รถไฟ  เป็นสิ่งที่อยู่กับวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ รถไฟญี่ปุ่น อยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม เกร็ดน่ารู้อย่างตู้สำหรับ Women-only ที่นั่งพิเศษบนขบวนรถไฟ Hello Kitty ชินคันเซ็นที่หยุดอัตโนมัติเวลาเกิดแผ่นดินไหว หลายคนน่าจะพอทราบกันดีอยู่แล้ว

เส้นทาง รถไฟญี่ปุ่น

แต่เรื่องที่คุณกำลังจะได้รู้อาจพิเศษกว่านั้น ราวกับว่าเป็น “ที่สุดในโลก” ในหลายๆ เรื่องเลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าถ้าหากรู้แล้วก็อาจจะร้อง Wow! หรือ Sugoi! ออกมาตามๆ กัน  

แนะนำให้อ่านมากกว่า 1 รอบเพื่อความเข้าใจในข้อมูลเพื่อที่จะเอาไปพูดคุยกับเพื่อนฝูงได้ เอาล่ะ รถไฟกำลังออกจากชานชาลา พร้อมแล้วก็กระโดดขึ้นรถไฟไปพร้อมๆ กันเลย

 

01 สายรถไฟที่ยาวที่สุดในญี่ปุ่น

นั่นคือสาย Sanyo Main Line ยาวถึง 673.8 กิโลเมตร! เห็นรถไฟหน้าตาบ้านๆ แบบนี้ แต่ให้บริการระหว่างจังหวัดเกียวโต (Kyoto) ในภูมิภาคคันไซ ยิงยาวลงไปถึงจังหวัดยามากุจิ (Yamaguchi) ภูมิภาคชูโงกุเชียวนะ

 

02 สถานีรถไฟที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

นั่นก็คือสถานีชินจูกุ (Shinjuku Station) รองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการกว่า 3.6 ล้านคนต่อวัน เทียบเท่าได้กับประชากรของโยโกฮาม่าทั้งเมือง (หรือประชากรทั้งจังหวัดเชียงใหม่+ชลบุรี รวมกัน) ยอมรับมาเสียดีๆ ใครเคยเดินหลงในสถานีนี้บ้างยกมือขึ้น! (อ่านเรื่องป้ายบอกทางในสถานีรถไฟญี่ปุ่น ได้ที่ www.kiji.life/wayfinding)

สถานีชินจูกุ :สถานี รถไฟ ญี่ปุ่น ที่คนพลุกพล่านที่สุดในโลก

 

03 รถไฟที่วิ่งให้บริการดึกที่สุด

ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะคือรถไฟสาย Takasaki Line ที่วิ่งระหว่างสถานีอุเอโนะ (Ueno Station) กับสถานีทาคาซากิ (Takasaki Station) โดยปกติขบวนสุดท้ายจากต้นทางจะไปสุดสายที่สถานีทาคาซากิ ณ เวลา 1:37 น. สายนี้บางวันยิ่งดึกคนยิ่งเยอะ เพราะผู้คนนั่งรถไฟกลับบ้านที่อยู่เมืองละแวกใกล้เคียงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลพิเศษ เช่น วันสิ้นปี รถไฟหลายสายจะให้บริการตลอดทั้งคืน

 

04 ญี่ปุ่นมีจำนวนสถานีรถไฟที่พลุกพล่านมากที่สุดในโลก

44 จาก 50 สถานีรถไฟที่พลุกพล่านที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น! และจากทั้งหมด มีเพียง 10 สถานีที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในมหานครโตเกียว โดยท็อป 5 ได้แก่ สถานีชินจูกุ (Shinjuku Station), ชิบูย่า (Shibuya Station), อิเคะบุคุโระ (Ikebukuro Station), อุเมดะ (Umeda Station) และโยโกฮาม่า (Yokohama Station)

ใครมีโอกาสไปเที่ยวประเทศอื่นๆ แล้วบอกว่าสถานีรถไฟคนเยอะจัง ขอให้มองมาที่ญี่ปุ่น เจแปนคือเจ้าแม่ที่กินเรียบด้านสถานีรถไฟที่พลุกพล่านที่สุดอย่างแท้จริง

 

