรรค์สร้างสุดยอดเมนู

02 Nabe Shogun(鍋将軍)

ดูๆ ไปก็คล้ายกับนาเบะบุเกียวเพียงแต่ท่านโชกุนจะดุและขี้โวยวายไปสักหน่อย เสียงดังและหงุดหงิดหากมีใครหยิบจับของใส่หม้อแบบผิดลำดับขั้นตอน มาพร้อมความเชื่อมั่นในสูตรนาเบะของตนเองแบบไม่ฟังใคร ดั่งท่านโชกุนผู้เรืองอำนาจ

03 Aku Daikan(アク代官)

เมื่อต้มนาเบะไปได้สักพัก มักจะเกิดคราบน้ำซุปหรือฟองสีน้ำตาลในหม้อ ซึ่งจะทำให้น้ำซุปเสียรสชาติ
“อะคุไดคัน” จึงมีหน้าที่สำคัญนั่นคือการตักฟองออกจากหม้อ อารมณ์ประมาณว่า ไหนๆ ก็นั่งกินด้วยกันแล้ว ขอเราช่วยสักนิดนะ

04 Machi Bugyo(待ち奉行)

เขาอาจจะคิดว่า การยื่นมือเข้าไปช่วยหลายๆ คนอาจทำให้ดูยุ่งยากวุ่นวายเกินความจำเป็น “มาชิบุเกียว” จึงมีหน้าที่ถือตะเกียบให้พร้อม และรอกินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ฮ่าๆ

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