P7 สตรีตอาร์ต งานศิลป์ และเส้นสี
สารบัญ
- P7
- Q. ช่วยเล่าแรงบันดาลใจในการเริ่มทำงานแนวสตรีทอาร์ตของตนเองหน่อยได้ไหม
- Q. ทำไมถึงใช้ชื่อ P7
- Q. คิดว่างานสตรีทอาร์ตสำหรับตัวเองคืออะไร
- Q. มีคอนเซปต์ในการนำเสนองานอย่างไรบ้าง
- Q. มีอะไรอยากสื่อถึงผู้ชมภาพไหม
- Q. รู้ตัวเองตั้งแต่ตอนไหนว่าสนใจงานอาร์ต
- Q. ทำไมถึงเลือกใช้สีสันหลากหลายในการสร้างผลงาน
- Q. คิดอย่างไรกับการที่มีคนมองว่างานสตรีทอาร์ตเป็นการทำลายทรัพย์สินและทัศนียภาพบ้าง
- Q. คิดว่าผลงานของตนเองคืนอะไรสู่สังคมบ้าง
- Q. นอกจากงานสตรีทอาร์ตแล้ว มีงานอื่นที่สนใจอีกไหม
- Q. มีไอดอลในดวงใจไหม
- Q. มีโอกาสได้ไปแสดงผลงานที่ญี่ปุ่นบ้างไหม
- Q. ผลตอบรับจากผู้ที่มาชมงานเป็นอย่างไร
- Q. คิดว่าวงการสตรีทอาร์ตของไทยกับญี่ปุ่นแตกต่างกันอย่างไร
- Q. ถ้าไม่ได้ทำงานด้านศิลปะ คิดว่าตัวเองจะทำอะไรอยู่
- Q. อยากฝากอะไรให้แก่คนที่มีความฝันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เขาก้าวมาอยู่ในจุดเดียวกับเราบ้าง
- Q. เร็วๆ นี้จะมีผลงานอะไรให้ติดตามบ้าง
P7
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าศิลปะ ‘สตรีทอาร์ต’ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของใครหลายคนโดยไม่รู้ตัว ลายเส้น สี หรือรายละเอียดที่เกิดขึ้นบนผืนผ้าใบที่เรียกว่า ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ คือประตูบานหนึ่งที่ผู้สร้างเปิดต้อนรับผู้เสพงานศิลป์ให้เข้ามายังโลกอีกใบ ราวกับชวนเพื่อนมานั่งพูดคุย ได้ใช้จินตนาการ ใช้ใจ รวมถึงอาจได้ใช้พื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกันในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า และนี่คือโลกอีกใบหนึ่งที่มิอาจมีใครสามารถปฏิเสธคำเชิญชวนให้เข้าไปนั่งพูดคุยร่วมกันกับเขาได้เลย โลกใบนั้นเรียกว่า ‘P7’
Q. ช่วยเล่าแรงบันดาลใจในการเริ่มทำงานแนวสตรีทอาร์ตของตนเองหน่อยได้ไหม
ผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วครับ ช่วงแรกผมเน้นวาดภาพเหมือน (Realistic Art) เป็นงานเพนต์ร่วมสมัย (Contemporary Painting) มีโอกาสได้แสดงผลงานในเมืองไทยบ้าง ต่างประเทศบ้าง จนกระทั่งปี ค.ศ. 2002 มันก็มาถึงจุดอิ่มตัว ตอนนั้นคิดว่าอยากลองทำอะไรใหม่ๆแล้ว อยากทิ้งรูปแบบเดิมๆ ชื่อเดิมของเรา (ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อพี พีระพงษ์ในวงการ) อยากเริ่มค้นหาอะไรใหม่ๆ ผมเลยเอาความเป็นสตรีทมาผสมผสานกับงานศิลปะจนเกิดเป็นงานสตรีทอาร์ต (Street Art) ในรูปแบบของ ‘P7’ ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคแรกๆที่งานศิลปะแนวนี้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยด้วยครับ
