สารบัญ

 

อุทิศ เหมะมูล :

หากให้ลองยกตัวอย่างเหล่านักเขียนชาวไทยที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักของยุคสมัย สม่ำเสมอทั้งปริมาณความถี่ของงานและคุณภาพโดยรวมที่ถูกกล่าวขานผ่านเวลานับปีถึงความเข้มข้นของเนื้อหาและวิธีการนำเสนออันสดใหม่ โดยไม่มีการเอ่ยถึงชื่อของ ‘อุทิศ เหมะมูล’ ก็จะดูเป็นการกล่าวถึงวงการวรรณกรรมไทยที่ไม่สมบูรณ์นัก

‘ม่อน-อุทิศ เหมะมูล’ นักเขียนผู้มากความสามารถ ที่จัดจ้านทั้งฝีปากกาและการออกแบบเรื่องราว ผลงานของเขาถูกกล่าวขวัญและชื่นชมเรื่อยมาตั้งแต่นวนิยายเรื่องแรก ‘ระบำเมถุน’ เมื่อปี พ.ศ. 2547 หลังจากนั้นก็มีผลงานมากมายที่เรียงรายออกมาสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้อ่านและนักวิจารณ์อย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะ ‘ลับแล, แก่งคอย’ นวนิยายที่พิชิตรางวัล S.E.A. WRITE ได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2552

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักเขียนคนหนึ่งทำงานได้ยาวนานต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี โดยปราศจากท่าทีของการแผ่วเบาในพลังและความคิดสร้างสรรค์กันแน่ ยามสายของวันทำงานแรกในสัปดาห์หนึ่ง KIJI ได้พบกับ อุทิศ เหมะมูล ในบรรยากาศสบายๆ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน และย้อนรำลึกถึงเส้นทางที่ผ่านมาในวงการน้ำหมึก ในห้วงเวลาที่อาชีพและหัวใจนักเขียนของเขา เดินทางมาถึงช่วงกึ่งกลางของชีวิต

 

 

Q. อยากให้เล่าถึงที่มาของการเขียนหนังสือ

สมัยเรียนเราเป็นคนสนใจภาพยนตร์นะ คือมันเหมือนกับเริ่มจากความสนใจใน Video Art ออกมาเป็นภาพยนตร์ อยากจะลองทำหนัง ทำโน่นทำนี่ แต่ก็รู้อยู่ว่าหนังมันใช้เงินเยอะมาก แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าเอาความคิดตัวเองไปลงในทัศนศิลป์อย่างเดียวมันไม่ได้ละ พอมาเป็นภาพยนตร์ก็ไม่ได้อีก เพราะภาพยนตร์มันต้นทุนสูง เราก็ไม่รู้ว่าจะไปหาเงินจากที่ไหนมาทำ

การเขียนหนังสือมันก็มาจากการที่ผมได้เขียนบทภาพยนตร์ทิ้งไว้ ซึ่งก็คือหนังที่อยากจะทำนั่นแหละ มีไอเดียอะไรก็เขียนๆ เก็บไว้ มันคือการสร้างเรื่องราวออกจากตัวเอง หลังจากนั้นก็ถอยตัวเองออกมา อยู่กับตัวเองมากขึ้น เริ่มเขียนหนังสือมากขึ้น เอาแต่เขียน เขียนจนวันหนึ่งเราค้นพบว่า เออ…จริงๆ แล้วมันก็จบลงอย่างสมความอยากของเราแล้วนะ ที่คิด ที่จินตนาการอะไรไว้ในหัว พอออกมากลายเป็นตัวหนังสือ มันก็ตอบสนองเราได้ดีแล้ว เราเลยเข้าใจตัวเองว่าเขียนหนังสือน่าจะเป็นอะไรที่เหมาะกว่า หลังจากนั้นก็เขียนหนังสือเรื่อยมา

 

