Takeo Kikuchi | สุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นผู้นำเทรนด์แฟชั่นหนึ่งก้าวเสมอ
สารบัญ
- Q. อะไรทำให้คิดอยากเป็นดีไซเนอร์
- Q. ทำไมถึงเปลี่ยนกลับมาออกแบบเสื้อผ้าบุรุษ
- Q. เวลาออกแบบเสื้อผ้า ค้นหาแรงบันดาลใจจากไหน
- Q. อะไรที่ทำให้คิดตั้งชื่อแบรนด์ด้วยชื่อของตัวเอง
- Q. หากมองในฐานะที่อยู่ในวงการแฟชั่นมานาน มีวิธีปรับเปลี่ยนแนวคิดอย่างไรเพื่อให้ เสื้อผ้านำสมัยและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนอยู่เสมอ
- Q. หมายความว่ารู้อยู่แล้วว่าอะไรจะเป็นที่นิยม ในอนาคตอย่างนั้นหรือ
- Q. สิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดในฐานะดีไซเนอร์ คืออะไร
- Q. ยึดปรัชญาอย่างไร ถึงสามารถทำงานดีไซเนอร์มาได้จนอายุ 78 ปี
- Q. แสดงว่าทุกวันนี้ ตื่นเช้ามาแล้วยังรู้สึกว่าอยากดีไซน์อะไรซักอย่างอยู่ใช่ไหม
- Q. มีช่วงเวลาไหนของวันไหมที่คิดและดีไซน์งานได้ดีเป็นพิเศษ
- Q. ถ้าเกิดไม่ได้ทำงานเป็นดีไซเนอร์คิดว่าจะทำงานอะไร
- Q. ได้ยินมาว่าชอบดนตรีแจ๊สด้วย
- Q. เมื่อเห็นแฟชั่นของผู้ชายญี่ปุ่นในปัจจุบันแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
- Q. แล้วคิดอย่างไรกับสตรีตแฟชั่นบ้าง
- Q. ได้ยินว่าเป็นคนออกแบบชุดที่ใช้ในการแสดงให้ โทะโมะยะสุ โฮะเท (มือกีต้าร์ชื่อดังอดีตวง Boowy) คิดว่าคุณโทะโมะยะสุ โฮะเท เป็นคนอย่างไร
- Q. ศิลปะ ดนตรี และรถยนต์ สื่งที่รักเหล่านี้มีอิทธิพลต่องานออกแบบอย่างไรบ้าง
- Q. ตอนนี้ได้ยินว่าขับ BMW
- Q. แล้วได้นำความชอบในงานศิลปะ ดนตรี หรือรถยนต์มาปรับใช้ในงานดีไซน์ด้วยหรือเปล่า
- Q. เวลาขับรถนี่ฟังเพลงแจ๊สไปด้วยหรือเปล่า
- Q. เพราะอย่างนั้นถึงได้ชอบดนตรีของชาวผิวสีอย่างแจ๊สหรือฮิปฮ็อปงั้นหหรือ
- Q. หนึ่งในสิ่งสำคัญของคุณทาเคโอะ คิคูชิ คือ Tailored แล้วจุดไหนที่แสดงถึงความรู้สึกที่ตนเองมีต่อสูท
- Q. ในวันหยุดมักจะทำอะไรบ้าง
- Q. แล้วชอบเดินเล่นที่ไหนในโตเกียวบ้าง
- Q. ตอนนี้มีประเทศไหนที่อยากไปเป็นพิเศษไหม
- Q. เวลาเดินทางมีอะไรที่พกติดตัวเสมอไหม
- Q. ด้วยภาพลักษณ์ที่มักแต่งตัวดูดีเสมอ มีเคล็ดลับอย่างไรบ้าง
- Q. แฟชั่นอย่างเสื้อยืดกางเกงยีนส์เข้ากับชาวตะวันตกมากเลย
- Q. ช่วยเล่าเกี่ยวกับการก่อตั้งแบรนด์ TAKEO KIKUCHI ให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ
- Q. ปัจจุบัน TAKEO KIKUCHI มีสาขาทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งหมดกี่สาขาแต่ละสาขามีคอนเซ็ปต์แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