Q. ทำไมถึงใช้ชื่อ P7
ก็…ย่อมาจาก ‘พีรพงษ์’ ครับ ส่วนเลข 7 ก็ใช้วิธีไล่ลำดับเลขไปเรื่อยๆ พีวัน พีทู…จนมาถึง ‘พีเซเว่น (P7)’ ก็เอ้อ…ชื่อนี้แหละ โอเคเลย เวลาเขียนออกมาแล้วผมก็ชอบด้วย เหตุผลมีเท่านี้เลยครับ
Q. คิดว่างานสตรีทอาร์ตสำหรับตัวเองคืออะไร
งานสตรีท อาร์ตคือศิลปะการแสดงออกอย่างอิสระครับ จุดเริ่มต้นของมันคือการบ่งบอกตัวตนในที่สาธารณะ ซึ่งในงานของผมจะออกแนวกราฟฟิตี้ (Graffiti) ผสมกับสตรีทอาร์ต แล้วใส่แนวคิดแบบเพ้นต์ติ้งเข้าไปด้วย เมื่อหลายๆอย่างมันมารวมกันไม่ว่าจะเป็นการใช้สเปรย์ รูปแบบของงาน สัญลักษณ์ มันเลยกลายเป็นฟรีสไตล์อาร์ตมากกว่า
ส่วนใหญ่แล้วผมจะออกแบบงานไม่ซ้ำกัน หลายคนจะสร้างงานงานหนึ่งซ้ำๆ หรือเมื่อสร้างงานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วก็จะยึดรูปแบบนั้นไปเลย แต่นั่นไม่ใช่แนวทางงานของผม สังเกตง่ายๆอย่างพวกงานกราฟฟิตี้ แม้จะพ่นเป็นชื่อของคนคนนั้นก็จริง แต่ฟอนต์ที่พ่นบนผนังเนี่ยมันจะไม่ซ้ำกันเลยครับ ดีไซน์มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
Q. มีคอนเซปต์ในการนำเสนองานอย่างไรบ้าง
งานของผมไม่มีคอนเซปต์เลยครับ ช่วงที่วาดรูปแรกๆแล้วแสดงผลงานใหม่ๆก็ยังพอมีคอนเซปต์อยู่บ้างเหมือนกัน อย่างช่วงหนึ่งผมชอบสุนัขพันธุ์ดุมาก อยากเลี้ยงพิทบูลแต่ไม่มีเงินซื้อ เลยวาดรูปแทบตายเพื่อเก็บเงินซื้อพิทบูลหนึ่งตัว ซึ่งสมัยนั้นพิทบูลมันหายากมาก ก่อนหน้านั้นเลยได้แต่ไปขอดูสุนัขตามฟาร์มแล้วถ่ายรูปไว้ ถึงยังไม่มีเงินซื้อแต่ได้จับก็ยังดี แล้วนำมาวาดรูปเหมือนผสมป๊อบอาร์ต วาดทุกพันธุ์ที่เราอยากเลี้ยงแล้วนำมาจัดแสดงเป็นผลงานแรกเลยครับ ส่วนผลงานที่สองเป็นรูปวาดแนวมินิมอล เพนต์ติ้ง ซึ่งเป็นรูปตัวเองในอิริยาบถต่างๆ
พอหลังจากนั้นแล้วผมรู้สึกว่าไม่อยากวาดตามคอนเซปต์แล้ว อยากลองวาดอะไรที่มันอิสระดูบ้าง งานชุดที่สามจึงเริ่มไม่มีที่มาที่ไปแล้วครับ อยากวาดอะไรก็วาด มันออกมาจากจินตนาการทั้งหมด หากนำไปแสดงตามแกลเลอรี่ก็จะบอกเจ้าของงานว่ามันเป็นแนวอิสระ ปัจจุบันนี้ก็ยังเหมือนเดิมครับ ผมเป็นคนไม่มีสเกตช์ แต่รู้ว่าตัวเองจะวาดอะไร ทดลองในแบบของตัวเองไปเรื่อยๆ อิมโพรไวส์กันตอนวาดงานเลยครับ
Q. มีอะไรอยากสื่อถึงผู้ชมภาพไหม
หลังจากที่ไม่มีคอนเซปต์ในการสร้างงานแล้วก็เหมือนเราให้ความเคารพกับคนดูครับ เราแค่ถ่ายทอดความเป็นตัวเราออกมา เปิดโอกาสให้เขาได้จินตนาการกับภาพผลงานเราด้วยตนเองโดยที่ศิลปินไม่เข้าไปครอบงำคนดู ส่วนใหญ่เมื่อต้องทำอะไรสักอย่าง หลายคนจะหาแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆมาสร้างผลงานนั้นๆ เหมือนนำข้างนอกเข้ามาข้างใน แต่ผมเป็นคนไม่มีแรงบันดาลใจครับ ผมเพียงถ่ายทอดสิ่งที่คิดและอยากทำออกมา เหมือนนำข้างในออกไปข้างนอก เพราะถ้าเราทำแบบนี้ มันย่อมมีความเป็นตัวเราแสดงออกไปด้วย
