นอกบานหน้าต่างใหญ่

ในคาเฟ่บนเกาะนาโอ

ฉันเห็นฟูจิซัง.

ถ้าอ่าน 3 วรรคข้างบนนี้ให้คนที่รู้จักเกาะนาโอ หรือ นาโอชิมะ (Naoshima) ฟัง ฉันว่าคงหนีไม่พ้นความมึนตึ้บ เพราะไม่ว่าจะคุยกันในแง่ภูมิศาสตร์หรือตรรกศาสตร์ การที่เรายืนอยู่บนเกาะนาโอ เกาะอาร์ตตัวแม่ซึ่งมีพิกัดอยู่ในจังหวัดคางาวะ แล้วมองออกไปเห็นภูเขาไฟฟูจิที่อยู่ไกลข้ามภูมิภาคไปถึงจังหวัดชิซูโอกะเนี่ย มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

แต่ไม่ว่าจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นไปแล้ว ฉันได้ภาพฟูจิซังดื้อๆ ลูกนี้มาอย่างซื่อๆ ตอนแวะเข้าไปหาข้าวกินที่ลิตเทิลพลัม (Little Plum) คาเฟ่เล็กๆ บนเกาะนาโอ

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักนาโอชิมะ (ชิมะ แปลว่า เกาะ) ฉันพอจะขยายความให้ได้อีกเล็กน้อยว่า นาโอชิมะเป็นเกาะขนาดจิ๋วในภูมิภาคชิโกกุที่มีชื่อเสียงโด่งดังข้ามทวีป เหตุเพราะเป็นเกาะที่มีชิ้นงานศิลปะและมิวเซียมเจ๋งๆ ประจำการอยู่แบบอัดแน่น สำหรับคนไทยเรา ฉันเดาว่าชิ้นงานที่มีคนรู้จักและรู้สึกคุ้นๆ อยู่บ้าง น่าจะเป็นประติมากรรมฟักทองลายจุดของคุณป้าศิลปินลุคเปรี้ยวจี๊ด ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) ซึ่งบนเกาะจะมีฟักทองอยู่ 2 ลูก ตั้งแยกกันคนละฝั่งของชายหาด ลูกหนึ่งเป็นสีแดง และอีกลูกเป็นสีเหลือง

นาโอชิมะเป็นปลายทางยอดนิยมของกลุ่มคนรักศิลปะชาวยุโรปและอเมริกันเป็นพิเศษ ฉันเคยเห็นฝรั่งมากันเป็นกลุ่มใหญ่ ขนาดที่ว่าพอยืนถ่ายรูปหมู่กับฟักทองสีเหลืองแล้วคือยืนบังเจ้าฟักทองลูกยักษ์จนเกือบมิด ถ้าเทียบนาโอชิมะเป็นมนุษย์สักคน ฉันว่าเกาะนี้ดูไม่ผิดกับหนุ่มเนื้อหอมที่ ยิ่งได้ทำความรู้จักก็ยิ่งหลงเสน่ห์ แต่ต้องยอมรับว่าบางครั้งก็เข้าใจยาก เพราะบางจังหวะพี่เขาก็อินดี้เหลือเกิน อย่างร้านรวงบนเกาะเนี่ย บางร้านจะออกแนวเปิดปิดตามใจ จนทำให้นักเดินทางอย่างเราๆ กะเกณฑ์ไม่ได้เลยว่าร้านที่ตัวเองย่างกรายเข้าไปเพื่อหวังจะฝากท้อง จะรับฝากท้องแห้งๆ ของเราหรือเปล่า

ลิตเทิลพลัมเองก็เป็นหนึ่งในร้านที่ฉันอดรับประทานเหมือนกัน (ฮ่าๆ) พอดีจังหวะที่ฉันแวะเข้าไป ร้านเขาไม่เปิดให้บริการ ดังนั้น ถ้าต้องพูดถึงอาหารที่นั่น ฉันจะไม่มีความทรงจำใดๆ ให้หวนคิดถึงได้เลย สิ่งเดียวที่ทำให้ฉันจำร้านนี้ได้แม่น คือฟูจิซังนอกหน้าต่างในภาพที่ถ่ายมานี่ล่ะ ถ้าพูดกันตามตรง ฉันว่านี่ไม่ใช่ทิวทัศน์ที่สวยสมจริงสักเท่าไหร่ แต่กลับเป็นวิวนอกหน้าต่างที่ประทับอยู่ในใจได้นาน แถมยังชวนให้นึกถึงได้ดีในวันที่รู้สึกสิ้นหวังเสียด้วย