- Q. สาขาใหญ่ที่กรุงเทพฯ จะมีจุดเด่นหรือแตกต่างจากสาขาอื่นอย่างไรบ้าง
- Q. ทำไมถึงตัดสินใจเปิดสาขาใหญ่เป็นครั้งแรกที่เมืองไทย
- Q. คิดอย่างไรกับเมืองไทย
- Q. มีความคาดหวังอย่างไรกับการเปิดสาขาใหญ่ที่กรุงเทพเป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- Q. อยากจะฝากอะไรถึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่บ้าง
TAKEO KIKUCHI
TAKEO KIKUCHI คือแบรนด์เสื้อดังจากญี่ปุ่น ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับนั้นคือ ความเป็นผู้นำด้าน “สูท” ด้วยทรงที่เรียบง่ายทว่าดูมีเอกลักษณ์ ทำให้ทุกช่วงเวลาสำคัญ สูทของ TAKEO KIKUCHI มักเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของชาวญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีแล้ว ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้สวมใส่อยู่ไม่น้อย นอกจากชุดสูทแล้ว ก็ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่ถูกออกแบบภายใต้แบรนด์ TAKEO KIKUCHI ซึ่งมีชื่อเสียงไม่แพ้กัน
ภาพลักษณ์และการเป็นที่ยอมรับเหล่านี้ ล้วนสร้างสรรค์โดยคุณทาเคโอะ คิคูชิ ผู้โลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่นญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แม้จะอายุ 78 ปีแล้ว แต่พลังการสร้างสรรค์ก็ยังไม่เคยหมดไป เขาก็ยังสนุกกับการทำงานแฟชั่น และใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ จนทำให้เราสงสัยว่า อะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้ชายคนนี้ทำงานอย่างเพลิดเพลินจนถึงทุกวันนี้
Q. อะไรทำให้คิดอยากเป็นดีไซเนอร์
ตอนสมัยผมยังเด็ก ผมก็ชอบวาดรูปและสนใจในเรื่องศิลปะมากครับ แต่ก็คิดว่าการจะเป็นศิลปินเป็นเรื่องที่ลำบากมาก สมัยเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยบุงคะก็มีโอกาสได้ออกแบบเสื้อผ้าผู้ชายแล้ววางขายในห้างสรรพสินค้า น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่าน่าจะทำงานนี้เป็นอาชีพได้ครับ เพราะเป็นสิ่งที่คิดว่าตัวเองทำได้ถนัด
ตอนนั้นผมออกแบบเสื้อผู้ชายแบบที่ตัวเองอยากใส่เอง เป็นเสื้อโค้ตลายสกอตตาใหญ่กับเสื้อแจ็กเกตหนังกลับครับ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เก็บไว้ (หัวเราะ) แล้วหลังจากนั้นก็เรียนต่อเรื่องการออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าสตรีและทำเสื้อผ้าสตรีเป็นเวลาตั้ง 15 ปี ก่อนจะหันมาตั้งแบรนด์ของตัวเอง เริ่มทำเสื้อผ้าแบบ Made to Order และรับงานทำเสื้อผ้าเพื่อใช้ในการโฆษณาต่างๆ ครับ
Q. ทำไมถึงเปลี่ยนกลับมาออกแบบเสื้อผ้าบุรุษ
