สารบัญ

 

มกุฏ อรฤดี 

หลายคนรู้จักชื่อของ มกุฏ อรฤดี ในฐานะนักเขียนอาวุโส เจ้าของสำนักพิมพ์ผีเสื้ออันเป็นที่รักยิ่งของนักอ่านหลายๆ คน ผู้อยู่เบื้องหลังวรรณกรรมเด็กชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์วงการหนังสือไทยอย่าง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายให้กับสังคมไทย และวัฒนธรรมญี่ปุ่นในสมัยนั้น และยังเป็นผู้รังสรรค์ชิ้นงานอมตะอย่าง ‘ผีเสื้อและดอกไม้’ ที่เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ประจักษ์แก่สายตาคนไทยมาแล้ว

แต่หากเป็นผู้คนในวงการวรรณกรรมไทย มกุฏ อรฤดี ยังเป็นปรมาจารย์และศิลปินชั้นครูในแวดวงอักษรศาสตร์และการผลิตหนังสือ อาจารย์พิเศษผู้เป็นที่รักในวิชาบรรณาธิการของภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นบรรณาธิการหนังสือและสิ่งพิมพ์เพื่อความรู้ชั้นดีของประเทศอีกนับไม่ถ้วน

ตลอดชีวิตการทำงาน เขาได้อุทิศหยาดเหงื่อและแรงกายให้งานเขียนทุกบรรทัด ไม่เพียงเพื่อสรรค์สร้างหนังสือที่มีคุณภาพสู่สายตาและหัวใจของนักอ่านชาวไทย แต่เพื่อสร้างนิสัยชอบอ่านหนังสือ อันเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของการมีชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคนทั่วประเทศ  

ในฐานะแฟนหนังสือที่เติบโตมากับ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง  KIJI Magazine รู้สึกตื่นเต้นและยินดียิ่ง ที่ได้มีโอกาสตีพิมพ์บทสัมภาษณ์อันทรงคุณค่าอีกบทหนึ่ง จากการลงสำรวจไปถึงรากของความคิด ความทรงจำ แรงปรารถนา และเป้าหมายชีวิตอันสูงสุดของศิลปินคนสำคัญแห่งวงการวรรณกรรมไทยร่วมสมัย มกุฏ อรฤดี

 

 

Q. อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือหน่อยได้ไหม

เมื่อยังเด็กผมสนใจรายการวิทยุ และรายการวิทยุตอนกลางคืนจะออกอากาศรายการดนตรีซึ่งไม่มีเนื้อร้อง แต่มีบทกวีที่คนฟังเขียนส่งไป อ่านให้มีเสียงดนตรีคลอ เรียกว่าลำนำเพลงรัก ถ้ามีบทกวีที่เกี่ยวกับความรัก เขาก็เปิดเพลงหวานๆ ซึ้งๆ คลอ ถ้าบทกวีเกี่ยวกับความเศร้า เขาก็เปิดเพลงเศร้าๆ คลอไป

ผมอายุสิบสาม เรียนชั้นมัธยมแล้ว กลางคืนอ่านหนังสือทำการบ้านเสร็จ ก็ไม่มีอะไรทำนอกจากนอนฟังวิทยุ พอถึงสองทุ่ม รายการข่าวจบก็จะมีรายการแบบนี้ให้คนฟัง เราจะฟังคนอื่นอย่างเดียวทำไม ก็เขียนเองบ้างสิ ลองส่งไป นั่นคือจุดเริ่มต้น

แต่ก่อนหน้านั้นผมเริ่มรู้จักนิตยสาร ผมอยู่โรงเรียนประจำของมิชชันนารีฝรั่งกองหน้าร่าเริง วีรธรรมรายสัปดาห์ แล้วก็มีการ์ตูน Tin Tin ของฝรั่งเศส มี Flash Gordon ของอเมริกัน แต่เมื่อกลับคนมาเรียนโรงเรียนมัธยมที่บ้านเกิด ที่อำเภอเทพา ไม่มีสิ่งเหล่านั้นเลยนอกจากวิทยุจึงเริ่มเขียนเรื่องสั้น เริ่มเขียนบทกวี

 

Q. ตอนนั้นอาจารย์ตั้งเป้าหมายว่าอยากเข้าคณะอะไร

เมื่ออายุหกขวบ ผมตั้งใจไว้แล้วว่าโตขึ้นจะเป็นคนทำหนังสือ เพราะผมเห็นเพื่อนข้างบ้านอ่านหนังสือการ์ตูนแล้วมีความสุข ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักหนังสือการ์ตูนด้วยซ้ำ ตอนอายุห้าหกขวบผมเห็นว่ามันมีลักษณะเป็นกระดาษเย็บติดกันเป็นปึก กางเปิดได้ พอเปิดกางออก เด็กคนนั้นก็ยิ้มและหัวเราะ ผมไม่เคยรู้จักการ์ตูนเลยในชีวิต

 

Q. ตอนนั้นก็ยังไม่เห็นเนื้อหาด้วยใช่ไหม

ใช่ เห็นแต่กระดาษ ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร เรียกว่าเล่ม เรียกว่าฉบับ หรือเรียกว่าการ์ตูน คล้ายๆ หนังสือเรียนแต่ว่าขนาดใหญ่กว่า แล้วก็มีสี มีรูปวาดที่หน้าปก ผมเห็นทุกวันว่าเขาก็อ่านแล้วหัวเราะ ยิ้ม มีความสุขมาก

บ้านเราไม่มีหนังสือ บ้านเขาหนังสือเยอะ เพราะพี่ชายของเขาทุกคนมาเรียนที่กรุงเทพฯ พอปิดเทอม เขาก็กลับไปพร้อมกับลังหนังสือการ์ตูนหนึ่งลัง ผมเฝ้าดูอยู่นานเลย วันหนึ่งผมใจสู้ เดินเข้าไปถามว่านั่นคืออะไร ขอยืมบ้างสิ เขาก็ให้มาฉบับหนึ่ง การ์ตูนฉบับนั้นชื่อ ‘ขวานฟ้าหน้าดำ’ นั่นเป็นหนังสือการ์ตูนฉบับแรกที่ผมได้อ่าน พอได้อ่าน ผมก็รู้สึกว่ามันสนุกนะ ทั้งๆ ที่ผมอ่านไม่ออก แต่รูปมันดูสนุกมาก เป็นรูปฉากการต่อสู้กัน ช่วยเหลือกัน พอผมเปิดไปสักสองสามหน ผมก็บอกตัวเองว่า นี่แหละ พอโตขึ้น ผมจะทำไอ้สิ่งนี้แหละ

