สารพัดคาเฟ่สัตว์: สถานหย่อนใจของสารพัดคนเมือง
คุยกับเพื่อนถึงเรื่องคาเฟ่แมวที่ญี่ปุ่น แล้วก็นึกได้ว่าสามสี่ปีก่อนฉันเคยไปคาเฟ่กระต่ายที่ฮาราจูกุ เพื่อนไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะตอนนี้ที่เมืองไทยก็มีคาเฟ่สัตว์หลายชนิดในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นแมว หมา กระต่าย นกฮูก และหมาจิ้งจอก! ฉันเดาเอาว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากประเทศญี่ปุ่นที่มีสารพัดคาเฟ่สัตว์ให้ลองไปสัมผัส
และเนื่องจากคาเฟ่สัตว์ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก (โดยเฉพาะคาเฟ่แมว) ฉันก็คิดเหมาเอาเองว่าคาเฟ่สัตว์น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่พอสืบค้นข้อมูลไปมา ถึงได้รู้ว่าที่ไต้หวันมีคาเฟ่แมวมาตั้งแต่ปี 1998 ส่วนคาเฟ่แมวที่ประเทศญี่ปุ่นเปิดครั้งแรกในปี 2004 หลังจากนั้นก็มีการเกิดขึ้นของคาเฟ่สัตว์ต่อเนื่องกันมาในอีกหลายๆ ประเทศ
แรกเริ่มเดิมที คาเฟ่แมวที่ไต้หวันอาจจะเรียกได้ว่าเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ เพราะมีรูปแบบเหมือนคาเฟ่ทั่วไปที่เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มตามปกติ เพียงแต่ว่าใครสักคนนำแมวที่เลี้ยงอยู่มาที่ร้านด้วย และเมื่อนำมาหลายๆ ตัวเข้าผู้คนก็พูดถึง จนกลายมาเป็นคาเฟ่แมวในที่สุด
ฉันเองไม่เคยไปคาเฟ่แมวที่ไต้หวัน แต่ที่โตเกียวฉันได้ไปเยือนทั้งคาเฟ่แมวและคาเฟ่กระต่าย เท่าที่สังเกตเห็น แม้จะมีบรรยากาศแตกต่างกันไป เช่น บางแห่งตกแต่งสีพาสเทลหวานๆ ไม่มีการเสิร์ฟอาหารหรือเครื่องดื่ม เน้นให้เล่นกับแมวแบบเต็มอิ่ม บางแห่งตกแต่งออกแนวขรึมๆ มีเก้าอี้นวมให้นอนเอนหลังหรืออ่านหนังสือได้เต็มที่ โดยมีแมวเดินเยื้องย่างไปมาตามมุมนั้นมุมนี้ เป็นต้น แต่รวมๆ ฉันว่าคาเฟ่เหล่านี้มีคอนเซ็ปต์คล้ายคลึงกัน นั่นก็คืออยากให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายไปกับเจ้าสัตว์น้อยที่ (คุณคิดว่า) น่ารัก
ตอนที่ไปคาเฟ่แมวครั้งแรกมันก็จะตื่นเต้นหน่อยๆ เพราะฉันไปคนเดียว กลัวทำตัวไม่ถูก แต่สตาฟฟ์ที่คาเฟ่ทุกแห่งก็ล้วนยิ้มแย้มแจ่มใส (ประมาณว่าพวกเรารักสัตว์โลก) ซึ่งหลังจากจ่ายค่าบริการ (คิดเป็นรายนาทีหรือชั่วโมง) พวกเขาก็แจ้งข้อมูลพื้นฐานที่ทุกคนควรทำ คือการรักษาความสะอาด โดยให้ล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำเปล่า นอกจากนี้สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด คือการรบกวนสัตว์ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ถ้าแมวหลับอยู่ก็ไม่ควรไปปลุกไปแกล้ง หรือถ้าจะถ่ายรูปไปอวดเพื่อนก็ไม่ควรใช้แฟลช เป็นต้น
แน่นอนว่าฉันได้เก็บภาพน่ารักๆ ตลกๆ มาอย่างหนำใจ (ยกเว้นที่คาเฟ่กระต่าย พวกมันมักวิ่งหนีเมื่อเข้าใกล้ จึงได้ภาพเบลอๆ มาเพียบ) ได้ทำความรู้จักอย่างผิวเผินกับแมวหลายตัว (บางครั้งสตาฟฟ์ก็เข้ามาเล่าว่าตัวนี้ชื่ออะไร มีนิสัยยังไง) แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงนั้นกลับทำให้ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมถึงรู้สึกอึดอัดเล็กๆ ไม่ชิลสุดๆ อย่างที่จินตนาการไว้ แม้ฉันจะชอบแมวและเอ็นดูกระต่ายตัวจิ๋ว แต่พอเข้าไปอยู่ในห้องขนาดกะทัดรัดที่เต็มไปด้วยผู้คนที่เอาแต่อยากจะถ่ายรูปแมว (เหมือนฉัน) หรีือการได้กลิ่นเหม็นๆ ฉุนๆ ของอึหรือฉี่กระต่ายที่ถ่ายเรี่ยราดไม่เป็นที่เป็นทาง มันทำให้ฉันรู้สึกแปลก ไม่เป็นธรรมชาติ รวมทั้งไม่กล้าสั่งเครื่องดื่มหรืออาหาร เพราะกังวลเรื่องความสะอาด แต่เท่าที่ถามไถ่เพื่อนฝูงก็ไม่มีใครคิดมากเหมือนฉัน
ฉันเคยดูสกู๊ปของรายการทีวีญี่ปุ่นที่พูดถึงคาเฟ่สัตว์ ทำไมพวกเขาถึงชอบไปกัน บางคนไปทุกวัน บางคนอาจเรียกได้ว่าเป็นแม่ยกของแมวตัวนั้นตัวนี้เลยทีเดียว ซึ่งคำตอบบางอย่างที่ได้ฟังทำให้รู้ว่าที่สารพัดคาเฟ่สัตว์ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ ก็เพราะพวกเขาไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ที่ตนเองชื่นชอบหรืออยากเป็นเจ้าของ เช่น อพาร์ตเม้นต์ไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ หรือบางคนก็ใคร่ครวญดูแล้วว่าห้องพักเล็กๆ ในโตเกียวไม่เหมาะกับการมีสัตว์เลี้ยง บ้างก็ว่าไม่พร้อมจะมีภาระที่ต้องดูแลสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คาเฟ่สัตว์ยังคงมีอยู่ และยังคงได้รับความนิยมมายาวนานต่อเนื่อง เพราะกลายเป็นหนึ่งในสถานหย่อนใจของคนเมือง