ระหว่างที่ออกแบบเสื้อผ้าสตรี ผมก็ออกแบบเสื้อผ้าบุรุษด้วยนะครับ แต่เป็นการออกแบบตามที่ตัวเองอยากจะใส่ ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ ตอนตั้งบริษัทของตัวเองในปี 1970 ก็ออกแบบเสื้อผ้าสตรีก่อน แล้ว 5 ปีให้หลังค่อยตั้งบริษัทออกแบบเสื้อบุรุษอย่างจริงจังครับ แล้วหลังจากนั้นเสื้อผ้าบุรุษก็กลายมาเป็นงานหลัก
Q. เวลาออกแบบเสื้อผ้า ค้นหาแรงบันดาลใจจากไหน
ในหัวผมเต็มไปด้วยเรื่องเสื้อผ้าครับ ผมชอบงานศิลปะ ชอบดู Music Video แล้วก็ชอบเดินเล่น ไม่ว่าจะไปที่ไหนในโลก ผมก็จะไปเดินเล่นในเมือง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คงสะสมอยู่ในหัวของผม แล้วก็ค่อยๆ เผยตัวออกมาในรูปแบบต่างๆ ครับ อีกอย่างหนึ่ง แฟชั่นนี่มันก็มีช่วงเวลาของมันนะครับ ว่าช่วงนี้อะไรแบบไหนเป็นที่นิยม แต่ถ้าทำอะไรตามเทรนด์ไปมันก็จะเริ่มเบื่อ ทำให้อยากทำอะไรใหม่ๆ ไม่ซ้ำแบบเดิมขึ้นมา นั่นคงเป็นแรงบันดาลใจในแบบของผมครับ นอกจากนี้ การได้พบเจอ ชมผลงาน และพูดคุยกับคนที่ทำงานศิลปะในหลายๆ รูปแบบ ก็ยังเป็นแรงกระตุ้นที่ดีครับ แต่ไม่ได้อยากเจอเรื่องงานนะครับ เป็นไปได้ก็อยากเจอเป็นการส่วนตัวครับ
Q. อะไรที่ทำให้คิดตั้งชื่อแบรนด์ด้วยชื่อของตัวเอง
ช่วงปี 1977-1978 ผมไปที่ปารีสน่ะครับ มีร้านของตัวเองที่นั่น ผมได้รับความเห็นจากนักข่าวที่นั่นว่า ควรใช้ชื่อของตัวเองในการตั้งชื่อแบรนด์ เพราะเป็นเรื่องปกติของที่นั่นครับ หลังจากนั้นตอนเข้าร่วมงานกับทางบริษัท World เลยตั้งชื่อแบรนด์ที่ใช้ชื่อตัวเอง แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสมัยนี้เขายังฮิตอะไรแบบนี้หรือเปล่านะครับ
Q. หากมองในฐานะที่อยู่ในวงการแฟชั่นมานาน มีวิธีปรับเปลี่ยนแนวคิดอย่างไรเพื่อให้ เสื้อผ้านำสมัยและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนอยู่เสมอ
ถ้าจะให้พูดตรงๆ คือ แทนที่จะดูเทรนด์แล้วออกแบบ ส่วนใหญ่ของที่ผมออกแบบมันจะกลายมาเป็นเทรนด์ในภายหลังครับ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวนะครับ แต่คิดว่าดีไซเนอร์ดังๆ คนอื่นก็เป็นเหมือนกัน เลยทำให้อยู่ในวงการกันได้นาน เพราะนำหน้าเทรนด์อยู่ก้าวหนึ่งเสมอ ไม่ได้ตั้งใจนะครับ แต่มันเป็นอย่างนั้นเอง
Q. หมายความว่ารู้อยู่แล้วว่าอะไรจะเป็นที่นิยม ในอนาคตอย่างนั้นหรือ
