Baz Poonpiriya | คนสร้างหนังอย่างไร้เกมส์โกง
สารบัญ
- Baz Poonpiriya
- Q. ไอเดียการทำเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” เริ่มมาจาก
- Q. ใช้เวลาทำภาพยนตร์เรื่องนี้นานแค่ไหน
- Q. ทำไมถึงวางตัวละครหลักอย่าง “ลิน” ให้เป็นผู้หญิง
- Q. สาเหตุที่วางพล็อตแบบนี้ อยากจะสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมไทยหรือเปล่า
- Q. คิดว่าหนังเรื่องนี้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้มากน้อยแค่ไหน
- Q. ด้วยกระแสตอบรับที่ดี คิดว่ามาจากการนำเสนอที่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิตหรือเปล่า
- Q. ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นที่ “ฉลาดเกมส์โกง” ได้เข้าฉายในญี่ปุ่น และได้รับรางวัล “Fukuoka Audience Award” ให้ฟังหน่อย
- Q. ก่อนหน้านี้เคยนำภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เข้าไปฉายในเทศกาลหนังที่ญี่ปุ่นบ้างไหม
- Q. คาดหวังกับเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ที่ได้เข้าไปฉายในญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง
- Q. ทราบมาว่ารางวัล “Fukuoka Audience Award” เป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลนี้ด้วย
- Q. ท่ามกลางภาพยนตร์ในแถบเอเชียที่เข้าฉายหลายเรื่อง อะไรทำให้เรื่องของตัวเองได้รับรางวัล
- Q. ทิศทางภาพยนตร์ของญี่ปุ่นกับของไทยเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
- Q. จากรางวัลและเสียงตอบรับ ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้แล้วหรือยัง
- Q. การทำภาพยนตร์ สำหรับตัวเองแล้วคืออะไร
- Q. เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าไอเดียตัน คิดไม่ออก หรือเทภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ทิ้งบ้างไหม
- Q. การเสพภาพยนตร์ของคนไทยในอดีตกับปัจจุบันต่างกันมากน้อยแค่ไหน
- Q. ในสังคมที่เสพสื่อทางออนไลน์มากขึ้น มีวิธีปรับตัวอย่างไรบ้าง
- Q. หากวันนี้ไม่ใช่ผู้กำกับพันล้าน คิดว่าตัวเองยังจะสวมบทบาท “ผู้กำกับ” อยู่ไหม
Baz Poonpiriya
สำหรับภาพยนตร์มาแรงแห่งปี 2017 และดูเหมือนว่ากระแสยังคงถูกพูดถึงมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอย่าง “ฉลาดเกมส์โกง” ที่สามารถผลักดันให้ตัวละครในจอเงินออกมาโลดแล่นบนโลกแห่งความเป็นจริงด้วยบทบาทที่นับว่ากระแทกสังคมและเข้าถึงผู้คนอย่างตรงไปตรงมา จึงไม่น่าแปลกใจที่นักแสดงของเรื่อง ต่างเป็นที่กล่าวถึงในหลายสื่อ ทั้งในฐานะของตัวละครและตัวผู้แสดง ทั้งยังการันตีด้วยรางวัลมากมายที่กวาดมานับไม่ถ้วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้กำลังกายและสมองของเขาผู้นี้ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (Baz Poonpiriya) ผู้กำกับหนุ่มวัย 36 ปี ที่บอกกับเราว่าเพิ่งนั่งแท่นผู้กำกับได้เพียงไม่นาน ประสบการณ์นับว่ายังน้อย แต่ภาพที่เราเห็น ผลงานที่ประจักษ์ต่อสายตานับล้านคู่ กระแสตอบรับอันล้นทะลัก ไม่สามารถทำให้เราสรรหาถ้อยคำใดๆ มาบรรยาย “ความเจ๋ง” นี้ได้หมด กาลเวลาเพียงน้อยนิดไม่อาจจำกัดประสิทธิภาพอันล้นเหลือของเขาได้เลย แม้ชื่อภาพยนตร์จะชูโรงด้วยคำว่า “เกมส์โกง” แต่ความสามารถของเขาล้วนมาจากฝีมือที่ “ไร้เกมส์โกง” อย่างแท้จริง