Q. รู้ตัวเองตั้งแต่ตอนไหนว่าสนใจงานอาร์ต
ผมสนใจด้านนี้มาตั้งแต่สมัยเด็กแล้วครับ อย่างที่ผมได้บอกไป ผมชอบดูการ์ตูนป๊อบอาย โดราเอมอน พอดูแล้วก็อยากวาดรูปให้เหมือนการ์ตูนตัวนั้น อย่างโดราเอมอนเนี่ยก็คิดว่ามันวาดง่ายนะครับ เป็นตัวกลมๆ ช่วงนั้นผมอยากวาดรูปโชว์เพื่อนด้วยแหละครับ แต่วาดอย่างไรก็ไม่เหมือนสักที ในหัวตอนนั้นเลยคิดแค่ว่าต้องวาดให้ได้ มันเลยติดนิสัยที่ว่าหากต้องการวาดอะไรสักอย่างก็ต้องวาดรูปนั้นออกมาให้เหมือนจนได้ เพื่อจะได้โชว์เพื่อนว่าเราวาดรูปเก่งนะ ซึ่งผมเองก็ชอบวาดรูปอยู่แล้ว พอโตขึ้นมาหน่อยก็วาดรูปการ์ตูนเรื่องหมัดดาวเหนือที่มันมีรายละเอียดมากขึ้น
สมัยมหาวิทยาลัย แม้ผมจะได้เรียนรู้ทักษะการวาดรูปพื้นฐาน แต่ผมก็ยังคิดว่าการวาดรูปให้เก่งขึ้นได้มันต้องมาจากการฝึกฝนด้วยตัวเอง ฝึกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมเป็นคนที่คิดนอกกรอก วาดรูปที่อยากวาด ประสบการณ์ส่วนหนึ่งของผมเลยมาจากงานที่รูปที่วาดได้แสดงผลงานเหล่านั้นเองด้วย
Q. ทำไมถึงเลือกใช้สีสันหลากหลายในการสร้างผลงาน
ผมได้ประสบการณ์มาจากสมัยที่วาดภาพเหมือนมาก่อน แล้วก้าวไปอีกสเต็ปด้วยการวาดภาพแนวเสมือนภาพถ่าย (Super Realistic) ได้มีโอกาสใช้แอร์บรัช เพนต์ติ้งอยู่ช่วงหนึ่ง เลยทำให้ผมรู้จักการเลือกใช้สี การนำสีมาผสมผสานกัน เมื่อทำงานตัดทอนออกมาแล้วผมก็เลยจำสีได้ จำแนกสีเป็น พอได้สร้างผลงานแนวใหม่ทำให้ผมกล้าใช้สีมากขึ้น งานเลยออกมามีสีสันอย่างที่เห็นครับ
Q. คิดอย่างไรกับการที่มีคนมองว่างานสตรีทอาร์ตเป็นการทำลายทรัพย์สินและทัศนียภาพบ้าง
ความจริงแล้วมันอยู่ที่จุดประสงค์ของศิลปินแต่ละคนนะครับ เราไปวิเคราะห์หรือตอบตรงนั้นแทนไม่ได้ บางคนก็ชอบหรืออยากทำอะไรที่แสดงออกแบบนั้น แต่บางคนก็เลือกที่จะสร้างผลงานในที่ที่มันถูกที่ถูกทาง
คำถามแบบนี้มันถูกถามมา 30 กว่าปีแล้ว ซึ่งทุกวันนี้หลายคนรับรู้ว่ามีงานศิลปะแบบนี้อยู่ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะเป็นเรื่องที่ทั่วโลกเขาทำและปฏิบัติกันไปไกลแล้ว บางคนเขาสร้างผลงานบนสถานที่เหล่านี้แล้วมันสวย แต่มันก็อาจจะผิดกฎหมายของบ้านเมืองเท่านั้นเองครับ
Q. คิดว่าผลงานของตนเองคืนอะไรสู่สังคมบ้าง
ในทางอ้อมคนอาจจะผ่านมาเห็นงานเราแล้วชอบ ดูแล้วรู้สึกผ่อนคลาย โดยที่ไม่ต้องเข้าไปดูผลงานตามแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์
