MOOLA | Music & Culture Lovers
สารบัญ
- Q. ตัดสินใจมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เมื่อไร
- Q. อะไรคือแรงบันดาลใจนำไปสู่อาชีพดีเจ
- Q. ปัจจุบันทำงานดีเจอยู่ที่ไหนบ้าง
- Q. งาน YumYum Bangkok at GOJA ในคืนนี้เป็นงานแบบไหน
- Q. เล่นเพลงแนวไหนได้บ้าง
- Q. ดูเหมือนว่าคุณมีแผ่นเสียงเยอะมาก
- Q. ความน่าสนใจของแผ่นเสียงคืออะไร
- Q. แนวดนตรีหมอลำของไทยกำลังเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นตอนนี้ใช่ไหม
- Q. ศิลปินของไทนคนไหนบ้างที่คุณกำลังจับตามองอยู่ในตอนนี้
- Q. รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างหรือมีช่องว่างทางวัฒนธรรมกับคนไทยบ้างไหม
- Q. วางแผนอนาคตหลังจากนี้ไว้อย่างไรบ้าง
- Q. ช่วยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นที่อยากแนะนำให้คนไทยรู้จักหน่อย
- Q. ฝากผลงานในช่วงนี้
บนเส้นทางสายดนตรี นอกจากเหล่านักร้อง นักดนตรี ที่คอยบรรเลงเพลงสร้างเมโลดีให้สีสันแก่บรรยากาศโดยรอบพื้นที่แล้ว ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่คอยนำทางเสียงเพลงเพื่อขับกล่อมผู้คนให้เคลิบเคลิ้มไปกับท่วงทำนองและจังหวะดนตรีได้ไม่แพ้กัน อาชีพที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนั้นคือ ‘ดีเจ’
ความน่าสนใจของบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้มิได้มีเพียงแค่การพูดคุยกับชายร่างท้วมผู้ดูอบอุ่นกันเรื่องงาน YumYum Bangkok 2017 ที่จัดขึ้นไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น แต่เรายังชวนสนทนากันเรื่องเส้นทางอาชีพสายดีเจของเขาอีกด้วย คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับผู้อ่านถ้าชายผู้นี้เป็นคนไทย แต่ทว่าเขาเป็นชาวญี่ปุ่นผู้หลงใหลในดนตรีจากทั่วทุกมุมโลก แต่เมืองไทยคือสถานที่ที่เขาเลือกพำนักอาศัย
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางร้าน GOJA ได้จัดงานและเชิญวง Polycat กับวงดนตรีอินดี้ที่มีชื่อเสียงจากโตเกียวอย่าง ‘Omoide Yarou A Team’ และ ‘Cero’ มาร่วมแสดงดนตรี โดยก่อนหน้าขึ้นแสดงงาน เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์ DJ MOOLA ดีเจชาวญี่ปุ่นที่มาสร้างผลงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็คือผู้ที่เราได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้
–
Q. ตัดสินใจมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เมื่อไร
ผมอยู่เมืองไทยมา 5 ปีแล้วครับ เดิมทีผมทำงานกับบริษัทออกแบบที่ญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทได้ขยายสาขามาที่ประเทศไทยผมจึงได้ย้ายมาด้วย ดังนั้นงานของผมจึงแบ่งเป็น 2 ช่วง กลางวันผมจะทำงานด้านสถาปัตย์และกราฟิกดีไซน์ ส่วนกลางคืนจะทำงานดีเจเป็นงานอดิเรก
Q. อะไรคือแรงบันดาลใจนำไปสู่อาชีพดีเจ
ปัจจุบันผมอายุ 35 ปีแล้ว ผมโตมาในยุคที่อาชีพดีเจกำลังเป็นที่นิยม ทำให้ผมเริ่มสนใจเส้นทางสายนี้ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.2 พ่อของผมยังเป็นนักสะสมแผ่นเสียง เรามีเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่บ้าน เรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมค่อยๆหล่อหลอมให้ความชอบในเสียงเพลงอยู่แล้วปูทางมาสู่อาชีพดีเจก็ได้ครับ
สภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยให้ผมอยากเป็นดีเจส่วนหนึ่งก็จริง แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้ความชอบนั้นกลายเป็นจริงมากขึ้นคือ ผมชอบแฟชั่นมาก โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของฮิโระชิ ฟุจิวะระ (Hiroshi Fujiwara) ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นทั้งผู้นำเทรนด์และเป็นดีเจ ทำให้ผมกับรุ่นพี่ที่อายุมากกว่าหลายปีมักติดตามความเคลื่อนไหวของฟุจิวะระอยู่เรื่อยๆ จนมีความตั้งใจอยากเป็นดีเจเหมือนกับเขาให้ได้
พอขึ้น ม.3 ผมเคยแอบเข้าคลับแห่งหนึ่งโดยอาศัยการปะปนไปกับผู้คนที่หลั่งไหลเข้าไปในนั้น ซึ่งที่นั่นยังเป็นสถานที่ที่ผมได้เปิดตัวการเป็นดีเจครั้งแรกด้วย ตามกฎแล้วถ้าอายุไม่ถึงจะเข้าไม่ได้ แต่ในสมัยนั้นยังไม่ค่อยเข้มงวดเท่าไร พ่อแม่ผมเองก็เข้าใจด้วยว่าผมไม่ได้เที่ยวคลับเพราะอยากดื่มเหล้าหรือเมามันส์ แต่เป็นเพราะผมชอบฟังเพลงและสนใจดนตรีมากจริงๆ ผมเป็นเอามากถึงขั้นเตรียมชุดนักเรียนใส่กระเป๋าเป้ไปคลับแล้วอยู่จนถึงเช้า จากนั้นก็ไปโรงเรียนเลย ขนาดเพื่อนที่โรงเรียนก็ไม่มีใครรู้วีรกรรมของผมด้วยซ้ำ
–
–
Q. ปัจจุบันทำงานดีเจอยู่ที่ไหนบ้าง
ผมทำงานอยู่ 2 ที่ครับ วันศุกร์จะเปิดเพลงอยู่ที่ร้าน Quince ส่วนวันเสาร์อยู่ที่ร้าน Iron Balls Distillery ซึ่งแต่ละแห่งจะเล่นประมาณเดือนละ 2 ครั้ง และมีออกงานอีเวนต์บ้าง เคยเล่นเพลงให้กับงานของนิตยสาร Cheeze Looker งานอีเวนต์ประจำของ The Street Ratchada หรืองานที่ได้เล่นเพลงร่วมกับกลุ่ม Vacancy ซึ่งเป็นเพื่อนชาวญี่ปุ่นอีก 3 คนที่เคยเจอกันในห้องบันทึกเสียงที่เมืองไทยนี่แหละครับ
Q. งาน YumYum Bangkok at GOJA ในคืนนี้เป็นงานแบบไหน
งานนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้วครับ เป็นงานที่ดีเจญี่ปุ่นกับดีเจไทยจัดร่วมกัน เพื่อนผมที่เป็นนักดนตรีชาวญี่ปุ่นอยากมาเที่ยวเมืองไทย ผมเลยชวนมาเล่นดนตรีด้วยกัน ไหนๆ ก็มีงานแล้ว ผมคิดว่าถ้าได้เล่นเพลงกับดีเจไทยคงสนุกไปอีกแบบจึงได้เชิญ Polycat มาเล่นด้วย
ผมอยากฟังเพลงที่ตัวเองไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยฟังมาก่อน อยากค้นหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกชอบขึ้นมาได้ ยิ่งฟังก็ยิ่งสนุก ไม่เบื่อ
Q. เล่นเพลงแนวไหนได้บ้าง
ผมเล่นได้ทั้งเพลงญี่ปุ่น เพลงไทย เพลงสากล ถ้าจะให้ระบุเป็นประเภทคงยากหน่อย แนวที่ผมเล่นมีความเป็น City Pop คือมีทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ผสมกัน หรือแนวอื่นๆอย่างแดนซ์ก็เล่นได้
ดีเจส่วนใหญ่ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ผมยังใช้แผ่นเสียงอยู่ ดังนั้นเวลาไปเล่นเพลงแต่ละครั้งผมจะนำแผ่นเสียงติดตัวไปได้ทีละน้อย ผมต้องเลือกแผ่นไว้ก่อน ซึ่งตอนเลือกก็จะจินตนาการไปด้วยว่าวันนี้ลูกค้าเป็นคนกลุ่มไหน ผมจะสร้างสตอรี่อย่างไร รวมถึงจะเลือกแผ่นที่คิดว่าดีเจที่ไปร่วมงานด้วยในวันนั้นน่าจะชอบ
