10 เมนู อาหาร จานเด็ดใน จังหวัดมิยาซากิ 🍜

จังหวัดมิยาซากิ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะคิวชู เป็นหนึ่งในจังหวัดอันซีนที่นอกจากอบอวลไปด้วยบรรยากาศโรแมนติกแล้ว ยังเต็มไปด้วย อาหาร ท้องถิ่นที่มีเสน่ห์ตามแบบฉบับอาหารใต้ของญี่ปุ่น ด้วยสภาพอากาศที่อบอุ่นตลอดปี จึงมีทั้งพืชผักที่ขึ้นตามป่าเขาและอาหารทะเลสดๆ มากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายังเป็นหมุดหมายที่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในหมู่นักท่องเที่ยวไทย

อย่างไรก็ตามถ้าเป็นคนที่ชอบกินอาหารญี่ปุ่นหรือเคยมีโอกาสไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นมาก่อนแม้จะไม่ได้ไปที่จังหวัดมิยาซากิ ก็อาจจะเคยกินอาหารท้องถิ่นของมิยาซากิไปแล้วโดยที่ไม่ทราบมาก่อนก็ได้ สำหรับครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับอาหารเหล่านั้น และอยากให้ไปลองกันถึงแหล่งกำเนิด เพราะอาหารก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้เราหลงรักสถานที่นั้นๆ ได้เหมือนกัน

 

01 ไก่ทอดซอสนัมบัง (Chicken Namban)

อาหาร จังหวัดมิยาซากิ : ไก่ทอดซอสนัมบัง (Chicken Namban)

ประเดิมด้วยไก่ทอดซอสนัมบัง หรือ ชิกเก้นนัมบัง หนึ่งในเมนูที่หลายคนอาจเคยลิ้มลองกันมาแล้ว แต่น้อยคนที่จะทราบว่าเป็น อาหาร พื้นเมืองของ จังหวัดมิยาซากิ มีลักษณะเป็นไก่ที่ทอดด้วยซอสเปรี้ยว ราดด้วยซอสทาร์ทาร์สีขาวที่ให้ฟีลลิ่งแบบอาหารฝรั่ง หากไปใช้บริการร้านอาหารทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นก็มักจะเจอเซ็ตอาหารกลางวันที่มีเมนดิชเป็นเมนูนี้ได้บ่อยๆ หรือแม้แต่เดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นก็จะต้องเจอไก่ทอดซอสนัมบังอยู่ในแพ็คอาหารพร้อมรับประทานวางอยู่บนชั้นอย่างแน่นอน

ต้นกำเนิดที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ร้านอาหารชื่อ London ในเมืองโนเบโอกะ (Nobeoka) ในสมัยโชวะ แต่เวลาต่อมาโกโต นาโอะ (Nao Goto) ผู้ที่เคยทำงานที่ร้านแห่งนี้ได้นำเมนูไก่ทอดซอสนัมบังไปขายที่ร้านของตัวเองที่ชื่อว่า Nao-Chan และทำให้เป็นที่โด่งดังและแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่น ปัจจุบันร้านนี้ยังคงเปิดให้บริการอยู่ที่เมืองโนเบโอกะเช่นเดิม แต่จะแตกต่างจากร้านส่วนใหญ่ตรงที่ไม่มีการราดซอสทาร์ทาร์ด้านบนตัวไก่เลย

Info
ไก่ทอดซอสนัมบัง (Chicken Namban : チキン南蛮)
Origin: เมืองโนเบโอกะ จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Ogura Segashira-ten (おぐら 瀬頭店), Craighton House Oshima-ten (クレイトンハウス 大島店), Nao-Chan (直ちゃん)

 

02 ไก่จิตกโกะ (Jitokko)

อาหาร จังหวัดมิยาซากิ : ไก่จิตกโกะ (Jitokko)

