กระโดด! พอได้ยินคำนี้ทีไรฉันจะนึกถึงการกระโดดบันจี้จั๊มพ์หรือพวกกิจกรรมแนวแอดเวนเจอร์ทั้งหลายขึ้นมาโดยอัตโนมัติ พอพูดถึงการกระโดดฉันมักจะจินตนาการถึงการดิ่ง การปล่อยให้ตัวเองลอยละลิ่วลงไป หรืออะไรที่ดูเสี่ยงภัยนิดๆ  เพราะเราต้องเคลื่อนที่จากจุดที่อยู่สูงไปสู่จุดที่อยู่ต่ำกว่า อย่างการกระโดดลงจากรถไฟ กระโดดลงทะเล หรือกระโดดหน้าผา จะว่าไปแล้วฉันไม่ค่อยนึกถึงความหมายของการกระโดดในแบบของการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือข้างบนสักเท่าไร แม้ว่าในหลายๆ เหตุการณ์เราก็จะต้องกระโดดขึ้นไปบ้างเหมือนกัน

กระโดดขึ้นเวทีเลย” เสียงใครบางคนกระซิบบอกฉันให้ทำตามแต่โดยดี เสียงนั้นดังขึ้นในคอนเสิร์ตขนาดย่อมในไลฟ์เฮาส์แห่งหนึ่งกลางกรุงโตเกียว มันเป็นค่ำคืนในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2017 ที่ฉันได้รับมอบหมายให้เก็บภาพบรรยากาศการแสดงสดของ “แสตมป์” อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ศิลปินอารมณ์ดีที่คนไทยน้อยคนจะไม่รู้จัก เพื่อรวบรวมมาทำสกู๊ปลงในนิตยสาร

 

 

แสตมป์บอกว่าขึ้นไปบนเวทีได้ ขึ้นเลยๆ

โอเค ใครคนนั้นบอกย้ำอีกครั้ง ได้ยินอย่างนั้นก็ “ได้เลย!

ฉันดอดขึ้นไปบนเวทีคอนเสิร์ตเงียบๆ เป็นการก้าวกึ่งกระโดดขึ้นไปแบบไม่ขอรบกวนใครมาก แม้ฉันจะเป็นผู้หญิงร่างเล็ก แต่ด้วยความที่บนเวทีมีหลายสิ่งจัดวางไว้ มันก็เลยต้องอาศัยความระมัดระวังอยู่เหมือนกัน นักดนตรีประจำอยู่ในตำแหน่งต่างๆ สายไฟหลายวงวางขดพาดอยู่บนพื้น ฉันค่อยๆ ก้าวทีละก้าวแบบขอให้ชัวร์ว่าไม่เหยียบโดนอะไรที่สำคัญเข้า เพราะถ้าเหยียบผิดเหยียบพลาดแล้วเกิดทำให้เสียงบนเวทีหายไปก็คงจะเด๋อด๋าน่าดู

 

 

มุมมองจากบนเวทีต่างจากมุมมองของการถ่ายภาพอยู่ข้างล่างมากๆ แฟนเพลงของแสตมป์มากันหนาตา มีทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น ในสายตาของฉัน แสตมป์ถือเป็นศิลปินที่เอนเตอร์เทนได้ดีและอบอุ่นเป็นกันเอง ด้วยความสามารถเฉพาะตัว บวกกับทักษะทางภาษาที่เรียกได้ว่าภาษาญี่ปุ่นก็พอได้ ภาษาไทยก็ดี ดนตรีก็ไพเราะ แสตมป์เลยกลายเป็นศิลปินไทยที่ชาวญี่ปุ่นให้การต้อนรับอย่างเป็นมิตร รอยยิ้มเสียงหัวเราะ และเสียงกรี๊ดลอยวนอยู่ในโถงไลฟ์เฮาส์ตลอดเวลา

การถ่ายภาพแสตมป์บนเวทีง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะไม่ต้องคอยแหงนคอเหมือนตอนอยู่ข้างล่าง และที่สำคัญไม่มีคนยืนบังด้วย แต่สำหรับฉันแล้ว การถ่ายภาพคอนเสิร์ตก็ไม่ง่ายเหมือนการถ่ายภาพทิวทัศน์​หรือสิ่งของ เพราะในคอนเสิร์ตทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวรวดเร็วฉับพลัน แสงสีเสียงปรับเปลี่ยนหลากหลาย จึงต้องอาศัยการจับจังหวะพอสมควร ฉันถ่ายไปโดยเน้นการเก็บภาพแบบแคนดิด (Candid) ไปเรื่อยๆ ซึ่งการถ่ายแคนดิดเป็นการถ่ายภาพแบบตรงๆ โดยไม่มีการเซ็ตอัพท่าทาง โดยมากคนในภาพจะไม่รู้ตัว ภาพที่ออกมาก็เลยจะมีความเป็นธรรมชาติสูง

 

 

อายเหมือนกันแฮะ” อีกเสียงดังขึ้น

คราวนี้เป็นเสียงในหัวฉันเอง

อาจเพราะโดยธรรมชาติดั้งเดิมฉันจะเป็นสายเหนียมๆ ถ่ายภาพอะไรก็จะยืนหลบไม่ให้ใครเห็นเป็นส่วนใหญ่ พอต้องกระโดดขึ้นมาบนเวทีแบบนั้นมันก็เลยเขิน แต่ความเขินมันคงอยู่ไม่ยาวนานหรอกเพราะความอยากได้ภาพมีมากกว่า!

