Water Temple : ตีความพุทธศาสนาผ่านสถาปัตยกรรมด้วยสัญลักษณ์ของน้ำ
จากคราวที่แล้วได้เล่าถึงการมาเยือนเกาะอะวะจิ เพื่อเยี่ยมชมงานอะวะจิ ยุเมะบุไตของอันโดะ ทะดะโอะ (Tadao Ando) แต่ในเกาะนี้งานของเขาไม่ได้มีแค่งานเดียว ในระยะไม่ไกลนักจากงานอะวะจิ ยุเมะบุไต มีงานที่มีชื่อเสียงมากอีกชิ้นของอันโดะอยู่ด้วยเช่นกันคือ ฮมปุคุจิ หรือ Water Temple
Water Temple เป็นวัดพุทธในนิกายชินงอน เช่นเดียวกับวัดคันโนะจิที่โตเกียว ที่เคยเล่าสู่กันฟังไปในคอลัมน์ก่อน ตั้งอยู่ในเขตเมืองฮมปุคุจิเก่า จังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) ห่างจากอะวะจิ ยุเมะบุไตราว 3 กิโลเมตร ระหว่างทางไปยังวัดจะพบกับบ้านเรือนที่กระจายตัวในแบบชนบท ทุ่งนา ทิวเขาขนานไปกับทะเล ในช่วงแรกของการเดินจะเป็นเส้นทางราบ จากนั้นช่วงสุดท้ายถึงจะเดินขึ้นเขาสักนิดก่อนจะได้เจอกับวัดนี้
หลังจากที่อันโดะได้ออกแบบโบสถ์แห่งแสงในปี 1989 เขาก็ได้ออกแบบโบสถ์แห่งนี้ต่อในปี 1991 หากลองดูแนวการทำงานต่อศาสนสถาปัตยกรรมของเขาแล้ว สถาปัตยกรรมคือการตีความในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ศาสนาคือการอธิบายการเข้าหาธรรมชาติรูปแบบหนึ่ง การออกแบบที่เขาเสนอจึงให้ศาสนาสถาปัตยกรรมทำงานกับธรรมชาติผ่านองค์ประกอบต่างๆ จนเป็นเอกลักษณ์ที่แข็งแรงในแต่ละงานของเขาเอง อย่างเช่นการเจาะช่องแสงรูปไม้กางเขนในกล่องคอนกรีตแห่งความมืดที่โบสถ์แห่งแสงจนโด่งดังไปทั่วโลกกับงาน Water Temple นี้ มันคือการตีความพุทธศาสนาผ่านสถาปัตยกรรมด้วยสัญลักษณ์ของน้ำ
น้ำกลายเป็นพระเอกของการเล่าเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา
กลวิธีที่สถาปนิกใช้กับการดำเนินเรื่องราวในงานออกแบบของเขา มีพระเอกคือเหล่าระนาบคอนกรีตเช่นกับโบสถ์แห่งแสงที่โอซาก้า ระนาบคอนกรีตที่ชักนำเราเข้าสู่ยังหัวใจของวัดคือ 2 ระนาบ ระนาบที่ 1 คือผนังสูงขวางเราจากทิวทัศน์ด้านหลัง มันถูกวางขวางในแนวทิศตะวันออก-ตก เมื่อแรกเข้าเราต้องผ่านระนาบนี้จากช่องสี่เหลี่ยมที่ออกแบบไว้ทางซ้าย จากนั้นจึงเดินลัดเลาะเลียบคอนกรีตไปยังทิศตะวันออกจนสุดผืนคอนกรีต จากนั้นจะพบกับปลายระนาบคอนกรีตโค้งที่ 2 มันบิดตัวพาเราไปยังทางลงยังภายในโบสถ์ จากทางเดินเลียบเลาะผนังคอนกรีตโค้งโอบอุ้มสระบัวคอนกรีตรูปไข่เอาไว้ โดยมีทิวทัศน์ของป่าไผ่ ภูเขา อยู่เบื้องหน้าแล้วสะท้อนลงบนผิวน้ำของสระบัว
ในพุทธแบบวัชรยาน บัวคือตัวแทนแห่งสวรรค์
สระบัวที่เป็นรูปวงไข่ ถูกคั่นออกด้วยทางเดินตรงกลาง เพื่อดิ่งลงไปยังที่สถิตของพระพุทธรูป สุดทางเดินให้เลี้ยวซ้าย เพื่อเจอกับแสงทางทิศตะวันตกที่ผสมมากับผนังไม้ขัดสีแดง ผสมกันจนทำให้ปริมาตรของที่ว่างส่วนทางเข้าที่ดูกระด้างจากผนังคอนกรีตเปลือยแลดูมีชีวิตชีวาจากแสงสีแดง เมื่อพาตัวเองเดินวนทวนเข็มนาฬิกาจนสุดทาง จึงจะพบกับแท่นบูชาพระที่ฉาบด้วยสีทอง อยู่ภายใต้โคมห้อยที่ฉาบสีทองอีกชั้น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ล้อมด้วยกรอบไม้สีแดงเป็นรูปตาราง สีแดงช่วยขับให้สีทองจากศูนย์กลางห้องที่มีอยู่ในปริมาณน้อย สามารถโดดเด่นขึ้นมาได้ในความมืด สีแดงกับทองดูเข้าเป็นอย่างดี เมื่อสีแดงถูกวางเป็นฉากหลังให้กับทอง มันช่วยเสริมความอร่ามของทองให้ชัดเจน ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับร้านทองในบ้านเราที่นิยมใช้วิธีนี้เช่นกัน
ห้องบูชานี้อยู่ทางทิศตะวันตก ช่องแสงที่สถาปนิกเลือกเจาะเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาก็ถูกดึงแสงเข้ามาจากทิศตะวันตกซึ่งมีอุณหภูมิสีที่ร้อน ช่วยทำให้พื้นที่ห้องดูสว่างมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการที่สถาปนิกเลือกที่จะใช้แสงธรรมชาติด้านทิศตะวันตกเป็นหลัก ในการให้ความสว่างในพื้นที่สำคัญทางพุทธเช่นนี้เพราะสาเหตุของนัยยะด้านประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากพุทธศาสนานั้นเข้ามาในญี่ปุ่นช่วงพุทธศตวรรษ 1100 ผ่านทางเกาหลี ซึ่งรับต่อมาจากจีน แต่ต้นธารกำเนิดมาจากอินเดีย หรือพุทธในญี่ปุ่นนั้น ล้วนเดินทางมาหลายทอดจากทางตะวันตกนั่นเอง
เพราะแสงแห่งพุทธ เดินทางมาจากตะวันตก
เทียบกับโบสถ์ในพุทธศาสนาบ้านเรา การให้ความสำคัญกับแสงจะสัมพันธ์กับทิศตะวันออกมากกว่า เพราะถือว่าเป็นทิศแห่งการรู้แจ้ง เนื่องจากเช้าวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ได้หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก จึงเป็นคติที่นิยมให้โบสถ์พุทธหันด้านหน้าของพระพุทธรูปที่เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าไปทางทิศตะวันออกนั่นเอง ความรู้สึกการให้แสงของพุทธศาสนสถาปัตยกรรมในบ้านเราจะอิงกับการเปิดช่องรับแสงให้เข้ามายังพระพุทธรูปทางตะวันออกนั่นเอง