ก็เหมือนรู้ได้ด้วยตัวเองนะครับ เป็นธรรมชาติครับเพราะ อยู่มานาน สั่งสมประสบการณ์มานาน ตัวอย่างเช่น ยุค 70 ดนตรีร็อคก็เป็นที่นิยม มีร็อกเกอร์ชื่อดังเยอะมาก ซึ่งคนเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นเป็นอย่างมาก ศิลปินยุคต่อมาก็เช่นกัน ผมผ่านยุคเหล่านั้นมาแล้ว และคิดว่าคนเรามักจะย้อนกลับมาที่เดิมเป็นวงกลมน่ะครับ ไม่ได้หมายความว่ากลับมาที่เดิมแบบเป๊ะๆ แต่ก้าวไปข้างหน้าแล้วพัฒนาขึ้นแล้ววนกลับมา โดยได้รับการพัฒนาไปแล้วเป็นวงเวียนแบบนั้นไปเรื่อยๆครับ
Q. สิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดในฐานะดีไซเนอร์ คืออะไร
ถ้าให้พูดเป็นคำเดียวคือ “อิสระ” ครับ ถ้าอธิบายเพิ่มคงเป็น “เอกลักษณ์” คงเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยการใช้ชีวิตอย่างอิสระครับ ต้องมีอิสระเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ แล้วมันจะส่งผลต่องานออกแบบครับ เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างอิสระและรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ด้วย
Q. ยึดปรัชญาอย่างไร ถึงสามารถทำงานดีไซเนอร์มาได้จนอายุ 78 ปี
คงเป็นเรื่อง “อิสระ” ที่พูดเมื่อกี๊ล่ะครับ ไม่ยึดมั่นกับอะไรมากเกินไป เรียนรู้อะไรให้มาก และพยายามท้าทายตัวเองให้มาก ไม่กลัวความผิดพลาดครับ
Q. แสดงว่าทุกวันนี้ ตื่นเช้ามาแล้วยังรู้สึกว่าอยากดีไซน์อะไรซักอย่างอยู่ใช่ไหม
ใช่ครับ อยากจะทำงานอยู่ตลอด รู้สึกว่ายังไม่ได้ทำงานเพียงพอเสมอ ผมเป็นคนตะกละก็ว่าได้ครับ ไม่เคยรู้จักพอ อยากจะทำงานอยู่ตลอดครับ งานวันนี้เสร็จ พรุ่งนี้ก็อยากจะทำอะไรให้ดีกว่าวันนี้ไปเรื่อยๆ
Q. มีช่วงเวลาไหนของวันไหมที่คิดและดีไซน์งานได้ดีเป็นพิเศษ
ไม่มีครับ จู่ๆ มันก็ผุดขึ้นมาในหัวเลย ก็เอามาทำเป็นผลงานได้โดยไม่ต้องจดโน้ตหรือเขียนร่างอะไรเลย เพราะมันชัดเจนขึ้นมาในหัวแล้ว
Q. ถ้าเกิดไม่ได้ทำงานเป็นดีไซเนอร์คิดว่าจะทำงานอะไร
อืม…ก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับ เพราะไม่เคยทำงานอื่นเลย แต่ผมก็สนใจหลายงานนะครับ เช่น เป็นนักเขียน ช่างภาพ นักออกแบบรถยนต์ หรือแม้กระทั้งเป็นผู้กำกับหนัง ส่วนใหญ่ที่คิดมาจะเป็นงานสายสร้างสรรค์หมดนะครับ
Q. ได้ยินมาว่าชอบดนตรีแจ๊สด้วย
ใช่ครับ แต่เล่นไม่ไหวครับ ผมเคยลองแล้ว ทั้งร้อง ทั้งเล่นดับเบิลเบส (Double Bass) แต่สุดท้ายก็ไม่รุ่ง ขอเน้นฟังอย่างเดียวแล้วกันครับ เพราะหูผมค่อนข้างละเอียดอ่อนไม่แพ้งานดีไซน์เลยล่ะครับ
Q. เมื่อเห็นแฟชั่นของผู้ชายญี่ปุ่นในปัจจุบันแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าผู้ชายญี่ปุ่นสนใจแฟชั่นกันมากนะครับ แล้วก็เก่งด้วยครับ มีคนที่ทดลองอะไรใหม่ๆ กับแฟชั่นเยอะมากเลย ที่ญี่ปุ่นไม่มีกฎระเบียบอะไรในเรื่องแฟชั่นมากเหมือนกับตะวันตก เลยทำอะไรกันตามใจมาก ทำลายข้อห้ามต่างๆ กันตลอด เลยออกมาสนุกมากครับ ได้เห็นอะไรใหม่ๆ กันตลอดครับ
