โดย イノシシ

Club Harie มีขนมขึ้นชื่อเรียกว่า บามคูเฮน (Baumkuchen) เป็นการประสมคำศัพท์สองคำในภาษาเยอรมัน คือ Baum แปลว่า “ต้นไม้” และ Kuchen แปลว่า “ขนมอบหรือเค้ก” ขนมเค้กชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่นและมีหลายยี่ห้อให้เลือกชิม แต่หลังจากได้ลิ้มรสชาติของ Club Harie ระหว่างที่ไปเที่ยวที่นาโกย่า (Nagoya) เพราะไปเจอร้านสาขาที่มีจำหน่ายแบบอบใหม่สดๆ ที่ระบุไว้ว่าต้องกินให้หมดภายในวันนี้เท่านั้นก็ติดใจในรสชาติที่ได้ลิ้มลองจนอยากรู้จักแบรนด์ขนม Club Harie ให้มากยิ่งขึ้น นี่คือแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทริปนี้ และการหาข้อมูลที่เกี่ยวกับร้านก็เริ่มต้นขึ้น

Club Harie เมือง Omihachiman จ.ชิกะ (Shiga)

 

Shiga (ชิกะ)

Club Harie มีร้านสาขากระจายตามเมืองต่างๆ และยังปรับรูปแบบการวางจำหน่ายของแต่ละสาขาให้แตกต่างกันไปด้วย นั่นหมายความว่ามีการทำคอนเซ็ปต์ร้านให้ต่างกันออกไปในแต่ละสาขา เป็นการสร้างความน่าสนใจและทำให้มีการสร้างสรรค์เมนูขนมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ความน่าสนใจเหล่านี้ทำให้ยิ่งอยากไปสาขาแรกที่เป็นร้านต้นตำรับในเมือง โอมิฮาจิมัง (Omihachiman) ในจังหวัดชิกะ (Shiga) และจากการหาข้อมูลทำให้ทราบว่า Club Harie เป็นแบรนด์ในเครือทาเนยะ (Teneya) ซึ่งเป็นร้านขนมญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานกว่า 148 ปี และเราก็หลงใหลขนมญี่ปุ่นของร้านนี้อยู่ด้วย จึงยิ่งเพิ่มแรงจูงใจสำหรับเราเป็นทวีคูณ

 

วางแผนทริปและการเดินทาง

การมีเป้าหมายทำให้เราสามารถปักหมุดแผนที่เมืองที่เราจะไปกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมากต่อการวางแผนเที่ยวเอง สำหรับทริปนี้เราจะไปที่โอมิฮาจิมังในจังหวัดชิกะ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลสาบบิวะ (Lake Biwa) ที่เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น รายล้อมด้วยเมืองต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งเราก็มีแผนที่จะเที่ยวเมืองอื่นด้วย และความที่ชอบเที่ยวแบบสบายๆ ไม่เร่งรีบ เรากำหนดไว้ว่าจะใช้เวลากับที่นี่ 4 วัน 3 คืน !

จากกรุงเทพเราลงเครื่องที่สนามบินคันไซและเดินทางต่อด้วยรถไฟไปเกียวโต (Kyoto) ตั้งใจว่าพักที่นี่ 2 คืน เพื่อจะได้เดินเที่ยวในเกียวโต และไปชิมเมนูร้านอาหารที่จองมานานจากกรุงเทพ แล้วจึงเดินทางไปชิกะ โดยเราจะนั่งรถไฟไปเมืองโอตสึ (Otsu) ที่อยู่ใกล้กับเกียวโต ซึ่งใช้เวลานั่งรถไฟเพียง 20 นาทีก็ถึงแล้ว ที่นี่เป็นเมืองพักตากอากาศยอดนิยมของญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน แต่ว่าช่วงที่ไปเป็นฤดูหนาว ก็เลยทำให้มีตัวเลือกที่พักดีๆ ในราคาไม่แพง เราจึงเลือกโรงแรมระดับ 5 ดาวที่อยู่ติดกับทะเลสาบบิวะ ห้องพักเห็นวิวสวยในราคาเบาๆ พร้อมมีบริการรถรับส่งระหว่างหน้าสถานีรถไฟกับโรงแรมสำหรับแขกที่มาพัก โดยมีตารางเวลารอบบริการแจ้งไว้ นอกจากนี้จากโอตสึยังสามารถเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ที่น่าสนใจได้อย่างสะดวกสบาย

วันแรกหลังจากนำกระเป๋าสัมภาระไปฝากที่โรงแรมเรียบร้อย เราก็มุ่งหน้าไปยังโอมิฮาจิมัง เมืองนี้เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองแห่งสายน้ำที่เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ และเป็นฐานะเมืองแห่งการค้าที่เจริญรุ่งเรืองเมื่อกว่า 500 ปีที่แล้ว

นั่งรถไฟจากสถานี Otsu ไปลงที่สถานี Omihachiman จากนั้นก็นั่งรถเมล์ไปลงที่ ฮาชิมังโบริ (Hachiman-bori) ที่นี่เป็นเขตอนุรักษ์ที่สำคัญ มีบ้านเรือนโบราณแบบชุมชนริมน้ำที่มีชื่อเสียง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เพื่อมาชมดอกซากุระบานสะพรั่งอยู่ 2 ฝั่งคลอง แต่ช่วงหน้าหนาวต้นเดือนมกราคมที่เรามานั้น ที่นี่ดูสงบเงียบราวกับไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย !

Omihachiman เมืองที่ตั้งของ Club Harie

แต่เมื่อสังเกตระหว่างที่เราเดินเลียบไปตามริมคลองผ่านบ้านเรือนแบบโบราณ ก็พบว่าอาคารแต่ละเรือนเปิดให้บริการอยู่ ซึ่งมีทั้งร้านค้าและร้านอาหารที่ดูมีระดับทีเดียว โดยเฉพาะร้านเนื้อย่าง เพราะที่เมืองนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องเนื้อวัวคุณภาพดีรสชาติอร่อยของญี่ปุ่น แต่บางหลังก็เป็นบ้านพักอาศัยที่ดูสวยงามคลาสสิกมาก

บ้านเรือนญี่ปุ่นโบราณที่สร้างขนานไปกับ 2 ฝั่งคลอง จะมีต้นไม้ใหญ่ที่แม้วันนี้จะแลดูมีเพียงกิ่งก้าน แต่ชวนให้คิดว่าหากมาในช่วงใบไม้ผลิที่ต้นไม้ผลิใบออกดอกจะสวยงามเพียงใด คงไม่เหมือนตอนนี้ที่เดินอยู่ท่ามกลางความหนาวเย็น ถึงแม้จะเตรียมตัวมาอย่างดี เพราะได้ตรวจสอบพยากรณ์อากาศมาแล้ว แต่พอมาถึงจริงๆ อากาศวันนี้หนาวกว่าที่คิดไว้มาก ทำให้ต้องเดินซุกมือในกระเป๋าเสื้อขนเป็ดตลอดทาง แต่โชคดีที่เรามีกล้อง Ricoh GR คุณภาพดีขนาดเล็กซุกไว้ในกระเป๋าเสื้อด้วย จึงพร้อมที่จะหยิบออกมา Snap ภาพอย่างรวดเร็ว ก่อนจะรีบเอามือซุกกลับไว้ในกระเป๋าเสื้อตามเดิม ทำให้เราได้ถ่ายรูปบันทึกการเดินทางท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นมาจนถึงที่ตั้งเป้าหมายของเราในที่สุด

 

Club Harie & Teneya

ก่อนอื่นเราตั้งใจไปที่ทาเนยะ (Taneya) ในช่วงเวลามื้อเที่ยง เพราะทราบว่าที่ทาเนยะเปิดบริการเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นด้วย ที่นี่เป็นบ้านโบราณหลังใหญ่แบบญี่ปุ่นที่ดูสวยสง่า เมื่อเดินเข้ามาในร้าน พนักงานสอบถามว่าเราต้องการรับประทานอาหารหรือขนม ถ้าต้องการขนมก็จะต้องขึ้นไปชั้น 2 แต่เมื่อเราตอบรับว่าอาหาร พนักงานก็เชิญเข้ามาด้านในตรงโถงห้องที่มีโต๊ะไม้และเก้าอี้แบบญี่ปุ่น

แวะทานมื้อเที่ยงที่ ทาเนยะ (Taneya), Omihachiman ก่อนไป Club Harie

หลังเลือกดูเมนูและสั่งอาหารเสร็จแล้ว สักครู่พนักงานนำชาร้อนพร้อมขนมโมจิไส้ถั่วแดงบดรสหวานมาเสิร์ฟ พอเห็นก็รู้สึกชื่นชมในมุมมองความคิดที่มีรายละเอียดเหล่านี้ เพราะโดยปกติร้านอาหารจะเสิร์ฟของว่างเป็นอาหารคาว หรือเป็นกับแกล้มรสเค็ม แต่ที่นี่ใช้โมจิที่เป็นขนมหวานแทนก็สร้างความประทับใจได้ดี และตอกย้ำถึงเอกลักษณ์ของร้านที่เป็นร้านขนมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม !

บรรยากาศในร้านเป็นเรือนญี่ปุ่นประดับตกแต่งแบบโบราณ ที่น่าสนใจคือเตาโบราณขนาดใหญ่ที่ยังใช้งานได้ดี ทางร้านใช้ต้มน้ำร้อนสำหรับชงชาเสิร์ฟให้กับแขกที่มารับประทานอาหาร

เราสั่งชุดอาหารแนะนำของวันนี้ และเหมือนว่าที่นี่ภูมิใจนำเสนอ คอนยักคุ (Konnyaku) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ในการทำขนมญี่ปุ่นที่ทางร้านนำไปปรุงแบบอาหารคาวเป็นกับข้าวเครื่องเคียงที่จัดมาเป็นสำรับ และในถ้วยข้าวที่เสิร์ฟมาในชุดก็มีคอนยักคุด้วย เมื่อเห็นก็ชวนน่าอร่อยและน่าสนใจว่ารสชาติจะเป็นอย่างไร เมนูชุดนี้เน้นเรื่องความสดใหม่ของวัตถุดิบท้องถิ่น การปรุงรสแต่น้อย ให้รสชาติเบาๆ ที่กินแล้วรู้สึกสดชื่น แม้จานหลักที่เราเลือกเป็นเนื้อหมูย่างมิโซะที่ดูเข้มข้น แต่เมื่อกินด้วยกันกับอาหารข้างเคียงที่จัดมาในสำรับก็ให้รสชาติที่สมดุลเข้ากันเป็นอย่างดี

คอนยักคุ (Konnyaku) เมนูมื้อเที่ยงก่อนไป Club Harie เมือง Omihachiman

และของหวานตบท้าย คือ โมจิลูกกลมๆ ที่ชวนคิดถึงทาโกยากิ ของว่างยอดนิยมของโอซาก้า แต่ว่าลูกกลมๆ นี้เป็นขนมหวาน ทำจากแป้งโมจิรสสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน สอดไส้ถั่วแดงบดรสชาติดีมาก สมแล้วที่ทาเนยะเป็นร้านขนมญี่ปุ่นเลืองชื่อ

กินอิ่มแล้วก็เดินเที่ยวรอบๆ บริเวณนี้  ซึ่งใกล้ๆ ร้านจะมีศาลเจ้าชื่อ ศาลเจ้าฮิมุเระฮะจิมังงู (Himure Hachiman-gu Shrine) ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของโอมิฮาจิมัง นับถือว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้าที่ผู้คนท้องถิ่นเคารพบูชาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังมีกระเช้าไฟฟ้าที่เราสามารถซื้อตั๋วเพื่อขึ้นไปยังยอดเขาฮะจิมังยามะ อันเป็นจุดชมวิวเห็นได้ทั่วทั้งเมืองอีกด้วย !

แต่เราเลือกที่จะเดินเที่ยวชมบริเวณรอบๆ ร้านก่อนไปยัง Club Harie ที่อยู่ตรงข้ามกัน เพื่อให้มีเวลาไปชิมขนม และดื่มด่ำกับบรรยากาศในร้านคาเฟ่ของ Club Harie ซึ่งเป็นจุดหมายของเราในวันนี้ !

เดินเล่นชมบรรยากาศรอบๆ ในเมือง Omihachiman ก่อนถึง Club Harie บรรยากาศรอบๆ ในเมือง Omihachiman ก่อนถึง Club Harie

สำหรับ Club Harie สาขาในเมืองโอมิฮาจิมัง (Omihachiman) ตั้งอยู่ในอาคารขนาดใหญ่แบบยุโรป ซึ่งในร้านจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนด้านหน้าจำหน่ายขนมต่างๆ แบบกลับบ้าน ส่วนด้านหลังเปิดเป็นคาเฟ่บริการขนมและเครื่องดื่ม ซึ่งบรรยากาศในร้านก็ค่อนข้างเงียบสงบ มีความสบายๆ เป็นกันเอง

ถึงเป้าหมายของเราแล้วที่ Club Harie, เมือง Omihachiman บรรยากาศ Club Harie สาขาในเมืองโอมิฮาจิมัง (Omihachiman) Club Harie เมือง Omihachiman กับการตกแต่งสไตล์ยุโรป ขนมหวานและเครื่องดื่มจาก Club Harie สาขาในเมืองโอมิฮาจิมัง (Omihachiman) ของหวานใน Club Harie สาขาในเมือง Omihachiman

หลังจากที่ได้ลิ้มรสขนมในคาเฟ่แล้วก็ต้องซื้อขนมติดมือกลับไปเพื่อเป็นเสบียงระหว่างท่องเที่ยว และก่อนกลับกรุงเทพเราไปซื้อขนมเพื่อเป็นของฝากที่ร้านสาขาในโอซาก้า (Osaka) ที่ตึก Abeno Harukas Kintetsu ซึ่งจะเปิดภายใต้ชื่อว่า B-studio ขนมของร้านนี้จะมีอายุ 7 วันนับจากวันที่ซื้อ จึงควรซื้อก่อนวันเดินทางกลับ

ทริปเยือน Club Harie เมือง Omihachiman กับกล้อง Ricoh GR

 

และหากใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเกิดคำถามว่า แล้วหน้าตาขนมบามคูเฮน (Baumkuchen) ล่ะเป็นอย่างไร ทำไมไม่มีรูปเลย นั่นก็เพราะว่าพอรับประทานขนมก็อร่อยเพลินจนลืมบันทึกภาพสวยๆ ทุกครั้ง แต่ว่าถ้าหากสนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.clubharie.jp

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