ผมชอบสร้างผลงานบนพื้นที่ที่มันมีความเก่า แต่ไม่ใช่เก่าแบบคลาสสิกนะครับ แต่เป็นเก่าแบบเสื่อมโทรมแล้ว อย่างผนังที่มีเถาวัลย์หรืออาคารอิฐเก่าๆที่เขาจะทุบแล้ว อยากให้งานไบรท์ๆของตัวเองไปอยู่บนผนังโทรมๆแล้วมันเกิดภาพสะท้อนที่ดูแตกต่างออกไป เป็นเรื่องของสีบนกำแพงเก่าๆ สีเทาๆ พอมันเกิดความแตกต่างปุ๊บ ผนังที่ดูเก่าและโทรมจะน่าดูขึ้นมาอีกนิดครับ
Q. นอกจากงานสตรีทอาร์ตแล้ว มีงานอื่นที่สนใจอีกไหม
ผมมีผลงานด้านประติมากรรมด้วยครับ นำเสนอออกมาในรูปแบบสามมิติ คือแทนที่มันจะอยู่บนกำแพง ผมก็สร้างออกมาให้มันเป็นรูปร่าง เคยเห็นหัวเสือที่หอศิลป์ฯ (BACC) ไหม เมื่อก่อนเคยสร้างประมาณ 5 หัว แล้วนำไปวางแสดงตามจุดต่างๆ อ้อ…มีเรื่องน่าขำด้วยนะ เคยเกิดฝนตกหนักช่วงหนึ่งที่งานเรายังแสดงอยู่แล้วหัวเสือมันไหลไปกลางถนน ปิดเส้นทางจราจรแถวนั้นหมดเลยครับ (หัวเราะ) ตอนนี้หัวเสือกระจายไปวางตามแลนด์มาร์กต่างๆในกรุงเทพฯแล้ว
Q. มีไอดอลในดวงใจไหม
ไม่มีเลยครับ ผมศึกษางานของคนอื่นเหมือนกันนะครับ แต่ผมอยากให้ผลงานของตัวเองออกมาไม่เหมือนใคร เลยสร้างงานจากตัวตนของตัวเอง
Q. มีโอกาสได้ไปแสดงผลงานที่ญี่ปุ่นบ้างไหม
มีครับ ครั้งแรกเมื่อประมาณปี ค.ศ. 2015 ครับ คุณฮิเดะยุกิ คะสึมะตะ (Hideyuki Katsumata) ซึ่งเป็นเพื่อนชาวญี่ปุ่นและเป็นแม่งานในครั้งนี้ ชวนศิลปินนักวาดภาพคนไทยไปจัดแสดงผลงานที่ Anagra Gallery ในโตเกียว เป็นแกลเลอรี่แบบอัลเทอร์เนทีฟนิดๆครับ ชื่อธีมงานว่า ‘THE THINGS’ ตอนนั้นผมนำงานพอร์ตเทรตประมาณ 5 รูปไปจัดแสดง
Q. ผลตอบรับจากผู้ที่มาชมงานเป็นอย่างไร
มีคนมาดูเยอะมากครับ ผมไม่คิดว่าผลตอบรับจะดีอย่างนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาพที่เราวาดไม่ค่อยมีให้เห็นในญี่ปุ่นด้วยครับ
หลังจากแสดงผลงานที่แกลเลอรี่เสร็จแล้ว คุณซะระซะ (DJ.SARASA) ซึ่งเป็นดีเจที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในญี่ปุ่นได้ชวนผมกับ TRK ไปร่วมโชว์ Live Painting กันที่ผับสไตล์ฮิปฮอปแห่งหนึ่งในย่านชินจุกุ (Shinjuku) ผลตอบรับตอนนั้นก็น่าทึ่งไม่แพ้กันครับ ปกติแล้วหลายคนมาผับเพื่อฟังเพลง เต้น ผ่อนคลาย แต่บริเวณที่ผมกับ TRK ยืนวาดงานอยู่กลับมีคนมารุมล้อมดูเราวาดรูปกันเยอะมาก และดูจะเป็นที่สนใจมากขึ้นเมื่อผมเขียนคำว่า ‘ทมิฬ’ ลงบนภาพผลงานด้วย
Q. คิดว่าวงการสตรีทอาร์ตของไทยกับญี่ปุ่นแตกต่างกันอย่างไร
