การเดินทางมายังโตเกียวทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความเป็นเมืองหลวงของพิพิธภัณฑ์ สำหรับสถาปนิกผู้นิยมการท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมอย่างผมนับว่าคุ้ม เพราะสามารถเดินทางไปแต่ละแห่งในระยะเวลาไม่มาก แต่สามารถเยี่ยมชมได้หลายแห่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่เป็นความใส่ใจตามแบบฉบับชาวญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการแทรกศิลปะไว้ในชีวิตประจำวัน เวลาเดินเหินในญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่าหายใจสูดศิลปะเข้าไปทุกย่างก้าว 

ในย่านรปปงงิ กรุงโตเกียว เราอาจจะคุ้นเคยกับการความเป็นแหล่งมุมย่านบันเทิงยามราตรี คราคร่ำด้วยคลับ บาร์ จากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและต่างชาติเสมอ เรียกได้ว่าเป็นย่านที่ไม่เคยหลับใหลอีกแห่งของโตเกียว แม้จะมีสิ่งดึงดูดที่ขึ้นชื่อเรื่องแหล่งบันเทิง แต่ในอีกแง่มุม ย่านนี้มีพื้นที่ให้เสพศิลปะ การออกแบบ อยู่เป็นระยะ อย่างเช่น Mori Arts Center Gallery ใน Roppongi Hills Mori Tower แต่ผมยังไม่ได้ไปเยือน เพราะวันนี้ความตั้งใจผมคือการมาเยือนพื้นที่ศิลปะอีกแห่ง

The National Art Center พิพิธภัณฑ์ผืนกระจกเขียวสูงโค้ง ณ กรุงโตเกียว (Tokyo)

จุดหมายของผมในวันนี้ ผมหยุดอยู่ที่อาคารขนาดใหญ่ที่มีจุดเด่นด้วยผืนกระจกเขียวสูงโค้งเป็นคลื่นชวนสงสัยว่าภายในเป็นอย่างไร อาคารที่มีผืนคลื่นเขียวคือ The National Art Center, Tokyo ออกแบบโดยสถาปนิก คุโรคาวะ คิโช ผู้ที่ได้ชื่อว่า “ดาราสถาปัตย์” คุโรคาวะออกแบบงานนี้ด้วยการมองพื้นที่ศิลปะแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่างเปล่า ไร้งานจัดแสดงถาวร เป็นการจัดแสดงแบบนิทรรศการหมุนเวียนตลอด มันถูกออกแบบให้พิเศษจากรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นจากภายนอก นำสายตาด้วยกระจกเขียวรูปทรงกรวยคว่ำ นำมาสู่พื้นที่ภายในออกแบบให้มีความพิเศษจากปริมาตรที่ห่อหุ้มอากาศไว้ในเพดานสูง 21.6 เมตร หรือสูงราวตึก 7 ชั้น ทำให้ผู้มาเยือนจะรู้สึกได้ถึงความโอ่โถง จำนวนห้องนิทรรศการมีจำนวน 7 ห้อง ห้องละ 2,000 ตารางเมตร พื้นที่ภายในแม้จะสูงเท่ากับตึก 7 ชั้น แต่การออกแบบภายในใช้รูปทรงกรวยหงายทำจากคอนกรีตเปลือยให้วางในโถง ช่วยลดความสูงของพื้นที่ภายในได้ดี ไม่ให้มีส่วนที่สูงชะลูดจนสร้างความรู้สึกว่าข่มผู้คนไปพร้อมกับเป็นคาเฟ่ ร้านค้า

บรรยากาศโถงภายใน The National Art Center, Tokyo การจัดงานนิทรรศการใน The National Art Center Tokyo

ก่อนเข้ามายังพื้นที่ส่วนโถงสูง ความรู้สึกของตัวผมในสายตาสถาปนิกคือความสงสัยที่ว่ามันจะจัดเรียงการใช้สอยอย่างไร ในเมื่อผนังภายนอกเป็นผืนกระจกสูงโค้งไปตามแปลน แต่เมื่อเดินเข้ามาชมภายในจึงเข้าใจว่าพื้นที่โค้งเป็นพื้นที่โถงอิสระไม่มีการใช้สอยใดเป็นพิเศษ จากพื้นที่โถงนี้ทำหน้าที่เป็นส่วนกันชนก่อนเข้าไปยังแต่ละห้องนิทรรศการ วันที่ผมไปเป็นวันที่กำลังจัดนิทรรศการผลงานของสถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่น อันโดะ ทาดาโอะ (Tadao Ando) เมื่อลองเข้าไปชมจึงได้เห็นว่าพื้นที่ขนาดใหญ่ออกแบบไว้รองรับหลายสื่อนิทรรศการด้วยความยืดหยุ่นต่อการใช้งานมาก มันสามารถบรรจุทั้งการแสดงภาพถ่าย ลายเส้น สื่อผสมที่จำลองบรรยากาศที่ตั้งงานที่อันโดะออกแบบ และที่พีคสุดคือมีส่วนนิทรรศการภายนอกให้สามารถตั้งโบสถ์แห่งแสงจำลองที่โอซาก้ามาไว้ ให้สามารถชมได้ทั้งภายนอกและภายใน

งานนี้มีขนาดใหญ่มากในงานช่วงหลังที่คุโรคาวะ ออกแบบ ในภาพจำของผมเองเขาคือสถาปนิกผู้มีผลงานโดดเด่นสุดในกลุ่ม Metabolism ที่มีความเชื่อต่อสถาปัตยกรรมที่ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตามสภาวะที่เปลี่ยนไป ก่อนเดินทางกลับ ผมเดินผ่านโถงสูงที่แสงอาทิตย์ยามเย็นลอดผ่านผืนกระจกใหญ่ ทำให้ผมสังเกตได้ถึงริ้วแสงที่ทาบบนผนัง มันดูเป็นความจงใจของสถาปนิกที่เลือกให้ผืนกระจกหันมายังทิศใต้ ทำให้รับแสงอาทิตย์เกือบตลอดปี ให้แสงสร้างชีวิตชีวาในโถง ช่วยให้แสงทำหน้าที่เหมือนภาพวาดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติรวมเข้ากับสถาปัตยกรรม

หากผู้อ่านสนใจตามดูงานของคุโรคาวะ สามารถชมงานที่เขาออกแบบในไทยได้ที่สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต งานนี้ผสมสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นเข้ากับเมืองร้อน แทรกด้วยจังหวะจะโคนแบบญี่ปุ่นในทุกรายละเอียด 
Info
The National Art Center, Tokyo
Hours: พ.-จ. 10:00-18:00 น. (ศ. ปิด 20:00 น.)
Holiday: วันอังคาร, ช่วงวันหยุดปีใหม่
Nearest Station: สถานีรปปงงิ (Roppongi Station)
Access: จากสถานีรปปงงิ เดินประมาณ 4 นาที
Website: www.nact.jp

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