เมื่อสถาปัตยกรรมเล่นได้ที่ CoFuFun
COFUFUN : สถาปัตยกรรมเล่นได้
ภาพของคำว่าสถาปัตยกรรมสำหรับนักเรียนสถาปัตย์ยุค 90’s อย่างผม คำนี้ดูจริงจัง เป็นการเป็นงาน เพราะเป็นการที่จะสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมาสักชิ้น ล้วนใช้เงินทุน เวลา ความคิดที่ต้องลงทุนไปมาก การเรียนการสอนเน้นไปที่การใช้สอยตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หลายครั้งเน้นไปที่การใช้สอยที่คุ้มค่าตามเม็ดเงินการลงทุนอย่างตรงไปตรงมา มากกว่าจะตอบสนองในเรื่องอื่นๆ
แต่เมื่อโตขึ้น เป็นสถาปนิกที่เดินทางออกนอกเขตแดนประเทศไทย ได้พบเห็นความเป็นไปได้มากมายของสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะการเดินทางมายังญี่ปุ่นครั้งแรก ที่นี่สามารถพบเห็นความกลมกลืนของสิ่งที่ไม่ชวนเข้ากันได้ในสายตาของคนนอกแบบผม เราสามารถเจอของเก่าใหม่ปะทะกันเหมือนคนสนทนาภาษาเดียวกัน แต่คนละสำเนียง ความไม่ลงตัวเหล่านี้คือเสน่ห์ที่ผมสนใจสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นนัก
เช่นกันกับวันนี้ที่ผมออกเดินทางจากเกียวโต ลงไปทางใต้ยังเมืองนะระ ผมหยุดตัวเองลงที่สถานีเท็นริ เพื่อมาหาประสบการณ์กับเหล่าก้อนคอนกรีตขาว ‘Tenri Station Plaza CoFuFun’
โคะฟุฟุง (CoFuFun) เป็นโครงการที่พัฒนาพื้นที่ว่างของเมืองเท็นริด้านข้างสถานีรถไฟ ให้ช่วยกระตุ้นชีวิตชีวาของเมือง กิจกรรมภายในก้อนคอนกรีตสีขาวขนาดใหญ่ที่กระจายตัวโดยรอบรองรับทั้งพื้นที่ร้านค้า ร้านกาแฟ สนามเด็กเล่น เพื่อให้กิจกรรมเหล่านี้สามารถเชื่อมไปยัง Tenri Hondori ที่เป็นถนนย่านการค้าของเมืองยาวหลายกิโลเมตร และยังเชื่อมไปกับแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกด้วย การที่ผู้คนเดินผ่านโคะฟุฟุงทำให้พื้นที่ไม่รกร้าง เสริมกิจกรรมให้คนในเมืองนี้ ทำให้เป็นพื้นที่สันทนาการของเมืองเพิ่มอีกแห่ง
สถาปนิกที่ออกแบบโคะฟุฟุงคือ เน็นโดะ (Nendo) ผู้คนผ่านย่านสยามจะคุ้นตากับงานของพวกเขาที่เมืองไทยคืองานออกแบบปรับปรุงสยามดิสคัฟเวอรีนั่นเอง รูปทรงคล้ายจานบินเป็นขั้นบันได สถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจากโบราณสถานคือสุสานของเมืองที่พบได้รายรอบ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกใช้ไปจนถึงกระถางต้นไม้
ในวันที่ผมเดินทางไปถึง ขั้นบันไดหลายจุดได้กลายเป็นม้านั่งให้คู่หนุ่มสาวเด็ก และครอบครัวพากันมาใช้เครื่องเล่น เครื่องออกกำลังกายที่สนามสถาปัตยกรรมกลายเป็นที่ป่ายปีน วิ่งไล่จับกันรอบวงกลมคอนกรีต บางวงกลมเป็นหลุมลงไป มีเบาะรองรับด้านล่างพร้อมเชือกให้เด็กไต่ขึ้นลงไปเล่นกับหลุมนั้น แต่ส่วนที่คึกคักและดูมีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าเด็กมากสุดคือ Fufuwa Cofun ด้วยการใช้โครงสร้างพองลม สามารถรองรับน้ำหนักคนที่มาเล่นให้กระโดดได้อย่างสนุกสนาน
เมื่อมาถึงทั้งที ผมไม่อยากพลาดที่จะมีประสบการณ์กับการเล่นสถาปัตยกรรม ผมได้ทดลองใช้มันด้วยการลองเล่นแบบเดียวกับเหล่าเด็กๆ สัมผัสที่เท้าได้คือ มันยุบตัวลงไปตามน้ำหนัก มันไม่มีอะไรรองรับด้านล่าง เท้าของเราวางอยู่บนผืนผ้าที่จินตนาการได้ว่าเราคงเหมือนหนูตัวเล็กๆ วิ่งบนลูกโป่ง แม้ว่าด้วยสัญชาติญาณสถาปนิก เราก็รู้ว่ามันไม่พังหรอก แต่อีกด้านของความรู้สึกที่เป็นสัญชาติญาณคน เราอดหวาดเสียวกับมันไม่ได้
แต่ถ้ามาถึงโคะฟุฟุงแล้ว สมควรจะต้องลองสักทีนะ
การเดินทางครั้งนี้ ผมพบเห็นถึงความเป็นไปได้ของสถาปัตยกรรม มันสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ได้มากกว่าก้อนคอนกรีตกันแดดฝนเท่านั้น ความน่าสนใจคือการปล่อยให้ผู้คนที่มาใช้ตีความกับมันเองผ่านการเล่นนี่ละ