Q. ถือว่าตัวเองเริ่มช้าไหม

เราเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่อันนั้นเขียนพวกบันทึก พวกบทกลอนบ้าง บทกวีบ้าง แต่สำหรับพวก Fiction ที่จริงจังหน่อยจะมาเริ่มหลังจากเรียนจบแล้ว ซึ่งถ้าถามว่าเริ่มต้นช้ามั้ย ก็ไม่นะ น่าจะทั่วๆ ไป เริ่มเขียนก็ 25-26 ปีแล้ว ก็ไม่ถือว่าช้านะ ไอ้พวกอัจฉริยะที่มันเริ่มตั้งแต่ 10 ขวบ 8 ขวบนี่ อย่าไปนับมัน (หัวเราะ)

 

Q. เคยเขียนเปรยๆ ไว้ว่าในวัยหนึ่งตัวเองคือไอ้หนูมหัศจรรย์มาก่อน ทุกวันนี้ยังคิดแบบนั้นไหม

แหม…ใช่ (หัวเราะ) ใครๆ ก็ต้องเคยคิดอย่างนั้นกับอนาคตของตัวเองน่ะนะ เราก็เคยคิดว่าเราเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ หรือพลังอัจฉริยะอะไรบางอย่างในตัว ไม่อย่างนั้นเราก็จะทำงานประเภทนี้ไม่ได้หรอก แต่พอเวลาผ่านไป มันก็ถูกลดทอนลงไป สำหรับเรา สิ่งเหล่านั้นมันคือความพยายามในช่วงนั้น ที่ต้องการจะถีบตัวเองออกไปให้ไกลจากจุดเดิมที่สุด

 

Q. ทักษะและวิธีเขียนในวัยเรียน แตกต่างกับทุกวันนี้ไหม

ไม่รู้สิ (หัวเราะ) แต่ในมุมมองของคนเขียน เราคิดว่า ช่วงแรกของการทำงาน มันจะมีแต่เรื่องประสบการณ์ทางอารมณ์หรือไม่ก็ชีวิตของตัวเอง ซึ่งถ่ายทอดผ่านตัวละครในลักษณะที่เป็นปัจเจกบุคคลมากๆ

แต่พอเราเติบโตขึ้น ส่วนของตัวตนในความเป็นปัจเจกมันเริ่มไปผนวกกับสภาพแวดล้อม สภาพสังคมมากขึ้น ทำให้เรามองเห็นอะไรที่มันกว้างกว่าปัญหาของปัจเจกบุคคลอย่างเดียว เราล้วนต่างเป็นผลผลิตทางสังคมที่เราลืม เพราะฉะนั้นเราคิดว่า ยิ่งเขียนงานมากขึ้น ซึ่งแน่นอนล่ะในช่วงแรก ที่งานมันจะได้เรื่องของความสด ความระห่ำ ห่าม ไม่แคร์โลก แต่ว่าพอโตขึ้นมันก็คิดมากขึ้น มองสภาวะการณ์รอบด้านมากขึ้น แล้วก็คิดว่าอยากจะเขียนอะไรมันก็มีความละเอียดมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น

 

Q. ที่พูดถึงเรื่องของสังคมและสภาพแวดล้อมเพียงเรื่องส่วนตัว มองว่ามันเป็นความรับผิดชอบคนทำสื่อหรือเปล่า

ทุกวันนี้ผมก็ยังเล่าชีวิตของตัวเองอยู่นะ เพียงแต่ว่ามันเป็น Point of view ที่กว้างขึ้น สมมติว่าเราเคยพูดไว้ว่า สมัยวัยรุ่นที่เราเดินไปตามท้องถนน แล้วเราสะดุดก้อนหินทางเท้าเข้า เราก็จะรู้สึกว่าทำไมวันนี้มันเป็นวันแย่ๆของเรา ทำไมโชคชะตาต้องมาทำแย่ๆกับเราแบบนี้ ก็ตีอกชกหัว นั่งโทษตัวเองไป

แต่ว่าพอเราโตขึ้น มันก็จะเห็นว่าสถานการณ์ที่เราเจออยู่ มันเกิดจากสภาพแวดล้อมอื่นบางอย่างที่มาทำให้เกิดอุบัติเหตุแบบนั้น ถึงจุดหนึ่งจะตระหนักได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคนใช้ทางเท้าที่สร้างเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จสักที ซึ่งสิ่งนี้มันทำให้เรามีเรื่องเล่าเรื่องอื่นเพิ่มขึ้นนะ

