Terrace House : เรียลลิตี้เปิดบ้านและเปิดหัวใจคนญี่ปุ่น
เคยเปิด TV ดูผ่านๆ เจอรายการเรียลลิตี้ทีวีที่ชื่อ “เทอร์เรซ เฮาส์ (Terrace House)” ของช่อง Fuji Television เมื่อหลายปีก่อนตอนเดินทางไปที่ญี่ปุ่น จำได้รางๆ ว่าออกจะน่าเบื่อเสียด้วยซ้ำ คงเพราะเปิดผ่านไวๆ ในตอนดึกโดยไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ตอนนี้ฉันกลับติดรายการนี้หนึบเมื่อได้ดูซีซั่นที่ชื่อว่า Boys & Girls in the City ผ่าน Netflix ซึ่งเป็นซีซั่นที่เน็ตฟลิกซ์เข้ามาร่วมลงทุนผลิตรายการ ออกอากาศในปี 2015-2016 (มีทั้งหมด 46 ตอน)
คอนเซ็ปต์คือติดตามการใช้ชีวิตของหนุ่มสาว 6 คน (ชาย 3 หญิง 3) ภายใต้ชายคาเดียวกัน โดยแต่ละคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน การต้องอยู่ร่วมบ้านกับคนแปลกหน้าที่มีนิสัยใจคอ งานอดิเรก อาชีพ ความฝัน เป้าหมายในชีวิตต่างกัน (เท่าที่ฉันสังเกต พวกเขาส่วนใหญ่มีความสนใจในวงการบันเทิง โดยเฉพาะหญิงสาวมักทำงานเป็นนางแบบควบคู่ไปกับงานอื่นหรือระหว่างเรียน) กับการไม่มีสคริปต์ทำให้ “ความจริง” (บางส่วนที่ผู้ชมได้เห็น) เป็นเรื่องคาดเดาได้ยาก
แม้จะออกอากาศที่ญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2012 แต่ฉันเคยดูจบเพียงซีซั่นเดียวโดยผู้ผลิตรายการจัดเตรียมบ้านหลังใหญ่ในโตเกียว เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แถมทั้งยังมีสระว่ายน้ำและรถยนต์ให้ใช้ได้อย่างอิสระเสรี พวกเขาสามารถใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานตามปกติ แต่ต้องนอนในห้องนอนร่วมกัน (แยกชายหญิง)
ไฮไลท์ของเรียลลิตี้นี้ที่ทำให้ผู้ชมติดงอมแงมก็คือการพัฒนา “ความสัมพันธ์” ระหว่างชายหญิง พวกเขาแสดงออกอย่างเปิดเผยกับเพื่อนๆ ร่วมบ้านว่ากำลังสนใจใคร และเพิ่มความใกล้ชิดด้วยการชวนไปออกเดท ซึ่งก็มีบ้างที่ผิดหวัง บางคู่สมหวัง และเมื่อพวกเขาคบกันแล้วก็อาจขยับขยายย้ายไปนอนในห้องเดียวกันได้ (ฉันก็เพิ่งรู้ว่ายังมีห้องว่างเหลือไว้สำหรับคู่รักที่เกิดขึ้นจริงในรายการ)
ไม่ต่างจากโลกความจริงนอกจอเมื่อมีคนต่างพื้นเพมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากก็ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างแน่นอนว่ามันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ชมสนใจใคร่รู้ว่าพวกเขาจะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร ทำให้ผู้ชมรู้จักตัวตนของพวกเขาเพิ่มขึ้นทีละนิด ส่วนผู้ร่วมรายการเองก็ได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแม้ทางรายการจะตัดทอนความจริงนั้นมาเล่าบางด้านบางมุมเพื่อความบันเทิง(และดราม่า) แต่อย่างน้อยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาก็เป็นกระจกสะท้อนกลับมาที่ตัวผู้ชมด้วยเหมือนกันว่า เรามีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างไร
อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้รายการน่าติดตามคือผู้สมัครเข้าร่วมรายการจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการพักอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วยตัวเอง โดยขึ้นอยู่กับเป้าหมายหรือความต้องการขณะนั้น บางคนคิดว่าเมื่อได้รับประสบการณ์เพียงพอแล้วก็จะออกจากบ้านไป บางคนที่มีปัญหากับเพื่อนร่วมบ้านหรือกับคนที่เคยชอบพอกันก็ต้องตัดสินใจออกเพราะไม่อาจทานทนอยู่ไหว และเมื่อมีใครย้ายออกไปวันนั้นก็จะมีผู้ร่วมรายการคนใหม่เข้ามาแทน (เช่น ถ้ามีผู้ชายออกไป ก็จะมีผู้ชายคนใหม่เข้ามา) ผู้ชมอย่างเราจึงต้องคอยเกาะติดและลุ้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างในทุกๆ สัปดาห์
และไม่เพียงแต่ชีวิตของพวกเขาเท่านั้น สิ่งที่สร้างสีสันให้กับเรียลลิตี้นี้สำหรับฉันคือ เหล่าพิธีกรที่จะมาล้อมวงกันวิพากษ์วิจารณ์ตอนเปิดรายการทุกตอนพวกเขาจะเล่าย้อนถึงสัปดาห์ก่อนหน้าว่ามีเรื่องโรแมนติกหวานแหววหรือมีคดีของใครทำให้พวกเขาผิดหวังหรือหัวเสียบ้าง จนฉันรู้สึกว่า Terrace House เปิดประตูบ้านให้ฉันได้เข้าไปสัมผัสความคิดความอ่านของคนญี่ปุ่นอีกด้านหนึ่งที่ฉันไม่ค่อยได้สัมผัสเท่าไหร่ (อย่างที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นมักไม่เปิดเผยความในใจตรงๆ อาจเพราะค่านิยมอ่อนน้อมถ่อมตนของพวกเขา) เหล่าพิธีกรแสดงความคิดเห็นกันอย่างออกรส ตรงไปตรงมา ทั้งเชียร์ ชื่นชม รวมทั้งด่าทอ หลายครั้งฉันฟังแล้วก็ต้องอึ้ง อือออ หรือระเบิดเสียงหัวเราะออกมาราวกับว่ามีเพื่อนมาชวนเม้าท์ชวนให้คิดตามไปด้วย ฉันว่ามันคือหมัดเด็ดที่ทำให้ประสบความสำเร็จและสามารถเข้าถึงผู้ชมอย่างกว้างขวางในระดับสากล
ช่องทางการรับชม
-เทอร์เรซ เฮาส์: Tokyo 2019-2020
-เทอร์เรซ เฮาส์: Boy & Girls in the City
-เทอร์เรซ เฮาส์: Aloha State
-เทอร์เรซ เฮาส์: Opening New Doors