เกือบสิบปีได้ที่ฉันเห็นรูปภาพนี้ในหนังสือภาษาญี่ปุ่นที่ซื้อมา สงสัยเหลือเกินว่าของสิ่งนี้คืออะไรนะน่ารักจัง จนเวลาผ่านไป ได้รู้จักแบรนด์สินค้าผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่ก่อตั้งโดยคนญี่ปุ่นในเมืองไทย ชื่อ “Planeta Organica” จึงได้พบผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ทำจากผ้าฝ้ายทอมือ หน้าตาคล้ายกับรูปที่เคยเห็นในหนังสือ และได้รู้ในที่สุดว่ามันคือ “ผ้าอนามัยที่ใช้แล้วไม่ต้องทิ้ง” แต่ให้ซักแล้วนำกลับมาใช้ได้อีกนั่นเอง

photo credit: touta.org

อาจฟังดูแปลก และไม่คุ้นเคยสำหรับผู้หญิงยุคเราๆ ที่โตมากับผ้าอนามัยแผ่นที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย  แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไรฉันจึงสนใจผ้าอนามัยผ้าแบบนี้นัก เมื่อศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียดจากแผ่นพับ ฉันตัดสินใจซื้อมาลองใช้ทันที และนับจากวันนั้นก็ใช้มันมาโดยตลอด เป็นเวลากว่าแปดปีแล้ว

หลังจากวันนั้น ฉันได้พบเห็นเจ้าสิ่งนี้ในหนังสือหรือเว็บไซต์ของคนญี่ปุ่นอยู่เนืองๆ ร้าน MUJI สาขาในประเทศญี่ปุ่นก็มีผ้าอนามัยแบบนี้จำหน่าย แต่แบรนด์ที่ขึ้นชื่อและพบได้บ่อยที่สุดก็คือ “touta” ที่ฉันเห็นในหนังสือนั่นเอง แบรนด์นี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2003 มีคอนเซ็ปต์คือทำผ้าอนามัยจากผ้าฝ้ายอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อร่างกาย และนำเศษผ้าฝ้ายจากโรงงานที่มีลวดลายต่างๆ มาตกแต่งให้น่าใช้ เพราะตั้งใจลดขยะเศษผ้าเหลือทิ้ง มีวางจำหน่ายในร้านขายสินค้าออร์แกนิก และแม้แต่ในเว็บไซต์ขายสินค้าชื่อดังของญี่ปุ่น Rakuten ก็มีขายเมื่อลองเสิร์ชคำว่า “Sanitary Napkin” ฉันพบว่าสาวๆ ตะวันตกเองนิยมใช้ผ้าอนามัยผ้ากันไม่น้อย โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา มีทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์จากแบรนด์แนวๆ รักษ์โลก และบทความเสนอแนะวิธีให้ทำใช้เองมากมาย

ฉันไม่ใช่คนที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขนาดที่ยึดเป็นคอนเซ็ปต์ของชีวิต แต่จะจริงจังกับบางเรื่องที่รู้สึกว่ามันรบกวนจิตใจเรา เช่น ไม่สบายใจที่เห็นขยะนานาชนิดถูกทิ้งปะปนกัน เพราะรู้ว่าระบบคัดแยกขยะในบ้านเราอาจยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ขยะที่แยกได้ง่ายและนำไปขายได้นั้นไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ ขยะที่ย่อยสลายได้แสนยากเย็นและไม่มีใครอยากยุ่งด้วยเลยจะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือขยะประเภทผ้าอนามัยและผ้าอ้อมเด็กอ่อน ซึ่งถึงแม้ไม่มีตัวเลขสถิติใดๆ มายืนยัน เราก็คงพอเดากันได้ไม่ยากว่า ในแต่ละวันแต่ละเดือน ขยะประเภทนี้นั้นมีมากเพียงใด

photo credit: goo.gl/hoV8HW

ยอมรับว่าผ้าอนามัยแบบใช้แล้วต้องซัก ไม่สะดวกเท่าแบบใช้แล้วทิ้ง เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่าง แต่ฉันซึ่งค่อนข้างเป็นคนขี้เกียจกลับไม่รู้สึกว่าเป็นภาระมากมายนัก อีกทั้งการซักให้สะอาดก็ไม่ได้ยากอย่างที่จินตนาการไว้แต่แรก หลังจากใช้แล้ว ฉันจะชำระล้างเบื้องต้นด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง (ห้ามใช้น้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะคราบจะติดฝังแน่น) จากนั้นนำไปแช่น้ำผสมเบกกิงโซดาทิ้งไว้จนกว่าช่วง “วันนั้นของเดือน” จะสิ้นสุด ระหว่างนั้นก็คอยเปลี่ยนน้ำที่แช่ทุกวัน เมื่อนำมาซักจะพบว่าผ้าสะอาดได้ง่าย

มีเคล็ดลับในการใช้งานนิดหน่อยคือ ไม่ควรปล่อยให้คราบแห้ง เพราะจะทำความสะอาดยาก การเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ช่วยได้ หากต้องออกไปข้างนอก คุณอาจพกชุดคิตสำหรับวันนั้นของเดือนติดตัวไว้ ประกอบด้วย ขวดสเปรย์เล็กๆ ใส่น้ำเปล่า ถุงซิปล็อก ผ้าอนามัยสำหรับเปลี่ยนระหว่างวัน ใส่ทั้งหมดลงในถุงผ้าน่ารัก เราจะเก็บผ้าอนามัยที่ใช้แล้วในถุงซิปล็อก แล้วฉีดน้ำให้ชุ่มๆ ไว้ เพื่อให้ซักคราบออกได้ง่าย

ในเว็บไซต์ต่างๆ บอกข้อดีของผ้าอนามัยผ้าไว้มากมาย นอกจากช่วยลดการระคายเคืองจากผ้าอนามัยสังเคราะห์ ประหยัด ลดขยะ ทำใช้เองได้ และเป็นทางเลือกยามเกิดภัยภิบัติแล้ว ข้อดีอีกอย่างคือผ้าอนามัยฝ้ายนุ่มๆ นี้ช่วยให้ความอบอุ่นกับร่างกายของเรา ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี ลดอาการไม่สบายตัวและคลายกล้ามเนื้อ ฉันไม่อยากโฆษณาชวนเชื่อหรือรับประกันความพึงพอใจใดๆ แค่อยากเล่าไว้เผื่อเป็นทางเลือก หรือให้รู้ว่าของแบบนี้ก็มีด้วยนะ แต่ถ้ามีคนหันมาลองใช้กันเยอะๆ ก็คงจะดีไม่น้อยเลยน้าาา.

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