เดโซเมะชิกิ งานฉลองปีใหม่ของเหล่านักผจญเพลิง

Dezomeshiki เดโซเมะชิกิ คิโนะซากิออนเซ็น

ที่ญี่ปุ่นมีประเพณีประจำปีที่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูชื่อว่า เดโซเมะชิกิ (Dezomeshiki) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศญี่ปุ่นช่วงปีใหม่ของทุกปี หนึ่งในสถานที่ที่มีการจัดเดโซเมะชิกิอย่างน่าตื่นตาก็คือหมู่บ้านบ่อน้ำพุร้อนคิโนะซากิ (Kinosaki Onsen) ในเมืองโทโยโอกะ (Toyooka) จังหวัดเฮียวโงะนั่นเอง

คิโนะซากิออนเซ็น แม่น้ำโอทานิ Otani River Kinosaki Onsenนักดับเพลิง นักผจญเพลิง คิโนะซากิ Onsen

คิโนะซากิออนเซ็นขึ้นชื่อในเรื่องบรรยากาศริมแม่น้ำโอทานิ (Otani River) ที่เงียบสงบเหมาะแก่การเดินเล่นชมบรรยากาศแบบเนิบช้า แต่ในช่วงต้นปีแม่น้ำสายนี้ที่นิ่งสงบมาตลอดทั้งปีจะเกิดแรงกระเพื่อมจากการฉีดน้ำของเหล่านักผจญเพลิงในประเพณีเดโซเมะชิกิ หรือ ประเพณีฉลองปีใหม่ของนักผจญเพลิงแห่งคิโนะซากิ (Kinosaki Fire Brigade’s New Year’s Ceremony) โดยอาสาสมัครนักผจญเพลิงของคิโนะซากิออนเซ็นจะมารวมตัวกันเพื่อร่วมขบวนพาเหรดรอบเมือง ตามด้วยการโชว์ฉีดน้ำดับเพลิงเหนือแม่น้ำโอทานิ

Dezomeshiki เดโซเมะชิกิ รถดับเพลิง Kinosaki

บรรยากาศของรถดับเพลิงสีแดงสดวิ่งผ่านถนนแคบๆ ที่เรียงรายไปด้วยต้นหลิวและแหล่งน้ำใสสะอาด ทำให้ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้คนในท้องถิ่นได้สัมผัสกับทัศนียภาพอันตระการตาและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่ง 1 ปีมีให้ชมแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

Dezomeshiki เดโซเมะชิกิ นักผจญเพลิง ปีใหม่ ฉีดน้ำ ฉลองปีใหม่ คิโนะซากิออนเซ็นTwitter @minatoya13

ความเป็นมาของประเพณีเดโซเมะชิกินั้นต้องย้อนไปในปี ค.ศ. 1657 เกิดเหตุเพลิงไหม้ในเมืองเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100,000 คน ต่อมาสองปีให้หลังเดโซเมะชิกิครั้งแรกก็ถูกจัดขึ้นโดยผู้ว่าการท้องถิ่นและหน่วยดับเพลิงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะปลุกจิตวิญญาณของผู้อยู่อาศัยให้ตระหนักถึงความอันตรายของอัคคีภัย พร้อมกับสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนรุ่นต่อไป

อาสาสมัคร นักผจญเพลิง คิโนะซากิออนเซ็นTwitter @minatoya13

หลังจากเดโซเมะชิกิครั้งแรกถูกจัดขึ้นในเมืองเอโดะ เมืองต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มจัดเดโซเมะชิกิในรูปแบบของตนเอง บางแห่งมีการนำขนบธรรมเนียมและศิลปะพื้นบ้านมานำเสนอร่วมกัน  เนื่องจากชาวคิโนะซากิและหน่วยงานท้องถิ่นมีความจริงจังกับการป้องกันอัคคีภัยเป็นอย่างมาก เดโซเมะชิกิของคิโนะซากิออนเซ็นจึงเป็นประเพณีที่ผู้คนต่างตั้งหน้าตั้งตารอชม โดยมีอาสาสมัครนักผจญเพลิงประมาณ 100 คนเข้าร่วมในขบวนพาเหรด นอกจากพวกเขาจะอุทิศเวลาเพื่อปกป้องคิโนะซากิออนเซ็นและชาวบ้านแล้ว เหล่าอาสาสมัครยังฝึกซ้อมดับเพลิงเป็นประจำ รวมถึงเรียนรู้วิธีการเจาะท่อและการตรวจสอบเครื่องยนต์อีกด้วย

คิโนะซากิ ออนเซ็น ปีใหม่ เดโซเมะชิกิTwitter @minatoya13

สำหรับเหตุการณ์ในช่วงหลังที่ชาวคิโนะซากิประสบกับอัคคีภัยคือปี ค.ศ. 1925 ซึ่งเป็นปีที่เกิดแผ่นดินไหวที่แถบทาจิมะส่วนเหนือ (ตรงกับเมืองโทโยโอกะและหมู่บ้านบ่อน้ำพุร้อนคิโนะซากิ)ครั้งนั้นเป็นแผ่นดินไหวขนาด 6.8 แมกนิจูด ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้อาคารในคิโนะซากิทั้งหมดพังถล่มลงมา แต่ยังเกิดในช่วงเช้าตรู่ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังยุ่งกับการเตรียมอาหาร ทำให้ไฟลุกลามไปทั่วทั้งเมืองอย่างรวดเร็ว แผดเผาซากปรักหักพังของอาคารที่พังถล่มลงมาซ้ำอีก จนมีผู้คนในหมู่บ้านคิโนะซากิเสียชีวิตกว่า 200 ราย หลังจากมีการหารือกันพักใหญ่ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าจะสร้างอาคารหลายหลังขึ้นใหม่ด้วยโครงสร้างไม้แบบดั้งเดิม และจะสร้างอาคารใหม่จำนวนหนึ่งด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อป้องกันอัคคีภัยในอนาคตอีกด้วย

กำแพงป้องกันอัคคีภัย ฮิบุเสะคาเบะ Hibuse Kabe Kinosaki Onsen

ไม่น่าเชื่อว่าหมู่บ้านบ่อน้ำพุร้อนคิโนะซากิที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวกันทุกวันนี้จะผ่านเหตุการณ์ที่น่าเศร้ามาขนาดนี้ โดยมีการสร้าง “ฮิบุเสะคาเบะ” หรือ “กำแพงป้องกันอัคคีภัย” เพื่อรำลึกเหตุการณ์เกี่ยวกับอัคคีภัยทั้งหมด ซึ่งกำแพงที่ว่านี้อยู่บนถนนคิยามาจิ (Kiyamachi Street) ที่อยู่ใจกลางหมู่บ้าน แต่ถ้าใครอยากมีประสบการณ์แสนพิเศษ แนะนำให้มาเที่ยวคิโนะซากิออนเซ็นในช่วงปีใหม่เพื่อชมประเพณีเดโซเมะชิกิของคิโนะซากิออนเซ็นที่จัดขึ้นอย่างน่าตื่นตาไม่แพ้ที่ไหน

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