Q. ไอเดียการทำเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” เริ่มมาจาก
มาจากทางโปรดิวเซอร์ของภาพยนต์ครับ ซึ่งเขาไปได้ยินข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับกลุ่มนักเรียนของประเทศหนึ่งที่บินไปสอบข้อสอบ SAT ในประเทศที่เวลาเร็วกว่า เราเลยจับประเด็นนี้มาสร้างเป็นหนังในแบบของเรา ทั้งเรื่องการวางพล็อต ตัวละคร ฉาก การดำเนินเนื้อเรื่อง ซึ่งเราให้ “ลิน” เป็นตัวละครหลักในการเล่าเรื่อง ก่อนตามมาด้วยตัวละครอีก 3 คนที่เหลือ ซึ่งทำให้หนังเข้มข้นขึ้นและเล่าเรื่องไปตามสตอรี่ของมัน
Q. ใช้เวลาทำภาพยนตร์เรื่องนี้นานแค่ไหน
ประมาณ 22 วันครับ
Q. ทำไมถึงวางตัวละครหลักอย่าง “ลิน” ให้เป็นผู้หญิง
ส่วนตัวผมเป็นคนที่รู้สึกว่าชอบทำหนังที่มีตัวละครผู้หญิงเป็นหลักอยู่แล้วครับ
Q. สาเหตุที่วางพล็อตแบบนี้ อยากจะสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมไทยหรือเปล่า
การทำหนังมันคือการสะท้อนมุมมองบางอย่างของผู้สร้างที่มีต่อโลกและชีวิตอยู่แล้วครับ ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่แค่การทำหนังด้วยซ้ำ แต่เป็นงานศิลปะเกือบทุกแขนง
Q. คิดว่าหนังเรื่องนี้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้มากน้อยแค่ไหน
น้อยกว่าพี่ตูนวิ่งแน่ๆ (หัวเราะ) แต่สำหรับผม ถ้างานที่เราทำสามารถเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อชีวิตของคน แม้จะเปลี่ยนแค่คนเดียว ผมก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อยแล้วครับ
Q. ด้วยกระแสตอบรับที่ดี คิดว่ามาจากการนำเสนอที่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิตหรือเปล่า
ผมว่ามาจากหลายเหตุผลผสมกันครับ ที่ว่ามาก็ส่วนหนึ่ง
Q. ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นที่ “ฉลาดเกมส์โกง” ได้เข้าฉายในญี่ปุ่น และได้รับรางวัล “Fukuoka Audience Award” ให้ฟังหน่อย
เรื่องนี้เริ่มจากทางเทศกาลติดต่อมาแล้วเราก็ตัดสินใจเดินทางไปร่วมงานทันที เพราะจริงๆ เป็นคนชอบประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้วครับ ยิ่งพอได้รับรางวัลก็รู้สึกดีใจมากๆ แถมการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ยังไปพร้อมกับคนทำหนังชาวไทยอีกหลายคน รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีของ Thai Filmmakers ที่โชคดีได้มายืนอยู่ตำแหน่งนี้พร้อมหน้าพร้อมตากันครับ
Q. ก่อนหน้านี้เคยนำภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เข้าไปฉายในเทศกาลหนังที่ญี่ปุ่นบ้างไหม
ไม่เคยครับ
Q. คาดหวังกับเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ที่ได้เข้าไปฉายในญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง
ไม่คาดหวังเลยครับ ความเห็นที่แตกต่างคืออาหารที่ดีของคนทำงานศิลปะอยู่แล้ว
Q. ทราบมาว่ารางวัล “Fukuoka Audience Award” เป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลนี้ด้วย
อันนี้ไม่ทราบเลยจริงๆ ครับ
Q. ท่ามกลางภาพยนตร์ในแถบเอเชียที่เข้าฉายหลายเรื่อง อะไรทำให้เรื่องของตัวเองได้รับรางวัล
อาจจะเพราะหนังมันมีภาษาหนังและท่าทีการเล่าที่เข้าใจง่ายและเป็นสากลมั้งครับ สุดท้ายไม่แน่ใจเหมือนกัน
Q. ทิศทางภาพยนตร์ของญี่ปุ่นกับของไทยเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ผมว่าญี่ปุ่นน่าจะมีภาพยนตร์ที่ครบรสกว่าถ้าเทียบกันโดยภาพรวม แต่ไทยเราก็มีดีที่ความแซ่บครับ เทียบกันยาก ดีกันคนละแบบ
Q. จากรางวัลและเสียงตอบรับ ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้แล้วหรือยัง
มากกว่าที่ตั้งใจไปไกลโขเลยครับผม
Q. การทำภาพยนตร์ สำหรับตัวเองแล้วคืออะไร
ผมว่าการทำหนังมันคือการสื่อสารทางอารมณ์ ความคิด จิตใจ ให้ผู้ชมรับรู้และบำบัดสภาพจิตใจของผู้สร้างไปด้วยในเวลาเดียวกัน
Q. เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าไอเดียตัน คิดไม่ออก หรือเทภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ทิ้งบ้างไหม
ไม่เคยเลยครับ การเลือกหยิบจับหัวข้อไหนมาทำหนังก็เหมือนการขอผู้หญิงแต่งงาน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด และอยากรับผิดชอบมันให้ดีที่สุด
Q. การเสพภาพยนตร์ของคนไทยในอดีตกับปัจจุบันต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ผมว่าการเสพหนังและความเปลี่ยนแปลงก็เหมือนฟู้ดคอร์ตที่เริ่มมีอาหารแปลกๆ เข้ามาขาย แต่สุดท้ายร้านที่ขายดีสุดอาจจะยังเป็นก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ข้าวขาหมูอยู่ แต่ถ้าพ่อค้าแม่ค้ามีศรัทธาในสิ่งที่เขาขาย ร้านก็จะอยู่ได้ แม้จะเหนื่อยและใช้เวลาหน่อย แต่ถ้าทำด้วยความรัก อาหารก็จะอร่อยแน่ๆ และวันหนึ่งลูกค้าจะรับรู้เอง
Q. ในสังคมที่เสพสื่อทางออนไลน์มากขึ้น มีวิธีปรับตัวอย่างไรบ้าง
สื่อออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารไอเดียของโปรเจกต์บางอย่างให้คนทั่วไปได้รับรู้ครับ ข้อดีคือมันง่ายที่จะหาทางคอนเน็กกับผู้ชมทั่วไปให้เขารับรู้ถึงการมีอยู่ของผลงานเรา ส่วนข้อเสียคือจะทำยังไงถึงจะใช้โซเชียลอย่างพอดีๆ ซึ่งผมว่าบางทีคนทำหนังต้องคอยตีมือตัวเองไม่ให้ Over sale โปรดักต์ของตัวเองมากจนเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ส่งผลดีกับใครทั้งนั้น
Q. หากวันนี้ไม่ใช่ผู้กำกับพันล้าน คิดว่าตัวเองยังจะสวมบทบาท “ผู้กำกับ” อยู่ไหม
ผมเพิ่งอยู่สถานะนี้ได้ไม่ถึงปี ที่ผ่านมาของการประกอบสายอาชีพนี้อีกเกือบสิบปี คือคนทำงานศิลปะธรรมดาๆ คนหนึ่งพร้อมเครดิตหนังเจ๊งในมืออีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งผมว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นคำตอบในตัวมันเองนะครับ
ติดตามผลงานได้ที่
Facebook: www.facebook.com/baz.poonpiriya
Instagram: bazp
Vimeo: vimeo.com/bazpoonpiriya