ยังคงอยู่กับเมนูไก่ๆ ที่ตอกย้ำความเด่นเรื่องไก่ของจังหวัดมิยาซากิ นี่คือไก่จิตกโกะซึ่งเป็นไก่บ้านสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีการเลี้ยงในแถบแคว้นซัตสึมะ (Satsuma) ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ในจังหวัดมิยาซากิและคาโกชิม่า จึงเป็นที่เลื่องลื่อกันมาแต่โบราณเรื่องรสชาติที่แสนอร่อยล้ำ โดยฟาร์มที่มีการเพาะเลี้ยงในจังหวัดมิยาซากิจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน JAS โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น (MAFF) เท่านั้น

หากมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนฟาร์มไก่จิตกโกะที่มิยาซากิ จะพบว่ามีการเลี้ยงในระบบที่สะอาดมาก อีกทั้งมิยาซากิเป็นจังหวัดที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ประชากรไม่หนาแน่นแบบเมืองใหญ่ จึงมีพื้นที่ให้ไก่ตัวน้อยใหญ่ได้ดำรงชีวิตอย่างสบายๆ ไม่แออัด ส่งผลให้ไก่มีส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อในระดับพอดิบพอดี และมีเครื่องในที่แข็งแรง นิยมนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และย่างกินแบบพอดีคำ

Info
ไก่จิตกโกะ (Jitokko : じとっこ/地頭鶏)
Origin: จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Gunkei Honten Kakushigura (ぐんけい本店 隠蔵), Kutsurogi Sanshiro (みやざき地頭鶏炭火焼 Kutsurogi 三四郎), Torinoya (とり乃屋)

 

03 เนื้อมิยาซากิ (Miyazaki Beef)

อาหาร จังหวัดมิยาซากิ : เนื้อมิยาซากิ (Miyazaki Beef)

เอาใจสายกินเนื้อด้วยเนื้อวัวแบรนด์จากจังหวัดมิยาซากิที่มีชื่อตรงตัวว่า เนื้อมิยาซากิ ซึ่งเป็นวากิวพันธุ์ขนดำ (Black Wagyu) ที่มีการเลี้ยงในจังหวัดมิยาซากิและผ่านการคัดเกรดระดับดีเลิศ เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ 2 ปีซ้อนในการประกวดโอลิมปิกของวากิวที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปีอีกด้วย นิยมนำมากินแบบสเต๊กและชาบูชาบู

วากิวหรือวัวญี่ปุ่นที่เลี้ยงในจังหวัดมิยาซากิจะเติบโตท่ามกลางธรรมชาติที่กว้างใหญ่ กินหญ้าที่อุดมไปด้วยสารอาหาร และดื่มน้ำที่บริสุทธิ์ ส่วนอาหารที่ใช้ขุนเน้นเป็นธัญพืชและหญ้าสด ทำให้เนื้อที่ได้มีริ้วลายสวยงาม มีมันแทรกเส้นเล็กๆ เมื่อเทียบกับวากิวชนิดอื่นจะมีกรดโอเลอิกสูง และมีรสชาติความเป็นเนื้อวัวที่ชัดเจน ตั้งแต่ปี ค.ศ 2013 เป็นต้นมามีการเสิร์ฟเนื้อมิยาซากิบนชั้นเฟิร์สต์คลาสของสายการบิน JAL ด้วย

Info
เนื้อมิยาซากิ (Miyazaki Beef : 宮崎牛)
Origin: จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Miyachiku (ミヤチク), Yomogiya (蓬や), Yakiniku no Koukaen Honten (焼肉の幸加園 本店)

 

04 ข้าวห่อสาหร่ายผักกาดหอม (Lettuce Maki)

อาหาร จังหวัดมิยาซากิ : ข้าวห่อสาหร่ายผักกาดหอม (Lettuce Maki)

