Sagawa Art Museum พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยในจังหวัดชิกะ 

วัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อศิลปะเป็นอย่างมาก เราสามารถหาพิพิธภัณฑ์ศิลปะได้แทบทุกเมืองแม้ในจังหวัดเล็กๆ จากการเดินทางในญี่ปุ่นทำให้พบว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งเป็นของเอกชน ไม่ได้ดำเนินการโดยรัฐบาลเพียงอย่างเดียว พิพิธภัณฑ์ศิลปะเหล่านั้นเริ่มจากของสะสมของเศรษฐีที่ต้องการนำเสนอรสนิยมที่ดีต่อสังคม

 

Sagawa Art Museum, Shiga

 

ทะเลสาบบิวะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในจังหวัดชิกะ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเกียวโต การเดินทางจากตัวเมืองจะต้องข้ามทะเลสาบขนาดใหญ่แห่งนี้ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าจังหวัดนนทบุรีเล็กน้อย ถือเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบนี้มายาวนาน 

 

 

ณ ริมน้ำบิวะฝั่งตะวันออก ปรากฏพิพิธภัณฑ์ศิลปะซากาวะ (Sagawa Art Museum) ซึ่งสร้างในวาระที่ Sagawa Express Co., Ltd. ก่อตั้งครบรอบ 40 ปี ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Takenaka Corporation แผนก Osaka Design ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงทั้งงานประติมากรรม จิตรกรรม และงานเซรามิกจาก 3 ศิลปินญี่ปุ่น เปิดใช้งานเมื่อปี ค.ศ. 1998 อาคารถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามคอลเลคชั่นของศิลปิน หากเรียงตามลำดับการเข้าถึงอาคารแรกคือ “A Prayer for Peace” ส่วนของศิลปิน Ikuo Hirayama จิตรกรผู้เดินทางไปตามเส้นทางสายไหมที่นำพุทธศาสนามาสู่ญี่ปุ่น ส่วนนี้จะได้ชมบันทึกการเดินทางของ Ikuo ด้วยภาพวาดขนาดต่างๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนและวัฒนธรรมจากประเทศที่เขาเดินทางไป แรกเมื่อพบอาคารนี้จากที่เข้ามายังหลังรั้ว สายตาพลันกระทบจั่วคอนกรีตขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนราวศาสนสถานโบราณ แต่เป็นอาคารร่วมสมัยด้วยเทคนิคการออกแบบให้อาคารล้อมรอบด้วยผืนน้ำขนาดใหญ่ ช่วยลดความกระด้างของก้อนคอนกรีตให้เบาขึ้น 

 

ทางเชื่อมบนผืนน้ำใน Sagawa Art Museum

 

เมื่อชมอาคารแรกเสร็จสิ้น ต้องเดินผ่านทางเชื่อมบนผืนน้ำสู่อาคารที่สอง คือ “Bronze Poetry” ส่วนของศิลปิน Churyo Sato ประติมากรผู้ปั้นงานในแบบประติมากรรมญี่ปุ่นจากโลหะบรอนซ์ด้วยรูปแบบใหม่ให้ดูร่วมสมัย การเดินผ่านทางเชื่อมจะพบกับลายน้ำที่กระเพื่อมจากลมที่มาจากบิวะ แล้วสะท้อนแสงจากผืนน้ำมากระทบฝ้าเพดานที่ดูมีชีวิตชีวา

 

Sagawa Art Museum

 

จบจากส่วนนี้จึงไปยังส่วนที่สามคือ “Shuhari” ส่วนของ Raku Kichizaemon ศิลปินเซรามิกรากุรุ่นที่ 15 ซึ่งสืบทอดศิลปะการชงชามากว่า 450 ปี พื้นที่ส่วนนี้มีความพิเศษคือการเข้าถึงที่ไม่ใช่อาคาร แต่มันถูกซ่อนไว้ใต้ผืนน้ำอย่างแนบเนียน ส่วนนี้ถูกเปิดใช้งานหลัง 2 อาคารแรก โดยเปิดใช้งานในปี ค.ศ. 2007 และสร้างอาคารโรงน้ำชาเหนือน้ำอีกด้วย ส่วน Shuhari ต้องเดินทางด้วยการลอดผืนน้ำที่คลุมพิพิธภัณฑ์ไว้ ภายในบรรจุคอลเลคชั่นงานเซรามิกโดยใช้เทคนิคพิเศษแบบรากุอยู่หลายชิ้น แต่สำหรับการเสพสถาปัตยกรรม ส่วนแรกที่จะพบก่อนเข้าแกลเลอรี่คือกำแพงคอนกรีตเปลือยที่มีเทคนิคการหล่อพิเศษทำให้ผิวเป็นสีดำ แม้กำแพงตั้งอยู่ในพื้นที่สลัว แต่กลับเห็นริ้วคอนกรีตเปลือยได้ชัดจากการออกแบบให้มีช่องรับแสงจากด้านบน พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักและความพิเศษที่มีให้ชมคือแสงที่ไล้คอนกรีตท่ามกลางความสลัว ผมเฝ้าสังเกตจุดนี้อยู่พอสมควร ผู้เข้าชมมักจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับแสงสลัว เข้าไปเล่นกับแสงในแอคชันต่างๆ ก่อนเดินทางกลับ ทั้งที่มีเพียงแค่แสงเท่านั้นเอง

 

โรงน้ำชาที่ตั้งเป็นเอกเทศอยู่บนผืนน้ำที่ Sagawa Art Museum

 

ส่วนสุดท้ายที่ผมวนมาชมก่อนเดินทางกลับคืออาคารโรงน้ำชาที่ตั้งเป็นเอกเทศอยู่บนผืนน้ำ ซึ่งออกแบบโดย Raku Kichizaemon ทำให้พิเศษด้วยพื้นที่ภายในจมลงต่ำกว่าระดับน้ำ เมื่อมองจากด้านในจะพบกับมุมมองที่พิเศษในตัวมันเอง จังหวะของการวางอาคารที่แลดูนิ่ง แต่ผืนน้ำที่เคลื่อนไหวจากแรงลมตลอดเวลา ชวนให้นึกถึงเรือลำน้อยลอยในทะเลสาบบิวะ หากอยากเข้าชมภายในอาคารนี้ต้องทำการจองล่วงหน้ามาก่อน เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ รอบละ 30 นาที เพียงรอบละ 10 คนเท่านั้น 

 

แสงที่ทลายความมืดสู่ความสลัวในปีก Shuhari รวมถึงแสงประดิษฐ์จากฝีมือ Architectural Lighting Group (ALG) ที่ Sagawa Art Museum

 

แม้ว่าอาคารจะมีขนาดใหญ่โต แต่ในสายตาสถาปนิก ผมเห็นว่าสิ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์นี้น่าสนใจคือแสง โดยเฉพาะแสงธรรมชาติที่ทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมในเวลาต่างๆ ทั้งแสงกระทบจากลายน้ำที่ไล้ชายคาคอนกรีตอย่างร่าเริง แสงที่ทลายความมืดสู่ความสลัวในปีก Shuhari รวมถึงแสงประดิษฐ์จากฝีมือสำนักงานออกแบบแสงสว่าง Architectural Lighting Group (ALG) แสงเหล่านี้ทำให้ความใหญ่โตน่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยรายละเอียด 

รายละเอียดเพิ่มเติม www.sagawa-artmuseum.or.jp

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