บ้านกับที่ทำงาน : “กับดักสภาพแวดล้อม” และ “ความสำเร็จในชีวิต”
มานั่งทบทวนตัวเองดู พบว่าวัยสามสิบตอนปลายของฉันให้ความสนใจค่อนข้างมากกับเรื่องการแต่งบ้าน การจัดระเบียบข้าวของ รวมถึงคุณภาพชีวิตในสถานที่ที่ตัวเองอยู่อาศัย เพราะบ้านเป็นสถานที่ที่ฉันใช้เวลามากที่สุดในแต่ละวัน
เมื่อพบหนังสือ “แค่ปรับปรุงบ้าน ชีวิตทุกด้านก็สำเร็จ” (なぜ一流の人は自分の部屋にこだわるのか?) เขียนโดยเคโซ ยะโน (Keizo Yano) สถาปนิกญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ออกแบบและดูบ้านให้ผู้คนมากว่า 20 ปี (แปลโดยกฤตพร พงศ์ขจร) ฉันไม่ลังเลเช่นเคยที่จะซื้อหากลับมาอ่านศึกษา
ผู้เขียนพูดถึงกฎเกี่ยวกับบ้านของคนที่ประสบความสำเร็จเอาไว้ว่า “ต้องเคยออกจากบ้านพ่อแม่ไปมีบ้านของตัวเอง” และ “ถ้าจะมีบ้านหลังที่สอง ก็ต้องอยู่คนละที่กับบ้านหลังแรก” ผู้เขียนยังบอกอีกว่า “ขอแสดงความเสียใจกับคนที่ ‘อยากอยู่บ้านเกิด’ และอยากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ด้วย เพราะผมยังไม่เคยเจอคนแบบนั้นเลย” ฉันว่ามันออกจะตีขลุมไปเสียหน่อย จริงหรือที่จะมีคำตอบสำเร็จรูปหนึ่งเดียว
แต่เหตุผลที่ผู้เขียนอธิบายไว้ก็น่าคิด เขาว่าคนที่ต้องการสร้างชีวิตใหม่ให้ตนเองโดยไม่พึ่งพาคนอื่น ก็มีแนวโน้มว่าจะพยายามจัดการและแก้ปัญหาทุกวิถีทางเพื่อทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ในที่สุด ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่เรื่องความสำเร็จ
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้ยกตัวอย่างของกับดักสภาพ-แวดล้อมจากบ้านหรือออฟฟิศที่สามารถดูดพลังชีวิตของผู้คน เช่น อาศัยอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีแสงสว่างเข้าถึง ด้วยเหตุผลว่าร่างกายจะปรับสมดุลฮอร์โมนตามแสงแดดในช่วงตื่นนอนตอนเช้า ผู้ที่ใช้ชีวิตในห้องซึ่งมืดทึบไม่เห็นแสง อาจทำให้สภาพร่างกายอ่อนแอลงจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ฉันเองก็เคยเจอประสบการณ์คล้ายๆ กันนี้ ครั้งหนึ่งตอนไปเก็บข้อมูลทำหนังสือที่ญี่ปุ่น ฉันจองอพาร์ตเม้นต์ในเมืองใกล้สถานีรถไฟใต้ดินที่ค่าเช่าถูกจนน่าตกใจ พอไปถึงสถานที่จริง ก็เข้าใจเลยว่าที่ราคาถูกแบบนั้นเป็นเพราะหน้าต่างโดนตึกสูงขนาบอยู่ ทำให้แสงธรรมชาติเข้าไม่ถึง ต้องเปิดไฟทั้งวัน พักอยู่เพียงไม่นานฉันก็รู้สึกเหนื่อยล้า จนไม่อยากจะอยู่ในห้องนั้น
ตัวอย่างถัดมาที่น่าจะปัง! โดนใครเข้าสักคน ผู้เขียนเขาว่าใครที่ใช้เหตุผล “หนี้บ้านดีกว่าค่าเช่า” ในการซื้อที่อยู่อาศัยแล้วละก็…กำลังจะติดกับดักสภาพแวดล้อมได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเลือกบ้านในทัศนะของผู้เขียน (สำหรับผู้ที่อยากจะทำความฝันให้เป็นจริงหรือประสบความสำเร็จได้เร็ว) คือควรเลือกจาก “อยากอยู่ที่ไหนในโลกนี้” ไม่ใช่ “ถ้าดูจากเงินตอนนี้แล้วจะอยู่ที่ไหนได้บ้าง” เพราะจะทำให้เราได้เจอกับสภาพแวดล้อมที่หวังไว้ และเขาเชื่อว่าคนที่จะใช้ชีวิตได้อย่างที่ตัวเองต้องการนั้น จะเลือกสถานที่อยู่อาศัยโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากจะทำไลฟ์สไตล์ของตัวเองให้เป็นจริง ซึ่งมีผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิต
แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องวุ่นวายย้ายที่อยู่ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับบ้าน เช่น พยายามสร้างมุมในบ้านที่ตัวเองภาคภูมิใจขึ้นมา หรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้บ้านให้เข้ากับแต่ละช่วงชีวิต ยังมีตัวอย่างหนึ่งที่ฉันอ่านแล้วขำเล็กๆ…
ผู้เขียนเสนอไอเดียสำหรับคนโสดที่อยากแต่งงานหรืออยากมีครอบครัว โดยให้ลองจัดบ้านเหมือนกับว่ามีคนสองคนอาศัยอยู่ เช่น จัดโต๊ะอาหารที่จะนั่งกินได้สองคน จัดแปรงสีฟันไว้ตรงอ่างล่างหน้าสองอัน สรุปสั้นๆ ก็คือการ “พยายามเหลือพื้นที่ไว้ให้อีกคนเพื่อที่จะได้เจอใครบางคน”
ใครทำตามคำแนะนำนี้แล้วเห็นผล อย่าลืมส่งข้อความมาเล่าให้ฟังด้วยนะ 😉