อ่านคอลัมน์ของนักวาดภาพประกอบสาวที่ฉันชื่นชอบคนหนึ่ง เธอเล่าว่าหลายปีก่อนเคยไปร่วมแข่งขันส่งเสียงดัง “โอโกะเอะ คอนเทสต์” (大声コンテスト) ที่จังหวัดคะโงะชิมะ บริเวณตอนใต้ของเกาะคิวชู
ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องแข่งกันตะโกนประโยคอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับความฝันของตัวเองให้ดังที่สุด

เริ่มจากการเดินผ่านพรมแดงขึ้นไปยืนบนแท่น หลังจากแนะนำตัวกับผู้ชมสั้นๆ ก็หันหน้าตรงไปยังภูเขาไฟซากุระจิมะที่ยังคุกรุ่น (หันหลังให้กับผู้ชมและกรรมการ) จะทำหน้าตาแปลกๆ พิลึกๆ ยังไงก็ไม่ต้องแคร์สายตาใคร แล้วเธอก็ตะโกนประโยคสั้นๆ ที่แปลใจความได้ว่า “อนาคตที่สดใส!”

การตัดสินของกรรมการไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับความดังของเสียงเท่านั้น (ในการแข่งขันครั้งนั้น ส่วนใหญ่เด็กส่งเสียงดังประมาณ 100 เดซิเบล ผู้ใหญ่ 110 เดซิเบล ผู้ชนะ 133.5 เดซิเบล ส่วนคุณนักวาดภาพประกอบวัดได้ 117 เดซิเบล) นอกจากจะต้องเสียงดังฟังชัดแล้ว ยังพิจารณาจากเนื้อหาเป็นสำคัญ โดยมีรางวัลหลากหลายลดหลั่นกันไป เช่น เงินรางวัล คูปองที่พักเรียวกังและแช่บ่อน้ำพุร้อน จักรยาน สาเก ฯลฯ พอลองนึกภาพตามแล้วก็ตลกดี ผู้คนมานั่งรอคิวเพื่อจะตะโกนบอกความในใจ (แถมยังอาจโชคดีได้รับรางวัลด้วย)

ฉันก็เพิ่งจะเคยได้ยินเป็นครั้งแรกว่ามีกิจกรรมแบบนี้ในประเทศญี่ปุ่น ตามประสาคนขี้สงสัย ฉันเองก็อยากจะรู้ว่ากิจกรรม “อยากจะร้องดังๆ” จัดขึ้นเพื่ออะไร …เขาจัดกันเพื่อความสนุกสะใจเท่านั้นหรือเปล่านะ ความคิดแรกเมื่อนึกถึงการส่งเสียงดัง (ไม่รวมคนที่มีนิสัยชอบพูดเสียงดัง) ฉันว่าคนส่วนใหญ่ทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจเพราะควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ในขณะที่กำลังโกรธหรือโศกเศร้าเสียใจ หรือแม้จะเป็นการตะโกนโห่ร้องดังๆ ด้วยความดีใจหรือสนุกสนาน ฉันว่าพวกเราต่างก็แสดงออกมาโดยไม่ได้คิดล่วงหน้าเอาไว้ก่อน

แต่คอนเซ็ปต์ของโอโกะเอะ คอนเทสต์ กลับไม่ใช่การตะโกนหรือส่งเสียงดังแบบที่ไม่รู้ตัว แต่ต้องมีสติรู้ว่าจะสื่อสารอะไร และเพื่อให้คนคนนั้นได้ตระหนักถึงการมีอยู่ของชีวิต กิจกรรมนี้จัดขึ้นหลายแห่งในประเทศ (ปัจจุบัน “คะโงะชิมะ โอโกะเอะ คอนเทสต์ ที่คุณนักวาดภาพประกอบเข้าร่วม ไม่มีการแข่งขันแล้ว) นอกจากนี้ยังไม่จำกัดเพศ วัย หรืออายุ แต่อาจจะมีกฎกติกาแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ระยะของจุดยืนห่างจากเครื่องวัดระดับเสียงกี่เมตร ใช้เวลาได้กี่วินาที จะใช้มือใช้ไม้ออกท่าทางก็ได้ หรือไม่ก็มีธีมแตกต่างกันไป เช่น ส่งเสียงดังเพื่อขอบคุณครอบครัว ตะโกนเพื่อบอกรัก บางที่ก็มีจุดประสงค์เพื่อเป็นหนึ่งในวิธีเตรียมพร้อมรับมือเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างอาชญากรรม!

รู้อย่างนี้แล้วก็ทำให้ฉันนึกถึงหนังหรือซีรีส์ญี่ปุ่น กับฉากที่ตัวเอกขึ้นไปอยู่บนเนินเขาหรือที่สูง แล้วร้องตะโกนออกไปโดยที่มีใครสักคน (หรือแก๊งเพื่อน) ยืนฟังอยู่ข้างๆ พอรู้เรื่องการแข่งขันตะโกน ฉันก็ได้ถึงบ้างอ้อ… ก่อนหน้านี้ฉันมักจะไม่เก็ตว่าทำไมมีซีนเรียกความซึ้งแบบนี้ซ้ำๆ อยู่ในหนังญี่ปุ่นหลายต่อหลายเรื่อง 

อาจจะเป็นไปได้ว่า มีที่มาเกี่ยวข้องกับบุคลิกความเป็นคนญี่ปุ่น ที่เราต่างก็พอจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ว่าพวกเขามักไม่ค่อยแสดงออกถึงความในใจ ซึ่งกิจกรรมโอโกะเอะ คอนเทสต์ อยากจะร้องดังๆนี้ อาจจะถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยผ่อนคลายหรือสลายตัวตนบางมุมของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นชินกับการแสดงออก เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้พวกเขาหรือเธอได้ร้องตะโกนแบบไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งยังมีของขวัญรออยู่ให้รื่นเริงใจ

แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ฉันไม่มีข้อมูลยืนยันว่าถูกต้องหรอกนะ… เดาเอาค่า! (ตะโกนเสียงดัง)

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