Work like a salmon

เพราะแนวคิดของสำนักพิมพ์เข้ากับคอนเซ็ปต์แซลมอนของคิจิฉบับ 058 ราวกับนัดกันมาทำให้ต้องยกหูโทรศัพท์หา “คุณกาย-ปฏิกาล ภาคกาย” บรรณาธิการสำนักพิมพ์คนปัจจุบันเพื่อถามไถ่ถึงวัฏจักรของ Salmon Books ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหมท่ามกลางยุคออนไลน์เป็นใหญ่ในขณะนี้

 

 

Q. เป็น บ.ก. Salmon Books มาก็สักพักแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

แน่ๆ เลยก็คือต้องโฟกัสหลายสิ่งมากขึ้น หมายถึงว่าแต่ก่อนเราอาจจะสนุกกับการทำหนังสือ หรือมุ่งไปที่คอนเทนต์อย่างเดียว แต่ตอนนี้เราจะต้องมาบาลานซ์ด้วยว่าคอนเทนต์ที่อยากทำมันไปกันได้ในเชิงธุรกิจไหม หรือเราจะบริหารจัดการส่วนอื่นๆ ที่มันไม่ใช่แค่การทำหนังสืออย่างไรดี อย่างการขายก็ต้องแพลนระยะยาวว่าในอีก 6 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้า Salmon Books จะทำอะไรต่อไป ซึ่งก็วุ่นวายกว่าเดิมเยอะ

Q. ทำไมถึงต้องเป็นแซลมอน

คือมันจะมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าในช่วงที่คิดชื่อสำนักพิมพ์ พี่แบงค์-ณัฐชนน มหาอิทธิดล (อดีตบรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Salmon Books) ยังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่ออะไร วันดีคืนดีเปิดทีวีทิ้งไว้แล้วบังเอิญไปเห็นชอตหมีกริซลีกินปลาแซลมอนพอดี ซึ่งด้วยความที่พี่แบงค์เป็นคนชอบสัตว์เป็นทุนเดิม ถ้าจะสังเกตกันหลังๆ ในเครือแซลมอนจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับสัตว์ อย่างนิตยสารที่หัวหนังสือชื่อว่ายีราฟ (Giraffe) หรือเว็บไซต์ Minimore ที่สัญลักษณ์เป็นกบ อีกอย่างแซลมอนมันก็มีความหมายในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเรื่องว่ายทวนน้ำหรือเป็นอาหารที่คนไทยรู้กันดีว่ารสชาติอร่อยและมีสารอาหาร ก็เหมือนกับ Salmon Books ที่เราอยากทำหนังสือออกมาในแบบที่เราเองก็อยากอ่าน ขณะเดียวกันก็ต้องสวนกระแสด้วยการทำหนังสือในแบบที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น

New York 1st Time หนังสือที่คุณกาย -ปฏิกาล ภาคกายเป็นบรรณาธิการเล่มแรก

 

Q. เอกลักษณ์ของ Salmon Books

จริงๆ แล้วแซลมอนเรามีความหลากหลายอยู่นะ ถ้าจะให้อธิบายเป็นคาแรคเตอร์ก็เหมือนกับเด็กกลางห้องที่มีความสนใจในหลายๆ เรื่องเพราะว่าโตขึ้น ดังนั้นเราก็จะพยายามทำให้แซลมอนมีทั้งวาไรตี้ บันเทิง ข้อมูล หรือฉีกแนวไปในเชิงชวนคิดเรื่องต่างๆ ที่สำคัญจะต้องเป็นอะไรที่ย่อยง่ายและแน่นอนว่าจะต้องสนุกผู้อ่านหลายคนก็บ่นว่ารอหนังสือนานแต่พอได้อ่านแป๊บเดียวก็จบแล้ว ซึ่งในมุมของนักเขียนมันก็แปลได้ว่าหนังสือที่คุณอ่านมันสนุกพอที่จะทำให้คุณเพลินจนลืมเวลาได้ ซึ่งนั่นก็ถือว่าตอบโจทย์ของแซลมอนแล้วล่ะ แล้วรสชาติของ Salmon Books ล่ะเป็นแบบไหน? ผมว่าเป็นรสเดียวไม่ได้นะ ก็เหมือนกับแซลมอนแหละที่เอาไปทำได้หลายเมนู Salmon Books ก็เป็นแบบนั้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามคีพเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเราเอาไว้

Culture Strike หนังสือที่บอกเล่าความไทยจากปลายปากกาของคุณกายเอง

 