ผมคิดว่าไม่แตกต่างกันครับ แต่พื้นที่ที่เอื้ออำนวยการสร้างงานในเมืองไทยมีเยอะกว่าญี่ปุ่น แม้ที่ญี่ปุ่นมีโอกาสสร้างงานได้น้อย แต่คนที่มีฝีมือและมีความสามารถนั้นมีเยอะครับ ถ้าเราไม่ไปเปิดประเด็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ผมว่าเมืองไทยให้อิสระในการสร้างผลงานด้านนี้มากที่สุดแล้วนะ คนทั่วไปก็จะคิดว่านี่คือศิลปะข้างถนน ไม่เหมือนที่ยุโรปหรือที่อื่นๆซึ่งถือว่าผิดกฎหมายร้ายแรงเลยละ
ถึงแม้ว่าพื้นที่แสดงผลงานด้านสตรีทอาร์ตของญี่ปุ่นจะมีน้อย แต่คนต่างชาติจะรู้จักคนญี่ปุ่นเยอะกว่าคนไทยเพราะที่ญี่ปุ่นเขาให้การสนับสนุนด้านศิลปะดีมาก มันง่ายที่จะติดต่อสื่อสารเพื่อนำผลงานไปจัดแสดงนิทรรศการในบ้านเขา เรื่องหนังสือก็เป็นสื่ออีกด้านหนึ่งที่ญี่ปุ่นสนับสนุนเต็มที่ ดังนั้นในนิตยสารของเมืองนอกอย่างเช่นอเมริกา เขาก็จะเลือกศิลปินชาวญี่ปุ่นมาลงคอลัมน์เยอะ ทำให้งานศิลปะหลายๆด้านของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกว้างขวางครับ
Q. ถ้าไม่ได้ทำงานด้านศิลปะ คิดว่าตัวเองจะทำอะไรอยู่
สมัยเด็กๆ ผมชอบชกมวย ชอบดู เลยชอบให้พ่อพาไปค่ายมวยบ่อยๆ แต่ถ้าไม่ชกมวยก็จะขี่จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ (BMX Bicycle) มอเตอร์ไซค์วิบาก หรือพวกกีฬาเอกซ์ตรีม ถ้าไม่ได้จับงานศิลปะก็อาจจะได้รู้จักผมในรูปแบบนั้น
Q. อยากฝากอะไรให้แก่คนที่มีความฝันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เขาก้าวมาอยู่ในจุดเดียวกับเราบ้าง
การประสบความสำเร็จในความหมายของผมคือการได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจ ซึ่งในสิ่งที่ผมทำอยู่นี้มันไม่มีคำว่าประสบความสำเร็จหรอกครับ เพราะศิลปะมันไม่มีจุดสูงสุด มันคือการยืนหยัดที่จะทำไปเรื่อยๆ มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และทำสิ่งนั้นด้วยใจรัก
สิ่งสำคัญคืออย่าทำอะไรเพื่อให้คนรู้จักหรือมีตัวตนเพียงชั่วข้ามคืน ถ้าอยากเก่งมันต้องเริ่มจากใจรักก่อนและหมั่นฝึกฝน ซึ่งการทำตรงนี้ได้จะทำให้คนเห็นโลกส่วนตัวเราโดยที่เราไม่ได้ไปยัดเยียดให้เขาเห็น ต้องไม่ตามเทรนด์ ถ้ามัวแต่สร้างงานตามกระแส ฝีมือเราก็จะไม่พัฒนา ไม่มีเอกลักษณ์ เช่นถ้าอยากวาดอะไรที่มันไม่ใช่การ์ตูน รูปที่มันน่ากลัว หรือเป็นนามธรรมมากๆ ก็ทำให้เขาเห็นเราจากผลงานนั้น การที่เราไม่ตามเทรนด์มันจะทำให้วงการศิลปะมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น ยิ่งมีมากเท่าไร โอกาสที่จะช่วยให้วงการนี้พัฒนาไปข้างหน้าก็มีมากขึ้นเท่านั้นครับ
Q. เร็วๆ นี้จะมีผลงานอะไรให้ติดตามบ้าง
จะมีงานแสดงนิทรรศการที่ญี่ปุ่นวันที่ 3 กันยายนนี้ครับ ธีมงานคือการวาดภาพฟรีสไตล์บนกระดาษ A4 จำนวน 4 แผ่น ใครที่อยู่ญี่ปุ่น แวะเวียนมาชมงานได้นะครับ
ติดตามผลงานได้ที่
Facebook: พี เซเว่น (Ton lim)
Instagram: _p7_