กดชัตเตอร์ต่อไป” ประโยคนี้เป็นคำสั่งที่ฉันใช้สั่งตัวเองและใช้กลบเสียงจากความเขินอายในบางจังหวะ ฉันเชื่อว่าลึกๆ แล้วช่างภาพทุกคนก็คงเป็นเหมือนกัน ลองถ้าได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปอยู่ในจุดที่ถ่ายภาพได้ง่ายและได้มุมที่ดี มันคือโอกาสที่ไม่อยากจะพลาดไปหรอก มุมบนเวทีไม่ใช่แค่จะถ่ายภาพศิลปินได้ถนัดอย่างเดียว แต่เราจะเห็นคนดูชัดด้วย ภาพที่ได้จะเป็นภาพแทนสายตาของศิลปิน ซึ่งมันช่างน่าจดจำและน่าเก็บบันทึกไว้เหลือเกิน

 

 

สำหรับช่างภาพแล้ว ฉันมองว่าการมัวแต่เขิน หรือไม่กล้าออกไปยืนในจุดที่ควรยืนอาจจะน่าอายกว่าก็ได้นะ เพราะถ้าช่างภาพไม่ได้ภาพมันคือความผิดพลาดเบอร์แรกเลย เหมือนเรามาทำหน้าที่แต่ไม่ได้ทำหน้าที่จริงๆ ในทางกลับกัน ช่างภาพที่แกล้วกล้าเกินไปจนกลายเป็นรบกวนก็คงไม่ใช่ช่างภาพที่ดีเหมือนกัน เพราะแม้ว่าเราได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ที่น้อยคนจะได้เข้าไปมันก็ยังต้องมีเส้นแบ่งทางมารยาทอยู่นั่นเอง ยกตัวอย่างถ้าฉันได้ขึ้นเวทีแล้วไปยืนบังคนดู หรือไปเดินบล็อกสายตามือกลองที่ต้องสื่อสารกับมือเบส มันก็คงจะเละเทะอยู่เหมือนกัน

ในจังหวะที่ดนตรีสนุกขึ้นและสนุกขึ้น แฟนเพลงต่างลุกขึ้นเต้น ปรบมือ โบกมือ โยกหัวตามจังหวะ บางคนร้องเพลงตาม บางคนส่งเสียงให้กำลังใจ ไม่มีสักคนต้องอาย ฉันได้ยินมานานแล้วว่าเวลาคนญี่ปุ่นมาดูโชว์ เขาจะอินกับโชว์มาก มีความเข้าใจดนตรีสูง และให้เกียรติศิลปินที่เขาซื้อตั๋วมาดู

 

 

ไม่เห็นต้องอายเลย” ฉันได้ยินอีกเสียงดังแว่วแทรกจังหวะดนตรีขึ้นมา จังหวะนั้นแสตมป์กระโดดขึ้นพร้อมกับกีตาร์ และจังหวะนั้นเองที่ฉันเข้าใจชัดเจนว่า คนที่พาตัวเองข้ามน้ำข้ามทะเลมาร้องเพลงมาเล่นดนตรี มาโชว์สดทั้งเพลงไทยที่ใครๆ แถวนั้นฟังไม่ออก และเพลงสากลที่ไม่ใช่ภาษาบ้านเกิด มาสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นที่ตัวเองไม่คุ้นเคย เล่นมุก และให้ความสุขกับผู้ฟังในดินแดนแปลกหน้าได้ คนที่ทำแบบนี้ได้ เขาไม่มีอะไรต้องอายจริงๆ นะ

ในสายตาของฉันแล้ว แสตมป์เป็นศิลปินแถวหน้าของเมืองไทยที่พาตัวเองกระโดดออกไปสู่สายตาชาวโลกได้สำเร็จ เขากระโดดขึ้นไปบนเวทีและทำในสิ่งที่ตัวเองรักอย่างดีที่สุด อย่างเต็มที่ที่สุด และสำหรับคนที่ติดตามข่าวคราวอยู่บ้างก็คงพอจะรู้ว่าแสตมป์ได้ออกอัลบั้มกับ Toy’s Factory ค่ายเพลงใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นไปแล้วในปี ค.ศ. 2019 และมีเพลงฮิตติดชาร์ตในแดนอาทิตย์อุทัยไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย

ช่างเป็นการกระโดดที่ไม่อายใครจริงๆ

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