05 สายรถไฟที่วิ่งใกล้ทะเลมากที่สุด

แถวสถานีโอมิกาวะ (Omigawa Station) จังหวัดนีงาตะ จะมีรถไฟสาย Shin’etsu Line แล่นผ่าน เจ้ารถไฟนี้เองที่วิ่งเฉียดทะเลมากที่สุด! โดยไม่มีถนนหรือสิ่งปลูกสร้างมาบดบังสายตาแต่อย่างใด นี่เป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวซึ่งเหมาะแก่การรับชมทัศนียภาพที่สวยงามในย่านนี้

 

06 สถานีรถไฟที่อยู่สูงที่สุดในญี่ปุ่น

สถานีโนเบยามะ (Nobeyama Station) ในจังหวัดนากาโน่ ที่อุดมไปด้วยภูเขาสวยงามมากมาย ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึง 1,345 เมตร นอกจากวิวทิวทัศน์สวยแปลกตาแล้ว เมื่อคุณก้าวเดินออกจากสถานีและสูดอากาศจะรับรู้ทันทีได้ถึงความกดอากาศที่แตกต่างจากที่ราบบนพื้นดินอย่างสิ้นเชิง

 

07 โอตาคุรถไฟ

กลุ่มคนที่หลงใหลคลั่งไคล้รถไฟซึ่งมีอยู่เยอะมากๆ ในญี่ปุ่น เรียกกันว่า “เดงฉะ โอตาคุ (Densha Otaku)” ที่สำคัญ ความสนใจถูกแตกแขนงลึกลงไปในแต่ละเรื่องมากกว่า 30 ประเภท เช่น โอตาคุรถไฟที่ชื่นชอบเอกิเบน (ข้าวกล่องที่ขายตามสถานีรถไฟ) ชอบถ่ายรูปรถไฟ ชอบนั่งรถไฟ ชอบอัดเสียงรถไฟ ชอบเดินรอบสถานี รู้ทุกซอยทุกมุม ชอบสะสมโมเดลรถไฟ ชอบอ่านประวัติศาสตร์ที่มาที่ไป จนกระทั่งลงทุนในบริษัทรถไฟ ฯลฯ

รถไฟญี่ปุ่น

 

08 ชื่อสถานีที่สั้นและยาวที่สุดในญี่ปุ่น

ชื่อสั้นที่สุดคือสถานีสึ (Tsu Station) ในจังหวัดมิเอะ (Mie) พยางค์เดียว เขียนด้วยตัวอักษรฮิรากานะตัวเดียวหรืออักษรคันจิตัวเดียวจบ

แต่ที่ยาวที่สุดนี่ล่ะครับตัวประเด็น นั่นคือสถานี (พร้อมนะทุกคน) “Minami Aso Mizu No Umareru Sato Hakusui Kogen Station” ในจังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto) ความยาวสุดๆ ของชื่อนั้นส่งผลต่อการออกแบบป้ายสถานี ป้ายบอกทาง นามบัตร และการสื่อสารต่างๆ ที่ต้องเขียนแบบทางการ แต่คนญี่ปุ่นเรียกสั้นๆ ว่าHakusuikogen Station

ภาพ: www.bit.ly

 

09 รถไฟแบบแขวนที่ให้บริการยาวที่สุดในโลก

นั่นก็คือ Chiba Urban Monorail System ในจังหวัดชิบะ คือประเภทรถไฟแบบแขวน (Suspended Monorail) ที่ให้บริการยาวที่สุดในโลกด้วยระยะทางทั้งหมด 15.2 กิโลเมตร ครอบคลุม 18 สถานี ความหวาดเสียวภาวนาขอให้รถไฟอย่าตกคือหนึ่งฟีลลิ่งที่นักท่องเที่ยวหน้าใหม่ต่างพากันไปสัมผัส 

รถไฟญี่ปุ่นภาพ: www.exci.to

 

10 สถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น

สถานีคาเมะซากิ (Kamezaki Station) สถานีเล็กๆ ในจังหวัดไอจิ (Aichi) เปิดให้บริการเมื่อปี ค.ศ. 1886 หรือ 134 ปีที่แล้ว โครงสร้างสถานียังคงอนุรักษ์ของเดิมที่เป็นไม้เสียส่วนใหญ่อยู่เลยนะ (บูรณะเล็กน้อยหลังเกิดไฟไหม้เมื่อปี ค.ศ. 1895) แต่ก็แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

สถานีคาเมะซากิ (Kamezaki Station) : สถานี รถไฟ เก่าแก่ที่สุดของ ญี่ปุ่นภาพ: www.bit.ly

 

