#ถ้าเราเหนื่อยล้าจงเดินเข้าป่า

ขอยืมแฮชแท็กยอดฮิตจากเพลง “วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า” (โดย แม็กซ์ เจนมานะ) มาเกริ่นนำในบทความนี้ เพราะฉันเห็นว่าเข้ากับแนวคิดเรื่อง “ชินรินโยคุ” (Shinrin-yoku / 森林浴) ของคนญี่ปุ่นที่แปลเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่า “การอาบป่า” (forest bathing) พอดี

ชินรินโยคุเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยวิธีธรรมชาติ (ธรรมชาติบำบัด) ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1982 นำเสนอโดยผู้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานป่าไม้ในจังหวัดนากาโน่ หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ทางกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น อีกทั้งหน่วยงานอื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัยหรือบริษัทเอกชน ได้นำแนวความคิดนี้มาวิจัยและศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในงานวิจัยและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ให้ข้อมูลว่า การออกไปเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติ สัมผัสกับบรรยากาศของความร่มรื่นเขียวขจี สูดอากาศสดชื่น ชมต้นไม้ ดอกไม้ ใบหญ้า สามารถช่วยบำบัดความเหนื่อยล้าของจิตใจ ทั้งยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและระบบเลือดดีขึ้น

เมื่อได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นหนทางแสนง่ายสำหรับการดูแลสุขภาพ เพียงแค่ออกจากบ้านไปเสพความรื่นรมย์จากสวนสาธารณะในเมือง ทำให้แนวคิด “ชินรินโยคุ” ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและแพร่หลายในระดับโลก การท่องเที่ยวของแต่ละเมืองในญี่ปุ่นเองก็รับแนวคิดนี้มาต่อยอดเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวโตเกียวแนะนำสถานที่ที่สามารถไปอาบป่าได้ในเมืองหลวง อย่างศาลเจ้าเมจิ (Meiji Shrine) สวนสาธารณะโยโยกิ (Yoyogi Park) หรืออุทยานแห่งชาติชินจูกุเกียวเอน (Shinjuku Gyoen National Garden) เป็นต้น

 

ชินรินโยคุ” (Shinrin-yoku / 森林浴) หรือหมายถึง การอาบป่า

 

จะว่าไป การดูแลสุขภาพหรือรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดอยู่กับคนเรามาช้านาน รวมทั้งในญี่ปุ่นประเทศที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือธรรมชาติ การนับถือธรรมชาติของคนญี่ปุ่นแสดงออกให้เห็นผ่านกิจวัตรประจำวัน ความเชื่อความศรัทธาอย่าง “เทพเจ้าแปดล้านองค์” ของลัทธิชินโต หรืองานอดิเรกอย่างการปีนเขาเดินป่า ก็ถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมของคนทุกเพศทุกวัย (ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา วันที่ 11 สิงหาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “วันแห่งภูเขา” และเป็นวันหยุดราชการ เพราะภาครัฐต้องการส่งเสริมให้ประชาชนได้ออกไปใช้เวลาพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ รวมทั้งตระหนักถึงคุณประโยชน์ที่ได้รับจากภูเขาหรือสิ่งแวดล้อม)

พอลองคิดๆ ดู ยังมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตและวิธีคิดของคนญี่ปุ่นนั้นสัมพันธ์กับธรรมชาติอีกหลายแง่มุม สำหรับคนที่สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นคงพอจะคุ้นเคยกับสีสันและความสนุกสนานของงานเทศกาลในฤดูต่างๆ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นอยากออกจากบ้านไปอาบป่า เช่น การชมซากุระในช่วงฤดูใบไม้ผลิทีเรียกว่า “ฮานามิ” (hanami) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการเริ่มต้นใหม่ การชมใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วงที่เรียกว่า “โมมิจิการิ” (momijigari) นอกจากจะชมสีสันของใบไม้แล้ว ในสมัยเฮอันชนชั้นขุนนางนิยมออกไปเก็บใบไม้ที่ร่วงหล่นเหล่านั้นเพื่อความเพลิดเพลินด้วย (กิจกรรมชมใบไม้เปลี่ยนสีเริ่มแพร่หลายไปยังประชาชนทั่วไปในสมัยเอโดะ) หรืออย่างเมื่อคราวฉันไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ก็ได้ความรู้ใหม่ว่าการแต่งกลอนไฮกุ (haiku) ต้องใช้คำศัพท์เกี่ยวกับฤดูกาลหรือธรรมชาติมาเป็นคำสำคัญในบทกลอนนั้นๆ (พอเห็นคำศัพท์นั้นปุ๊บ ก็จะรู้ทันทีเลยว่ากลอนนี้พูดถึงฤดูอะไร)

 

ชินรินโยคุ (Shinrin-yoku)

ที่มาภาพ : kore-karada.jp

 

ตัวอย่างบางส่วนข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติคือส่วนสำคัญในการหล่อหลอมอัตลักษณ์ของคนญี่ปุ่น ซึ่งสัมพันธ์กับความคิดที่ว่าชีวิตคือความสมดุลของทุกสิ่งอย่างรอบกาย ดังนั้น การได้ออกจากสเปซเล็กๆ ไปให้ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ช่วยซ่อมแซมความรู้สึกหรือร่างกายที่สึกหรอ ถือเป็นแนวคิดธรรมชาติบำบัดแสนรื่นรมย์ที่ฉันชื่นชมและอยากมีโอกาสได้ไปทำบ่อยๆ กับเค้าบ้าง (เช่นครั้งที่ฉันไปเดินป่าปีนเขาที่ญี่ปุ่นและกลับมาเล่าในหนังสือ Summer Mountain Walk) และฉันยังเห็นด้วยว่า “การอาบป่า” น่าจะช่วยปลูกฝังการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ในระยะยาว

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