Q. แล้วคิดอย่างไรกับสตรีตแฟชั่นบ้าง
ผมชอบสตรีตแฟชั่นมากเลยครับ ตอนที่ผมเริ่มตั้งบริษัท Men’s Bigi นั่นคือผมอยากจะออกแบบเสื้อสไตล์สตรีต ออกแบบเสื้อที่เป็นหนึ่งเดียวกับเทรนด์ดนตรีหรือการแสดงต่างๆ ในยุคนั้น นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของแบรนด์ผมครับ ความรู้สึกในตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไหร่ เสื้อผ้าก็มีหลายแบบ เสื้อ Tailored-Made ก็ดี แต่สตรีตแฟชั่นก็ดีครับ ผมอยากจะลองออกแบบทุกอย่าง
Q. ได้ยินว่าเป็นคนออกแบบชุดที่ใช้ในการแสดงให้ โทะโมะยะสุ โฮะเท (มือกีต้าร์ชื่อดังอดีตวง Boowy) คิดว่าคุณโทะโมะยะสุ โฮะเท เป็นคนอย่างไร
ผมออกแบบเสื้อผ้าในการแสดงให้กับเขาเป็นเวลาสองปีเลยครับ เขาเป็นคนใจดีมากเลย แล้วก็เซ็นซิทิฟด้วยรักงานศิลปะและมีรสนิยมเรื่องศิลปะดีมากครับ แล้วเขายังชอบเสื้อผ้าด้วย เขาเป็นคนโปรดิวซ์เสื้อผ้าและทรงผมของวงตัวเองเลยนะครับ เขาเข้าใจดีว่าดนตรีและแฟชั่นของวงควรเป็นหนึ่งเดียว เขาถือเป็นเพื่อนคนสำคัญของผมครับ
Q. ศิลปะ ดนตรี และรถยนต์ สื่งที่รักเหล่านี้มีอิทธิพลต่องานออกแบบอย่างไรบ้าง
มันก็มีส่วนที่เชื่อมกันอยู่นะครับ งานดีไซน์รถยนต์ที่ผมชอบจะเป็นแบบเรียบง่ายแต่ทรงพลังครับ อย่างเสื้อผ้า ถ้าไปเน้นแต่รายระเอียดยิบย่อยเกินไปก็ไม่ไหวครับ ดังนั้น “รูปทรง”เลยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเป็นรถยนต์ก็ต้องดูดี ไหลลื่นอย่างสมูท เหมือนพวกคลาสสิคยุค 50-60 น่ะครับ ไม่มีการยัดอะไรที่ไม่จำเป็นเข้ามา ดีไซน์เหมือนไม่ต้องดีไซน์ครับ ของทุกวันนี้ดีไซน์อะไรเยอะเกินไปโดยไม่มีเป้าหมายชัดเจน แต่ยุคนี้ก็ดูเหมือนอะไรแบบนี้จะเป็นที่นิยมมากกว่านะครับ
Q. ตอนนี้ได้ยินว่าขับ BMW
ใช่ครับ ขับมา 20 ปีติดต่อกันแล้ว เคยขับมาหลายยี่ห้อแล้ว แต่ก็มาจบที่ BMW นี่ล่ะครับ เพราะศักยภาพมันดีจริงๆ ขับสนุกมาก แล้วก็เป็บริษัทที่ชอบทำอะไรใหม่ๆ ด้วย แต่ผมชอบดีไซน์ในอดีตมากกว่านะครับ ทุกวันนี้ผมยังขับรถเองนะครับ แถมยังขับเร็วจนแอบน่าเป็นห่วงเหมือนกัน (หัวเราะ) คนเรานี่พอจับพวงมาลัยแล้วนิสัยเปลี่ยนจริงๆ นะครับ
Q. แล้วได้นำความชอบในงานศิลปะ ดนตรี หรือรถยนต์มาปรับใช้ในงานดีไซน์ด้วยหรือเปล่า
อืม ก็พูดยากเหมือนกันนะครับ จะว่าอย่างนั้นก็ได้ครับ เพราะทุกอย่างมันเข้ามาในหัวแล้วเหมือนกับผสมกันออกมาโดยอัตโนมัติ ไม่ได้ตั้งใจอะไรครับ
Q. เวลาขับรถนี่ฟังเพลงแจ๊สไปด้วยหรือเปล่า