ทุกวันนี้ก็ยังเล่าเรื่องของตัวเองอยู่ เพียงแต่ว่ามองในหลายมุมและพิจารณาในหลายสภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เคยเป็นคนอารมณ์พุ่งพล่าน เจออะไรมาก็เหวี่ยงกลับ เดี๋ยวนี้การเขียนมันคือเรื่องของการค่อยๆ บรรจงทำ หายใจลึกๆ นับหนึ่งถึงสิบ แล้วก็มานั่งคิดดูว่ามันเกิดจากอะไร มองให้กว้างถึงภาพรวม

เรื่องพวกนี้พอถึงเวลามันจะมาเองนะ เราไม่ต้องไปบังคับสภาวะแบบนี้ให้มันเกิดขึ้น เหมือนกับเวลาที่เราบอกว่าพอโตขึ้น ความต้องการของชีวิตก็จะน้อยลง ถ้าเราพูดถึงงานศิลปะทั้งหมด ตอนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ลักษณะของมันก็จะเยอะๆ หน่อย อยากทำอะไรเยอะๆ มีความทะเยอทะยาน แต่พอโตขึ้น เหมือนกับว่าความต้องการเหล่านี้มันจะลดน้อยลง และงานจะเข้าสู่รูปแบบที่มินิมัลลิสต์มากขึ้น ลดทอนจนเหลือเพียงรูปทรงที่แท้จริง เหลืออยู่เพียงไม่กี่อย่าง แต่เราก็ไม่ได้จะไปบังคับให้ชีวิตเป็นแบบนั้นด้วยตัวเองนะ มันไม่ใช่สิ่งออกมาจากการรีดเค้น ไม่ใช่ว่าเป็นวัยรุ่นอยู่ แล้วเดี๋ยวจะต้องมินิมัลลิสต์แล้ว มันก็จะได้มาเพียงแค่รูปแบบ แต่มันไม่ได้ตัวสภาวะ หรือเนื้อหาในงานขนาดนั้น

 

 

Q. แต่งานทุกวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องชีวิตตัวเอง

งานของพี่ทุกวันนี้ก็ยังเยอะอยู่ ก็ยังไม่มินิมัลสักที (หัวเราะ) ใช่…ก็ปล่อยไป มันอยากจะเยอะก็เยอะ ก็มันยังไม่มินิมัล

อย่างตอนที่มีรีวิวคนอ่าน พวกเขาก็จะบอกว่าเยอะ ซับซ้อน บางทีมันก็เยอะเกินไป ไอ้นู่นก็จะใส่ ไอ้นี่ก็จะเอา เต็มไปหมด แต่เราก็เข้าใจนะ กับคนที่วิจารณ์แบบนี้ เราก็มานั่งคิดในใจว่าเพราะเราเป็นคนแบบนี้ ให้น้อยกว่านี้ก็ไม่ได้ จนถึงตอนนี้ก็ยังอยากเยอะอยู่ อยากทำนู่นทำนี่ คือมันคงไปบังคับตัวเองให้น้อยไม่ได้หรอก ก็ต้องเยอะๆ ต่อไป

งานยุคแรกๆ ของผมมันจะเป็นโวหารแบบจ้วงแทงเอาอย่างบ้าคลั่ง แต่ว่าพอโตขึ้นมันก็กลายเป็นการค่อยๆ เข้าใกล้แล้วเสียบ แทง ปาด วิธีการแตกต่างนะ แต่ก็เป็นการทำลายเหมือนกัน อะไรที่มันแทงใจมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปชักจูงคนอ่านขนาดนั้น สมัยก่อนภาษามันใช้เล่าเรื่อง มันมีคำ มีพยัญชนะทุกอย่างเพื่อที่จะใช้เล่าเรื่อง บอกเล่าความรู้สึกเก็บกด ความอัดอั้นตันใจของเราทั้งหมด มันไม่ใช่แค่ใช้เพื่อที่จะเล่าเรื่องราวอะไรอย่างเดียว  พอทำงานไป เราใช้ภาษามากกว่านั้นนะ เราเริ่มรู้จักที่จะใช้ศักยภาพของมันด้วย ใช้ความเป็นศิลปะของมันด้วย

