Kanonji Temple of Buzan

ศาสนาพุทธได้เข้ามายังญี่ปุ่นช่วงพุทธศตวรรษที่ 1100 ผ่านทางเกาหลี ซึ่งรับต่อมาจากจีนอีกทอด แต่สำหรับชาวไทยเรารู้จักศาสนาพุทธในญี่ปุ่นจากนิกายเซน ได้รับความนิยมเพราะการเน้นความฉับพลัน หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งวิธีคิดและศิลปะแห่งความน้อยที่รับกับความโมเดิร์นจนโดดเด่น สถาปัตยกรรมด้วยก็เช่นกัน เราสามารถซึมซับกับวัดเซนได้มากมายในญี่ปุ่น ผ่านความสงบนิ่งของสวนแห้งที่เรียงรายด้วยลานกรวดเป็นลวดลายต่างๆ

แต่ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่นิกายเซน..

การตีความศาสนาพุทธในญี่ปุ่นมีหลายรูปแบบที่ต่างจากไทย การเปลี่ยนแปลงของศาสนาพุทธในญี่ปุ่นได้ผันแปรมาตลอดพันกว่าปี เราจะพบเห็นได้ตามข่าวที่แตกต่างจากบ้านเรามาก อย่างเช่น พระญี่ปุ่นสามารถมีครอบครัวได้ และบุตรคนโตสามารถสืบทอดตำแหน่งพระต่อจากบิดาได้อีกเช่นกันด้วย สังคมญี่ปุ่นเองก็จัดให้พระเป็นอาชีพหนึ่งด้วย หรือที่ดูจะขัดใจชาวพุทธไทย อย่างการให้พุทธศาสนิกชนสามารถร่วมสวดมนต์ไปพร้อมกับพระสงฆ์ในบาร์ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพระเป็นผู้ดำเนินกิจการ และบาร์เทนเดอร์เป็นพระที่เรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ Vowz Bar

นั่นเพราะความต่างของวัฒนธรรม ที่เราควรมองให้เข้าใจ ไม่ใช่เข้าไปตัดสิน

นอกจากนิกายเซนในญี่ปุ่นที่เรารู้จักแล้ว ยังมีอีกหลายนิกาย แต่ที่จะเอ่ยถึงในคราวนี้คือนิกายชินงอน ซึ่งยึดหลักคำสอนตามนิกายวัชรยาน ซึ่งสอนให้บรรลุธรรมด้วยการสวดมนต์อ้อนวอน ถือคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรเป็นสำคัญต้นกำเนิดนิกายนี้ ถือกำเนิดที่โอซาก้า ในสมัยเฮอัน (ช่วง พ.ศ. 1337-1728) โดยพระคุณเจ้าคุไค จากต้นกำเนิดจนถึงวันนี้นิกายชินงอนเองได้มีการปรับตัวอย่างมาก เช่นมีการจัดแฟชั่นโชว์ขึ้นในปี พ.ศ. 2550 โดยให้พระสงฆ์และแม่ชีแต่งกายด้วยชุดที่แตกต่างจากแบบเดิมที่มีแต่สีดำ เป็นชุดที่มีสีสันสดใส พร้อมกับเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรีบนเวที

ศาสนาพุทธหลายนิกายได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างมาก ด้วยสถานการณ์ที่คนเข้าวัดน้อยลงมาก

หากมองเปรียบเทียบความแตกต่างของวัดพุทธในไทยกับญี่ปุ่นในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมนั้น วัดพุทธในญี่ปุ่นมีรูปแบบการแบ่งพื้นที่ใช้สอยที่แตกต่างจากวัดพุทธของไทย ในขอบเขตของวัดญี่ปุ่น จะมีอารามย่อยที่แบ่งกันไปซ้อนกันไปอีกทีหนึ่ง อีกประเด็นที่เห็นชัดในสายตาสถาปนิกคือเรื่องการจำลองจักรวาล ญี่ปุ่นจะแสดงผ่านการจัดสวนใช้การเปรียบเปรยให้เขาพระสุเมรุซึ่งเป็นจุดสูงสุดด้วยหิน ล้อมด้วยต้นไม้ ลานกรวด แต่ของไทยจะใช้การเปรียบเปรยเป็นสัญลักษณ์ผ่านองค์ประกอบลงในตัวสถาปัตยกรรม กลายเป็นยอดเจดีย์ใหญ่น้อย เรียงความสูงจากจุดสูงสุดตรงกลางคือเขาพระสุเมรุ รายรอบด้วยทวีปทั้ง 4

ในบริบทของสังคมญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัววัดพุทธได้มีการตีความหลากหลายมากขึ้น เช่นเดียวกับวัดที่จะกล่าวถึงต่อไป

ณ เขตชินจูกุ กรุงโตเกียว ถ้าอยากเห็นอีกแนวทางของวัดพุทธที่ทิ้งเครื่ององค์ทรงประดับแบบเดิมออก ให้เดินไปที่ถนนข้างมหาวิทยาลัยวะเซะดะ จะพบกับวัดรูปทรงแปลกตานามว่า วัดคันองจิ (Kanonji Temple) ซึ่งเป็นวัดพุทธในนิกายชินงอน วัดพุทธในญี่ปุ่นที่เราพบทั่วไปจะมีหลังคาโค้ง สีขรึมจากไม้ดิบ แต่กับที่วัดนี้ เป็นวัดรูปทรงเฟี้ยวฟ้าว ผิวภายนอกทำด้วยคอนกรีตเปลือยที่มีผิวพับไปมาเท่าที่คอนกรีตจะทำได้

วัดคันโนะจิ (Kannoji Temple)

การออกแบบวัดคันโนะจิ (Kannoji Temple) 

วัดคันองจิ (Kanonji Templeออกแบบโดยสถาปนิกโอสะมุ อิชิยะมะ ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ มีแล็บปฏิบัติการที่ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยวะเซะดะที่ตั้งอยู่ติดกันนั้นเอง รูปทรงรายละเอียดของวัดนี้ถูกตีความขึ้นมาใหม่ ไม่ยึดติดกับรูปแบบประเพณีเดิม สถาปนิกออกแบบบนที่ดินแปลงที่มีลักษณะเป็น 5 เหลี่ยมด้านไม่เท่า ด้านแหลมหันประจันกับถนนข้างมหาวิทยาลัยวะเซะดะ ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันจากที่ดินให้ด้านหน้าวัดกลายเป็นทรงแหลมสวนกับสายตา และกลายเป็นจุดนำสายตา พร้อมกับใส่บันไดขึ้นไปยังพื้นที่โถงหลักที่ชั้น 2 สามารถรองรับกิจกรรมทางศาสนาได้ 80 คน การออกแบบพื้นที่วัดได้ปรับการใช้สอยให้กระชับ รวมการใช้สอยทั้งหมดในพื้นที่ 2 ชั้น ทั้งส่วนกิจกรรมทางศาสนา ส่วนที่พักของพระสงฆ์ พร้อมกันนั้นยังยกพื้นสูงให้ใต้ถุนทะลุไปยังพื้นที่ป่าช้าด้านหลังได้ด้วย

วัดคันโนะจิ (Kannoji Temple) ออกแบบโดยสถาปนิกโอสะมุ อิชิยะมะ

วัสดุหลักภายนอกโดยรวมเป็นคอนกรีตเปลือย รูปทรงมีลักษณะเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกัน คล้ายโอริกะมิ (Origami) หรือการศิลปะการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น โดยพับจากด้านหน้าที่เป็นบันไดมายังหลังคา จากนั้นพับกลับลงไปที่พื้นอีกครั้งแล้วพับส่วนย่อยทั้งราวบันได ผนังด้านข้าง เพิ่มแรงเสริมให้หลังคาดูแข็งแรงขึ้น ด้วยการใส่รางน้ำฝนขนาดใหญ่จากหลังคา ต่อมาเป็นท่อใหญ่ลาดขนานกับบันได ปล่อยให้น้ำตกลงมายังปลาย 3 เหลี่ยม แล้วเปลี่ยนเป็นท่อขนาดเล็กที่ปล่อยน้ำหยดลงในเหยือกทองเหลืองด้านหน้าวัด ในเหยือกหน้าบันไดนั้นใส่ดอกไม้บูชาพุทธศาสนาอยู่ที่เชิงบันได ดูเป็นการชวนให้ตีความได้ถึงการน้อมตัวจากความใหญ่โตของสถาปัตยกรรมที่สร้างจากมนุษย์ที่ต้องนอบน้อมต่อธรรมชาติที่เปรียบเสมือนกับดอกไม้

การตกแต่งของวัดคันโนะจิ (Kannoji Temple)

'วัดคันโนะจิ' (Kannoji Temple) ซึ่งเป็นวัดพุทธในนิกายชินงอน

วัดนี้สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539 และยังใช้งานอยู่จนกระทั่งวันนี้ หากมาชินจูกุ ขอให้ลองแวะมาดูการตีความสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาที่ไม่ต้องเดินตามแบบอนุรักษ์นิยม แต่เปิดกว้างให้ตีความตามยุคสมัย

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