ไม่ค่อยได้ฟังเพลงแจ๊สเท่าไหร่ครับ แต่ฟังเพลงฮิปฮ็อป ผมชอบดนตรีฮิปฮ็อปและแร็ปมาก ศิลปินที่ผมชอบมากในตอนนี้คือ Migos ครับ แต่ถ้าเป็นสายแดนซ์ ผมชอบ Chris Brown
Q. เพราะอย่างนั้นถึงได้ชอบดนตรีของชาวผิวสีอย่างแจ๊สหรือฮิปฮ็อปงั้นหหรือ
ใช่ครับ ผมชอบดนตรีของคนผิวสีมาก ไม่ใช่แค่เพลงที่เร่งจังหวะเร็วๆ นะครับ แต่เพลงช้าที่มีรายระอียดปลีกย่อยอย่างสวิงนี่มันเหมาะกับการขยับตัวอย่างเป็นธรรมชาติมาก ดนตรีของชาวตะวันตกหรือของชาวญี่ปุ่นเป็นดนตรีที่ใช้สมองคิดเยอะในการทำเพลง ไม่เหมือนกันดนตรีคนผิวสี ที่เกิดจากทั้งร่างกายอย่างธรรมชาติ ชวนให้ร่างกายขยับไปโดยอัตโนมัติน่ะครับ ผมยังชอบเพลงร็อกด้วยนะครับ แต่เวลาทำงานมักไม่ได้เปิดเพลง ชอบจะทำงานเงียบๆ มุ่งสมาธิไปกับงานอย่างเดียวครับ
Q. หนึ่งในสิ่งสำคัญของคุณทาเคโอะ คิคูชิ คือ Tailored แล้วจุดไหนที่แสดงถึงความรู้สึกที่ตนเองมีต่อสูท
ผมรักเสื้อสูทมากครับ ตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ไปซื้อเสื้อผ้าในห้างก็ไม่เจอแบบที่ตัวเองชอบ เลยออกแบบเองแล้วไปให้ช่างตัดเสื้อตัดให้ครับ เนกไท หมวก ผมก็ออกแบบแล้วให้เขาตัดให้ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เข้าทรง ไม่เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ผมเลยรักเสื้อสููทมาตั้งแต่ตอนนั้นครับ แต่พออายุมากขึ้นร่างกายก็เปลี่ยนไป ไม่ค่อยเหมาะกับสูทเหมือนเดิมเลยไม่ได้ใส่เป็นประจำ แต่ก็คิดว่าชุดสุภาพบุรุษคือเสื้อสูทนี่แหละครับ
Q. ในวันหยุดมักจะทำอะไรบ้าง
ชอบไปที่นั่นที่นี่ครับ ผมชอบเดินเล่น ชอบเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไปสถานที่ที่ตัวเองอยากไปครับ ถ้าได้ไปสถานที่ที่ยังไม่เคยไป ก็จะยื่งเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นอะไรใหม่ๆ ของตัวเองได้เป็นอย่างดีครับ
Q. แล้วชอบเดินเล่นที่ไหนในโตเกียวบ้าง
ที่ไหนก็ได้ครับ ผมชอบที่ที่มีของเก่าเหลือให้ได้เห็นเพราะทั้งอาคาร ทั้งของเก่า จะมีร่องรอยของการใช้ชีวิตของคนอยู่ อย่างในโตเกียวผมก็จะชอบย่านตลาดเก่า ถ้าเป็นต่างประเทศก็ชอบไปเมืองเก่าครับ ส่วนในญี่ปุ่นก็มีของเก่าหลงเหลืออยู่เยอะครับ เลยไปเดินเล่นบ่อยมากครับ
Q. ตอนนี้มีประเทศไหนที่อยากไปเป็นพิเศษไหม
ตอนหนุ่มๆ ผมเคยไปที่อลาสก้าครับ เมื่อก่อนอลาสก้าเป็นจุดต่อเครื่องบินนะครับ ต้องผ่านสนามบินที่นั่นตลอด แต่ผมก็เคยอยู่ที่อลาสก้าเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ แล้วขับรถเล่นไปหลายๆที่ครับ อลาสก้าไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่คนสนใจกันมากนัก แต่ก็มีอะไรน่าสนนะครับ ผมอยากกลับไปอีกครั้ง