สมัยก่อนเรารู้สึกอะไรเราก็จะพูดไปตรงๆ สองสามย่อหน้า แต่เดี๋ยวนี้เรากลับไปดูงานสมัยก่อน กลับรู้สึกว่าไอ้สามย่อหน้า หรือว่าห้าหกย่อหน้าเหล่านั้น มันสามารถลดลงเหลือย่อหน้าเดียวได้มั้ย ซี่งการทำงานปัจจุบันเราทำแบบนั้นไง เราใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ใช่แค่ระบาย หรือบรรยายความรู้สึกอย่างเดียว

 

Q. นั่นอาจจะเป็นความมินิมัลตามวันเวลาของตัวเองหรือเปล่า

ก็เป็นไปได้ อย่างเรื่องล่าสุด (ร่างของปรารถนา) เราก็พยายามจะปั้นบางอย่างขึ้นมาตั้งแต่บทแรก สองสามหน้าแรกมันคือสภาวะของการค่อยๆ ก่อปั้นทีละคำ ทีละประโยค ทีละวรรค ทีละย่อหน้า ค่อยๆ สร้างให้เป็นรูปร่าง ซึ่งเราใช้ทุกอย่างเลย ใช้ทั้งคำ ที่ว่าง ภาษา สร้างบรรยากาศขึ้นมา มันจะไม่เหมือนกับการเขียนงานสมัยก่อนๆ ที่ดึงทุกอย่างมาหมดเลยเพื่อสร้างบรรยากาศ ซึ่งก็ถือว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านพัฒนาการของการทำงานเขียนไปด้วย เพราะมันคือการใช้ภาษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คือถ้ามันเป็นอาวุธ มันก็ต้องเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพ เป็นมีดก็ต้องคม เป็นปืนใหญ่ก็ต้องเปี่ยมไปด้วยพลังทำลายล้าง มันไม่ใช่สมัยก่อนแล้วที่เรายังเห็นปากกาเป็นมีดอันหนึ่ง เราไม่รู้แล้วด้วยซ้ำว่า มีดเราคมดีมั้ย แต่เรารู้แค่ว่ามันเป็นอาวุธ เราเข้าป่าไปเราก็เอาปากกาถากๆ ไปทั่ว แต่เครื่องมือที่เรามีมันก็ฟันได้แค่ต้นหญ้าในพงรก พอเจอต้นไม้ใหญ่เราก็ทำอะไรมันไม่ได้ แต่พอโตขึ้น เราก็ใช้ภาษาในลักษณะที่มันเป็นอุปกรณ์ โอเค…เจอต้นไม้ใหญ่ใช่มั้ย มีดอิโต้มันไม่พอแล้ว มันก็ต้องเปลี่ยนไปใช้เป็นขวาน อะไรแบบนี้

 

Q. ยุคปากกาถากๆๆ ก็ดีไปอีกแบบนะ

(หัวเราะ) มันได้อารมณ์ดีใช่ไหมล่ะ

 

Q. ทุกวันนี้ยังทำงานตามตารางเวลาที่แน่นอนอยู่ไหม

มันก็ไม่แน่นอนขนาดนั้น แต่โดยธรรมชาติที่ได้มาจากงานเขียนหนังสือของเรา มันได้ผลกับเรามากกว่า คือเราตื่นเช้ามาแล้วทำงานเลย มันเป็นสภาวะที่ดีกว่า เพราะได้หลับเต็มอิ่ม สภาพร่างกายกำลังดี ได้กินกาแฟสักแก้ว เป็นช่วงเวลาที่สมองตื่นตัวที่สุด มันสดชื่นน่ะ มันพร้อมที่จะรับกับการทำงานที่ควรจะต้องใช้สมาธิหรือความทุ่มเทใส่ใจ ซึ่งมันไม่เหมือนกับตอนบ่าย หรือทำงานตอนกลางคืนอีกแล้ว

