กลิ่นอายชนบท และจักรยาน
“กลิ่นอายชนบท และจักรยาน…”
ช่วงปีแรกของเกียวโตที่อาศัยอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัยเกียวโตที่ Shugakuin (Shugakuin International House) ฉันอดนึกถึงหนังสือ “เกียวโตใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ” ของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่ได้เลยจริงๆ มันมีกลิ่นอายบางอย่างของเชียงใหม่ลอยอวลอยู่รอบๆ ตัว
แต่ก็นั่นแหละ อย่าลืมว่าฉันไม่เคยไปที่ไหนมาก่อน และเกียวโตก็เป็นความต่างบ้านต่างเมือง “แรก” ที่ฉันได้ไปปะทะสังสันทน์ด้วย
เกียวโตจากมุมของ Shugakuin ทำให้คนบ้านนอกอย่างฉันตกหลุมรักได้ไม่ยากเลย เพราะมันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ล้อมรอบด้วยขุนเขา และเขาที่สูงตระหง่านอันจะเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือ Hiesan จากหอ Shugakuin ที่เราอยู่นั้น หากปั่นจักรยานขึ้นไปทางเหนือ ก็ต้องเจอกับทุ่งนา ลำห้วย สีเขียวของภูเขาลิบๆ ที่อยู่ข้างหน้า ยิ่งในฤดูร้อน ฟ้าใสๆ เสียงจั๊กจั่นดังกระหึ่มในหวีดหวิวของธรรมชาติแบบนี้ ยิ่งทำให้ฉันค่อยๆ หลอมละลายหัวใจให้กับเกียวโต
ข้างๆ หอพักเป็นสถานีรถรางชื่อสถานี Shugakuin นั่นแหละ เรามักจินตนาการว่าญี่ปุ่นคือความทันสมัย ไฮเทค แต่เปล่าเลย ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้ความไฮเทคอย่างพร่ำเพรื่อ แต่กลับเป็นประเทศที่เลือกใช้เทคโนโลยีทุก “ระดับ” โดยคำนึงความเหมาะสมกับหน้าที่ใช้สอยของมันมากกว่า
ในญี่ปุ่นเราจึงพบส้วมตั้งแต่ส้วมอัจฉริยะไปจนถึงส้วมหลุม นึกออกไหมว่า การที่มีคุณมีส้วมอัจฉริยะใช้ ไม่ได้ว่า คุณต้องเลิกใช้ส้วมหลุมในบางพื้นที่ หากว่าพื้นที่นั้น ส้วมหลุมคือเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุด
เช่นเดียวกับรถไฟ ที่ญี่ปุ่นมีตั้งแต่ชิงกันเซ็งที่เร็วที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็มีรถรางแก๊งๆ ทำงานอยู่อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว รถรางนี้เชื่อมตั้งแต่สถานีบนเขาลงไปถึงสถานีที่ไปเชื่อมต่อกับตัวเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนั่นอาจทำให้เราได้คำตอบด้วยว่า ทำไมญี่ปุ่นที่เป็นอันดับต้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ จึงเป็นประเทศที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
ในบางเช้าที่ฉันปั่นจักรยานเลียบทางรถรางไปมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องปั่นผ่านทุ่งนา แปลงผัก ผ่านกองฟางที่ถูกเผาด้วยไฟรุมๆ ดมกลิ่นควันไฟ กลิ่นของชนบท กลิ่นของท้องนาที่คงจะเหมือนกันทั้งโลก ตัวฉันเองทบทวนความคิดของตัวเองไปมาว่า นิยามของคำว่าประเทศที่พัฒนาแล้วคืออะไร?
ญี่ปุ่นคือประเทศที่พัฒนาแล้ว และสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วมอบให้แก่คนที่อาศัยในประเทศนี้คืออะไร?
ความร่ำรวย? ความเจริญทางเทคโนโลยี?
ไม่รู้สิ สิ่งที่ประเทศไทยที่ฉันจากมาไม่เคยให้ฉันเลยคือ การได้ปั่นจักรยานบนถนนที่ปลอดภัย ในอากาศยามเช้าอันสดสะอาด ภูเขาเขียวขจีที่ใกล้จนเหมือนจะเอื้อมมือไปสัมผัสได้ ท้องนา สวนผัก กลิ่นควันไฟอ่อนๆ
จะอธิบายยังไงดีว่า การปั่นจักรยานฝ่าไปในอากาศบริสุทธิ์นั้นมันเป็นการยกระดับจิตวิญญาณในขั้นสูงสุด หัวใจของเราจะเปิดออกให้สายลมเข้ามาปะทะ ใบหน้าสัมผัสอากาศ แสงแดด จมูกได้กลิ่นปลาย่าง โชยุ น้ำซุปต้มอุด้ง หญ้า ดอกไม้ แม่น้ำ อิสรภาพที่มาพร้อมสองขาอันถีบจักรยานไปข้างหน้าเรื่อยๆ เหนื่อยก็แวะจอดจักรยานริมคลอง ดูเป็ด ดูปลาว่ายน้ำ
จะกี่ปีๆ ผ่านไป ฉันก็ไม่เคยลืมกลิ่นควันไฟยามเช้าของทุกเช้าที่ปั่นจักรยานไปเรียนเลย 🙂