ใครที่ได้ไปเที่ยวโตเกียวในช่วงปลายเดือนสิงหาคม หากแวะไปที่ Tokyo National Museum จะมีโอกาสได้ชมนิทรรศการ “Thailand Brilliant Land of the Buddha” หรือที่ชาวเน็ตนิยมติด hashtag สั้นๆว่า #タイ展 อ่านว่า ไทเต็ง ซึ่งถ้าหากเอาแฮชแท็กนี้ไปเสิร์ทใน Instagram จะเจอรูปถ่ายมากมายจากผู้ไปเที่ยวงาน ดูเพลินจนเหมือนได้ไปเที่ยวเอง

 

 

          เนื่องจากปีนี้ (2017) เป็นปีที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 130 ปี “Thailand Brilliant Land of the Buddha” จึงเป็นนิทรรศการพิเศษที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสดังกล่าว โดยจัดแสดงครั้งแรกที่ Kyushu National Museum ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และต่อมาจัดที่กรุงโตเกียวในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่ทางภัณฑารักษ์ได้คัดเลือกมานั้น แต่ละชิ้นล้วนสะท้อนเอกลักษณ์ทางพุทธศิลป์อันโดดเด่นในแต่ละยุคสมัยของไทย นับตั้งแต่ “รูปปั้นพระอรรถนารีศวร” ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-8 “พระพุทธรูปปางลีลา” อิริยาบถอ่อนช้อยในสมัยสุโขทัย “ช้างทรงเครื่องทองคำ” ในสมัยอยุธยา

 

 

          ที่น่าทึ่งมากคือ การยกเอา “ประตูไม้แกะสลักวัดสุทัศน์ฯ” ขนาดความสูงราว 6 เมตร ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 2 มาจัดแสดง (ไม่ได้ถอดบานประตูปัจจุบันไปนะคะ แต่เป็นบานประตูโบราณที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร) ซึ่งเราค้นข้อมูลแล้วพบว่าเมื่อ 4 ปีก่อน (2013) มูลนิธิซุมิโตะโมะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้เงินทุนสนับสนุนซ่อมแซมและอนุรักษ์บานประตูไม้แกะสลักชิ้นนี้ นับว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่เกื้อกูลและเกี่ยวโยงกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบานประตูไม้แกะสลักจะเป็นจุดเดียวที่อนุญาตให้ผู้ชมงานนิทรรศการถ่ายรูปได้ จากนั้นไม่ต้องสงสัยเลยนะคะว่า…ตลอดทั้งงานงดถ่ายภาพค่ะ

 

 

          หลังจากชื่นชมโบราณวัตถุแล้ว สิ่งที่พลาดไม่ได้คือ ของที่ระลึก! หรือสินค้าที่จับเอางานศิลปะที่จัดแสดงมาพลิกแพลงดัดแปลง สำหรับงานนี้ก็เช่นกัน มีสินค้ามากมายผลิตออกมาไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด ที่ทับกระดาษ แฟ้มเอกสารขนาด A4 โปสการ์ด หรือแม้แต่พลาสเตอร์ลวดลายคล้ายกับจิตรกรรมฝาผนัง แต่ที่ Kawaii สุดๆ คือ Masking Tape (เทปกาว) และนาฬิกาแขวนผนังสีสันสดใส ชมพู เหลือง เขียว ส้ม ฟ้า แถมด้วยลายเส้นสนุกๆ ที่วาดพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งพบว่าศิลปินที่วาดภาพนี้คือ “มิอุระ จุน” (Miura Jun, 1958) มังงะอาร์ตติส ศิลปินผู้มีคาแร็กเตอร์โดดเด่น ผู้หลงใหลความงดงามของพระพุทธรูปในบ้านเกิดของตัวเอง และเริ่มฝึกสเก็ตช์ภาพพระพุทธรูปมาตั้งแต่เด็กๆ

 

 

          ศิลปินท่าทีกวนๆ ที่มักสวมแว่นตากันแดดสีดำไว้ผมยาวประบ่าแสกกลางท่านนี้ เป็นผู้ออกแบบภาพวาดบนสินค้าที่ระลึกในงาน รวมถึงเสื้อยืดที่มีรูปวาด “พระอัฏฐารส” วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ยืนเด่นเป็นสง่าพร้อมกับตัวอักษรที่เขียนว่า “ประเทศไทย”

          มิอุระ จุน หลงใหลในความงดงามของพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมฯ หลังจากที่ไปทัศนศึกษาตามวัดต่างๆ ในเกียวโตกับนารา (ศิลปินเกิดที่เกียวโตค่ะ) และเริ่มฝึกสเก็ตช์ภาพพระพุทธรูปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผลงานที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้กับมิอุระเป็นอย่างมากคือ “Iden & Tity” (1992) การ์ตูนมังงะที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับดนตรีร็อคในยุค 1980

          นอกจากนี้ มิอุระยังเป็นนักเขียนนิยาย คอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ดนตรี และพิธีกรรายการ “เค็มบุสึกิ” (見仏記 /ken-butsu-ki) ร่วมกับอิโตะ เซโกะ (Ito Seiko) นักแสดงชาย (ที่อายุอานามใกล้เคียงกัน) ทั้งสองมักพากันไปชมพระพุทธรูปตามวัดต่างๆทั่วญี่ปุ่น อีกทั้งยังเคยเขียนหนังสือร่วมกันเกี่ยวกับพระพุทธรูป ด้วยโปรไฟล์ที่ปูทางมาในด้านนี้ ซูเปอร์สตาร์ทั้งสองท่านจึงได้รับเลือกให้เป็น “ทูตวัฒนธรรม” ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ “Thailand Brilliant Land of the Buddha” โดยในปลายปีนี้ ชาวไทยอาจได้รับชมนิทรรศการจากประเทศญี่ปุ่น ที่นำวัตถุล้ำค่าทางศิลปะมาจัดแสดงแลกเปลี่ยนเช่นกันค่ะ

สำหรับผู้อ่านที่อยากติดตามความเคลื่อนไหวของงานนิทรรศการ เข้าไปดูได้ที่ Instagram ชื่อ kagayaki_thai2017 หรือ twitter ชื่อ @hotokenokuni ได้นะคะ

—————————————

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.tnm.jp

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