Moriba Chihiro

…เพียง 5 นาทีแค่คุณทำอะไรบางอย่างซ้ำไปซ้ำมาจนจิตนิ่งและแน่วแน่ สารแห่งความสุขจะกระจายตัวในร่างกายของคุณ เพราะห้วงเวลานั้น…คุณจะไม่นึกถึงอดีตและอนาคต คุณจะอยู่กับปัจจุบัน…เหมือนกับที่ฉันกำลังทำแบบนี้

หญิงสาวในชุดกระโปรงสีขาวพิมพ์ลายดอกกุหลาบแดง กำลังทำท่าก้มๆ เงยๆ ตัดดอกไม้ในอากาศ สาธิตให้ดูอย่างเป็นจังหวะ เธอคนนี้คือ โมริบะ ชิฮิโระ (Moriba Chihiro) หรือที่คนไทยเรียกเธอสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘ ชิ (Chi) ’ หรือยกเสียงให้สูงขึ้นอีกนิดจะออกเสียงว่า ชิ๊ซัง ศิลปินนักจัดดอกไม้ท่านนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 3 ปี เธอดูอ่อนวัย สดใส และมีรอยยิ้มเสมอ ชิซังสามารถพูดและอ่านออกเสียงภาษาไทยได้อย่างน่ารัก ชัดถ้อยชัดคำ เธอกำลังเรียนภาษาไทยไปพร้อมๆ กับศึกษาวัฒนธรรมและความคิดของคนไทย

ฉันพบชิซังครั้งแรกเมื่อปี 2017 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในงานแสดงดนตรีเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 150 ปี ไทย-ญี่ปุ่น สิ่งที่สะดุดตาเมื่อนั่งพักในพื้นที่ด้านหน้าห้องแสดงคอนเสิร์ตคือ ดอกไม้ที่ประดับตกแต่งรอบๆ ฉันนึกแปลกใจในรูปทรงของกล่องสี่เหลี่ยมใสอะคริลิก ด้านในฐานมีสีสันแตกต่างกันไป ดอกไม้ที่พบเห็นอย่างดาษดื่นของไทยถูกประดับเสียบอยู่อย่างดูไม่จงใจนัก ตอนนั้นคิดในใจว่าที่นี่จัดดอกไม้ได้แปลกดี

 

การจัดดอกไม้ของ โมริบะ ชิฮิโระ (Moriba Chihiro)
ที่มาภาพ: http://plantica.net/2014/06/ikebana-kit/

 

แต่แล้วเมื่อเดินลงมาด้านล่างก็ได้พบกับหญิงสาวแต่งกายในชุดกิโมโน เธอเกล้าผม นัยน์ตาเป็นประกาย ยืนยิ้มอยู่กับเจ้าหน้าที่คนไทยสองสามคน บูธของเธอเขียนว่า Plantica BKK ฉันเพ่งมองอย่างสนใจจนพบว่า ดอกไม้ที่จัดในสไตล์โมเดิร์นตรงที่นั่งด้านบนคือ Ikebana Kit ผลงานการออกแบบที่ปักดอกไม้ของเธอนี่เอง ชิซังพูดคุยกับฉันเป็นภาษาไทย เธอโชว์ผลงานการจัดดอกไม้ในนามของ Plantica ของสาขาที่โตเกียวให้ฉันดู น่าตกใจมากที่การจัดดอกไม้สามารถแทรกซึมไปในงานโฆษณาดิสเพลย์ที่เล่นกับพื้นที่ และสินค้าชื่อดังหลายแบรนด์ จากนั้นเธอได้ให้นามบัตรกับฉัน แล้วเราก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลยกระทั่งต้นปี 2018

 

ฝีมือการจัดดอกไม้โดย โมริบะ ชิฮิโระ (Moriba Chihiro)
ที่มาภาพ: http://plantica.net/2014/06/ikebana-kit/

 

โชคดีที่เธออยากพบฉันอีกครั้งเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเทรนด์การจัดดอกไม้ของคนไทย ฉันตอบตกลงไปตามนัด เราสองคนได้พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นหัวข้อในการสนทนา อย่างเช่นเรื่อง ‘เซเรโทนิน’ สารเคมีในสมองที่จะช่วยปรับอารมณ์ของเราให้มีความสุข อย่างที่ชิซังบอกกับฉันในย่อหน้าแรก ‘การจดจ่อเพียงระยะเวลาสั้นๆ สามารถทำให้สมองหลั่งสารเซเรโทนินออกมาได้’ การจัดดอกไม้หรือ Ikebana เป็นสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุข ชิซังเริ่มจัดดอกไม้ตั้งแต่สมัยที่เธอทำงานประจำที่ประเทศญี่ปุ่น ในเวลาว่างหรือวันหยุดชิซังจะทำงานร่วมกับเพื่อนของเธอซึ่งเป็นศิลปินนักจัดดอกไม้ที่มีชื่อเสียง (Takashi Kimura) นั่นทำให้เธออยากสานต่องานจัดดอกไม้

ความหวังของเธอและเป้าหมายในการสร้าง Plantica ที่กรุงเทพฯ คือการสร้างความสุขเล็กๆ ผ่านการจัดดอกไม้ การใช้สีและรูปทรงของดอกไม้เพื่อเพิ่มสุนทรียะทางสายตา การจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมชาวไทยได้เรียนรู้ปรัชญาการใช้ชีวิตที่เพิ่มความสุขให้กับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นการจัดดอกไม้ แต่หากเราลองทำอะไรบางอย่างซ้ำไปซ้ำมาด้วยจิตที่แน่วแน่แล้ว เราอาจค้นพบเส้นทางความสุขของเราเอง 

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