Asakusa Culture Tourist Information Center : อาซากุสะศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่สวยที่สุดในโตเกียว
การต่อยอดภูมิปัญญาของวัฒนธรรมเก่าสู่วัฒนธรรมร่วมสมัย ทำให้ของเก่ามีชีวิตชีวา มีเอกลักษณ์ของตัวเอง มากกว่าที่จะกลืนไปตามกระแสหลักตะวันตกจนเสียเสน่ห์ ถือเป็นอีกจุดเด่นของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น เช่น การใช้ไม้ที่มีรายละเอียดต่างๆ ในหลายส่วน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัสดุให้เลือกใช้หลากหลายก็ตาม แต่การใช้ไม้ในงานสถาปัตยกรรมยังสามารถต่อยอดสู่ลมหายใจในปัจจุบัน
ย่านอาซากุสะในโตเกียว เป็นย่านที่คึกคัก คลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก เพราะอยู่ในเขตตัวเมือง และเป็นย่านที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายจุด เช่น ที่สี่แยกหัวมุมตรงข้ามประตูคะมินะริมง (Kaminarimon Gate) ซึ่งเป็นประตูสู่วัดเซนโซจิ (Sensoji Temple) วัดพุทธเก่าแก่ของโตเกียว ก่อตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ประตูคะมินะริมงนี้จัดว่าเป็นไฮไลท์ของย่านนี้เลยก็ว่าได้ เป็นจุดที่ใครต่างก็นิยมมาถ่ายรูปกับประตูเสาสีแดง ที่มีเอกลักษณ์คือโคมไฟสีแดงขนาดใหญ่ แขวนลงมาจากกรอบประตูให้คนลอดไปมาได้ จากนั้นจึงเดินไปยังร้านรวงที่เปิดขายของต่างๆ ยาวกว่า 400 เมตร
ณ แยกที่ประจันหน้ากับประตูคะมินะริมง มีอาคารสูง 8 ชั้น ที่ดูแตกต่างจากตึกทั่วไปโดยรอบคล้ายกล่องดำหุ้มด้วยเปลือกไม้ 7 กล่อง เรียงทับกันไปมา ชวนสงสัยว่ามีอะไรภายใน ซึ่งมันคือศูนย์บริการนักท่องเที่ยว “Asakusa Culture Tourist Information Center” ออกแบบโดย เคงโกะ คุมะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ชอบทดลองกับวัสดุต่างๆ เป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นไม้ หิน โลหะ หรืออื่นๆ สำหรับงานนี้วัสดุที่ถูกแสดงตัวตนออกมาชัดเจนที่สุดคือไม้
นอกจากที่ Asakusa Culture Tourist Information Center จะเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแล้ว ในอาคารยังมีพื้นที่รองรับกิจกรรมหลายอย่างให้ส่งเสริมกับการท่องเที่ยวในโตเกียว เช่น ห้องประชุม โถงอเนกประสงค์ พื้นที่จัดนิทรรศการ ความแตกต่างของการใช้สอยภายในถูกแสดงออกมาสู่เปลือกอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เมื่อมองมายังภายนอกอาคารนี้ดูคล้ายกับรูปตัดของแต่ละชั้นที่มีการใช้สอยต่างกัน แต่ถูกออกแบบให้ดูกลมกลืนกันด้วยสีดำและระแนงไม้แนวตั้งที่คุมจังหวะให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน
เมื่อเข้าไปยังอาคารนี้ จะพบกับส่วนต้อนรับก่อนเป็นส่วนแรก ส่วนนี้จะมีการบริการให้ข้อมูลการท่องเที่ยวในโตเกียว นักท่องเที่ยวสามารถมานั่งพัก ใช้ห้องน้ำ พร้อมกับมีที่เสียบปลั๊กไว้บริการ พื้นที่ส่วนนี้ออกแบบให้เป็นโถงสูง มีชั้นลอย สามารถมองเห็นกันทั้ง 2 ชั้น เกิดความเชื่อมโยงทางสายตาจากภายในและเชื่อมไปยังภายนอกที่ถนนด้านหน้าอีกด้วยจากนั้นเมื่อขึ้นไปยังชั้นต่อมาจะพบกับห้องอเนกประสงค์ ห้องประชุมที่ชั้น 6 ส่วนจัดนิทรรศการหมุนเวียนที่ชั้น 7 และขึ้นไปได้สูงสุดที่ชั้น 8 ซึ่งเป็นร้านอาหารที่สามารถมองวิวกว้างของโตเกียว หรือจะชมวิวแบบไม่ต้องเข้าไปนั่งในร้าน ก็มีจุดชมวิวที่เป็นระเบียงอยู่ข้างกัน จุดนี้สามารถมองเห็นแกนที่พุ่งตรงจากประตูคะมินะริมงสู่วัดเซนโซจิได้ชัดเจน ถ้ามองไปยังฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะเห็นวิวฝั่งแม่น้ำสุมิดะและโตเกียวสกายทรีด้วย
เป็นวิวที่ดี มีราคาที่ต้องจ่ายแค่เดินขึ้นมายังชั้น 8 เท่านั้นเอง
สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นอีกรูปแบบที่น่าสนใจคือมะชิยะ หรือเรือนแถวไม้แบบญี่ปุ่นโบราณ หน้าต่างเรือนแบบนี้จะมีแผงไม้แนวตั้งที่สามารถบังแดดและ เพิ่มความปลอดภัย ถูกใช้มากที่ซุ้มหน้าต่างด้านหน้า จนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ระแนงของมะชิยะชวนให้นึกถึงระแนงภายนอกที่หุ้มทั้งอาคารของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแห่งนี้ ระแนงไม้ถูกวางไว้ที่เปลือกภายนอก บนกระจก มันช่วยกรองแสงจากภายนอก พร้อมกับสร้างความรู้สึกกึ่งทึบกึ่งโปร่งให้กับผู้ใช้ภายในอาคาร ทำให้รู้สึกพรางตัวอย่างส่วนตัวได้ในบางมุม แต่ยังสามารถเชื่อมโยงกับภายนอกได้ด้วยสายตา เนื่องจากการออกแบบอาคารนี้ สถาปนิกเลือกใช้วิธีให้กิจกรรมภายในถูกแสดงออกมาภายนอกอย่างชัดเจน เช่นในชั้นที่มีพื้นลาดเอียงจากการเป็นที่นั่งให้ห้องประชุมและโรงละคร เส้นของพื้นแนวเพดานที่ลาดเอียงตามการใช้สอยได้ถูกดึงออกมายังภายนอก จนมองในภาพรวมอาจเห็นร่องรอยความขัดแย้งจากเส้นสายเหล่านี้ แต่สิ่งที่ช่วยลดความขัดแย้งนี้ลงได้คือการทำให้เส้นเหล่านี้เป็นสีดำ จนดูกลมกลืนกันไป แต่ยังคงเห็นร่องรอยได้จากการเว้นจังหวะของระแนงไม้ภายนอก การใช้จังหวะในการออกแบบนี้ช่วยลวงตาให้อาคารไม่ดูชะลูดพร้อมกันจนเกินไป
ความน่าสนใจของการใช้ไม้ในงานนี้คือ ความต่อเนื่องจากระแนงไม้ที่ไม่ได้เป็นแค่เปลือกภายนอก แต่ไหลเข้ามายังภายในเป็นฝ้า ก่อเกิดความกลมกลืนกันไปทั้งงาน เป็นประโยคการออกแบบที่ใช้ไวยากรณ์เดียวกัน หากเข้ามายังอาคารนี้แล้วให้ลองสังเกตการดัดแปลงรายละเอียดของระแนงไม้ที่แปลงจากแผงบังหน้าบ้าน กลายเป็นทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ในสถาปัตยกรรม เช่น ฝ้า ที่นั่ง เคาน์เตอร์ เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ การใส่ใจในการออกแบบรายละเอียดของสถาปนิกทำให้งานมีเสน่ห์ได้มากขึ้นเลยทีเดียว
เมื่อเดินทางมาถึงย่านอาซากุสะแล้ว นอกจากไปถ่ายรูปคู่กับโคมไฟยักษ์สีแดงหน้าประตูคะมินะริมง ขอให้ลองเดินเข้ามาชมอาคารนี้ แล้วจะได้พบว่าสถาปัตยกรรมบรรจุกิจกรรมใหม่ แต่ส่งเสริมกิจกรรมในย่านเก่าได้น่าสนใจอย่างไร