ข้าวห่อสาหร่ายผักกาดหอม หรือ เลตัสมากิ โดดเด่นด้วยผักกาดหอม กุ้ง และมายองเนสที่สอดไส้อยู่ด้านใน โดยลักษณะที่พบเจออาจมีทั้งแบบทรงกรวย ทรงกระบอกเรียวยาว หรือแบบข้าวห่อสาหร่ายไซส์เท่าฝ่ามืออย่างที่เห็นกันบ่อยๆ หากไปเที่ยวที่ จังหวัดมิยาซากิ จะหา อาหาร ชนิดนี้ได้ง่ายมาก ไม่ใช่แค่ที่ร้านอาหาร แต่มีขายทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้าด้วย จะกินอย่างเดียวก็เฮลตี้ หรือจะกินคู่กับอาหารจานอื่นก็ส่งเสริมรสชาติได้อย่างเหมาะเจาะ

ต้นกำเนิดของข้าวห่อสาหร่ายผักกาดหอมคือที่ร้าน Ippei Sushi ที่อยู่ตรงข้ามโรงแรม Miyazaki Kanko Hotel ในตัวเมืองมิยาซากิ ไม่ไกลจากสถานีมิยาซากิ (Miyazaki Station) โดยคุณโอคามุระซึ่งเป็นเจ้าของร้านรุ่นแรกๆ ได้คิดแผนการที่จะทำให้เพื่อนสนิทชื่อฮิราโอะ มาซาอากิ (Masaaki Hirao) นักแต่งเพลงที่เกลียดผักเข้ากระดูกดำหันมากินผักแบบอร่อยๆ จนเกิดเป็นเมนูนี้ขึ้นมา ซึ่งต่อมากลับกลายเป็นของกินที่ได้รับความนิยมไปอย่างแพร่หลาย คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยนิยมทำกินเองที่บ้านอีกด้วย

Info
ข้าวห่อสาหร่ายผักกาดหอม (Lettuce Maki : レタス巻き)
Origin: เมืองมิยาซากิ จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Ippei Sushi (一平寿し), Seitatsu (青辰), Appare Shokudo (あっぱれ食堂)

 

05 คามะอาเกะอุด้ง (Kamaage Udon)

อาหาร จังหวัดมิยาซากิ : คามะอาเกะอุด้ง (Kamaage Udon)

ถ้าพูดถึงอุด้ง หลายคนมักนึกถึงซานุกิ อุด้งจากจังหวัดคางาวะ หรืออินานิวะ อุด้งจากจังหวัดอาคิตะ แต่หากเดินเข้าร้านอุด้งในเมืองใหญ่ๆ ที่รวบรวมเมนูอุด้งท้องถิ่นมาครบๆ ก็ต้องพบกับ คามะอาเกะอุด้ง ของจังหวัดมิยาซากิอย่างแน่นอน จุดเด่นก็คือเส้นที่เสิร์ฟในชามไม้เคลือบนั้นจะเป็นเส้นที่ลวกมาแล้ว แต่จะไม่มีการพักเส้นในน้ำเย็น ซึ่งต่างจากอุด้งชนิดอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เส้นเย็นลงด้วยการแช่น้ำเย็นหลังลวก จากนั้นค่อยเสิร์ฟ ทำให้เข้าถึงรสชาติของเส้นอุด้งได้อย่างเต็มเปี่ยม

ผู้ให้กำเนิดคามะอาเกะอุด้งคือร้าน Shigenoi ที่อยู่ในตัวเมืองมิยาซากิ โดยนักเบสบอลทีม Yomiuri Giants ได้แวะเข้าไปกินอุด้งที่ร้านนี้ระหว่างที่เก็บตัวฝึกซ้อม จึงทำให้คามะอาเกะอุด้งโด่งดังไปทั่วญี่ปุ่น และเป็นที่ยอมรับในฐานะหนึ่งในอาหารท้องถิ่นที่ชาวมิยาซากิภาคภูมิใจ ปัจจุบันจึงมีร้านที่เสิร์ฟคามะอาเกะอุด้งเป็นหลักในตัวเมืองมิยาซากิเป็นจำนวนมาก

