ถ้าจะถามกันตามตรงว่าเมื่อเราต้องซื้อน้ำดื่มสักขวด นอกจากความต้องการดับกระหายจากน้ำในขวด เราต้องการอะไรจากขวดน้ำ

เราต้องการรับรู้ข้อมูลอะไรบ้างที่มีความจำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกหยิบ และนอกจากนี้เรายังต้องการการออกแบบขวดหรือฉลากที่สวยงามหรือเปล่า เพราะในเมื่อน้ำดื่มก็คือน้ำดื่มซึ่งแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนักนอกจากเรื่องของราคาและรสชาติที่แตกต่างกันเล็กน้อย เหตุผลอะไรที่ทำให้มือเราเอื้อมไปหยิบขวดนี้และไม่หยิบขวดนั้น

มันเป็นเรื่องของเหตุผลหรือว่าเป็นเรื่องของความรู้สึก หรือในที่สุดแล้วคำตอบของการเลือกขวดน้ำเปล่าอาจคือคำว่า ‘เปล่า ไม่ได้คิด’ หรือ ‘เปล่า ไม่ได้นึกถึงอะไรมาก’ ต้องการเพียงแค่ความสดชื่นแล้วเดินไปจ่ายเงิน

แล้ว…ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ แหล่งที่มาของน้ำ การรับรองจากสถาบันต่างประเทศ และอื่นๆอีกมากมาย จำเป็นต่อการดับกระหายของเราหรือเปล่า?

และถ้ามีสักแบรนด์ที่ไม่สนใจการให้ข้อมูลอะไรเลยมันจะเป็นอย่างไร ในทางตรงกันข้ามกลับสนใจในการออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้สึกสดชื่นสายตาตั้งแต่แรกเห็น นั่นคือให้ความสำคัญและสนใจในความรู้สึกของผู้บริโภคเพียงเท่านั้น

‘คิริน’ น่าจะเป็นแบรนด์ที่พยายามทำในสิ่งที่ว่านั้นมาตลอด เพื่อสร้างความแตกต่างจากทุกแบรนด์ เริ่มจากปี ค.ศ. 2012 ที่ได้วางตลาดน้ำดื่มที่มีดีไซน์แตกต่างกันถึง 6 แบบเพื่อสร้างความรู้สึกใหม่ให้ผู้บริโภค จากแนวความคิดในการออกแบบที่แสนเรียบง่ายโดยมีที่มาที่ไปจากหยดน้ำ การผุดของน้ำ การแกว่งต้นไม้ ผ่านการออกแบบที่ดูไม่ซับซ้อนด้วยการใช้สีเพียงโทนเดียวกับเส้นและรูปร่างง่ายๆในการสื่อความหมายและการจัดวางที่สบายตา ที่สำคัญคือดูแล้วสดชื่น ทั้งหมดเป็นผลงานการออกแบบของ SAGA Inc. โดยเบื้องหลังของวัตถุประสงค์คือการพยายามออกแบบเพื่อให้ขวดน้ำทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่ง ไม่ว่าจะวางหรือถูกถือโดยใครในสถานที่ใดก็ตาม

 

ขอขอบคุณภาพจาก sagainc.co.jp

 

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 คิรินก็ยังประกาศตัวอย่างแน่วแน่เพื่อเดินหน้าในเส้นทางสายนี้ต่อไป ด้วยการวางตลาดอีกหนึ่งดีไซน์ของน้ำดื่มที่มีชื่อว่า Hare to mizu โดยใช้เพียงแค่เส้นและการจัดวางง่ายๆในการออกแบบ ซึ่งอาจจะพอเดาได้ว่ามาจากผิวน้ำที่พลิ้วไหวเมื่อเวลาถูกแสงแดดส่อง ซึ่งยังคงแนวความคิดของความเรียบง่ายแต่สะดุดตาเหมือนเดิม

จากแนวความคิดของการออกแบบเพื่อสร้างความ
แตก
ต่างของคิริน คงพอจะบอกเราได้ว่าบางครั้งความรู้สึกของผู้บริโภคนั้นเป็นเรื่องสำคัญกว่าการให้ข้อมูลหรือพูดในสิ่งที่เราอยากจะพูดออกไปโดยไม่สนใจว่าผู้บริโภคอยากรับสารนั้นหรือเปล่า และเมื่อมาผสมผสานกับงานออกแบบที่ดูเป็นมิตรกับผู้บริโภค ก็จะช่วยลดช่องว่างของกันและกัน และสนิทสนมกันมากขึ้นไปโดยปริยาย จะมีอะไรที่ดีไปกว่าการที่ผู้บริโภคเห็นแบรนด์หรือสินค้าเป็นเพื่อนที่ไม่ซีเรียส เพื่อนที่รู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ อย่าลืมว่าในที่สุดแล้วน้ำเปล่าก็แค่น้ำเปล่า ทำได้ดีที่สุดก็แค่ดับกระหาย แม้จะพยายามแค่ไหน
ก็ทำได้เพียงเท่านั้นจริงๆ

บางทีการปล่อยอะไรให้รู้สึกเองเสียบ้างก็เป็นการกระตุ้นและเปิดพื้นที่ให้ความรู้สึกของมนุษย์ได้ทำงานมากกว่าที่จะต้องรับรู้ทุกอย่างที่เป็นเรื่องราวไปเสียทั้งหมด เพราะว่านี่คือเรื่องที่ดีต่อความรู้สึกของผู้บริโภคในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งเลยทีเดียว นี่อาจเป็นเรื่องง่ายๆเรื่องหนึ่งที่พวกเราอาจจะหลงลืมกันไป นั่นคือการออกแบบเพื่อรับใช้ ‘ความรู้สึก’ ของมนุษย์… :-.)

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