สมัยก่อนตอนเริ่มเขียนหนังสือ เราก็เขียนตอนกลางคืน ดึกๆ อะไรแบบนี้ ชอบตอนเงียบสงบ แต่เดี๋ยวนี้พออายุมันมากขึ้น อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม คุณผจญโลกมาทั้งวันแล้ว คุณจะเหลือพลังงานที่ไหนมาเขียนหนังสือ ถ้าต้องการความเงียบสงบ หรือบรรยากาศที่มันดีต่อการจดจ่อจริงๆ ช่วงเช้าก็เป็นเวลาที่วิเศษที่สุดแล้ว

 

Q. ช่วงที่ไม่มีงาน ก็พักผ่อนงั้นหรือ

เอาเวลาไปทำอย่างอื่น อย่างเช่น เวลาที่เขียนหนังสือ เราก็จะจัดไว้ช่วงเช้าเสมอ ตั้งแต่หกโมงเช้าเป็นต้นไป จริงๆ ใช้เวลาแค่เก้าโมงเช้า สิบโมงเช้า ก็เรียบร้อยแล้ว เวลาที่เหลือก็ไปทำอย่างอื่น ไปดูเฟซบุ๊กบ้าง ส่วนช่วงบ่ายก็จะเป็นการนัดหมายน่ะ อันนี้พิเศษหน่อยคือตอนเช้า เพราะช่วงเวลานี้คือไม่ได้ทำงาน ส่วนช่วงเวลาตอนบ่ายจะเป็นการนัดหมาย สัมภาษณ์ เจอคนนั้นคนนี้ หรือไปคุย ไปพบปะผู้คน

 

Q. แล้วช่วงเย็นก็ไปปาร์ตี้หรือเปล่า

ไม่ (หัวเราะ) มันจะมีสองเวลา ประมาณชั่วโมงครึ่ง ถ้าไม่ช่วงสิบโมงครึ่งจนถึงเที่ยง ก็จะเป็นสี่โมงเย็นจนถึงห้าโมงครึ่ง สำหรับการออกกำลังกาย ต้องทำ (หัวเราะ) เพราะทำงานนั่งโต๊ะตลอด ก็จะลงไปวิ่งลู่วิ่ง ต้องทำหน่อย ขยายหลอดเลือดหัวใจให้ร่างกายมันได้ออกกำลังกาย

 

 “เราต้องวางกรอบในการทำงานให้ตัวเอง ถ้าไม่วางกรอบนี่มันไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย” 

 

Q. เรียกว่าเป็นคนมีวินัยที่สม่ำเสมอ

ใช่…ก็ไม่มีใครมาบังคับให้เราทำนี่ เราก็ต้องวางกรอบในการทำงานให้ตัวเอง ถ้าไม่วางกรอบนี่มันไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย

ตอนที่เขียนลับแล, แก่งคอย ก็เห็นเลยว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไร มันคือเรื่องเล่าอันใหญ่ๆ อันหนึ่งที่ตอนนี้มันมาอยู่ที่เราแล้ว มันมีเรื่องอะไรบ้าง และเราต้องเล่ามันแบบไหน ผมก็บันทึกสั้นๆ ไว้เป็นเล่มๆ ในวันต่อวันว่าวัน พรุ่งนี้จะเขียนเรื่องอะไร บทต่อไปจะเป็นแบบไหน ในปริมาณอันมหาศาลของเรื่องเล่าอันนี้ ถ้าไม่มีความรับผิดชอบหรือวินัยจะไม่มีทางเสร็จแน่นอน ในที่สุดมันก็ต้องเสร็จ

