teamLab Digitized Kairakuen Garden : เทศกาลจัดแสดงไฟหลากสีจากกลุ่มศิลปินทีมแล็บ ที่สวนไคราคุเอ็น จังหวัดอิบารากิ
teamLab Digitized Kairakuen Garden เป็นงานจัดแสดงไฟในสวนไคราคุเอ็น (Kairakuen Garden) เมืองมิโตะ (Mito) จังหวัดอิบารากิ มาพร้อมผลงานศิลปะอันน่าตื่นตาตื่นใจมากมายจากศิลปินระดับโลก ทีมแล็บ (teamLab) ที่หลายคนอาจจะคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี หากใครกำลังหาที่เที่ยวสวยๆ พร้อมสัมผัสบรรยากาศพิเศษแบบเดินทางไป-กลับจากโตเกียวในได้วันเดียว งานจัดแสดงไฟในครั้งนี้ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ โดยสามารถเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2022
สวนไคราคุเอ็น (Kairakuen Garden) เป็นสวนที่ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 3 สวนที่งดงามที่สุดในญี่ปุ่น (Three Great Gardens of Japan) และมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในเรื่องความงามของต้นบ๊วย โดยต้นบ๊วยในสวนแห่งนี้มีจำนวนมากถึง 3,000 ต้น รวมทั้งหมดราว 100 สายพันธุ์เลยทีเดียว และในครั้งนี้กลุ่มศิลปินทีมแล็บก็ได้ทำการจัดแสดงไฟไว้บริเวณต่างๆ ของสวน เป็นการนำเอาศิลปะมาผสมผสานกับธรรมชาติ นอกจากจะเกิดเป็นภาพที่งดงามแล้วยังแฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งมากมาย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนที่มาเยือน
ผลงานที่จัดแสดงนั้นมีทั้งหมด 9 ชิ้น และผลงานแรกที่ต้องขอยกมาแนะนำก่อนเลยก็คือ ประกายแสงในตัวเรา (Solidified Sparks) เป็นผลงานใหม่ที่เพิ่งจะจัดแสดงขึ้นในปี ค.ศ. 2022 เป็นปีแรก ตัวผลงานนั้นเกิดจากการรวมตัวกันของเส้นแสงจำนวนนับไม่ถ้วน โดยจุดศูนย์กลางที่แสงมารวมตัวกันนั้นจะหยุดนิ่ง แต่รัศมีรอบด้านยังคงขยับไปมาอยู่ตลอดเวลา ทำให้มองเห็นเป็นแสงวูบวาบน่าสัมผัส ซึ่งหากลองยื่นมือออกไป จะรู้สึกคล้ายกับผลงานเหล่านั้นอยู่ใกล้ตัวเรา ราวกับสามารถจับต้องได้จริงๆ เลยทีเดียว
และผลงานชิ้นต่อมาได้แก่ ป่าสนทึบที่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับสิ่งมีชีวิตอย่างอิสระ (Autonomous Resonating Life and Resonating Giant Cedar Forest) ผลงานนี้จะเป็นการฉายแสงไฟในป่า รวมไปถึงการจัดแสดงแสงทรงกลมหลากสีไว้ทั่วพื้นที่ ซึ่งแสงทรงกลมนั้น หากถูกผู้คนสัมผัสหรือถูกลมพัดจนล้มจะสามารถพลิกตัวลุกขึ้นมาได้ด้วยตนเอง พร้อมกับเปลี่ยนสีสันไปมาอย่างงดงาม หลังจากนั้นต้นไม้รอบด้านก็จะตอบรับแสงทรงกลมนั้นด้วยการเปลี่ยนเป็นสีเดียวกัน ทำให้สีสันกระจายออกรอบด้านจนเกิดเป็นภาพอันงดงาม ซึ่งหากมองเห็นต้นไม้กำลังเปลี่ยนสีอยู่ไกลๆ ก็แสดงว่าอาจมีคนอยู่ใกล้บริเวณนั้น เป็นผลงานที่ทำให้เราได้ตระหนักถึงตัวตนของผู้คนรอบข้างได้ดีทีเดียว