Q. ดูเหมือนว่าคุณมีแผ่นเสียงเยอะมาก
ตอนนี้มีประมาณ 3,000 แผ่นแล้วครับ ยังมีที่ญี่ปุ่นอีกประมาณ 3,000 แผ่นด้วยนะ ผมเก็บแผ่นเสียงไว้ในกล่องอีเกียแล้ววางซ้อนทับกันไว้ ตอนนี้ปิดผนังห้องหมดแล้วครับ (หัวเราะ)
สำหรับผมแล้วผมคิดว่าอาชีพดีเจจะมีอยู่ 2 ประเภท คือประเภทที่ชอบไปดื่มเหล้าแล้วเมามันส์ในคลับ กับอีกประเภทหนึ่งคือดีเจที่คลั่งไคล้แผ่นเสียง ซึ่งตัวผมเป็นแบบหลัง ดังนั้นวันเสาร์อาทิตย์ผมชอบไปหาซื้อแผ่นเสียงที่เยาวราชตั้งแต่เช้า เลยทำให้ไม่ค่อยมีเวลาไปเที่ยวตอนกลางคืน
–
–
Q. ความน่าสนใจของแผ่นเสียงคืออะไร
ผมชอบเวลาที่ตัวเองเจอแผ่นเสียงที่พอลองฟังแล้วก็รู้สึกถูกใจ เพราะผมไม่ค่อยสนใจเหมือนอย่างที่นักสะสมทั่วไปเขาสนใจกัน เช่นต้องเป็นแผ่นเสียงของ The Beatles ที่อัดเสียงในประเทศนี้ ผมอยากฟังเพลงที่ตัวเองไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยฟังมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพลงญี่ปุ่นหรือเพลงไทย อยากค้นหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกชอบขึ้นมาได้ ยิ่งฟังก็ยิ่งสนุก ไม่เบื่อ
ถ้าเป็นเพลงสากล ผมชอบเพลงประเภทที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายแนว เช่น Reggae Mambo Latin หรือ Jazz ซึ่งต่างกับเพลงญี่ปุ่นหรือเพลงไทยที่มีแนวคล้ายๆกับสิ่งที่พูดไปผสมอยู่ในอัลบัมเพลงนั้นๆ อย่างเช่นหากเราฟังอัลบัมเพลง Pop หนึ่งในนั้นก็อาจจะมีเพลงแนว Reggae หรือ Jazz รวมอยู่ด้วย
สำหรับผมแล้ว การได้ค้นพบในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเป็นเรื่องน่าสนใจ ผมจะรู้สึกดีมากถ้าได้ฟังอะไรเป็นครั้งแรกแล้วทำให้รู้สึกว่า “แบบนี้ก็มีด้วย” ผมไม่ได้ชอบตรงที่แผ่นเสียงต้องเสียงดีหรือฟังแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น แต่ผมชอบแผ่นเสียง เพราะมันเป็น ‘สิ่งของ’ ที่มีภาพวาดหรือภาพถ่ายใหญ่ๆ แต่พวกแผ่นเสียงเก่าที่มีเสียงแทรกรบกวนก็ไม่ค่อยดีเท่าไรนะ (หัวเราะ)
Q. แนวดนตรีหมอลำของไทยกำลังเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นตอนนี้ใช่ไหม
ที่ญี่ปุ่นมีวิธีการฟังดนตรีประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘เวิลด์มิวสิก (World Music)’ ผมเองก็ชอบฟังเพลงแนวนี้ เวิลด์มิวสิกเป็นเพลงที่มาจากทั่วทุกมุมโลก สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วแน่นอนว่าเพลงต่างชาติมีเนื้อหาเข้าใจยากและอาจจะฟังยากอยู่แล้ว แต่ผมกลับคิดว่าการฟังเพลงแบบนี้เป็นเรื่องน่าสนุกถึงแม้จะไม่เข้าใจความหมายเพลงเลยก็ตาม ซึ่งเพลงหมอลำก็จัดอยู่ในประเภทนี้ด้วย ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นรุ่นผมจะมีคนฟังแนวเวิลด์มิวสิกเยอะแต่ปัจจุบันเริ่มลดน้อยลงบ้างแล้ว ผมคิดว่าคนไทยที่ฟังเพลงแนวนี้อาจจะมีน้อยเหมือนกัน ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการเสพดนตรี ที่ญี่ปุ่นนับว่าเป็นเรื่องปกติครับ
