กาลครั้งหนึ่ง เมื่อปลา (นิล) ว่ายน้ำมาจากโตเกียว
สารบัญ
Once upon a time when fish swam away from Tokyo..
กาลครั้งหนึ่ง เมื่อปลา (นิล) ว่ายน้ำมาจากโตเกียว
_ _ _
ปลาของสองราชา
ปลานิลคงไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ หากวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มิเชิญเสด็จสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งประเทศญี่ปุ่นไปทอดพระเนตรปลา และคงมิกลายเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นจวบจนปัจจุบัน อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็น “ปลานิล” ที่มาที่ไปเกิดจากเรื่องปลานั้นเป็นเพราะว่า…
มีนกรแห่งบัลลังก์เบญจมาศ
มีนกร คือ คำกล่าวเรียกบุคคลผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องปลา บุคคลสำคัญของญี่ปุ่น หนึ่งในมีนกรที่หลายคนอาจยังไม่รู้จักมากนักคือ “สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ”
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ณ กรุงโตเกียว มี
พระชนมายุน้อยกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ถึง 6 พรรษา สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ และเป็นรัชทายาทอันดับ 1 แห่งญี่ปุ่น เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2532 ทรงเคยศึกษาด้านการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยกะกุชูอิง (Gakushuin University) และยังทรงเป็นสมาชิกสมาคมนักวิจัยพันธุ์ปลาแห่งญี่ปุ่น (The Ichthyological Society of Japan) ที่มีสมาชิกถึง 1,300 คนด้วยเช่นกัน
ความสนพระราชหฤทัยด้านปลามิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความชอบส่วนพระองค์ หากแต่มีพระราชบิดาเป็นต้นแบบ เบื้องหลังของการศึกษานี้เป็นเพราะในยุคสมัยนั้นหลายประเทศในทวีปยุโรปให้ความสนใจด้านชีววิทยา อีกทั้งวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เจริญก้าวหน้า ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะและพระองค์หันมาสนใจศึกษาด้านนี้ เพื่อให้ประเทศญี่ปุ่นก้าวทันตามความเปลี่ยนแปลงรวมถึงพัฒนาและผลักดันให้ประเทศเข้าใกล้
คำว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น จึงนับว่าสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ คือหนึ่งในผู้ที่ทุ่มเทเพื่อประเทศเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลาบู่ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทความเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ไว้กว่า 30 ฉบับ และยังมีปลาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการตั้งชื่อตามพระนามด้วยเช่นกัน
นอกจากการศึกษาเพื่อสร้างประเทศแล้ว ในยุคสมัยของพระองค์ ทรงลบภาพลักษณ์ของจักรพรรดิที่มีฐานะเปรียบเสมือนสมมติเทพดั่งเช่นสมัยพระบิดา โดยทรงเป็นดั่งสะพานเชื่อมด้วยพระราชกรณียกิจต่างๆ ให้ราชวงศ์กับ
ประชาชาชนมีความใกล้ชิดกันมายิ่งขึ้น ทรงทุ่มเททั้งพระวรกายและพระราชหฤทัย ชาวญี่ปุ่นจึงได้อาศัยใต้ร่มพระบารมีอย่างวางใจและเชื่อใจ ส่งผลให้พระองค์ทรงกลายเป็นที่รัก สมดั่งชื่อแห่งยุคสมัย “Heisei” ที่แปลว่า “ความสงบสุข” ของพระองค์ท่านอย่างแท้จริง
ปลาตัวน้อยจากมือน้องสู่มือพี่
หนึ่งในความสงบสุขอย่างแท้จริงคือการที่หลายประเทศมีความเกื้อกูลต่อกัน ในระหว่างที่ประเทศต่างๆ เริ่มผูกสัมพันธไมตรีกันมากขึ้น กษัตริย์ก็อาจเป็นหนึ่งในผู้แทนที่ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตนได้
ไม่มากก็น้อย
ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะยังทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 มกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ รัชกาลที่ 9 เชิญเสด็จพระองค์ไปทอดพระเนตรปลาที่พิพิธภัณฑ์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ที่แห่งนี้ มกุฎราชกุมารทรงได้พบขวดปลาบู่สายพันธุ์แรกของโลกที่ค้นพบโดย ดร. ฮิวจ์ แมกคอร์มิก สมิท นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาระดับโลกที่นักศึกษาเรื่องปลาทุกคนรู้จัก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงสนพระราชหฤทัยอย่างมาก
