Pelican : ขนมปังธรรมดาที่อยู่ในใจตลอดมา
เช้าวันสุดท้ายของโตเกียวเที่ยวล่าสุด ฉันตั้งใจจะใช้เวลาแบบสบายๆ จึงเลือกเดินเพลินๆ จากที่พักย่าน Kuramae ไปกินมื้อเช้าแถว Asakusa ระหว่างทางมองไปเห็นกันสาดสีแดงของร้านค้าเล็กๆ มีตัวหนังสือเขียนกำกับว่า Pelican กับโลโก้นกพิลิแกนที่คุ้นตา
รู้แค่ว่านี่คือแบรนด์ขนมปังเก่าแก่ของญี่ปุ่น สำหรับฉันข้อมูล คำบอกเล่า หรือรีวิวของใครน่ะหรือจะสำคัญเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ภาพที่เห็นคือร้านขนมปังที่ดูธรรมด๊าธรรมดา แต่แค่ “ขนมปัง” ก็เพียงพอให้ฉันเดินข้ามถนนไปหาแล้วล่ะ
เมื่อยืนอยู่หน้าร้าน จึงเห็นว่าข้างในมีลูกค้าอยู่คึกคักทีเดียว ภายในร้านไม่มีการตกแต่งอะไรเลย
มีแต่ชั้น ชั้น และชั้นสำหรับวางขนมปังที่อบมาใหม่ๆ ให้คลายร้อน ฉันยิ้มให้พนักงานสาว เธอยิ้มตอบแล้วถามว่า “ได้สั่งจองล่วงหน้าไว้ไหมคะ” อ้าว!!! ฉันส่ายหน้ายิ้มแหยๆ อย่างใจแป้ว แล้วเธอก็เดินมาที่ชั้นไม้พร้อมคำพูดหวานหูว่า “ถ้าไม่ได้สั่งไว้ ตอนนี้ก็จะมีแค่ขนมปังตรงนี้ที่สามารถซื้อกลับได้ค่ะ” โอ๊ยยย เธอหมายถึงว่าฉันไม่มีสิทธิ์เลือกชนิดของขนมปังนะและขนมปังบนชั้นไม้ก็เหลือแค่นิดเดียว (ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่เก้าโมงเช้าเลย) แต่นั่นก็เพียงพอแล้ว
เย่! ขนมปังชนิดเดียวที่เหลือให้ซื้อกลับได้คือขนมปังปอนด์แบบสี่เหลี่ยมที่ยังไม่ได้หั่น หลังจากชำระเงินเรียบร้อย พนักงานก็หยิบโบรชัวร์มาให้พร้อมกับแนะนำว่าคราวหน้าควรโทรมาสั่งไว้ก่อน ถึงพรุ่งนี้จะกลับเมืองไทยแล้วแต่ฉันก็รับมาแล้วเดินยิ้มหน้าบานออกจากร้าน พร้อมกับมือที่ถือขนมปังใส่ถุงพะยี่ห้อนกพิลิแกนสีเขียวตัวนั้น การซื้อขนมปังสักแถวสำเร็จทำให้ฟินได้ขนาดนี้เชียวหรือ
ฉันพกความสงสัยเกี่ยวกับขนมปังนกกระทุงไว้ในใจแล้วกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติม ร้านขนมปัง Pelican ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1942 ซึ่งเป็นยุคสงครามโลกครั้งที่สอง วัฒนธรรมตะวันตกส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับความนิยมในการบริโภคขนมปังที่เพิ่มขึ้นมากหลังสงคราม ทีแรกร้านขายขนมปังหลากหลายเช่นเดียวกับร้านขนมปังทั่วไป แต่เจ้าของร้านตัดสินใจเลิกทำขนมปังชนิดอื่น คงเหลือเพียงสองชนิดคือขนมปังแถวกับขนมปังก้อนเล็กเท่านั้น แถมยังมีเฉพาะขนมปังสีขาว ไม่มีขนมปังโฮลวีทให้เลือก ซึ่งเป็นแนวคิดในการทำธุรกิจที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับแนวทางการทำธุรกิจทั่วไป เราอาจมองว่าตัวเลือกที่มากกว่าน่าจะเพิ่มโอกาสทางการขายได้มากกว่า แต่เจ้าของร้านขนมปังแห่งนี้กลับมองมุมต่าง