ผลงานถัดไปได้แก่ Walk, Walk, Walk – ป่าไผ่โมโซ (Walk, Walk, Walk – Moso Bamboo Forest) ผลงานนี้เป็นภาพฉายของผู้คนมากหน้าหลายตาที่กำลังเดินอยู่ในป่าไผ่ โดยสร้างสรรค์ขึ้นมาจากคำสอนของนิกายเซนที่กล่าวไว้ว่า ทุกก้าวย่างของเราล้วนเป็นเส้นทางแห่งการฝึกฝน ผู้คนในภาพฉายนั้นต่างก็กำลังเผชิญหน้ากับเรื่องราวมากมายแตกต่างกันไป แต่ก็ยังคงเดินหน้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เป็นภาพที่ให้ข้อคิดว่าการเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ จะนำไปสู่การตระหนักรู้อย่างแท้จริง นับเป็นผลงานที่มีความหมายซ่อนไว้อย่างลึกซึ้งทีเดียว และยิ่งไปกว่านั้น ภาพฉายเหล่านี้ถูกวาดขึ้นจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ เพราะฉะนั้นภาพของผู้คนที่กำลังเดินก็จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สามารถดูได้เรื่อยๆ ไม่มีซ้ำกัน
และผลงานที่ 4 มีชื่อว่า ชีวิตคือแสงต่อเนื่อง – ป่าบ๊วย (Life is Continuous Light – Plum Trees) เป็นการฉายแสงไฟในป่าบ๊วยราว 1,500 ต้น ซึ่งแสงแต่ละดวงจะเปล่งเสียงและส่องประกายชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีคนเดินเข้าไปใกล้ หลังจากนั้นต้นบ๊วยรอบๆ ก็จะค่อยๆ ส่องแสงตามกันไปอย่างสวยงาม โดยผลงานชิ้นนี้จะถูกจัดขึ้นบริเวณหน้าโคบุงเท (Kobuntei-House) หนึ่งในจุดท่องเที่ยวยอดนิยมภายในสวนไคราคุเอ็น
ผลงานต่อไปชื่อว่า ต้นไม้แห่งชีวิตที่เพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ – ต้นสนซีดาร์ยักษ์ทาโร่ (Ever Blossoming Life Tree – Giant Taro Cedar) ผลงานนี้จะนำเสนอภาพของเหล่าดอกไม้หลากชนิดที่เติบโตบนต้นไม้ใหญ่ ตั้งแต่ช่วงเวลาที่กำลังเจริญเติบโต ผลิดอกบานสะพรั่ง จนถึงตอนที่เหี่ยวเฉา ต้องร่วงหล่นออกจากต้นไปในที่สุด ซึ่งต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้เก่าแก่ มีอายุราว 800 ปี และช่วงเวลา 800 ปีที่ผ่านมานั้นก็ได้มีดอกไม้เกิดใหม่และร่วงโรยวนเวียนกันไปนับครั้งไม่ถ้วน เป็นผลงานที่ทำให้มนุษย์รับรู้ถึงช่วงเวลาอันยาวนาน ตระหนักได้ว่ามีหลายชีวิตเกิดขึ้นและดับลงมากมายก่อนที่ตัวตนของเราจะเกิดมาบนโลก
และผลงานที่ 6 ได้แก่ รูปธรรมและนามธรรม – ช่องว่างระหว่างหยินและหยาง (Concrete and Abstract – Between Yin and Yang) เป็นผลงานที่จัดแสดงขึ้นระหว่างโลกของหยินและโลกของหยาง ซึ่งโลกของหยางนั้นหมายถึงบริเวณต้นสนและสวนกุหลาบพันปี ส่วนโลกของหยินนั้นหมายถึงพื้นที่เงียบสงบบริเวณป่าไผ่โมโซและป่าสน สำหรับผลงานนี้ เมื่อเราก้าวไปยืนอยู่ตรงกลาง แสงจำนวนมากจะเข้ามารวมตัวกันเปลี่ยนป่าไม้ให้กลายเป็นพื้นผิวที่มีลวดลายงดงามตระการตา
ผลงานต่อมาชื่อว่า สนแดงและกุหลาบพันปีที่มีปฏิกิริยาตอบสนอง (Resonating Pine and Azalea) ในสวนแห่งนี้ กุหลาบพันปีและต้นสนจะส่องแสงวูบวาบไปมาอยู่ตลอดเวลา หากเราเข้าไปใกล้ เหล่าต้นไม้จะตอบสนองกับเราโดยการเปลี่ยนสีและส่งเสียงอันไพเราะออกมาให้ได้ยิน โดยสวนแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญมาก เพราะมีกุหลาบพันปีพันธุ์คิริชิมะที่อายุกว่า 300 ปีปลูกอยู่ด้วย ว่ากันว่าได้รับบริจาคมาจากแคว้นซัตสึมะ (ปัจจุบันคือพื้นที่บางส่วนของจังหวัดคาโกชิม่ากับมิยาซากิ) นับเป็นกุหลาบที่หาชมได้ยากและทรงคุณค่ามากๆ เลยทีเดียว
