เมืองเกียวโตจัดได้ว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษาของญี่ปุ่น ด้วยจำนวนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก หลายแห่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก ทั้งยังมีการเรียนการสอนในหลากหลายสาขา ซึ่งจำนวนนักศึกษาไทยในโตเกียวก็ไม่น้อยด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันมีราวๆ 50 คน เป็นอย่างต่ำ โดยเข้ามาเรียนทั้งสายวิศวกรรมศาสตร์ การออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นต้น

เกียวโตมีมหาวิทยาลัยเก่าแก่หลายแห่ง ซึ่งเป็นผลพวงจากยุคสมัยใหม่ที่มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเป็นจำนวนมากในญี่ปุ่น เพื่อให้ทันความศิวิไลซ์ที่ทางญี่ปุ่นเองได้ตระหนักว่า การจะขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดดได้ก็คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หนึ่งในสถาบันที่สอนด้านวิทยาศาสตร์การออกแบบและเป็นสถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็กในเกียวโตที่น่าสนใจคือสถาบันเทคโนโลยีเกียวโต (Kyoto Institute of Technology) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า KIT ซึ่งถือกำเนิดจากการรวมกันของโรงเรียนงานฝีมือและโรงเรียนสิ่งทอเมื่อปี ค.ศ. 1949 ซึ่งก่อนที่จะรวมตัวกัน ทั้งสองโรงเรียนนี้ก็ดำเนินการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1899 แล้ว

 

สถาบันเทคโนโลยีเกียวโต (Kyoto Institute of Technology) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า KIT

 

ปัจจุบัน KIT ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองเกียวโต ไม่ไกลจากแม่น้ำทะคะโนะนัก ตัวสถาบันแบ่งออกเป็นแคมปัสตะวันออกและตะวันตก ทางแคมปัสตะวันออกจะเป็นพื้นที่การเรียนการสอนด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรม ส่วนทางแคมปัสตะวันตกจะเป็นพื้นที่การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม บรรยากาศเมื่อแรกเข้ามายัง KIT จะสัมผัสได้ถึงการควบคุมโทนสีของสถาบันอย่างชัดเจน โดยโทนสีหลักที่ถูกเลือกใช้คือสีน้ำตาลอิฐ ซึ่งอาจเป็นเพราะอาคารที่เก่าที่สุดในนั้นคืออาคารส่วนอำนวยการที่มีผิวเป็นผนังอิฐเปลือยทั้งหลัง อาคารนี้สร้างในช่วงปี ค.ศ. 1930 ด้วยสไตล์โรงเรียนเบาเฮาส์จากเยอรมัน ซึ่งเบาเฮาส์เป็นโรงเรียนสอนด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมแบบหัวก้าวหน้าที่สุดของโลกในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ การสร้างอาคารส่วนใหญ่ในยุคต่อมาจึงออกแบบให้ผิวมีวัสดุที่กลมกลืนไปกับอาคารที่เก่าที่สุดในแคมปัส

 

การออกแบบสถาปัตยกรรมภายนอกของอาคาร KIT HOUSE

 

ด้านในสุดของแคมปัสตะวันตก มีอาคารหลังหนึ่งที่ดูเผินๆ จะไม่ต่างกับอาคารหลังอื่นนัก แต่พอได้เดินเข้ามาสำรวจใกล้ๆ จะพบรายละเอียดที่แตกต่างมันคือ KIT HOUSE ซึ่งเป็นอาคารที่รองรับหลายกิจกรรมของนักศึกษาในสถาบันนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคาร KIT HOUSE คือ วะโระ คิชิ (Waro Kishi) ผู้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านสถาปัตยกรรมของ KIT และเป็นสถาปนิกชาวคันไซผู้แจ้งเกิดรุ่นหลังทะดะโอะ อันโดะ คิชิออกแบบงานแนวโมเดิร์นด้วยรูปทรงที่ดูหนาและหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลิ่นอายของ มีส ฟาน เดอร์ โรห์ สถาปนิกเยอรมันจากเบาเฮาส์

 

ชั้นแรกของ kit house จะเป็นโรงอาหาร

 

สถาปนิกออกแบบโดยแบ่งการใช้สอยออกเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นโรงอาหาร การออกแบบจึงใช้กระจกใสติดโดยรอบทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้กิจกรรมภายในสามารถเชื่อมโยงมายังภายนอกได้โดยง่าย คนที่มาเมื่อมองทะลุเข้ามายังภายในโรงอาหารจะมองเห็นได้ง่ายว่ามีกิจกรรมอะไรอยู่ข้างใน อยากจะเข้ามาใช้งานหรือไม่ ส่วนที่น่าสนใจของอาคารนี้คือพื้นที่ภายในชั้น 2 เป็นร้านขายทั้งเครื่องเขียน หนังสือและร้านสะดวกซื้อ ผนังภายนอกของชั้น 2 ออกแบบให้เป็นผนังอิฐเปลือยวางบนโครงสร้างเหล็ก ทำให้ดูเป็นผนังอิฐที่กลมกลืนไปกับอาคารโดยรอบ ผนังอิฐเหล่านี้ตั้งอยู่บนคานเหล็กที่ยื่นออกไปราว 2 เมตร ซึ่งถูกออกแบบให้มีความพิเศษด้วยการเรียงอิฐที่มีส่วนทึบและกึ่งทึบตามการใช้สอยภายใน เมื่อมองจากภายนอกจึงเป็นอาคารที่มีทั้งความขัดแย้งและความกลมกลืนในขณะเดียวกัน สาเหตุที่แลดูขัดแย้งเนื่องจากการเลือกใช้ผนังอิฐที่ดูหนักที่ชั้น 2 แต่ชั้น 1 เป็นผนังกระจกใส ทำให้ดูว่าส่วนที่หนักสามารถลอยได้ และยังดูกลมกลืนเพราะผนังอิฐใหม่เป็นวัสดุเดียวกันกับอาคารรอบข้างนั่นเอง

 

บรรยากาศของ KIT HOUSE ที่สถาบันเทคโนโลยีเกียวโต (Kyoto Institute of Technology)

 

สถาปนิกมีแนวคิดในการออกแบบให้อาคารนี้เป็นแหล่งรวมนักศึกษาด้วยตำแหน่งที่รายล้อมไปด้วยอาคารเรียน ซึ่งทำหน้าที่รองรับการใช้สอยได้ดี และสำหรับผู้สนใจสถาปัตยกรรม ที่นี่เป็นอีกที่ควรมาเยือนเพื่อศึกษารายละเอียดในด้านการออกแบบINFO
KIT HOUSE, Kyoto Institute of Technology
Website : k-associates.com/en/works/kit-house

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