ฉันมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์สารคดีของญี่ปุ่นเรื่อง Fujiko Hemming no Jikan หรือ Fuzjko Hemming: A Pianist of Silence & Solitude ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของฟูจิโกะ เฮมมิง คุณป้านักเปียโนผู้บกพร่องทางการได้ยิน แต่กลับเล่นเปียโนได้อย่างไพเราะจับใจ ปัจจุบันคุณป้าฟูจิโกะวัยแปดสิบตอนปลายยังคงเดินสายแสดงคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

ภาพยนตร์สารคดีของญี่ปุ่นเรื่อง Fujiko Hemming no Jikan หรือ Fuzjko Hemming: A Pianist of Silence & Solitude

คุณป้าฟูจิโกะมีชื่อเสียงจากสารคดีชีวประวัติในช่อง NHK รวมถึงการเดบิวต์อัลบั้ม “La Campanella” ในวัยหกสิบตอนต้น (ปี ค.ศ. 1999) โดยนำบทเพลงของนักเปียโนระดับโลกอย่าง Franz Liszt และ Frédéric Chopin มาเล่นในสไตล์ของตัวเอง และสามารถขายซีดีได้หลายล้านแผ่นแบบที่ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นในวงการเพลงคลาสสิกของประเทศญี่ปุ่น (คงเพราะด้วยเหตุนี้กระมัง คุณป้าฟูจิโกะจึงได้รับเชิญให้วาดภาพดอกไม้บนการ์ดในกล่องขนม Tokyo Campanella Chocolat หรือคุกกี้ช็อกโกแลตที่เป็นของฝากชื่อดังจากโตเกียว)

Tokyo Campanella Chocolat painted by ฟูจิโกะ เฮมมิงที่มาภาพ – tokyo-campanella.com/en/heart/

ฟูจิโกะ เฮมมิง เกิดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พ่อเป็นสถาปนิกและจิตรกรชาวรัสเซีย-สวีเดน แม่เป็นนักเปียโนชาวญี่ปุ่น คุณป้าฟูจิโกะกลับมาใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นและได้เรียนเปียโนกับแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ หลังจากนั้นได้ศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้นกับคุณครูเปียโนชาวรัสเซียเมื่อตอนอายุ 10 ขวบ คุณครูได้ทำนายไว้ว่าคุณป้าจะได้เป็นนักเปียโนชื่อก้องโลก

คุณป้าฟูจิโกะในวัย 17 เกิดภาวะหูด้านขวาสูญ-เสียการได้ยิน แต่คุณป้าก็ยังไม่ละทิ้งความฝัน หลังจากเรียนจบคุณป้าตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนีตอนอายุ 28 ปี ซึ่งการมีเปียโนเป็นสิ่งขับเคลื่อนชีวิตทำให้คุณป้าได้พบกับเหล่าคุณครูเปียโนชั้นยอดในเวลาต่อมา

แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง… เมื่อหูซ้ายของคุณป้าเกิดภาวะสูญเสียการได้ยิน หลังจากเข้ารับการรักษา หูด้านซ้ายกลับมาได้ยินเสียงเพียงแค่สี่สิบเปอร์เซ็นต์

แม้ว่าชีวิตจะประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว สถานะทางการเงิน และสุขภาพ แต่ชีวิตของคุณป้าฟูจิโกะก็ไม่อาจแยกจากเปียโน

เรื่องราวในวัยเด็กของนักเปียโนชื่อดัง ฟูจิโกะ เฮมมิง (Fujiko Hemming)

 

นี่คือเรื่องราวบางส่วนจากภาพยนตร์สารคดีที่ทางทีมงานได้ตามติดชีวิตคุณป้าฟูจิโกะ เฮมมิงราวๆ สองปี เพื่อนำฟุตเทจเหล่านั้นมาร้อยเรียงผสมผสานเข้ากับเรื่องเล่าจากช่วงต่างๆ ของชีวิต 

ตอนต้นของสารคดี ฉันได้เห็นความเป็นคนรักสัตว์เลี้ยงของคุณป้า ซึ่งอาศัยอยู่กับแมว 2 ตัว และสุนัข 1 ตัว ในอพาร์ทเมนท์เล็กๆ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 

สิ่งที่ฉันค่อนข้างประทับใจ คือการนำไดอารี่ของคุณป้าฟูจิโกะสมัยอายุ 14 ที่เล่าถึงชีวิตช่วงวันหยุดฤดูร้อนของตัวเองในกรุงโตเกียวสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี ค.ศ. 1946) มาเป็นส่วนหนึ่งในสารคดี ภาพสีสันสดใสที่คุณป้าวาดและตัวอักษรนิดๆ หน่อยๆ ที่คุณป้าเขียนลงไปอย่างไร้เดียงสาในสมุดบันทึก

ถูกนำมาตัดสลับกับความคิดของคุณป้าในปัจจุบันที่มองย้อนกลับไปในวันวาน (ไดอารี่เล่มนี้ถูกนำมาตี-พิมพ์เป็นหนังสือเมื่อปี ค.ศ. 2018 ในชื่อ Fujiko Hemming: Jyuyon-sai no natsuyasumi e-nikki นอกจากนี้ การเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในเมืองต่างๆ เช่น นิวยอร์ก เบอร์ลิน เกียวโต ฯลฯ ถือเป็นความทรงจำและประสบการณ์ที่สำคัญ ซึ่งระหว่างที่พำนักอยู่ต่างบ้านต่างเมือง คุณป้าฟูจิโกะก็ยังคงซ้อมเปียโนอย่างแข็งขัน

การแสดงเปียโนของ ฟูจิโกะ เฮมมิง (Fujiko Hemming)

ตอนหนึ่งของสารคดี คุณป้าโชว์ลีลาขณะซ้อมเปียโนเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นว่าระหว่างการเล่นเปียโนแบบใส่จิตวิญญาณลงไปกับการเล่นแบบไร้ชีวิตชีวานั้นให้เสียงและอารมณ์ความรู้สึกต่างกันอย่างไร (คุณป้าได้รับการขนานนามที่แปลเป็นไทยได้ประมาณว่า “นักเปียโนผู้เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ”)  

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ แม้จะมีความนิ่งงันเนือยๆ ปกคลุมบรรยากาศอยู่บ้าง แต่ก็ทำให้ฉันได้เข้าใจอีกครั้งว่า การอุทิศเวลาให้กับสิ่งที่ตัวเองสนใจหรือหลงใหลจริงๆ เป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถทำให้คนคนหนึ่งตระหนักได้ถึงคุณค่าของตนเอง

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