Q. เวลาเดินทางมีอะไรที่พกติดตัวเสมอไหม
ผมไม่ค่อยเอาเสื้อผ้าไปเยอะ มีเสื้อผ้าสำหรับสองวันก็พอแล้ว แต่เอาชุดชั้นในไปพอจำนวนวันนะครับ เพราะเวลาเดินทางเราเดินทางไปเรื่อยๆ คนที่เจอวันนี้พรุ่งนี้ก็ไม่ได้เจอแล้ว ดังนั้นใส่เสื้อผ้าซ้ำก็ไม่เป็นไรครับ (หัวเราะ) เพราะอย่างนั้นที่ขาดไม่ได้เลยคือ กล้องถ่ายรูป แล้วก็พวกอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องน้ำต่างๆ พวกกรรไกรตัดเล็บ ยาและอาหารเสริมที่จัดเป็นชุดเดียวกันครับ ส่วนหมวกนี่ก็ติดตัวผมตลอดจนไม่คิดว่าต้องพกไปแล้วครับ อ้อ…แล้วก็แว่นตาครับ เพราะถ้าแว่นพังไม่มีสำรองก็ลำบากครับ ส่วนเสื้อผ้านี่ผมชอบไปซื้อเวลาไปเที่ยวแล้วเจอเสื้อผ้าที่ชอบ บางทีก็เปลี่ยนเสื้อในวันนั้นเลยครับ
Q. ด้วยภาพลักษณ์ที่มักแต่งตัวดูดีเสมอ มีเคล็ดลับอย่างไรบ้าง
ผมไม่ได้คิดอะไรมากนะครับ แค่ไม่อยากจะแต่งตัวแบบที่ตัวเองเห็นแล้วไม่ชอบ แต่มันก็มีการเปลี่ยนแปลงได้นะ บางทีเห็นตัวเองแล้วก็เบื่อ ก็เปลี่ยนบ้าง แต่พอถูกใจอะไรก็จะใส่แบบเดียวไปเรื่อยๆ ครับ ผมก็ไม่ได้มีเสื้อผ้าเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็ใส่เสื้อผ้าที่ชอบในช่วงนั้นไปเรื่อยๆ ครับ จะเปลี่ยนแค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ผมเองก็ไม่ได้หุ่นดีเหมือนนายแบบอะไร ดังนั้นของที่ใส่ดูดีก็เลยมีจำกัด ถ้าตัวสูง หุ่นดี หน้าหล่อเหมือนนายแบบ ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ก็เอาอยู่แล้ว แต่เพราะไม่ใช่อย่างนั้น เลยเลือกใส่เสื้อผ้าที่ตัวเองคิดว่าดูดีเท่านั้นครับ แต่ผมเองก็เป็นคนที่มีรสนิยมไม่ค่อยเหมือนคนอื่น ไม่ชอบเลือกอะไรเหมือนคนอื่นด้วย ไม่อยากทำอะไรเหมือนคนอื่นครับ
Q. แฟชั่นอย่างเสื้อยืดกางเกงยีนส์เข้ากับชาวตะวันตกมากเลย
ใช่ครับ เพราะหุ่นชาวตะวันตกเหมาะกับเสื้อผ้าแบบนั้นมากกว่า หุ่นชาวญี่ปุ่นนี่ จะบอกว่าไม่เท่ก็ว่าได้ครับ ไม่สิ ไม่ได้เป็นหุ่นในอุดมคติ ดังนั้นการจะใส่เสื้อผ้าของชาวตะวันตกตรงๆ เลยก็ไม่ค่อยเหมาะกับชาวญี่ปุ่นครับ ก็เป็นจุดดีของแฟชั่นญี่ปุ่นนะครับ เพราะเก่งในเรื่องการปิดจุดด้อยและนำเสนออออกมาให้ดูดี
Q. ช่วยเล่าเกี่ยวกับการก่อตั้งแบรนด์ TAKEO KIKUCHI ให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ
หลังจากย้ายมาอยู่บริษัท World ในปี 1984 ก็ได้ก่อตั้งแบรนด์ TAKEO KIKUCHI ครับ หลังจากนั้นก็ได้ตั้งแบรนด์อีกหลายแบรนด์ และในปี 2005 ได้ตั้งแบรนด์ 40CARATS&525 by TAKEO KIKUCHI สำหรับกลุ่มลูกค้าวัยผู้ใหญ่ ที่ตัวผมเองลงมือเรื่องการสร้างสรรค์ด้วยตัวเองทั้งหมดครับ
