คาโรชิไลน์: เส้นแบ่งระหว่างคนทำงานแข็งขันกับคนสุขภาพล้มเหลว (และอาจถึงตาย)
คาโรชิไลน์: เส้นแบ่งระหว่างคนทำงานแข็งขันกับคนสุขภาพล้มเหลว (และอาจถึงตาย)
ใกล้ถึงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติทีไร ฉันและเพื่อนผองวงการหนังสือต่างขมีขมันสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ จนทำให้ชั่วโมงการทำงานต่อวันเพิ่มมากกว่าปกติ
การได้ทำงานที่ชอบเป็นเรื่องสนุกหรือเพลิดเพลินก็จริง แต่ผลที่ตามมาโดยไม่คาดคิด จากการละเลยไม่ใส่ใจสุขภาพทั้งกายและใจ อาจนำไปสู่ความเครียด อาการปวดหัว ปวดไหล่ หรือตาพร่า ที่บางครั้งเราเข้าใจผิดนึกว่าเป็นเรื่องปกติของความเหนื่อยล้า โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยเป็นโรค “ออฟฟิศซินโดรม”
พอฉันบ่นให้เพื่อนฟังว่า “งานยุ่งมาก…เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว” เพื่อนก็ตอบกลับขำๆ “ไม่มีใครตายจากการทำงานหรอกมั้ง” แต่ฉันโต้กลับ “ในญี่ปุ่นมีคนทำงานหนักจนตายที่เรียกว่า ‘คาโรชิ (Karoshi)’ ด้วยนะ”
ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมการทำงานแบบมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง จนมีวิถีปฏิบัติที่คนชาติอื่นอาจไม่เข้าใจ อย่างการกลับบ้านตรงตามเวลาเลิกงานเป๊ะอาจถูกจับจ้องจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นมักทำงานล่วงเวลาเพื่อแสดงให้เห็นถึงสปิริตความแข็งขันอย่างแรงกล้าที่มีต่อองค์กร หรือหลังเลิกงานก็ต้องไปสังสรรค์กับลูกค้า หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน เหล่านี้คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ และไม่สมดุลกับชั่วโมงการทำงาน
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีข่าวที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจอย่างมาก เป็นคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการทำงานหนักจนเสียชีวิต โดยศาลโตเกียวพิพากษาให้บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง จ่ายค่าเสียหายให้ครอบครัวของพนักงานที่เสียชีวิต ถึงแม้จะเป็นการฆ่าตัวตาย แต่สาเหตุของความตายนั้น เกิดจากภาวะความเครียดที่ต้องทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลานานจนเหนื่อยล้าขั้นสุด (เธอทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน)
ความตายที่เกิดจากการทำงานหนักเช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เป็นปัญหาต่อเนื่องในสังคมการทำงานของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานเกือบ 50 ปี จนเกิดคำศัพท์ “คาโรชิ” (Karoshi / 過労死) ขึ้น (ถ้าแปลตามอักษรคันจิทีละตัว คำว่า ka = มากเกินไป / ro = การทำงาน / shi = ความตาย) และคำว่า “Karoshi” ถูกนำไปใส่ไว้ในพจนานุกรม Oxford English Dictionary ปี 2002 และยังเกิดคำศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวข้องอย่าง “คาโรชิไลน์” (Karoshi line / 過労死ライン) หมายถึงจำนวนชั่วโมงสูงสุดของการทำงานล่วงเวลาที่จะเกิดความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยของคนญี่ปุ่น ซึ่งการทำงานหนักแบบเอาเป็นเอาตายนี้ ยังทำให้เกิดปัญหาสังคมอย่าง “คาโรจิซัตสึ” (Karo jisatsu / 過労自殺) หรือการฆ่าตัวตายจากความเครียดโดยมีสาเหตุหลักมาจากการทำงานหนัก
แต่เดิมกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาต่อเดือนไว้ที่ไม่เกิน 100 ชั่วโมง ปัจจุบันลดลงเหลือไม่เกิน 80 ชั่วโมง นอกจากนี้ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 เป็นต้นมา รัฐบาลออกแคมเปญ “Premium Friday” (ได้ไอเดียมาจาก “Black Friday” ของอเมริกา) โดยเหล่าซาลารี่แมนและออฟฟิศเลดี้ สามารถกลับบ้านก่อนเวลาเลิกงานเร็วขึ้น 2-3 ชั่วโมง (หรือเวลา 15.00 น.) ในทุกวันศุกร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ซึ่งแคมเปญนี้อาจช่วยคลายความหนักหน่วงให้มนุษย์เงินเดือน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นไปในตัว
การทำงานหนักเพื่อพุ่งไปสู่ความสำเร็จของหน้าที่การงานโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ จะว่าไปมันคืออีกด้านของความล้มเหลว…ที่อาจส่งผลเสียหายต่อชีวิต ดังนั้น แทนที่จะบ่นว่าเหนื่อยจะตายอยู่แล้วซ้ำๆ ฉันคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างเร่งด่วนแล้วล่ะ