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับคนญี่ปุ่นคือการเซิร์ทหาชื่อเพลงเป็นภาษาไทยเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเพลงหรือดนตรีไทยอ่าน ถึงอย่างนั้นก็ยังมีบล็อกที่ชื่อ Soi 48 ซึ่งเป็นบล็อกที่นำเสนอเรื่องดนตรีและชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศไทย ออกหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นให้คนญี่ปุ่นที่อยากรู้ได้อ่าน ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นเองก็มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเพลงหรือดนตรีไทยเพิ่มขึ้นด้วย เลยสะดวกมากขึ้น ผมเองก็ได้ยินจากคุณลุงที่อยู่ห้องอัดเสียงมาว่า “ระยะนี้คนญี่ปุ่นมากันเยอะ” ด้วยครับ
Q. ศิลปินของไทนคนไหนบ้างที่คุณกำลังจับตามองอยู่ในตอนนี้
มีเยอะเลยครับ อย่างโตคิณ ทีฆานันท์ ที่เป็นผู้ผลิตวิดีโอดนตรีแนวอินดี้ของไทย ผลงานดีๆ ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของเขา เช่น สหายแห่งสายลม Summer Dress หรือ Srirajah Rockers feat. Rasmee และยังเป็นนักดนตรีในวง Triggs & the Longest Day วงดนตรีอินดี้แนวร็อค เขายังเป็นผู้จัดงาน Stone Free Music Festival อีกด้วยนะครับ เมื่อปีที่แล้วผมก็ได้ไปเล่นเพลงในงานนี้เหมือนกัน นับว่าเป็นคนที่มีความสามารถหลายด้านจริงๆ
นอกจากโตคิณแล้ว ผมยังสนใจภูมิ วิภูริศ ศศิ เสียงหองไลออนส์ แล้วก็หมอกด้วยครับ ผมมักจะฟังเพลงพวกเขาตอนอยู่บ้านหรือนำไปเล่นในร้านด้วย
–
–
Q. รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างหรือมีช่องว่างทางวัฒนธรรมกับคนไทยบ้างไหม
สมัยก่อนผมเคยเดินเล่นอยู่แถวทองหล่อ แล้วเจอกับผู้จัดการของแบดโมเทล (Bad Motel Bangkok) หลังจากนั้นผมก็เลยได้ทำงานเป็นดีเจที่นั่น
ผมคิดว่าถ้ามีความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเรื่องดนตรี แฟชั่น หรือวัฒนธรรมที่ชอบ คนชาติไหนก็สนิทกันได้นะ เรื่องภาษาไม่ใช่ปัญหา แล้วการติดต่อสื่อสารระหว่างกันมันจะเกิดขึ้นเอง
Q. วางแผนอนาคตหลังจากนี้ไว้อย่างไรบ้าง
ถ้างานปัจจุบันที่ทำอยู่เป็นไปอย่างราบรื่น ผมคิดว่างานดีเจก็จะราบรื่นไปเรื่อยๆ แบบนี้เหมือนกัน ในอนาคตผมอยากทำห้องอัดเสียงและเปิดคาเฟ่ครับ อาจจะเป็นปีหน้า
Q. ช่วยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นที่อยากแนะนำให้คนไทยรู้จักหน่อย
ผมอยากแนะนำสถานที่ในเมืองนะโงะยะ (Nagoya) ครับ อย่างร้านขายของมือสองที่ชื่อว่า Kimble เป็นร้านที่สุดยอดมาก คุณจะเจอของแปลกๆวางขายเยอะมาก เช่น บะหมี่ถ้วยกึ่งสำเร็จรูปที่จะหมดอายุอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้าในราคา 10 เยนหรือเก้าอี้แนววินเทจของ Eames ในราคา 500 เยน
แต่ถ้าหากคุณอยากฟังเพลง ผมอยากให้คุณลองไปร้าน Club Buddha ได้ยินมาว่าเป็นคลับที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นที่ยังคงสภาพและบรรยากาศภายในร้านแบบดั้งเดิมอยู่ ที่สำคัญยังเป็นสถานที่ที่ผมไปเดบิวต์งานดีเจครั้งแรกด้วยครับ
Q. ฝากผลงานในช่วงนี้
วันที่ 21 กรกฎาคมนี้จะมีงาน Cornflakes Besement Party at THE STREET Ratchada ไปร่วมฟังเพลงและสนุกด้วยกันนะครับ
ติดตามผลงานได้ที่
Facebook: Vacancy
Instagram: m_o_o_l_a
www.mixcloud.com/kazumasa-muramatsu
–