ประสบการณ์การเขียนลับแล, แก่งคอยนี่แหละ ที่มันทำให้เราเจอวิธีที่ได้ผลกับเรา มันต้องมีกรอบ มีวินัยในการทำงาน ไม่งั้นมันจะไม่เสร็จ ซึ่งจริงๆ การทำตามกรอบพวกนี้มันไม่ยากเลยนะ เพราะเราเป็นคนเอ้อระเหย เหลวแหลกมาก่อน แต่กับสิ่งที่คุณแคร์ ใส่ใจ หรือรักเนี่ย คุณให้กับมัน มันก็คือสภาวะที่คุณต้องเอาใจใส่กับการทำอะไรบางอย่างที่คุณรักมันมากๆ คุณก็ต้องตื่นขึ้นมาอยู่กับมัน ใช้เวลาอยู่กับมันตลอดเวลา

 

Q. ตอนเขียน ลับแล, แก่งคอย  ไม่มีเส้นตายใช่ไหม  

มีนะ แต่ยาวมากเลย ก็คิดว่าจะทำให้เสร็จภายในระยะเวลาสองปี ยาวมาก คนเขียนคนอื่นเขาเขียนสามสี่เดือนก็เสร็จแล้ว แต่จริงๆ ร่างแรกเสร็จก็แค่ปีเดียวนะ แต่ก็ถือว่านานอยู่ดี เราทำทุกวัน จันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ก็สบายๆ แล้วเราทำได้อย่างมากก็วันละหน้าสองหน้า A4 ค่อยๆ ทำไป แล้วมันก็อยู่ยากน่ะตอนนั้น มันก็ต้องทำงานอย่างอื่น ไม่งั้นก็ไม่มีเงินเลี้ยงตัวเองสิ

 

Q. เอาพลังและเรื่องราวมาจากไหนมาเล่าเรื่องเป็นหนังสือได้หลายเล่ม

เพราะผมมองเรื่องของประสบการณ์ชีวิตในฐานะที่มันเป็นแบบจำลองสถานการณ์อันหนึ่ง พอเราโตขึ้น เราก็มองเรื่องราวในอดีตต่างกันไปแล้ว เพราะฉะนั้นวิธีที่เราคิดเกี่ยวกับประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่เจอมา มันก็ต่างกันเสมอน่ะ

Fiction โดยพื้นฐานคือเรื่องเล่า แต่จริงๆ ในทุก Fiction มันก็ต้องมีประเด็น มีแก่น หรือมีสิ่งที่จะต้องสื่อสารกับคนอ่าน ไม่งั้นมันก็ไม่มีความหมาย ถ้าคนเขียนไม่รู้ว่าประเด็นที่คนเขียนต้องการจะสื่อคืออะไร ฉะนั้น ในนิยายแต่ละเรื่อง เราว่ามันคือการขับเคลื่อนด้วยประเด็น ตัวประสบการณ์ในชีวิตที่เอามาใช้เป็นแบบอันนึงในการเขียน

อย่างงานเรามันก็ไม่ได้ต่างกันมากในตัวประสบการณ์ แต่ประเด็นมันขยับ มันมีบางอย่างเพิ่มขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเล่า นอกจากประสบการณ์ชีวิตเรา ยังมีวิธีที่เราเติมการรับรู้ของตัวเองผ่านการอ่านงานคนอื่นด้วย เวลาอ่านงานเขียนคนอื่น เราก็ศึกษาพวกเค้าไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องวิธีเล่า บางเรื่องเล่าดีมากแต่พอดูภาพรวม มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยนะ โครงสร้างมันคือพื้นฐานมากๆ แต่มันเล่าด้วยวิธีใหม่น่ะ ซึ่งมันก็เป็นรูปแบบของงานศิลปะ

ทุกคนมีเรื่องเล่าไม่ต่างกันหรอก แต่วิธีที่คุณสร้างสรรค์ออกมา มันน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน มันสามารถที่จะกระทบคนอ่านมากน้อยแค่ไหน นั่นก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ต้องพัฒนาตัวเอง

 

 

Q. ผลงาน เกียวโตซ่อนกลิ่น มีที่มาและแรงบันดาลใจอย่างไร

เกียวโตซ่อนกลิ่น มีที่มาจากร่วมมือกันระหว่างศิลปินไทยกับศิลปินญี่ปุ่น จัดโดย Kyoto City University of Arts ทำเวิร์กช็อปในหัวข้อ Work in memory โดยให้ผมไปเข้าร่วมและรับฟังศิลปินญี่ปุ่น 5-6 คน