Info
คามะอาเกะอุด้ง (Kamaage Udon : 釜揚げうどん)
Origin: เมืองมิยาซากิ จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Shigenoi (重乃井), Odamaki Honten (織田薪 本店), Togakushi Honten (釜揚げうどん戸隠本店)

 

06 โอนิกิริพันเนื้อ (Nikumaki Onigiri)

อาหาร จังหวัดมิยาซากิ : โอนิกิริพันเนื้อ (Nikumaki Onigiri)

โอนิกิริพันเนื้อ หรือ นิกุมากิโอนิกิริ เรียกได้ว่าเป็นทั้ง อาหาร ท้องถิ่นและอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีชื่อเสียงของ จังหวัดมิยาซากิ โดยตัวเนื้อจะผ่านการปรุงด้วยโชยุ จากนั้นนำไปพันรอบข้าวปั้น และอบในเตา เวลาเสิร์ฟก็จะมีผักกาดหอมมาคู่กันเสมอ เมื่อกัดเข้าไปจะพบกับข้าวสวยที่ปั้นมาไม่แน่นจนเกินไป ให้รสชาติเหมือนข้าวหน้าเนื้อในฟีลลิ่งที่ต่างออกไป

ร้านที่คิดค้นเมนูสุดสร้างสรรค์นี้คือ Toriaezu Hompo ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อร้านเป็น Nikumaki Hompo เพื่อประกาศก้องให้โลกรู้ว่าร้านนี้แหละคือผู้บุกเบิกโอนิกิริพันเนื้อที่แท้จริง โดยใช้วิธีการทำคล้ายข้าวปั้นทั่วไป แต่เปลี่ยนจากการพันด้วยสาหร่ายเป็นเนื้อวัวแทน นอกจากนี้ยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดอาหารท้องถิ่นเกรด B (B-Kyu Gourmet) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นอาหารที่ด้อยค่ากว่าเกรด A แต่หมายถึง อาหารราคาประหยัดที่ควรค่าแก่การลิ้มลองอย่างยิ่ง

Info
โอนิกิริพันเนื้อ (Nikumaki Onigiri : 肉巻きおにぎり)
Origin: เมืองมิยาซากิ จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Nikumaki Hompo (にくまき本舗), Ayadori Miyazaki Tachibanadorinishi-ten (あや鶏 宮崎橘通西店), Ebisuya Miyazaki Ichibangai-ten (えびすや 宮崎一番街店)

 

07 มิยาซากิราเมน (Miyazaki Ramen)

อาหาร จังหวัดมิยาซากิ : มิยาซากิราเมน (Miyazaki Ramen)

คนรักราเมนไม่ควรพลาด มิยาซากิราเมน ราเมนท้องถิ่นประจำจังหวัดมิยาซากิที่น้ำซุปจะเป็นกลุ่มเดียวกับฮากาตะราเมนซึ่งเป็นซุปกระดูกหมู แต่จะแตกต่างตรงที่ไม่เข้มข้นและมันเท่าฮากาตะราเมน (Hakata Ramen) ทำให้คนที่ไม่ถนัดของรสเค็มจะกินมิยาซากิราเมนได้ง่ายกว่า ในขณะเดียวกันคนที่ชอบฮากาตะราเมนเป็นทุนเดิมส่วนใหญ่ก็จะชื่นชอบมิยาซากิราเมนด้วยเช่นกัน ส่วนเส้นนั้นนิยมใช้เส้นใหญ่ที่นุ่มกว่าราเมนอื่นๆ อย่างไรก็ตามอาจแตกต่างกันตามแต่ละร้าน บางร้านก็ใส่กระเทียมเยอะมาก

Info
มิยาซากิราเมน (Miyazaki Ramen : 宮崎ラーメン)
Origin: จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Ramen Man (拉麺男), Eiyoken (栄養軒), Fujimi (富滋味)

 

08 ฮิยะจิรุ (Hiyajiru)

อาหาร จังหวัดมิยาซากิ : ฮิยะจิรุ (Hiyajiru)