ในเวลาเดียวกัน รัชกาลที่ 9 ทรงหาแนวทางพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทย อาหารจึงเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญ ปกติร่างกายคนเราต้องการสารอาหารประเภทโปรตีนสูง ยุคนั้นชาวบ้านทั่วไปยังเข้าถึงอาหารที่มีโปรตีนได้ยาก โดยเฉพาะชุมชนที่ห่างไกลแหล่งน้ำ พระองค์ทรงนึกถึงปลาน้ำจืดที่เพาะพันธุ์ง่าย ตัวอ้วนพี ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีปลาคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน ใน พ.ศ. 2508 รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับทูลเกล้าถวายปลาจากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะจำนวน 50 ตัว
ปลาของปวงชน มาจากบ่อในวังของพ่อ
ปลาที่ได้รับมาถูกนำมาเลี้ยงไว้ในบ่อวังสวนจิตรลดาที่รัชกาลที่ 9 ทรงสั่งให้ขุดเป็นพิเศษ มีขนาดเพียง 10 ตารางเมตร ทรงผันพระองค์จากกษัตริย์มาเป็นเกษตรกร เพื่อฟูมฟักปลาด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด จากลูกปลาตัวน้อยน่ารักขนาด 9 เซนติเมตร เติบโตเป็นปลาตัวใหญ่ขนาด 30 เซนติเมตร ภายในเวลา 5 เดือน จากปลาเพียง 50 ตัวก็ขยายพันธุ์เต็มบ่อ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมีรับสั่งให้ขุดบ่อเพิ่มอีก 6 บ่อ บ่อละ 70 ตารางเมตร ทรงใช้สวิงย้ายปลาจากบ่อแรกไปไว้บ่อใหม่ทีละบ่อด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังพระราชทานชื่อปลาว่า “ปลานิล” อีกด้วย เดิมทีปลานิลมีถิ่นกำเนิดจากลุ่มแม่น้ำไนล์ ในประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่าปลาอิสุมิไดหรือชิกะได
เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2509 รัชกาลที่ 9 ทรงมอบปลานิลให้แก่กรมประมง 10,000 ตัว นำไปขยายพันธุ์ต่อเพื่อมอบให้ชาวบ้านต่อไป แต่จำนวนปลาที่กรมประมงเพาะไม่เพียงพอต่อความต้องการ พระองค์จึงทรงเร่งขยายจำนวนปลาช่วยกรมประมงเพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง
ปลานิลสายพันธุ์แท้ล้วนมาจากบ่อเลี้ยงในวังสวนจิตรลดา เมื่อย้ายไปอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงทำให้ปลากลายเป็นพันธุ์ผสม ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ตลาดในต่างจังหวัด ทรงทอดพระเนตรปลานิลที่มีขนาดเล็กลง พระองค์จึงทรงเริ่มคิดค้นปลาสายพันธุ์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ปลากลับมาอ้วนพีดังเดิม ด้วยเหตุนี้ วังสวนจิตรลดาจึงมีปลาอีกหลายพันธุ์ที่เกิดจากปลานิลสายพันธุ์แท้ หนึ่งในนั้นคือปลาทับทิม ก่อนทรงมอบให้กรมประมงเพื่อนำไปแจกจ่ายชาวบ้านใหม่อีกครั้ง
พระวิริยอุตสาหะของพระองค์เพื่อประชาชนชาวไทยตลอดระยะเวลา 50 ปี เริ่มมาจากปลานิลในบ่อเพียง 50 ตัว ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยผลิตปลานิลได้มากถึง 2 ร้อยล้านกิโลกรัมต่อปี จากฟาร์มปลา 3 แสนฟาร์มทั่วประเทศ โดยไม่นับรวมจำนวนปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติที่แยกต่างหาก
ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ มิได้มีเพื่อประชาชนเพียงเท่านั้น แต่เผื่อแผ่ไปยังอีกหลายประเทศที่นำโครงการพระราชดำรินี้ไปพัฒนาประเทศของตน มุ่งหมายให้อยู่ดีกินดีตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนผู้ยากไร้ ตามที่พระองค์ทรงเคยสัญญาไว้ เมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ของปวงชาวไทย
(ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างสองกษัตริย์แห่งยุคที่เริ่มมาจาก “ปลา” ทำให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตลอดมา และยังคงตราตรึงใจปวงชนชาวไทยและชาวญี่ปุ่นเช่นกัน หนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันความสัมพันธ์ในครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัดคือข้อความที่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงพระราชนิพนธ์ถึงประเทศไทยด้วยความอาลัยสุดซึ้งว่า…
ในค่ำวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งฉันกำลังเริ่มเขียนตอบจดหมายของผู้สื่อข่าว
ฉันได้รับข่าวอันน่าเสียใจเรื่องการสวรรคตของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชของประเทศไทย
พระองค์ทรงมีอายุมากกว่าฉัน 6 หรือ 7 ปี และทรงให้ความกรุณา
ต่อฉันเสมือนพี่ชายผู้แสนดีตั้งแต่ฉันยังอายุ 20 กว่าปี
ฉันได้ทราบข่าวเรื่องการประชวรของพระองค์
และหวังมาตลอดที่จะมีโอกาสได้พบพระองค์อีกสักครั้ง
ฉันขอแสดงความเสียใจมายังสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
และพระราชวงศ์ไทยทุกพระองค์ รวมทั้งประชาชนชาวไทย
ด้วยความอาลัยอย่างยิ่ง– สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