ในโครงการพูดถึงพื้นที่ทางความทรงจำของแต่ละคน จากนั้นผมนำเรื่องราวของพวกเขามาย่อยและสร้างสรรค์เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ซึ่งเป็นความทรงจำร่วมของทุกคนในชื่อ เกียวโตซ่อนกลิ่น พอเขียนเสร็จ ศิลปินทุกคนก็นำเรื่องสั้นของผมกลับไปอ่านและตีความ แล้วสร้างสรรค์มันออกมาเป็นผลงานศิลปะ ตามแนวทางที่แต่ละคนถนัด แล้วสุดท้ายก็จัดแสดงงานที่เกียวโต นี่เป็นการร่วมมือกันที่น่าสนใจมาก ทั้งข้ามสาขาศิลปะ ข้ามประเทศ และข้ามวัฒนธรรม แต่เราก็มีจุดร่วมกันตรงพื้นที่และความทรงจำที่มีต่อเมืองเกียวโตครับ

 

Q. วัฒนธรรมญี่ปุ่นส่งผลต่อตัวตนและผลงานอย่างไรบ้าง

ส่งผลพอสมควรครับ เรื่องมารยาท ความเป็นระบบระเบียบ และความจริงใจต่อกันและกัน นี่พูดถึงความประทับใจโดยรวมที่ผมได้ซึบซับและเรียนรู้จากการได้ไปเยือนญี่ปุ่นหลายครั้ง และพบกับคนรู้จักที่นั่น ยังไม่นับวรรณกรรมของนักเขียนญี่ปุ่นที่ผมชอบอ่าน และประทับใจทั้งนักเขียนอย่าง ยะซุนะริ คะวะบะตะ (Yasunari Kawabata) เค็นสะบุโร โอเอะ (Kenzaburo Oe) จุนอิชิโร ทะนิสะกิ (Junichiro Tanizaki) และอีกหลายๆ ท่าน ผลงานของนักเขียนเหล่านี้นับเป็นแบบอย่างชั้นดีทางการเขียนเลยครับ

 

Q. นอกจากเกียวโตแล้ว มีเมืองใดอีกบ้างที่อยากจะเขียนถึง

อยากเขียนถึงโตเกียว เขียนถึงความสงบเงียบและหิมะเมืองฮอกไกโด เขียนถึงบ่อน้ำพุร้อน สาเกและเบียร์ท้องถิ่นตามเมืองต่างๆ ทุกเมืองในญี่ปุ่นมีเสน่ห์ น่าค้นหาทั้งนั้นครับ

 

Q. มีเป้าหมายที่ยังอยากทำให้ได้อยู่ไหม

ก็คงเป็นการเขียนหนังสือต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็ตามดูว่าตัวเองจะสามารถอยู่ในยุคสมัยต่อไปได้อย่างไร ช่วงอายุ 40 50 ปี ก็คงอยากจะขยับขยายงานตัวเองให้ออกไปจากพื้นที่ทางวรรณกรรมบ้าง เราก็พยายามจะค้นหาขอบเขตของตัวเองว่าจะออกไปแตะพื้นที่อื่นได้มากมายแค่ไหน ทั้งงาน Exhibition งานเขียน ไม่แน่นะ ถ้าห้าสิบเมื่อไหร่อาจจะอยากไปทำหนังก็ได้ ซึ่งหลักๆ แล้วมันก็เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งแหละ การที่เราจะมีชีวิตอยู่ด้วยการเขียนหนังสือได้ยังไง โดยยังสามารถที่ทำงานเขียนได้

 

Q. หมายถึงงานเขียนส่วนตัวงั้นหรือ

ใช่ ก็ไม่ได้ทำงานให้ใครอยู่แล้วนี่ (หัวเราะ)

 

ติดตามผลผลงานได้ที่
Facebook : Uthis Haemamool

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