ฮิยะจิรุ เป็นอาหารท้องถิ่นที่พบในหลายจังหวัดทั่วญี่ปุ่น แต่หากพิจารณาตามบันทึกเก่าแก่ที่เป็นลายลักษณ์อักษร พบว่าฮิยะจิรุของจังหวัดมิยาซากิมีความใกล้เคียงมากที่สุด จึงถือว่ามีหลักฐานเพียงพอให้ยอมรับได้ว่ามิยาซากิคือต้นกำเนิดของอาหารชนิดนี้ โดยชื่ของฮิยะจิรุแปลตรงตัวได้ว่า “ซุปเย็น” ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูคลายร้อนที่นิยมกินเฉพาะในฤดูร้อน วัตถุดิบหลักเป็นปลาอาจิตากแห้ง งา และเต้าเจี้ยว โดยบดทั้งหมดให้เข้ากัน นอกจากยกซดแบบซุปแล้วยังสามารถนำไปกินโดยราดบนข้าวสวยหรือเส้นราเมนได้เช่นกัน

Info
ฮิยะจิรุ (Hiyajiru : 冷や汁)
Origin: จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Suginoko (ふるさと料理 杉の子), Fujiki (和食の店 ふじ木), Momotetsu En (もも鐵 えん)

 

09 อุด้งปลา (Fish Udon)

ภาพ: www.kankou-nichinan.jp

อีกหนึ่งเมนูอุด้งโลคอลที่อยากแนะนำคือ อุด้งปลา หรือ เกียวอุด้ง ที่มีต้นกำเนิดที่เมืองนิจินัน (Nichinan) เมืองประมงสำคัญของจังหวัดมิยาซากิ โดยนำปลาเนื้อขาวอย่างปลาบินมาที่นำไปแปรรูปเป็นเส้น ถือกำเนิดขึ้นในช่วงภาวะสงครามที่ขาดแคลนวัตถุดิบต่างๆ จึงเกิดการนำปลาที่หาได้ง่ายในแถบชายฝั่งทะเลของจังหวัดมิยาซากิมาใช้ทดแทน ส่วนซุปก็ใช้เบสเป็นปลาเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นเมนูที่มีปลาอยู่เต็มชาม ปัจจุบันได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมากขึ้นจนมีการจำหน่ายทางออนไลน์อีกด้วย

Info
อุด้งปลา (Fish Udon : 魚うどん)
Origin: เมืองนิจินัน จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Bibin-ya (びびんや), Gonguri-tei (ごんぐり亭), Aburatsu Port Morning Market (港あぶらつ朝市)

 

10 ราเมนเผ็ด (Karamen)

จานสุดท้ายที่แนะนำคือ ราเมนเผ็ด หรือ คาระเมน เมนูที่คนชอบอาหารรสจัดต้องประทับใจ เพราะไม่ว่าจะร้านไหนในมิยาซากิก็ใส่พริกลงไปไม่ยั้ง หลายร้านรับประกันว่ากินแล้วต้องเหงื่อโชก แม้ว่าแต่ละร้านจะนำเสนอเส้นราเมนในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ร้านดังๆ นิยมใช้เส้นบุกที่มีเส้นใยที่ช่วยในระบบย่อยอาหาร เมื่อมาเจอกับซุปที่เผ็ดจัดจ้านจึงกระตุ้นระบบเผาผลาญได้ดีเยี่ยม จึงได้รับความนิยมในหมู่สาวๆ ชาวญี่ปุ่นด้วย

Info
ราเมนเผ็ด (Karamen : 辛麺)
Origin: เมืองโนเบโอกะ จังหวัดมิยาซากิ
Recommended Restaurant: Karamenya Masumoto Miyazaki Chuo-dori-ten (辛麺屋 桝元 宮崎中央通店), Karamen Rin Miyazaki-ten (辛麺屋 輪 宮崎店), Ganso Karamen Kochiya (元祖辛麺 東風屋)

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