เกียวโต เป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมสมัยเก่าและใหม่ทับซ้อนกันอยู่ทุกซอกมุม เราสามารถเห็นความขัดแย้ง แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ของ 2 สิ่งที่สร้างต่างช่วง ต่างเวลา ต่างหน้าที่ แต่ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งแล้วทำลายกันก็ได้ ในย่านค้าขายเก่าแก่ของเมืองอย่างย่านซันโจ ที่มีถนนซันโจเป็นถนนสายหลัก เต็มไปด้วยร้านค้า ร้านกินดื่มที่ขนานตัวไปกับแม่น้ำคาโมะ (Kamo River) แม่น้ำสายหลักของเมือง ความใหม่ในความเก่าได้พาให้ตัวผมเองเดินไปหาเรื่องราวเหล่านั้น

คลองทาคาเสะ (Takase River) ที่เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากชุมชนทางใต้ของเมืองเกียวโตมาตั้งแต่อดีตคลองนี้วางตัวเองขนานไปกับแม่น้ำคาโมะ ตลอดเส้นทางนี้ปัจจุบันมีร้านรวงหลากหลายกิจกรรมเต็มไปหมด ดูไม่มีร่องรอยเรื่องราวการขนส่งสินค้าแต่เดิม คลองนี้มีจุดตัดกับถนนซันโจ (Sanjo Dori) ซึ่งเป็นพื้นที่การค้าสำคัญของเกียวโต จากซันโจสามารถเชื่อมไปยังแหล่งการค้าเก่าแก่ทั้งตลาดนิชิคิ ตลาดของสด ของแห้ง ที่มีกลิ่นอายชวนให้คิดถึงเยาวราช และย่านเทะระมะชิ ที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งสตรีท คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

ณ จุดตัดของถนนซันโจและริมแม่น้ำทาคาเสะ ปรากฏอาคารคอนกรีตเปลือยหลังขนาดย่อมตั้งอยู่หัวมุมของ 2 เส้นทางสัญจร ย่านนี้ดูคึกคัก แต่อาคารกลับดูถ่อมตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ จุดน่าสนใจคือการออกแบบที่แปลกไปจากอาคารพาณิชย์ทั่วไป เป็นฝีมือของสถาปนิกชื่อเสียงก้องโลก ทะดะโอะ อันโดะ (Tadao Ando) และมีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจพอๆ กันกับที่ตั้งเลยทีเดียว เริ่มในยุค 1980 เจ้าของโครงการได้ตัดสินใจจ้างให้อันโดะ เป็นสถาปนิกที่ออกแบบงานนี้ ในช่วงเวลานั้นอันโดะเริ่มมีชื่อเสียงทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่นแล้ว

ในรูปแบบแรก ทางเจ้าของต้องการให้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด ต้องการให้อาคารหันหน้าเข้าถนนซันโจตามแนวคิดทั่วไปของอาคารประเภทห้าง แต่อันโดะเสนอให้ขนานกับแม่น้ำพร้อมกับมีลานติดริมน้ำ ซึ่งมันขัดใจกับเจ้าของโครงการแต่ด้วยความดื้อก็สามารถโน้มน้าวไอเดียเจ้าของพื้นที่โครงการจนได้ อาคาร Times 1 จึงแล้วเสร็จในปี 1984

ต่อมาเจ้าของโครงการได้ตัดสินใจต่อเติมอาคาร Times ในปี 1986 เพิ่มพื้นที่ด้านหลัง ให้สามารถเชื่อมกับถนนด้านหลังที่ต่อเนื่องไปยังย่านการค้าซันโจ และพอนโตโชะ (Pontocho) อันเป็นย่านท่องราตรีเก่าแก่ และเป็นอีกครั้งที่ไอเดียของอันโดะโดนปฏิเสธ แต่คราวนี้เขารู้จักรอโดยใช้เวลารอถึง 4 ปี กว่าเจ้าของจะยอมใจอ่อนคลายความโกรธลง จนงาน Times 2 แล้วเสร็จลงในช่วง 1990