Q. ส่วนตัวชอบกินแซลมอนไหม

ก็ชอบนะครับแต่ก็ไม่ได้มากขนาดที่จะกินเยอะๆ ได้ อย่างซูชิสัก 3 คำนี่ก็กำลังโอเคแล้ว แต่เวลาเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นตัวเองก็จะเน้นสั่งแซลมอนอยู่ดีนะ เพราะบางทีเมนูอื่นรสชาติไม่ถูกปาก เลยสั่งแซลมอนมาเพื่อเป็นตัวรับรองว่ามีอาหารที่เรากินได้ชัวร์ๆ เพราะแซลมอนเหมือนเป็นอะไรที่กินได้ ง่ายสุดและเข้าปากเรามากกว่า

 

Q. เห็นว่าเพิ่งมี Salmon Lab ด้วย เล่าที่มาที่ไปให้คิจิฟังหน่อย

Salmon Lab เป็นหนึ่งในเครือของเราที่ดูแลโดยคุณแชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยา-มงคล (บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักคอนเทนต์ออนไลน์ The MATTER) คือด้วยความที่เรารู้ว่าคนเริ่มจะตีตัวออกห่างจากสิ่งพิมพ์และหันเข้าหาออนไลน์มากขึ้น แซลมอนแล็บก็เหมือนเป็นสิ่งที่จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ อย่างทุกวันนี้เวลาที่เราอ่านฟีดในเฟซบุ๊กก็จะเจอคอนเทนต์ที่เฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งแซลมอนแล็บเองก็พยายามพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับงานดีไซน์และครีเอทีฟเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์ที่ว่าในการทำงานเชิงสร้างสรรค์เราต้องทำกันอย่างไรบ้าง เพราะหลายคนเริ่มเจอทางตันในการทำงานแล้ว ซึ่งแซลมอนแล็บก็จะเป็นตัวที่เข้ามาช่วยหาทางให้คนทำงานสามารถผลิตงานได้เรื่อยๆ และในอนาคตได้ข่าวว่าจะมีงานกึ่งนิทรรศการ เพราะแซลมอนแล็บเองก็ไม่ได้ยึดว่าจะทำคอนเทนต์ออนไลน์อย่างเดียวมาตั้งแต่ต้น

 

 

Q. อย่างวัฏจักรของแซลมอนเขาจะต้องว่ายทวนน้ำเพื่อวางไข่แล้ววัฏจักรของ Salmon Books ล่ะ

ถ้าเทียบการทำหนังสือกับการวางไข่ของแซลมอน ในส่วนนี้เราก็พยายามที่จะวางไข่ให้ได้บ่อยๆ ด้วยความที่ตัวพ็อกเก็ตบุ๊กนั้นมีไทม์ไลน์งานที่ค่อนข้างชัดก็คือออกประมาณปีละ 2 ครั้ง เพื่อที่จะได้พบกับผู้อ่านที่งานหนังสือ แต่อย่างที่ทราบๆ กันว่าปีหน้างานหนังสือก็จะขยับขยายที่ไปเมืองทองฯ ทำให้สำนักพิมพ์หลายเจ้าเริ่มคิดว่างานหนังสืออาจจะไม่ตอบโจทย์พอ และหลายที่ก็เริ่มปรับเปลี่ยนให้หนังสือออกเรื่อยๆ เพื่อขายออนไลน์หรือมีอีเว้นท์แทน ซึ่งแซลมอนเองก็อยากทำอย่างนั้นแต่มันต้องใช้ระยะเวลาเซ็ตอัพประมาณหนึ่ง

โอเค การที่จะออกหนังสือให้ได้ทุกหนึ่งหรือสองเดือนมันจะต้องมีการทำต้นฉบับเตรียมรอเอาไว้ แต่ด้วยกระบวนการของแซลมอนเองที่ต้นฉบับไม่ได้มาจากการที่เรารับพิจารณาจากนักเขียนแล้วตีพิมพ์เลย เพราะเรามักจะออกโจทย์แล้วถ้านักเขียนคนไหนสนใจที่จะทำต้นฉบับร่วมกัน ก็ต้องเข้ามาคุยกันตั้งแต่ต้น อย่างบางทีทำต้นฉบับเสร็จไปแล้วเราก็เอามาเลาะทีละส่วนๆ มันก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้กินเวลานานกว่าปกติ ดังนั้นตอนนี้เลยมาคิดกันว่าเราอาจจะต้องมีแพลนที่แน่นอน ซึ่งทีมก็พยายามจะวางแผนกันอยู่ว่าเราควรจะวางไข่กันกี่เล่มต่อเดือนดี

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