และผลงานที่ 8 มีชื่อว่า ไม้ล้มแห่งชีวิตที่เพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ – ต้นสนซีดาร์จิโร่ (Ever Blossoming Life Tree – Fallen Jiro Cedar) เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากต้นไม้ใหญ่ที่หักโค่นลงเนื่องจากแผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ. 1964 ซึ่งหลังจากต้นไม้ต้นนี้ต้องล้มตาย ภายในลำต้นก็เริ่มผุกร่อน จนในที่สุดก็มีดอกไม้ดอกเล็กๆ เติบโตขึ้นมากมายรอบลำต้น ผลงานนี้ก็จะฉายภาพของดอกไม้เหล่านั้นที่ค่อยๆ เติบโตและเหี่ยวเฉาจนต้องร่วงโรยไปตามกาลเวลา ให้เราได้สัมผัสถึงชีวิตอันยาวนานของธรรมชาติบนโลก เป็นผลงานที่ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับผลงานก่อนหน้าที่ชื่อว่า ต้นไม้แห่งชีวิตที่เพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ – ต้นสนซีดาร์ยักษ์ทาโร่
และผลงานสุดท้ายก็คือ เอ็นโซในบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติโทเกียคุเซ็น (Enso in the Natural Spring – Togyokusen) คำว่า เอ็นโซ คือรูปวงกลมที่วาดขึ้นด้วยมือภายในหนึ่งพู่กัน หมายถึงการตรัสรู้ ความจริง จักรวาล และความเท่าเทียม ซึ่งผลงานนี้เป็นผลงานที่ฉายภาพของวงกลมเอ็นโซคู่กับบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติโทเกียคุเซ็น สร้างบรรยากาศลึกลับที่น่าค้นหา สามารถสะท้อนจิตใจของคนที่เข้ามาชมได้อย่างลึกซึ้ง และความหมายของเอ็นโซที่แต่ละคนตีความได้ก็อาจแตกต่างกันออกไป เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้ดูน่าสนใจ
ภาพ: www.teamlab.art
ต้องบอกเลยว่าทุกผลงานที่จัดแสดงในเทศกาล teamLab Digitized Kairakuen Garden นี้ ล้วนเป็นผลงานที่มีความหมายแฝงอยู่อย่างลึกซึ้งทั้งนั้น หากมีโอกาสได้มาก็อยากให้ลองวิเคราะห์ความหมายของผลงานแต่ละชิ้นตามแบบฉบับของตัวเองดู อาจเป็นการจุดประกายให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้นก็เป็นได้ เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลที่พลาดไม่ได้จริงๆ ใครสนใจอยากเข้ามาสัมผัสถึงความงดงามของผลงานทั้ง 9 ชิ้นนี้ สามารถเข้ามาชมกันได้เลยที่สวนไคราคุเอ็น เมืองมิโตะ (Mito) จังหวัดอิบารากิ โดยมีค่าเข้าชมในโซนที่จัดเทศกาลอยู่ที่คนละ 1,800 เยน
Kairakuen Garden
Location: เมืองมิโตะ (Mito) จังหวัดอิบารากิ
Hours: กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงวันที่ 30 เดือนกันยายน 6:00-19:00 น., วันที่ 1 ตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 7:00-18:00 น.
Holiday: –
Entrance Fee: ผู้ใหญ่ 300 เยน, เด็ก 150 เยน
Nearest Station: สถานีไคราคุเอ็น (Kairakuen Station)
Access: จากสถานีไคราคุเอ็น เดินประมาณ 1 นาที
Website: ibaraki-kairakuen.jp
ที่มา: prtimes.jp