ต้องขอบคุณในความดื้อของสถาปนิกอดีตนักมวยที่ทำให้ Times 1-2 สำเร็จลงตามความตั้งใจ

เมื่อแรกเจออาคาร Times 1 จะต้องเดินผ่านทางถนนซันโจก่อน จากนั้นจึงพบกับอาคารคอนกรีตเปลือยสูง 3 ชั้น 2 ชั้นบนเป็นร้านให้เช่าที่ค่อนข้างเงียบ จากระดับของถนนสามารถไปได้ 2 ทาง คือไปยังชั้น 2-3 หรือเลือกที่จะเดินลงไปพื้นที่ริมน้ำที่ชั้น 1 สถาปนิกเลือกวางผังให้มีความซับซ้อน ถูกวางวนเวียนไปด้วยบันไดทางเดินที่วนซ้อนด้านหลังร้านจนดูลึกลับ ตลอดทางเดินยาวพร้อมกับวนไปมา ถูกตัดขาดจากพื้นที่ภายนอกทีละเล็กละน้อย แต่พื้นที่ภายในถูกวางให้เชื่อมกับธรรมชาติด้วยการสร้างคอร์ต ลานโล่งเปิดเชื่อมกับท้องฟ้าขนาดเล็ก 2 จุด ความมืดหลังเงาคอนกรีตช่วยให้ท้องฟ้าสวยกว่าทุกครั้ง หากเดินจากถนนซันโจไปจนสุดทางจะเจอประตูขนาดเล็ก เมื่อเดินผ่านจะเจอตรอกที่เชื่อมกับย่านราตรีด้านหลัง ตลอดเส้นทางเพดานมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน บางพื้นที่สูงกว่าเพดานปรกติ มันช่วยให้การเดินในห้างนี้ ชวนให้น่าค้นหาจากความลึกลับในตัวมันเอง

วัสดุปรกติที่อันโดะนิยมใช้ในยุคนั้นคือคอนกรีตเปลือยจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขา แต่กับงานนี้เขาใช้คอนกรีตเปลือยผสมกับคอนกรีตบล็อก ทำให้ผนังมีลวดลายที่ดูกระด้างน้อยลง สัดส่วนอาคารที่ถูกทอนด้วยระเบียง ลายผนัง ทำให้อาคารนี้มีสัดส่วนที่ดูเป็นมิตรกว่าหลายงานของเขา

แม้ว่าปัจจุบัน ร้านที่มาเปิดในห้างนี้จะมีจำนวนน้อย แต่การมีประสบการณ์กับสถาปัตยกรรมของเขา โดยเฉพาะกับผู้สนใจในงานสถาปัตยกรรม ควรจะมาลองเยือนสักครั้งเพราะจะทำให้เห็นรอยต่อของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่อันโดะออกแบบ แม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์จากนักวิจารณ์ถึงงานนี้ว่า

ความเงียบเหงาทั้งหมดเกิดจากการออกแบบที่ซับซ้อนวนไปมาจนยากต่อการใช้งานก็ตาม แต่เมื่อมายังเกียวโตแล้วก็ควรลองเข้ามาแวะชม เพราะอาคาร Times 1-2 เป็น 1 ในงานไม่กี่ชิ้นของอันโดะในเกียวโต และสร้างเป็นงานแรกในเกียวโต ก่อนที่จะมีงานต่อมาคือ Garden of Fine Art ในช่วงปี 1990

ปัจจุบันร้านริมน้ำที่ชั้น 1 เป็นร้านอาหารเม็กซิกัน สามารถนั่งได้ทั้งด้านในร้านและด้านนอกที่ติดคลองทาคะเสะ การได้มานั่งกินดื่มสบายๆ ริมน้ำที่ไหลเอื่อยเรือยรินบนพื้นหินเป็นสิ่งที่แนะนำ และจะงามมากขึ้นไปอีกเมื่อถึงหน้าซากุระบาน ยิ่งทำให้ถนนเลียบน้ำสายนี้งดงามเป็นพิเศษขอให้ลองแวะมานั่งลงจิบกาแฟสักแก้ว แล้วปล่อยอารมณ์ไหลไปกับน้ำที่เกียวโต

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