ผมยังไม่รู้ว่ามันคือหนังสือการ์ตูน ผมยังไม่รู้ว่าคืออะไร แต่เพราะมันทำให้เด็กคนนั้นมีความสุขได้ ส่วนหนึ่งคือเพราะว่าเขาไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง คนเรียนไม่เก่งสมัยเรา เราก็รู้กันว่าคนคนนั้นไม่มีความสุข เพราะเวลาไปตอบครูก็ตอบไม่ได้ ตอบไม่ได้ครูก็ตี ผมเรียนเก่งกว่าเขา แต่เขากลับหัวเราะได้มากกว่าผม เพราะเขามีสิ่งนี้ ผมบอกตัวเองว่าพอโตขึ้น ผมจะทำสิ่งนี้แหละ แล้วพอโตขึ้นผมก็พยายามทำ

 

Q. สมัยนั้นเริ่มทำอะไรบ้าง

เมื่อตอนอายุสิบสองสิบสาม ผมก่อตั้งห้องสมุดในโรงเรียน เพราะผมอยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือ ผมรู้จักห้องสมุดจากตอนเรียนที่โรงเรียนประจำเมื่อตอนอายุ 10 ขวบ ผมอยู่โรงเรียนประจำสามปี ผมไปทำงานอาสาสมัครในร้านขายหนังสือ ต้องทำงานหนักมาก ต้องเก็บกวาด ต้องแบกหาม ต้องโยนหนังสือที่มากับรถบรรทุกเป็นห่อๆ ต้องรับหนังสือ ต้องจัดชั้น ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่าง เหนื่อย ไม่ได้ค่าตอบแทน แต่เราจะได้เห็นหนังสือก่อนคนอื่น ได้อ่านหนังสือการ์ตูน ไม่ใช่สิ ไม่ได้อ่านหรอก ไม่มีเวลาน่ะ แต่ได้เห็นปกมันก่อนคนอื่น ผมทำงานแบบนี้ถึงสามปี จนหัวไหล่ชำรุด เพราะเป็นเด็ก ตัวเล็กนิดเดียว แต่เราต้องรับหนังสือเป็นห่อจากรถบรรทุกที่มาจอดอยู่ข้างร้าน และคนผู้ใหญ่จากรถบรรทุกก็โยนลงมาแล้วเราก็รับ รับแล้วก็วาง แต่ผมก็ได้ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับหนังสือตั้งแต่ตัวเล็กๆ

เมื่อมาเรียนมัธยม โรงเรียนเพิ่งเปิดใหม่ได้สองปี ไม่มีห้องสมุด ผมถามว่าทำไมไม่มีห้องสมุด ครูบอกว่าไม่มีงบประมาณ เด็กอายุสิบสามปีไม่รู้ว่างบประมาณคืออะไร สิ่งที่จะทำได้ก็คือเราต้องซื้อหนังสือมาอ่าน ผมได้ค่าขนมวันละหนึ่งบาทห้าสิบสตางค์ ก็คือหกสลึง ผมอุทิศบาทหนึ่งเพื่อจะเก็บไว้ แล้วก็เรี่ยไรเพื่อนเดือนละบาท ส่วนของผมวันละบาท รวมได้ตอนนั้นสิบสามบาท ซื้อนิตยสารได้ 4 ฉบับ ตอนนั้นก็ซื้อ อสท. สามบาท ฉบับหนึ่ง ซื้อแม่บ้านการเรือนฉบับหนึ่ง ซื้อสกุลไทยฉบับหนึ่ง สตรีสารฉบับหนึ่ง เมื่อซื้อได้ก็จัดมุมเล็กๆ

ที่จริงห้องนั้นเป็นห้องเก็บเครื่องมือการเกษตร สมัยนั้นนักเรียนมัธยมต้องเรียนการเกษตร มีเครื่องมือมีจอบมีเสียม เราก็ไปรื้อจอบเสียมออกจากมุมนั้น แล้วไปตัดเถาวัลย์จากป่าหลังโรงเรียนมาผูก ตัดไม้ทำเป็นชั้น แล้วเอาจัดวางนิตยสารสี่ฉบับ วางเสร็จเราก็ถอยมาดูห่างๆ เดินเข้าไปดูใกล้ๆ กว่าจะได้อ่านก็นานนะครับ แล้วเราก็มีความสุข เพียงแค่ได้ดู เพื่อนก็เริ่มอ่านหนังสือ ผมก็ได้เริ่มอ่านหนังสือ สิ่งที่วิเศษกว่านั้นก็คือ ครูก็มาอ่านหนังสือ เป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ การที่ทำให้ครูได้มาอ่านหนังสือซึ่งเราซื้อ ในเวลาต่อมา เพื่อนบางคนก็บอกว่าไม่เอาละ บาทหนึ่งไม่มี เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นคนจน แต่ผมยังปฏิบัติอยู่ ผมพยายามทำจนกระทั่งเรียนจบ

เมื่อเรียนจบ หนังสือที่เราซื้อตอนนั้นก็ยังอยู่ ผมจบออกมาผมก็ส่งหนังสือไปทุกเดือน ทุกสัปดาห์ จนกระทั่งเมื่อกลับไปดูก็ยังอยู่ มีคนอ่าน ผมก็ซื้อตู้ไปใส่ ผมปฏิบัติอยู่เช่นนี้ 25 ปี ครูที่เคยสอนผมเขาก็อายุมากแล้ว ในปีที่ 25 ครูก็ส่งข่าวมาบอกว่าเราทำห้องสมุดสำเร็จแล้ว ห้องสมุดก็คืออาคารเรียนชั้นล่างที่เป็นโถงเปิดโล่ง ก่ออิฐง่ายๆ มีหน้าต่าง ผมก็พยายามส่งเงินไปให้เขาอีก เพื่อให้กลายเป็นห้องสมุดที่ดี

ทุกวันนี้ก็เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือมาก มีคนมาอ่าน แต่เราต้องใช้เวลาถึง 25 ปี นั่นคือสิ่งที่ผมเริ่มทำ สิ่งที่ผมปรารถนาก็คืออยากให้คนอื่นได้อ่านหนังสือ ที่จริงไม่ใช่ผมเริ่มเองหรอก มันเริ่มจากเพื่อนคนนั้นต่างหาก คนที่เปิดหนังสือแล้วมีความสุข ถ้าไม่มีคนนั้น ผมคงไม่มีความตั้งใจจะทำหนังสือ เพราะผมไม่รู้ว่าความสุขจากหนังสือคืออะไร แต่เมื่อผมได้อยู่โรงเรียนประจำ ได้เห็นหนังสือ ได้อ่านหนังสือ ได้ทำงานกับหนังสือ จึงได้รู้ว่าหนังสือเป็นสิ่งสำคัญและยิ่งใหญ่ของมนุษย์