Q. ปัจจุบัน TAKEO KIKUCHI มีสาขาทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งหมดกี่สาขาแต่ละสาขามีคอนเซ็ปต์แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ที่ญี่ปุ่นมี 112 สาขา ที่ไต้หวัน 6 สาขา ส่วนที่ไทย ถ้ารวมที่กำลังจะเปิดใน Central World วันที่ 28 มีนาคมนี้ ก็จะเป็น 5 สาขาครับ หลักๆ แล้วคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ก็จะเหมือนกันทั้งสามประเทศนะครับ แต่สินค้าและการจัดวางตกแต่งจะปรับแต่งนิดหน่อยให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า สภาพอากาศ และปฏิทินของแต่ละที่ครับ
Q. สาขาใหญ่ที่กรุงเทพฯ จะมีจุดเด่นหรือแตกต่างจากสาขาอื่นอย่างไรบ้าง
ที่สาขานี้จะมีสินค้าของ TAKEO KIKUCHI ครบครันครับ และจะเป็นสาขาที่บรรยากาศสบายๆ มีการดูแลลูกค้าที่ผ่อนคลาย แล้วก็มี 40CARATS&525 by TAKEO KIKUCHI ที่สาขาใหญ่เป็นครั้งแรกครับ
Q. ทำไมถึงตัดสินใจเปิดสาขาใหญ่เป็นครั้งแรกที่เมืองไทย
ประเทศไทยช่วงหลังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งแฟชั่นและวัฒนธรรมของเอเชียก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเอเชียได้เลยครับ ผมอยากจะให้กรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางในการเผยแพร่แบรนด์ TAKEO KIKUCHI ไปทั่วเอเชีย
Q. คิดอย่างไรกับเมืองไทย
ผมยังไม่เคยไปก็พูดลำบากนะครับ แต่คิดว่าเป็นประเทศที่ประชาชนนับถือศาสนาพุทธอย่างจริงจัง และเป็นประเทศที่ผู้คนยิ้มแย้ม ใจดีครับ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ไทยมานานมาก ก็คิดว่าที่เขาอยู่ได้นานขนาดนั้นเพราะเป็นประเทศที่ดีนั่นล่ะครับ
Q. มีความคาดหวังอย่างไรกับการเปิดสาขาใหญ่ที่กรุงเทพเป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในฐานะคนที่ทำงานแฟชั่น ก็อยากจะเปิดตลาดในเอเชียให้ได้นะครับ จริงๆ ก็คุยกันในบริษัทมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว อยากจะให้ทางชาวไทยเข้าใจแนวคิดของชาวญี่ปุ่น และผมเองก็อยากรู้รสนิยมของชาวไทย จึงอยากจะให้แฟชั่นเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองวัฒนธรรมครับ
Q. อยากจะฝากอะไรถึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่บ้าง
ไม่รู้จะว่าไงดีเหมือนกันนะครับ เพราะคิดว่าทุกคนก็พยายามโดยยึดมั่นในแนวทางของตัวเองอย่างตั้งใจอยู่แล้ว ก็คิดว่าไม่มีอะไรต้องห่วงครับ
ติดตามผลงานได้ที่
Website: www.takeokikuchith.com/
facebook: TAKEOKIKUCHIthailand
Instagram: takeokikuchithailand
สามารถอ่านบทความอื่นที่เกี่ยวกับ Takeo Kikuchi ได้ที่นี่