ภาพภูเขาไฟฟูจิ ท้องทะเล หมู่แมกไม้ และโขดหิน ถูกเพนต์ด้วยโทนสีเย็นชวนผ่อนคลายบนแผ่นไม้ 5 แผ่นที่กรุต่อกันแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ฉันลองสังเกตดูเลยเห็นว่า จริงๆ แล้วกำแพงเดิมที่อยู่หลังแผ่นไม้เป็นสังกะสีแผ่นไม่เรียบฉาบสีขาวปลอด เรียกได้ว่าถ้าไม่มีภาพเพนต์มาติดไว้ตรงนั้นสิ่งที่เราจะได้เห็นเวลามองผ่านบานหน้าต่างออกไปก็ดูคล้าย ‘ความว่างเปล่า’ ดีๆ นี่เอง

ง่ายๆ แต่ได้เรื่องราว ที่ลิตเทิลพลัม ความว่างเปล่าถูกแทนที่ด้วยงานศิลปะที่ลงมือสร้างสรรค์ขึ้นเอง เข้าตำรา ‘อยากได้สิ่งใด ทำสิ่งนั้น’ สีสันของทิวทัศน์เวอร์ชั่นวาดมือเข้ามาแทนที่ลอนไม่เรียบของกำแพงสังกะสีว่างๆ ข้างหน้าต่าง ไอเดียอันแสนเรียบง่ายนี้ทำให้ลิตเทิลพลัมมีฟูจิซังเป็นของตัวเอง หนำซ้ำยังกลายเป็นฟูจิซังของทุกคนที่แวะไปเยือนที่นั่นอีกด้วย อาหารตาชิ้นนี้ตกเป็นอาหารใจ และทำหน้าที่ช่วยชดเชยความรู้สึกหิวโซได้มากโข ตอนนั้นฉันหยิบกล้องออกมาเก็บบันทึกภาพบรรยากาศคาเฟ่ ในชั่วโมงที่ไม่เปิดให้บริการด้วยความประทับใจแบบลืมอาการท้องร้องไปชั่วขณะหนึ่ง

 

ไม่ต้องชิมอาหาร

เพียงมองลอดหน้าต่างบานนั้น

ดวงตาอุ่น ใจอิ่ม.

 

ผ่านมา 3 ปี ทุกครั้งที่เปิดภาพนี้ดู ความทรงจำดีๆ ก็ไหลพรูคืนมา ความคิดสร้างสรรค์นอกบานหน้าต่างพลิกสถานการณ์ที่ไม่น่าประทับใจให้กลายเป็นความประทับไม่รู้ลืม ในวันที่ชีวิตชนกำแพง ถ้าคนเราไม่จนความคิด เรื่องดีๆ ก็ยังเกิดขึ้นได้ เมื่ออุปสรรคมาหยุดอยู่ตรงหน้า ถ้าเราลงมือคิด ลงมือทำ ลงมือแก้ไขปรับปรุง อุปสรรคก็เป็นได้อย่างมากแค่ ‘อุปสรรค’ แต่จะไม่เป็น ‘ปัญหา’

และไม่ว่าจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว เรื่องราวของคาเฟ่ที่ไม่เปิดให้บริการในวันนั้น ตอนนี้ได้มาอยู่บนหน้ากระดาษนี้แล้ว ก็อย่างที่คนเขียนหนังสือรู้กันดี แม้ว่าชีวิตจะชนกำแพงแผ่นใหญ่แค่ไหน นักเขียนก็ปล่อยให้หน้ากระดาษว่างเปล่าไม่ได้เด็ดขาด!

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