Kyoto International Conference Center เมื่อคอนกรีตยืนเด่นเป็นสง่า ท่ามกลางขุนเขา
ในภาพจำของนักท่องเที่ยวเกียวโตคือเมืองที่มีโบราณสถานมากมาย จากการที่เป็นเมืองหลวงเก่าก่อนย้ายไปยังโตเกียว ในขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่แม้จะมีจำนวนไม่มากเท่าเมืองใหญ่ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ในประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเสมอมาตั้งแต่สมัยปฏิรูปเมจิเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 โดยเป็นการรับเอาอิทธิพลรูปแบบนีโอคลาสสิกจากฝั่งยุโรป จวบจนเมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ถึงเป็นการรับรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เน้นความเรียบง่ายของรูปทรง ลดการประดับประดามากกว่าแบบนีโอคลาสสิก
การได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้ทำการผสานตัวเข้ากับสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นทีละเล็กละน้อย จนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาได้เกิดกลุ่มสถาปนิกที่นิยมรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่มีความเชื่อต่อสถาปัตยกรรมที่ล้ำหน้าในยุคนั้นที่เรียกว่า Metabolism แนวคิดของกลุ่มสถาปนิกแบบ Metabolism คือเหล่า Metabolist ได้ผลิตงานที่จัดได้ว่าบ้าระห่ำแห่งยุค ซึ่งล้วนเป็นเหล่าศิษย์ของเคนโซ ทังเกะ (Kenzo Tange) สถาปนิกญี่ปุ่นผู้ทรงอิทธิพลต่อสถาปนิกรุ่นต่อมาอย่างมาก เหล่า Metabolist เชื่อในสถาปัตยกรรมที่สามารถปรับตัวได้ตามสภาพแวดล้อมตามแต่ละถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแนวทางนี้ ในเกียวโตก็มีงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบ โดยหนึ่งในกลุ่ม Metabolist อยู่เช่นกันนั่นก็คือ Kyoto International Conference Center
ศูนย์ประชุมแห่งนี้ตั้งอยู่ทางเหนือของตัวเมืองเกียวโต ที่สถานีรถไฟใต้ดินสถานีสุดท้ายของสายคาราสึมะ ออกแบบไว้เพื่อรองรับการประชุมขนาดใหญ่ รองรับได้ถึงระดับนานาชาติ เช่น พิธีสารเกียวโตเมื่อปี ค.ศ. 1997 โครงการนี้เริ่มต้นจากการประกวดแบบ มีผลงานเข้าประชันเกือบ 200 ชิ้น แต่ผลงานที่ได้ถูกรับเลือกเป็นของโอทานิ ซาจิโอะ (Sachio Otani) หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Metabolist เมื่อปี ค.ศ. 1963 จากนั้นจึงได้เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1964 จนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1966
โอทานิ ออกแบบงานนี้อย่างมีเอกลักษณ์ด้วยการให้อาคารเป็นก้อนคอนกรีตเปลือยขนาดใหญ่ เส้นสายในรูปด้านใช้เส้นตั้งที่มีความเอียง 68 องศา เป็นเอกลักษณ์ ทั้งเอียงแบบซ้าย แบบขวา เน้นให้เส้นชัดเจนด้วยการออกแบบให้เป็นเส้นแผงคอนกรีตเปลือยจากผืนดินสูงชนท้องฟ้า เมื่อมองเป็นตัวอาคารชวนให้ตีความได้หลากหลายแบบศิลปะนามธรรม ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ อาจจะเป็นเส้นกรอบของเจดีย์ อาจจะเป็นยอดเขาสูง แต่เมื่อมองโดยรวมรูปทรงที่แข็งกร้าวของตัวมันเองได้ถูกแยกออกจากสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติของเชิงเขาฮิเอ
สิ่งที่ช่วยลดความกระด้างของก้อนคอนกรีตเปลือยขนาดยักษ์นี้คือการใช้แลนด์สเคปเข้ามาช่วย จากสวนด้านข้างที่มีทางเดินเลียบน้ำแบบญี่ปุ่นประยุกต์ ต้นไม้ และส่วนที่สำคัญที่สุดคือการใช้หนองน้ำ ที่ช่วยเพิ่มเงาสะท้อนให้เกิดความนุ่มนวล เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ดีอีกแห่งสำหรับเมืองเกียวโต
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ คอนกรีตเปลือย ธรรมชาติ ถูกตีความอีกแบบให้น่าศึกษาถึงสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ ที่แห่งนี้ ผู้สนใจศิลปะและสถาปัตยกรรมจึงควรมาสัมผัสอดีตกาลผ่านคอนกรีตในทุกฤดูกาล