ชีวิตในโรงเรียนประจำนั้นเองช่วยยืนยันว่าหนังสือเป็นสิ่งมีประโยชน์สำหรับคนทั้งหลาย ถ้าไม่มีประโยชน์ เพื่อนเราหรือนักเรียนรุ่นพี่โตๆ นับร้อยคนจะมายืนเข้าแถวทำไมเพื่อจะมารอ หนังสือการ์ตูน มาซื้อหนังสือการ์ตูนตินติน (Tin Tin) แฟลชกอร์ดอน (Flash Gordon) สมัยนั้นมีอยู่สองเรื่องเท่านั้นแหละที่ดังมาก แล้วผมก็รู้ในเวลาต่อมาเมื่อผมอายุ 13 ปี ผมก็รู้แน่ว่าเราต้องทำให้คนอ่านหนังสือให้ได้ แล้วมันก็ติดมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มมาจากหนังสือของคนอื่นในวันนั้น

 

Q. หลังจากนั้นก็เลือกจะทำหนังสือเลยหรือเปล่า

จบชั้นมัธยม ผมเลือกเรียนวิชาครู แต่ผมสอบตกหลายวิชาเพราะมัวแต่ไปทำหนังสือ อยู่ในวิทยาลัย ทำวารสารของวิทยาลัย เขียนบทความโจมตีอาจารย์บ้างอะไรบ้างตามประสาวัยรุ่น ผมใช้เวลาส่วนมากอยู่โรงพิมพ์มากกว่าในห้องเรียน ไปช่วยเขาผลิตหนังสือ

มีนิตยสารอยู่ฉบับหนึ่งเป็นของโทรทัศน์ท้องถิ่น ในนั้นก็มีเรื่องสั้น นวนิยาย บทความ มีบทกวีอะไรต่างๆ ผมก็เป็นอาสาสมัครไปช่วย ไม่ได้เงินนะ แต่ก็ไม่เป็นไร ผมอยากทำงาน ผมก็เริ่มทำตั้งแต่เรียงตัวตะกั่ว ต่อมาก็ตรวจปรู๊ฟ แล้วก็เขียน ค่าตอบแทนไม่มี ได้ปากกามาด้ามหนึ่ง ปากกาด้ามหนึ่งราคาเก้าบาทเท่านั้นแหละ แต่การให้ปากกาก็ดีกว่าให้สตางค์เก้าบาทใช่ไหม

ผมก็ช่วยงานเขาจนสอบตกบางวิชา ก็ไม่เป็นไร สอบตกเราแก้ได้ เรียนใหม่ได้ สอบใหม่ได้ แต่โอกาสที่จะได้ไปทำงานแบบนั้นมันหายาก ผมไปช่วยงานโรงพิมพ์อยู่สองแห่ง พอเรียนจบแทนที่จะเป็นครูสอนหนังสือ ทั้งๆ ที่ผมสอบผ่านการฝึกสอนด้วยคะแนนดีมาก แต่ผมก็ไม่ได้สอนเด็กนักเรียน เพราะผมปรารถนาจะทำหนังสือมากกว่า ผมก็สมัครงานทำหนังสือ ก็ทำมาเรื่อยๆ

งานแรกช่วยงานบรรณาธิการวารสารของพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น เพราะเมื่อผมเรียนวิทยาลัยครูที่สงขลา ผมเขียนบทความตำหนิรัฐบาลจอมพลถนอม ลงตีพิมพ์ในนิตยสารการเมืองและหนังสือพิมพ์ตั้งแต่อายุ 18-20 ปี ผมสนใจเรื่องการเมือง แต่ไม่ได้ปรารถนาที่จะเป็นนักการเมือง เพียงเขียนบทความวิจารณ์การเมือง พอเรียนจบแล้ว มาสมัครงานก็ง่าย เขารับเข้าทำงานทันทีแม้บรรณาธิการจะสงสัยว่า นิพพานฯ ต้องอายุสักสี่สิบห้าสิบ ผมเพิ่งอายุยี่สิบและเขียนมาตั้งแต่สิบหกสิบเจ็ด ผมทำงานที่นั่นได้เกือบๆ ปี จนจอมพลถนอมปฏิวัติในปี พ.ศ. 2514 นิตยสารก็ต้องเลิก ผมก็เดินทางทั่วประเทศ เดินทางเพื่อที่จะไปดูห้องสมุด

 

Q. เดินทางเพื่อศึกษางั้นหรือ

ใช่ ในหัวสมองของผม เริ่มตั้งแต่อายุสิบสาม ผมสงสัยว่าทำไมคนชนบทไม่มีโอกาสอ่านหนังสือ สมองของผมคิดอยู่อย่างเดียว เมื่ออายุยี่สิบ เรียนจบแล้ว ผมก็อยากหาคำตอบว่า ท้องถิ่นที่ผมเห็นเป็นอย่างนั้น แล้วที่อื่นๆ ที่ผมไม่เห็นเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า  

ผมเริ่มเดินทางไปจังหวัดต่างๆ สตางค์ไม่มีก็โบกรถไปเรื่อยอยู่สักหนึ่งปี กระทั่งมาทำงานที่นิตยสารลลนา แล้วก็ทำเรื่อยมา จากลลนามาก็ทำ BR เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการแล้วก็มาเป็นบรรณาธิการบริหารแล้วก็ทำเรื่อยมาตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ผมไม่เคยทำงานอย่างอื่นนอกจากเป็นบรรณาธิการ เขียนหนังสือ ตรวจแก้ต้นฉบับ ทำหนังสือ มีความปรารถนาอย่างเดียวว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยมีโอกาสอ่านหนังสือบ้าง

 

 

Q. คิดว่าทุกวันนี้อาจารย์ได้คำตอบแล้วหรือยัง

ก็ได้บางส่วน คือรู้ว่าทำไมเขาไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือ ผมจึงพยายามจะบอกรัฐบาลว่าคนไทยส่วนมากมีความรู้น้อย ท้ายที่สุดประเทศของเราจะแย่ ตัวรัฐบาลเองก็แย่ เพราะอะไร

สมมติคุณมีลูก 5-10 คน ลูกของคุณโง่หมดเพราะไม่มีความรู้เลย ถามว่าคุณมีความสุขไหม คุณไม่มีความสุขหรอก เวลาคุณแก่เฒ่าลง คุณก็จะเดือดร้อนเพราะเขาไม่มีความรู้แม้แต่คิดหาวิธีที่จะมาช่วยเหลือคุณให้อยู่ได้อย่างสุขสบายในยามแก่เฒ่า

เช่นเดียวกัน ในอนาคตถ้าคนในประเทศนี้ไม่มีความรู้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือรัฐจะต้องใช้งบประมาณในการบริหารประเทศมหาศาล ต้องหาเงินมาแจกประชนชน เพราะเขาไม่มีความรู้จะทำอะไรเลย แต่ถ้าเขามีความรู้จะจับปลา จะปลูกข้าวปลูกผัก จะทำอะไรก็แล้วแต่ คือผมเคยพูดไว้ว่า แม้แต่โจร ถ้าหากโจรมีความรู้ ปล้นอย่างมีความรู้นะ แต่ถ้าไม่มีความรู้ ก็จะคิดได้ว่า เฮ้ย คิดอะไรไม่ออก ผมทำอะไรไม่ได้ ฆ่าเจ้าทรัพย์ไว้ก่อน