ภาพ : bakerpelican.com
แทนที่จะคิดว่า “จะทำยังไงให้ร้านเราขายดี” ซึ่งอาจได้คำตอบว่า ควรทำขนมปังหลายๆ ชนิด เพื่อรองรับลูกค้าที่หลากหลาย แต่เขากลับตั้งโจทย์ว่า “จะทำขนมปังยังไงให้เป็นขนมปังที่ขายดี” นั่นคือเหตุผลที่จวบถึงวันนี้ก็ยังคงมีขนมปังให้เลือกซื้อเพียงสองชนิด ยอดขายต่อวันในปัจจุบัน (ไม่รวมที่ขายส่ง) คือขายขนมปังก้อนเล็กได้ราว 4,000 ชิ้น และขายขนมปังแถวได้ราวๆ 400-500 แถว
แต่ๆๆๆ ความสำเร็จใช่จะได้มาง่ายดายโดยไม่มีอุปสรรค เพราะในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟู ลูกค้าหันเหความสนใจไปหาขนมปังที่ดูแปลกใหม่หรูหราอย่างบาแกตต์หรือครัวซองต์ ขนมปังธรรมดาของเขาถูกมองข้ามจนยอดขายตกต่ำ หลังฟองสบู่แตกกลางยุค 90 ผู้คนจึงกลับมาสู่โลกของความเป็นจริง กลับมาหาขนมปังธรรมดาที่คุ้นเคยในราคาที่สัมผัสได้
ภาพ : bakerpelican.com
“ขนมปังขาวแบบนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกินข้าว นี่คือขนมปังที่ทำโดยคนญี่ปุ่นสำหรับคนญี่ปุ่น” สไตลิสต์คนดังกล่าวไว้ใน “Pelican: The Tradition of 74-year-old Baker” ภาพยนตร์สารคดีที่ออกฉายในปี 2017 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอันเป็นตำนาน และพาคนดูไปค้นหาคำตอบว่า เหตุใดขนมปังธรรมดาๆ ของร้านนี้ จึงยืนหยัดครองใจลูกค้ามาได้ถึง 74 ปี
ภาพ : bakerpelican.com
ปัจจุบันผู้บริหารคือทายาทรุ่นที่สี่ เป็นคนหนุ่มวัยเพียง 29 ปี ทว่าเขาก็ยังคงรูปแบบและหัวใจของแบรนด์ไว้ แต่เพิ่มการสื่อสารแบรนด์เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักมากขึ้น มีคำพูดหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของที่ปรึกษาแบรนด์กล่าวว่า “เราจะท้าทายโลกที่หมุนเร็ว ด้วยการทำทุกอย่างให้เหมือนเดิมมากที่สุด” ทุกวันนี้เริ่มมีร้านขนมปังที่ใช้คอนเซ็ปต์ขายเฉพาะขนมปังปอนด์เกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ และดูเหมือนว่าความนิยมขนมปังปอนด์ในญี่ปุ่นจะกลับมาอีกครั้ง ร้าน Pelican ก็ยังคงเริ่มอบขนมปังตอนตีสี่และเปิดขายตอนแปดโมงเช้าเหมือนที่เคยเป็นมา
บ่ายวันนั้นฉันแกะถุงขนมปังแล้วฉีกกิน ขนมปังนุ่ม เนื้อละเอียด เหนียว ไม่จืดแต่ก็ไม่หวาน กินเปล่าๆ ได้สบาย ไม่ต้องปิ้ง ไม่ต้องทาอะไร เป็นความรู้สึกเดียวกับตอนแบ่งขนมปังกินกับพี่ๆ ในรถหลังจากพ่อแม่ไปรับกลับจากโรงเรียน ขนมปังหนึ่งแถวหมดในพริบตา … ความอร่อยของขนมปังธรรมดานั้นเจือความอุ่นใจเมื่อคิดถึงอดีตไว้ด้วย