11 ระยะทางเส้นตรงที่ยาวที่สุดระหว่างสถานี

นั่นก็คือระหว่างสถานีชิราโออิ กับ นุมาโนฮาตะ (Shiraoi – Numanohata Station) บนเกาะฮอกไกโด ระยะทางตรงยาวถึง 28.7 กิโลเมตร นั่งเพลิดเพลินกินลมชมวิวได้ยาวๆ ได้ตลอดทาง

 

12 นักดันในตำนาน

ญี่ปุ่นน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกแล้วล่ะ ที่ตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ จะยังมีเจ้าหน้าที่ “พนักงานดัน” (ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “โอชิยะ”) คอยดันผู้โดยสารให้อัดเข้าไปในรถไฟ แม้จำนวนจะลดน้อยลงกว่าอดีต แต่โอชิยะยังคงถูกพบเห็นได้ตามสถานีใหญ่ๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะโตเกียว ซึ่งกลายเป็นภาพจำติดตาที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ทั่วโลกเวลาพูดถึงความเครซี่ของสถานีรถไฟญี่ปุ่น

 

13 โลกส่วนตัวของคนขับรถไฟ

เราอาจเห็นคนขับรถไฟญี่ปุ่น “ชี้+พูดพึมพำ” อะไรก็ไม่รู้อยู่คนเดียว นั่นคือมาตรฐานในการทำงานอย่างหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ชิสะคังโกะ” (指差喚呼) ซึ่งเป็นระเบียบขณะปฏิบัติงานที่มีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20! โดยเวลาเราชี้และพูดออกมา เราจะมี “สติ” รู้ว่าทำอะไรอยู่ ผลวิจัยบอกว่าสามารถลดโอกาสความผิดพลาดได้สูงถึง 85% เลยนะ

พนักงาน รถไฟญี่ปุ่น

 

14 เวลาคือเรื่องใหญ่

ในปี ค.ศ. 2017 มีเรื่องราวที่โด่งดังมากในโลกโซเชียลญี่ปุ่น รถไฟหนึ่งในสาย Tsukabu Express Line ได้ออกก่อนเวลา โดยแทนที่จะออกเวลา 9:44:40 กลับออก 9:44:20 หรือ “เร็วกว่าปกติ 20 วินาที” เหตุเพราะคนขับลืมเช็คตารางเวลารถไฟ ภายหลังบริษัทรถไฟต้องออกมาขอโทษขอโพยสาธารณชน ทำให้เรารู้ว่า นอกจาก รถไฟญี่ปุ่น จะออกสายไม่ได้แล้ว ยังออกก่อนไม่ได้ด้วย!

 

15 การวางแผนขยายเส้นทางชินคันเซ็น

กินเวลาหลายทศวรรษ หนึ่งในขั้นตอนที่ใช้เวลาไม่น้อยคือการก่อสร้างที่ใช้วิศวกรรมชั้นสูงและการทดสอบระบบความปลอดภัยที่ประนีประนอมไม่ได้ การขยายเส้นทางแต่ละครั้งจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป วางแผนล่วงหน้าเป็นสิบๆ ปี

อย่างในปี ค.ศ. 2016 เปิดให้บริการ Hokkaido Shinkansen เป็นครั้งแรกระหว่างสถานีชินอาโอโมริ (Shin-Aomori Station) ถึง สถานีชินฮาโกดาเตะโฮกุโตะ (Shin-Hakodate-Hokuto Station) และต้องรอถึงปี ค.ศ. 2030 กว่าจะขยายไปถึงเมืองซัปโปโร (Sapporo)

หรือโปรเจกต์แผนการสร้าง Chuo Shinkansen (รถไฟ Maglev เทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้า) ที่จะเปิดบริการครั้งแรกในปี ค.ศ. 2027 ระหว่างเมืองโตเกียว กับ นาโกย่า (Tokyo-Nagoya) และต้องรอถึงปี ค.ศ. 2045 กว่าจะขยายไปถึงเมืองโอซาก้า (Osaka) ขณะที่เทคโนโลยี Maglev นี้ได้ถูกริเริ่มวิจัยมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970

รถไฟญี่ปุ่น

แล้วทุกคนล่ะครับ มีเกร็ดสาระน่ารู้เกี่ยวกับ รถไฟญี่ปุ่น ในแบบส่วนตั๊วส่วนตัวยังไงบ้าง? อย่าลืมมาแชร์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันนะครับ

 

อ้างอิง

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