ตลาดที่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นคือตลาดแบบที่เรียกว่า โชเทนไก (Shotenkai) มันคือลักษณะของร้านค้าที่เรียงรายเป็นแถวยาวสองฝั่งหันหน้าเข้าหากันตรงกลางเป็นถนนให้คนเดิน บางโชเทนไกที่ไม่ยาวนักก็เป็นถนนเชื่อมกับถนนสายอื่น สามารถเดินทะลุหรือปั่นจักรยานผ่านได้ แต่โดยมากถ้าในช่วงที่คนพลุกพล่านก็อาจจะต้องจูงจักรยานแทนการปั่น พิเศษไปกว่านั้นคือมันเป็นถนนที่มีหลังคาคลุม ดังนั้นจึงเดินได้แบบไม่ต้องกลัวแดดกลัวฝน

คนที่ไปเที่ยวเกียวโตมาแล้ว ทุกคนต้องเคยเดินโชเทนไกย่านซันโจ ชิโจ อันทอดยาวทะลุเลื้อยไปมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจและตัวฉันเองก็มักเดินละเมอหลงทางในโชเทนไกเหล่านี้ ชนิดที่ว่าช็อปเพลินจนหลงทิศนั่นแหละ เพราะร้านค้าในซันโจชิโจ ทั้งที่อยู่ในโชเทนไก กับที่ทะลุไปหาตรอกซอกซอยธรรมดา ก่อนจะโผล่เข้าไปในอีกโชเทนไกหนึ่ง มันเต็มไปด้วยร้านรวงตั้งแต่ร้านร่ม ร้านพัด ร้านน้ำผึ้ง ร้านขายเครื่องประดับ ร้านหมวก ร้านกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า ของกิน ร้านฟาสต์ฟู้ด ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ ร้านบูติกของแบรนด์ญี่ปุ่น เก๋ๆ ฮิปๆ อีกสารพัดแต่นั่นเป็นโชเทนไกในดาวน์ทาวน์ ที่มีทั้งคนเกียวโต ทั้งนักท่องเที่ยว มีร้านรวงกิ๊บเก๋หลากหลาย  มีตั้งแต่ร้านซูชิห้าร้อยปี ไปจนถึงกอมม์ เด การ์ซงส์ ฯลฯ

 

 

แต่ในเกียวโตยังมีโชเทนไกแบบ “บ้านบ้าน” กระจัดกระจายตามย่านชุมชนต่างๆ  และนั่นแหละ อย่างที่เขาบอกว่าใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง โชเทนไกบ้านๆ เหล่านี้ นับวันก็จะล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ โชเทนไกแถวชูกะกูอินที่ฉันเคยอยู่กลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตร้านที่มีสาขาไปทั่วคันไซไปแล้ว จะว่าสะดวกก็สะดวก แต่เราก็อดจะนึกถึงตลาดที่มีทางเดินผ่ากลาง สองฝั่งมีร้านตัดผม ร้านเทมปุระซีดๆ ที่ทอดค้างไว้ ร้านโมจิเล็กๆ ร้านชูครีมแสนอร่อย ร้านเสื้อผ้าผู้สูงอายุ  ร้านผลไม้ ร้านผัก แบบร้านใครร้านมัน ไม่ใช่ของหน้าตาเหมือนๆ กันเรียงกันบนชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต

โชเทนไกแต่ละแห่งก็มีเสน่ห์แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับตลาดบ้านบ้านทั่วโลก ที่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับลูกค้านั้นเป็นไปประดุจญาติมิตร ลูกค้าก็คือคนที่อยู่ในละแวกนั้น รู้จักกับเจ้าของร้านต่างๆ ในโชเทนไกนั้นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออด เช่น เจ้าของร้านโดนัทเต้าหู้ร้านนั้นคือเพื่อนเราสมัยเรียนมัธยม เป็นลูกคุณป้าร้านขายผักที่เป็นเพื่อนแม่ของเราเช่นกันอะไรแบบนั้น โชเทนไกบ้านบ้าน แบบนี้จึงมีสินค้าค่อนข้างจำเพาะ คัดสรรมาสำหรับลูกค้าที่คุ้นหน้าคุ้นตารู้ใจกันอยู่แล้วว่าชอบอะไร อยากได้ของคุณภาพแบบไหน

น่าเสียดายที่เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งคนขาย คนซื้อของตลาดโชเทนไกก็ค่อยๆ แก่ตัวลง กิจการร้านค้าอย่างร้านขายโมจิ ร้านขายซูชิ ข้าวปั้น ผักดอง ร้านปลา ร้านเทมปุระ ร้านเซมเบ้ ค่อยๆ หายไปในโชเทนไก กลายเป็นซูเปอร์มาร์เกตใหม่ๆ มีแบรนด์ผุดขึ้นมาแทน มีร้านสะดวกซื้อเพิ่มมากขึ้น และสอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมานาน ร้านสะดวกซื้อยังมีแบรนด์แยกออกมาต่างหากว่า เป็นร้านสะดวกซื้อที่สินค้าทุกอย่างราคา 100 เยนเท่านั้น ซึ่งร้านเหล่านี้ขายตั้งแต่เบนโตะ อาหารสด แห้ง น้ำดื่ม ซอฟต์ดริงก์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า สบู่ ทิชชู เครื่องเขียน ผัก ผลไม้ เรียกได้ว่าขายทุกอย่าง ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

นอกจากร้านสะดวกซื้อร้อยเยน ก็มีร้านร้อยเยนในแบรนด์ต่างๆ ที่คนไทยก็คุ้นเคยดี ร้านเหล่านี้ขยายสาขามากขึ้น และมีในโชเทนไกต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็บอกถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งความเปลี่ยนทางประชากร และสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนไปโดยสิ้นเชิง

เราจะกินเบนโตะร้านคุณยายที่ทั้งจืดชืดหน้าเบื่อ (แม้คุณยายจะใช้ปลาอย่างดี ข้าวอย่างดี ผักอย่างดี อย่างสด) ทำไมในเมื่อในร้านสะดวกซื้อมีเบนโตะหลายสิบเมนูให้เลือกทั้งปริมาณมากกว่า ถูกกว่า อร่อยกว่า มีสีสันกว่า เมนูก็เร้าใจกว่า มีทั้งปลา เนื้อ ไก่ หมู ชีส นม เนย หลากชาติหลายตระกูลของอาหาร

จะบอกว่าเสียดายโชเทนไกแบบเก่าก็กล่าวได้ไม่เต็มปาก จะคิดถึงชูครีมร้านเก่า ก็รู้สึกว่าชูครีมในร้านสะดวกซื้อทุกร้านตอนนี้ก็อร่อยทัดเทียมกัน แถมยังราคาย่อมเยากว่าอีก

คงมีแต่กลิ่น สี บรรยากาศ ที่ทำให้เราใจหายได้นิดๆ ว่ามันหายไปพร้อมกับการร่วงโรยไปของคนรุ่นหนึ่ง และเป็นความจริงที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าเรายังไม่ตายไปเสียก่อน ก็น่าสนใจว่ายุคหลังร้านสะดวกซื้ออะไรจะเข้ามาแทนที่

แค่คิดว่าร้านค้าเหล่านี้หายไป แล้วเราทุกคนเลิกไปตลาดเลิกไปซื้อของด้วยตัวเอง แต่นั่งกดๆ ซื้อทุกอย่างแม้แต่ชูครีมผ่านหน้าเว็บ คนขี้เหงาอย่างฉันก็โหวงเหวงใจอย่างบอกไม่ถูก

 

TAGS

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