การที่คนมีความรู้นั้นดี เช่นสมมุติว่าเราไม่สบาย เกิดมีคนที่มีความรู้เดินอยู่แถวนี้อย่างน้อยที่สุดเขาก็ขับรถพาเราไปส่งโรงพยาบาลได้ หรือถ้าเขามีความรู้มากกว่านั้น เขาเป็นหมอ หรือเป็นพยาบาล เขาก็ช่วยเราได้ นี่คือคำถามว่าทำไมเราจึงไม่ควรหวงความรู้ไว้คนเดียว ต้องให้คนอื่นได้รู้บ้าง  

ก็มีอยู่แค่นี้แหละชีวิตผม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำก็คือพยายามหาโอกาสที่จะให้คนอื่น ด้วยวิธีต่างๆ เท่าที่คิดได้ในแต่ละขณะ เมื่อผมเป็นบรรณาธิการนิตยสาร วันศุกร์เย็น ผมจะขับรถไปต่างจังหวัด ในท้ายรถก็มีหนังสือ มีขนม มีของเล่น ขับไปเจอเด็กที่ไหนก็หยุดทักทาย แน่ละ เราไม่อาจซอกซอนเข้าไปในที่ชุมชนลึกๆ เราก็ขับไปเรื่อย ในถนนเปลี่ยว ในหมู่บ้านที่เปลี่ยว ในอำเภอ ก็แจกไป เจอตัวเล็กก็แจกขนม แจกของเล่น แจกอะไรก็แจกไป เด็กบางคนไม่เอา เพราะพ่อแม่สอนมาดีก็คือไม่รับ ส่วนเด็กโตหน่อยเราก็แจก ในเวลาต่อมาผมก็แจกสมุด เพื่อจะให้พวกเขาเขียนบันทึก

 

Q. แรงบันดาลใจให้เริ่มแจกสมุดมาจากไหน

ประเทศไทยส่งเสริมการอ่านมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ผ่านมาเราพยายามทำตามที่ UNESCO แนะนำ คือ การอ่านต้องเริ่มจากครอบครัว แต่เวลาผ่านไปนานกว่า 50 ปีแล้ว เราก็ได้คำตอบว่าคนไทยยังไม่อ่านหนังสืออยู่นั่นเอง

เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยที่สุด ผมก็มาพิจารณาว่าวิธีที่รัฐบาลทำอยู่คงมีอะไรผิดสักอย่าง ถ้าไม่เช่นนั้น เวลา 50 ปีที่เราพัฒนาเรื่องการอ่านหนังสือ คนไทยต้องชอบอ่านหนังสือและต้องใช้หนังสือให้เกิดประโยชน์เหมือนชาติอื่นๆ ผมจึงลองคิดดูเล่นๆ ว่า เมื่อตอนผมเป็นเด็ก ผมชอบเขียนในสมุด พอเริ่มชอบเขียน สิ่งที่ตามมาก็คืออยากอ่านที่คนอื่นเขียนด้วย ท้ายที่สุดผมก็ประกาศในปี 2557 ที่ผ่านมานี้ว่า เด็กคนไหนอายุ 5-10 ขวบ อยากเขียนสมุดบันทึกให้ส่งจดหมายมา ให้เขียนลายมือถึงผม ผมจะส่งสมุดไปให้

ในช่วงเวลาเพียงสามเดือน มีเด็กส่งจดหมายมา 1,100 ฉบับ ผมส่งสมุดไป 1,100 เล่มให้เด็ก 1,100 คน มีลายมือผมเขียนบอกไปด้วยว่าขอให้เขียนบันทึกสม่ำเสมอจนหมดเล่ม เด็กทุกคนสัญญาว่าจะเขียนบันทึกหลังจากนั้น ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีพลังบางอย่างอยู่ในตัว และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่จะแสดงพลังออกมา การที่เราเอาหนังสือของคนอื่นไปให้เขาอ่าน ก็เท่ากับว่าเราเอาพลังของคนอื่นไปให้เขา เขาไม่รับเพราะเขาอาจจะต้องการแสดงพลังทำนองเดียวกันของตนเอง สิ่งที่เราควรทำก็คือหาเครื่องมือที่จะทำให้เขาเอาพลังจากตัวเองออกมา นั่นก็คือสมุด แล้วก็ได้ผล

นี่คือหน้าที่ของผม เพราะแต่เดิม บรรณาธิการยังใช้วิธีเดิมๆ ก็คือ ดูต้นฉบับที่คนส่งเข้ามา แต่ไม่มีวิธีที่จะหานักเขียนใหม่ หรือแม้เจอคนแล้วก็ยังใช้วิธีเก่า เช่น ทฤษฏีเก่าๆ ก็คือ หากเราเอาคน 100 คนมาสอนทฤษฏีเดียว คน 100 คนก็จะพยายามทำตามทฤษฏีนั้น ทำไม่เราไม่ให้คน 100 คนสำแดง 100 ทฤษฏีออกมา อาจจะมีสัก 1 ทฤษฏีที่โดดเด่น และไม่เหมือนทฤษฏีเก่าที่เคยมีเลยก็ได้

 

Q. ฉะนั้นสำหรับการสร้างต้นฉบับ เราไม่ควรใช้ทฤษฏี   

ผมไม่ใช้ทฤษฏีอะไร ผมใช้ความใหม่ของสิ่งที่ปรากฏขึ้น ถามว่าความใหม่นี้ดี มีประโยชน์ วิเศษไหม ดีนะ อย่างบทความนี้ทำไมดี เพราะเวลาเราไปสอนคนตาบอดเขียนหนังสือ คนก็มักจะชอบพูดว่า ให้คนตาบอดเขียนเหมือนที่คนตาดีเขียน แต่ผมจะพยายามบอกว่าในเมื่อคุณมองไม่เห็น คุณจะไปแข่งกับคนมองเห็นได้อย่างไร

คนมองเห็นเขาเห็นดวงอาทิตย์ขึ้น เขาก็จะบรรยายว่าเขาเห็นแสงสีแสด สีส้ม สีม่วง หรือสีอะไรก็ตามที่เขาเห็น เขาก็อธิบายว่าดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลอยขึ้น ถามว่าในเมื่อคุณตาบอด คุณไม่มีดวงตา คุณเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นไหม คุณไม่เห็นนะ แต่คุณรู้ว่าดวงอาทิตย์กำลังขึ้น เพราะอะไร เพราะคุณรู้สึกอุ่นที่หน้า เพราะคุณได้ยินเสียงนกร้อง ไก่ขัน นั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้ว่าดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นแล้ว และหลังจากเสียงไก่ขันหยุดลงสักพักดวงอาทิตย์จึงขึ้น นั่นต่างหาก คือสิ่งที่คุณควรอธิบาย ไม่ใช่สีม่วงสีแสดเหล่านั้น

 

Q. อยากให้เล่าถึงปัญหาของนักเขียนเด็กรุ่นใหม่ที่พบ

ปัญหาแรกที่เราพบคือปัญหาเรื่องภาษา นักเขียนรุ่นใหม่ไม่มีคำ ไม่มีศัพท์ เกิดจากการอ่านน้อยประการหนึ่ง และการอ่านหนังสือที่ไม่มีคำศัพท์ แต่เขียนด้วยคำอธิบาย

นักเขียนก่อนหน้านี้ก็เขียนหนังสือโดยที่ไม่รู้คำศัพท์ เขาเลยเขียนทุกสิ่งทุกอย่างด้วยคำอธิบาย เช่น เขียนลงไปว่า ‘เขาใช้เท้าฟาดไปที่คอของศัตรู’ ภาษาเก่าก็คือ ‘เขาเตะก้านคอศัตรู’ เตะ ไม่ใช่ ใช้เท้าฟาด เตะคือคำศัพท์ เตะก็คือการเอาเท้าฟาดไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเราควรใช้ศัพท์มากกว่าเพราะภาษาไทยคือภาษาที่มีศัพท์ ไม่ใช่ภาษาที่ยากจนถึงขั้นไม่มีศัพท์

ภาษาไทยมีศัพท์ในพจนานุกรมตั้งไม่รู้กี่คำ เรามาใช้คำอธิบายศัพท์ เพราะว่าเราไปเปิดดิกชันนารี ก็จะมีคำว่า Eat แปลว่าอะไร Eat แปลว่าเอาของใส่ปากแล้วเคี้ยว ท้ายที่สุดเราก็มาเขียนว่า ‘เขาเอาของใส่ปากเคี้ยว’ เพราะเราไม่รู้ว่า Eat ในภาษาไทยแปลว่าอะไร ‘กิน’ คือคำศัพท์ แต่ ‘เอาของใส่ปากแล้วเคี้ยว’ แปลว่า กิน นี่คือจุดอ่อนประการแรกของนักเขียนสมัยนี้ก็คือไม่มีศัพท์ เมื่อไม่มีศัพท์ก็ใช้คำอธิบายกริยาช่วย ทีนี้พอใช้คำอธิบายช่วยก็ไม่ไพเราะ เป็นการอธิบายกริยาทั้งหมด ไม่มีคำที่ไพเราะ

ในกรณีที่เป็นคำฉุกเฉิน เช่น สมมุติว่า ป้ายเขียนว่า ‘โค้งอันตราย’ คำว่าโค้งอันตรายเป็นคำฉุกเฉิน เมื่อเห็นก็รู้ทันที แต่คนสมัยนี้ไม่เข้าใจคำฉุกเฉิน เขาใช้คำว่า ’โค้งนี้มีผู้ประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ควรขับด้วยความระมัดระวัง’ ถามว่าถ้าอ่านทั้งหมดนี้จนจบ ยังไม่ทันพ้นโค้ง เราแหกโค้งหรือชนไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเราไม่รู้จักคำฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นคำศัพท์มีตำแหน่งแห่งที่ของมัน มีสถานการณ์และภาพที่ควรจะใช้ในที่ใดที่หนึ่ง นี่คือจุดอ่อนของนักเขียนสมัยนี้ เรามีทฤษฏี แต่เราไม่มีพื้น พื้นที่เราควรจะมีก็คือพื้นเรื่องคำศัพท์ เรื่องความเข้าใจ เรื่องเสียง เรื่องอารมณ์ของภาษา

 

Q. วิธีการในการตรวจแก้ต้นฉบับของอาจารย์เป็นอย่างไร

การตรวจแก้ต้นฉบับมีหลายวิธี เช่นต้นฉบับเขียน ก็ต้องตรวจดูให้นักเขียนใช้ภาษาที่ดี เข้ากับเรื่อง เป็นบุคลิกของคนเขียนมากที่สุด หากเป็นงานแปล ก็ควรแปลให้เหมือนที่เขาอ่านกันในภาษาเดิมที่สุด แต่เป็นภาษาแปลคือภาษาไทย

สมมุติว่าคุณอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วไปคุยกับฝรั่งที่เขาก็อ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน ต้องคุยกันได้ อยู่ในระดับเดียวกัน ถ้าเรื่องในหนังสือนั้นอ่านยาก ฝรั่งคนนี้บอกว่าเรื่องนี้มันยาก ไปคุยกับใครก็บอกว่ายากทั้งนั้น คุณก็ต้องแปลออกมาให้ยาก คือนักแปล บางทีพยายามทำให้เรื่องอ่านง่ายขึ้น เพื่อให้คนอ่านอ่านได้ง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้นักอ่านสรุปเอาเองว่า  เรื่องนั้นอ่านง่าย ซึ่งนับว่าผิด เพราะว่าเรื่องเดิมผู้เขียนตั้งใจให้คนอ่านคิดแล้วคิดอีก หลายซับหลายซ้อน ถ้าเขาเขียนต้นฉบับให้คนอ่านคิดหลายซับหลายซ้อน คุณก็ต้องแปลไปตามนั้นด้วยวิธีเดียวกัน ไม่ใช่ทำให้อ่านง่ายขึ้น การแปลแบบนั้นทำให้งานเขาเสียหาย นี่เป็นหน้าที่ของบรรณาธิการต้องเห็นก่อน

 

 

Q. อยากให้เล่าถึงการดูแลและตรวจแก้หนังสือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง สักเล็กน้อย

เรื่องโต๊ะโตะจัง ของคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ผมทำงานร่วมกับอาจารย์ผุสดีมาตั้งแต่ต้น อาจารย์ผุสดีก็ทำงานอยู่ที่เดียวกันกับเรา เวลาทำงานข้างนอกก็คือไปทำงานเป็นล่ามแปลภาษา ส่วนเวลาไม่มีงานราษฎร์ ก็กลับเข้ามานั่งทำงานในที่เดียวกัน จึงไม่ยาก อีกอย่างหนึ่งคือการทำงานราบรื่น ไม่มีปัญหา เพราะคนแปลอยู่ญี่ปุ่นตั้ง 10 กว่าปี รู้จักทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นญี่ปุ่น และที่สำคัญรู้จักคนเขียนด้วย ไปหาคนเขียน ถามตอบ พูดคุย อะไรต่อมิอะไร จนเข้าใจอุปนิสัยของเขาดี เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ผมมีหน้าที่เพียงดูภาษาไทยให้เข้ากันกับบุคลิกและวัยของตัวละคร โชคดีอย่างหนึ่งก็คืออาจารย์ผุสดีเรียนมาทางวรรณกรรมเด็ก ผมเรียนมาทางการสอนเด็ก โต๊ะโตะจัง จึงเป็นหนังสือที่ทำงานง่าย ทำงานอย่างราบรื่นดี

 

Q. อาจารย์ได้อ่านครั้งแรกเป็นภาษาอะไร

ผมอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก เห็นต้นฉบับครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ ได้อ่านภาษาอังกฤษ แต่ภาษาอังกฤษย่อมไม่มีกลิ่นอายของญี่ปุ่นมากนัก เมื่อเราแปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย เราทิ้งภาษาอังกฤษไปเลย เราไม่ดู ผมอ่านภาษาไทยที่แปลจากภาษาญี่ปุ่น และเชื่อว่าภาษาไทยนี่แหละ ใกล้เคียงกว่าภาษาอังกฤษ อารมณ์ต่างๆ เหมือนหรือใกล้เคียงมากกว่า

เรื่องนี้ใช้เวลาไม่นาน แปลเดือนนี้ แล้วลงตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน ตีพิมพ์อยู่สักประมาณห้าถึงเจ็ดเดือน ทีละสองตอน แล้วก็พิมพ์เล่ม พิมพ์เล่มก็ขายดีมากในสมัยนั้น พิมพ์หมื่นเล่มในสมัยนั้นก็นับว่าเยอะ ขายดีที่สุดในขณะนั้น นับเป็นการเปิดศักราชของวรรณกรรมเด็กและวรรณกรรมเยาวชน หลังจากนั้นก็มีนักเขียนวรรณกรรมเด็กเกิดขึ้นมากมาย สมัยนั้นเวลาเราพิมพ์หนังสือของนักเขียนวรรณกรรมเด็ก พิมพ์อย่างมากก็ 5,000 เล่ม แล้วก็ขายไปอีกนาน แต่เรื่องนี้เป็นที่พูดถึง มีนิตยสารหนังสือพิมพ์เขียนถึงมากมาย และก็มีหลายคนทีเดียวที่เขาบอกว่าเขาเติบโตมาจากโต๊ะโตะจัง หรือเขาบอกว่านี่แหละ เพราะโต๊ะโตะจัง จึงอยากทำให้เขาเขียนหนังสือ เป็นนักเขียน จำไม่ได้ว่ามีใครบ้างแต่ก็มีหลายคน

คนดังๆ ทั้งหลายก็เคยพูดถึงบ่อย แม้แต่รัฐมนตรีก็เคยพูดถึง รัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนในจังหวัดตรัง ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าโรงเรียนของเขาปรับปรุงให้คล้ายกับโรงเรียนในโต๊ะโตะจัง แม้แต่โรงเรียนรุ่งอรุณก็มีลักษณะทำนองโรงเรียนโทโมเอของโต๊ะโตะจัง ที่สำคัญคือการดูแลเด็ก เราเริ่มเข้าใจเด็กมากขึ้น สมัยก่อนไม่มีคำว่าสมาธิสั้น เพราะฉะนั้นเด็กที่มีลักษณะอาการสมาธิสั้น แต่ก่อนก็เรียกง่ายๆ ว่าดื้อ ซน พูดไม่รู้เรื่อง แต่หลังจากหนังสือเล่มนี้ออกมา เราก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเด็กแบบนี้เราจะตำหนิเขาอย่างเดียวไม่ได้ เด็กสมาธิสั้น ถ้าเราดูแลดีเขาก็เก่งได้ ครูต่างๆ ก็เริ่มสนใจมากขึ้น ครูก็เริ่มเข้าใจขึ้นบ้างว่า ต้องตามใจเขาบ้างนะ เขาไม่อยู่กับร่องกับรอย

 

Q. แปลว่าโต๊ะโตะจังก็ทำให้เกิดความเข้าใจในสังคม เกี่ยวกับเด็กบางประเภท

มากทีเดียว เริ่มตั้งแต่ยุคนั้น มีหนังสือหลายเล่มที่เริ่มเขียนถึงเด็กอย่างเข้าใจมากขึ้น และพยายามหาจุดแห่งความเข้าใจระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในยุคนั้นมากขึ้น

 

Q. พอหมดโต๊ะโตะจังไป มีชิ้นไหนอีกที่รู้สึกว่ามันสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้

ก็มีครูไหวใจร้ายเป็นนิยายที่คนไทยเขียนถึงเด็ก เขียนถึงครู เขียนถึงโรงเรียน เขียนถึงความสัมพันธ์และแรงต้านระหว่างครูกับเด็ก เมื่อผมเขียนหนังสือเอง ผมก็เขียนถึงเด็กเหมือนกัน แต่พยายามพูดถึงเด็กที่ออกจากโรงเรียนไปเผชิญโลกภายนอก คือเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ ที่เคยเป็นภาพยนตร์ ยุทธนา มุกดาสนิททำไว้ดี หลังจากนั้นก็เป็นละครโทรทัศน์อีกสองครั้ง

 

Q. อาจารย์อยู่รุ่นปีการศึกษาเดียวกับคุณยุทธนาใช่ไหม

ผมเป็นรุ่นก่อนเขาสักหน่อยหนึ่ง คือบังเอิญผมเรียนหนังสือจบเร็ว เมื่อผมทำหนังสืออยู่ ลลนา เขาทำวิทยานิพนธ์ปีสี่อยู่ที่ธรรมศาสตร์ ผมเชิญเขามาสัมภาษณ์ เพราะได้ไปดูละครสี่แผ่นดินที่เขาสร้างและกำกับ  ทำได้ดีมาก ปกติผมไม่ค่อยได้ดูละครเวที พอไปดูผมก็รู้สึกว่าผมควรจะต้องพูดถึงคนหนุ่มคนนี้ ผมก็เชิญเขามาสัมภาษณ์ทั้งทีมเลย มาสี่ห้าคน มาสัมภาษณ์ถึงวิธีคิด วิธีทำงาน หลังจากนั้นเป็นเวลาสิบปี เขาจึงทำผีเสื้อและดอกไม้ของผมเป็นภาพยนตร์

เขาเคยจะทำหนังจากหนังสือของผมอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้ทำ คือเรื่องปีกความฝัน เป็นเรื่องของหญิงเสียสติที่อยากเป็นดารา อยากดัง จนหลุดโลก

 

“ เรียกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ หลายอย่างเกิดจากโต๊ะโตะจัง
การมองภาพคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป ความเข้าใจคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป วิธีคิดต่างๆ ต่อคนญี่ปุ่นประณีตขึ้น ”

 

Q. งานของอาจารย์ หากไม่นับโต๊ะโตะจัง มีเรื่องไหนอีกบ้างที่แปลจากญี่ปุ่น

เรื่องที่เราแปลก่อนโต๊ะโตะจัง ชื่อ 4 ปี นรกในเขมร ของยาสึโกะ นะอิโต เป็นเรื่องสงครามในเขมร เป็นเรื่องบันทึกประวัติชีวิต เป็นสารคดี เรื่องนั้นก็มีอิทธิพลต่อคนอ่านพอสมควร แม้จะไม่เท่าโต๊ะโตะจังซึ่งกระเพื่อมไปทุกวงการ เรียกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ หลายอย่างเกิดจากโต๊ะโตะจัง การมองภาพคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป ความเข้าใจคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป วิธีคิดต่างๆ ต่อคนญี่ปุ่นประณีตขึ้น

แต่ก่อนเรามองญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศที่ไปลอกเยอรมัน ไปลอกฝรั่งมา แล้วก็ทำอะไรก็ลอกของเขาหมด แต่เราไม่รู้ว่าในการลอกนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ในด้านความนึกคิด ความประณีต ผมคิดว่าโต๊ะโตะจัง เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นถึงความประณีต และเราก็ได้ทำให้หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จด้วยความประณีตของเรา

เราทำหนังสือเล่มนี้อย่างประณีตมาตั้งแต่ต้น แม้สมัยนั้นจะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ตัวเรียงยังใช้เรียงพิมพ์บนกระดาษแล้วนำมาแปะอาร์ตเวิร์ก ตัวอักษรก็แหว่งๆ วิ่นๆ บ้าง รูปเล่มก็ไม่สวยเหมือนสมัยนี้ แต่เราก็เข้าใจว่าความประณีตนี่เองที่ส่งเสริมหนังสือ สมมุติว่าหนังสือโต๊ะโตะจัง ดีมากเลยนะ รูปสวย เนื้อเรื่องดี แต่รูปเล่มไม่ประณีต ก็อาจจะไม่มีคนพูดถึงนัก จนกระทั่งท้ายที่สุดเราทำฉบับปกแข็ง นำไปมอบให้คุณคุโรยานางิ ผู้เขียน เธอก็บอกว่านี่เป็นฉบับที่สวยที่สุด อาจารย์ผุสดีนำไปให้เอง เราทำได้ขนาดนั้น ทุกคนรู้ดีอยู่ว่าญี่ปุ่นเก่งเรื่องความประณีต แต่เมื่อได้รับคำชมว่านี่เป็นฉบับที่สวยที่สุด เราก็ไม่จำเป็นต้องต่อท้ายว่าสวยกว่าญี่ปุ่นหรือเปล่า ตอนนี้ในมิวเซียมของคุณชิฮิโระ นักวาดภาพประกอบก็มีหนังสือฉบับปกแข็งของเราจัดแสดงอยู่ เขาก็จัดแสดงอยู่ที่นั่นตลอดเวลา เราก็ทำให้สมเกียรติเขานะ

 

Q. อาจารย์ออกแบบรูปเล่มเองทั้งหมดเลยใช่ไหม

อันที่จริงมีแบบพื้นฐานอยู่ แต่พอนำมาทำเป็นภาษาไทยก็มีบางอย่างที่ต้องเปลี่ยน สิ่งที่ต้องเปลี่ยนนั้นต้องหาจุดกลางให้ได้ สิ่งที่เราเพิ่มมา คือทำปกแข็งและลงทุนทำริมกระดาษให้ดูหวานน่ารักขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องใช้พลังเยอะ ใช้งบประมาณเยอะ นี่คือฉบับที่เขาบอกว่าสวยที่สุด เราเย็บด้วยเครื่อง แต่เคาะสันหนังสือด้วยมือ

เรามีโครงการจะทำพิพิธภัณฑ์โรงพิมพ์ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่ชะอำ เราจะเอาแท่นพิมพ์โบราณ ตัวเรียงตะกั่ว และระบบการพิมพ์แบบโบราณทั้งหลายไปจัดแสดงที่นั่น จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และฝึกฝนการทำงานด้วยแท่นพิมพ์แบบโบราณ ให้พวกเขาได้ลองเอาตะกั่วไปเรียง ได้สัมผัสแท่นพิมพ์ อาจจะพิมพ์นามบัตรส่วนตัว แล้วให้เอากลับบ้านเป็นของที่ระลึกได้ อันที่จริงเดิมทีเราจะเปิดที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน แต่ที่นั่นรับน้ำหนักแท่นพิมพ์ไม่ได้ ตึกโบราณบอบบางเกินไปและมีพื้นที่ไม่มาก จึงไปที่ชะอำแทน

 

 

Q. หลังจากนี้ มีเป้าหมายต่อไปที่อยากทำให้สำเร็จลุล่วงไหม

ผมก็พยายามพูด ผมจัดรายการวิทยุสัปดาห์ละครั้ง รายการวิทยุชื่อดวงดาวในสายลม คือไม่มีความหวังมากนักหรอก (หัวเราะ) เป็นดวงดาว ลอยคว้างท่ามกลางสายลม จึงมีความหวังไม่มากเวลาทุ่มครึ่ง ทาง FM 106 ทุกสัปดาห์เราก็พูดถึงเรื่องของวงการหนังสือหรือการอ่าน ผมพูดทั้งชั่วโมงเพื่อที่จะบอกรัฐบาลว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะว่าไม่ใช่งานน้อย งานมีเยอะมากมายในเรื่องหนังสือและการอ่านของชาติ การที่จะให้ประชาชนทั้งประเทศที่ไม่เคยอ่านหนังสือเลยมาอ่านหนังสือนั้นเป็นงานใหญ่ไม่ใช่เล็กๆ เล่นๆ ต้องเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างก่อน

ผมเสนอไปว่า เราต้องสำรวจก่อนว่าเรามีห้องสมุดกี่แห่งในประเทศ แล้วห้องสมุดในประเทศทั้งหมดที่มี มีหนังสืออะไรบ้าง สมัยนี้มีระบบค้นหาง่ายๆ คุณอยู่ห้องสมุดของคุณ คุณก็ดูสิว่ามีหนังสืออะไรบ้าง คีย์ข้อมูลเข้าไป แล้วห้องสมุดทุกแห่งก็ส่งข้อมูลมารวมกัน เราก็จะได้ตัวเลขว่าขณะนี้ประเทศไทยมีหนังสือประเภทไหนมากที่สุด ประเภทที่เหมาะแก่เด็กมีเล่มไหนบ้าง สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับอาชีพชาวสวน ชาวไร่ ชาวประมง หากทำได้ เราก็จะเห็นตัวเลขที่น่าตกใจ

ชาวบ้าน ประชาชนซึ่งมีจำนวนมากที่สุด แต่มีหนังสือให้เขาอ่านน้อยที่สุด หากเราทำแบบนี้ได้ในอนาคต สมมุติว่าเราเชิญชวนให้คนมาอ่านหนังสือในห้องสมุดได้ผล เราก็ต้องหาหนังสือที่เหมาะแก่เขาด้วย เช่น ชาวนาเขาอยากจะทำปุ๋ยเอง อยากจะทำนาโดยไม่ต้องใช้สารพิษ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง เขาจะต้องหารหนังสือแบบไหน เขาก็จะต้องเข้ามาแล้วหาให้ได้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ

 

Q. หมายความว่าอยากให้มีหนังสือหนังสือในระดับชุมชน

เมื่อเรารู้แล้วว่าเราขาดหนังสืออะไรบ้าง รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนสำนักพิมพ์ที่จะให้พิมพ์หนังสือขาดแคลนแต่เป็นประโยชน์เหล่านั้น เช่นหนังสือสำหรับชาวสวน ตอนนี้ยังขาดแคลนมาก ชาวสวนแย่แล้ว ผลผลิตตกต่ำ ปุ๋ยก็เสียเงินเยอะ ถ้ารัฐบาลสนับสนุนสำนักพิมพ์ หนังสือเหล่านี้ก็จะไปถึงมือชาวสวนชาวไร่ชาวนาในห้องสมุดพื้นที่ของเขา

สมมุติว่าพื้นที่ทั่วไปไม่มีห้องสมุด เราก็ต้องคิดหาวิธีว่าทำอย่างไรจะจัดหาหนังสือให้ถึงมือชาวบ้านโดยไม่ต้องมีห้องสมุด เรามีระบบหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้าน มีระบบกำนัน องค์กรเล็กที่สุดของประเทศไทย คือหมู่บ้าน มีคนรับผิดชอบ ถ้าเอาหนังสือที่เหมาะแก่คนในหมู่บ้านนี้ไปกองไว้ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ใครอยากอ่านก็มาอ่าน อยากยืมกลับบ้านก็มายืมไป เราแทบจะไม่ต้องสร้างอะไรเลย เพราะมีอยู่แล้ว ถ้าอยากทำให้เรียบร้อยก็แค่ซื้อตู้มาสักหลัง แล้วใส่หนังสือไว้ในตู้ หลังจากชาวบ้านอ่านหนังสือที่มีอยู่หมดแล้ว ก็แลกกับหมู่บ้านอื่น เราก็มีความสัมพันธ์กับหมู่บ้านอื่น นี่เป็นวิธีที่ผมคิดมาตลอดเวลา เราเรียกว่า ‘ระบบหนังสือหมุนเวียน’ ชาวบ้านจะได้อ่านหนังสือทั่งถึง ใช้งบประมาณเพียง 25% ของงบประมาณที่จัดการด้วยวิธีเดิม

พื้นฐานของประเทศไทยเป็นประเทศจน ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่เป็นประเทศรวย ทุกตำบลทุกหมู่บ้านมีห้องสมุดหมด มีหนังสือทุกอย่างที่เขาต้องการ จัดการได้หมด ไปมาหาสู่ง่ายไม่ต้องกังวล แต่เราเป็นประเทศจน ไปมาหาสู่ลำบาก กว่าจะไปหมู่บ้านโน้น ตำบลนี้ กว่าจะเข้าไปอ่านหนังสือได้ต้องใช้เวลาเป็นวัน เพราะฉะนั้นเราต้องนำหนังสือไปให้ใกล้เขาที่สุด ก็คือบ้านผู้ใหญ่บ้าน ง่ายนิดเดียว

 

Q. สังคมนักอ่านของไทย ต่างจากของญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง

ญี่ปุ่นเขาปูพื้นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์สมัยเมจิ เขาแปลหนังสือต่างชาติเป็นภาษาญี่ปุ่นให้คนญี่ปุ่นอ่าน ดังนั้น นักเขียนญี่ปุ่นในสมัยนี้จึงเป็นนักเขียนที่ทันสมัยมาก เพราะเขาได้อ่านหนังสือที่แปลจากภาษาอื่นๆ จากทั่วโลกทั้งหมดตั้งแต่วัยเด็กทุกคน หากถามว่าทำไมนักเขียนไทยอ่อน ก็คงเพราะเรามีพื้นความรู้เฉพาะค่อนข้างแคบ แต่นักเขียนญี่ปุ่น นักเขียนจีน เกาหลี เขามีพื้นความรู้กว้าง เพราะรัฐบาลจัดการแปลมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว

เขาใช้ความพยายามมากกว่าเราเยอะ คือรัฐบาลของเขาคิดสำหรับอนาคต 100 กว่าปีมาแล้ว เขาทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเข้าใจชาติอื่นๆ หมด แต่เรายังไม่มีรัฐบาลไหนทำ เมื่อยังไม่มีใครทำ ความรู้ของเราก็ยังแคบ สมัยนี้เราอาจจะเข้าไปในอินเทอร์เน็ต แต่ถามว่าชาวบ้านของเราเข้าไปในอินเทอร์เน็ต แล้วได้อะไรกลับออกมา ข้อนี้เราจำเป็นต้องตอบให้ได้ด้วยนะ

 

Q. เป้าหมายชีวิตของอาจารย์คืออะไร

หากถามว่าเป้าหมายชีวิตของผมเป็นอย่างไร ผมมีคำตอบเดียว คือปรารถนาให้ชาวบ้านทั้งหมด ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเท่าๆ กัน เท่านั้นแหละ เป็นความปรารถนามา 50 กว่าปีแล้ว

 

Q. สุดท้าย ก็กลับไปที่เด็กคนนั้น ที่เปิดหนังสือเล่มแรกให้อาจารย์ได้เห็น

ใช่ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่ได้คิดที่จะสร้างอาณาจักรใหญ่โต ความปรารถนาของผมอยู่ที่ชาวบ้าน ผมอยากเห็นชาวบ้านทุกคนเหมือนเพื่อนผมคนนั้น มีความสุข ยากนะครับ ผมก็รู้ แล้วผมก็ไม่ได้หวังว่าจะให้สำเร็จในช่วงชีวิตของผม แต่อย่างน้อยที่สุดผมได้บอกวิธีต่างๆ ไว้ในขณะนี้ ด้วยความหวังว่าอาจจะมีใครสักคนเข้าใจและสานต่อไปเรื่อยๆ อีกสองร้อยปีข้างหน้าก็ได้ หรืออาจจะสิ้นโลกไปแล้ว และเหลือหลักฐานอยู่เล็กน้อย ก็เอามาทำต่อเมื่อบังเกิดโลกใหม่ก็ได้ไม่เป็นไร

 

ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook: Makut Onrudee, butterflybook
Website: www.bflybook.com

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