เมื่อเร็วๆ นี้จากเพจที่เราติดตามอยู่เกี่ยวกับกลุ่มของคนชอบเที่ยวญี่ปุ่นก็มีโพสต์หนึ่งที่ชวนคุยเรื่องสิ่งที่ทําอยู่ขณะที่ยังเดินทางไปญี่ปุ่นไม่ได้ ซึ่งก็มีความเห็นจากสมาชิกที่หลากหลาย เช่น บางคนก็บอกว่ามักเปิดวีดีโอยูทูปดูขบวนรถไฟต่างๆ การเปิดคลิปเสียงประกาศขบวนรถไฟที่กําลังเทียบชานชาลาในสถานีรถไฟ JR หรือการดูรูปสถานที่เที่ยวต่างๆ และรูปถ่ายตอนที่ได้ไป เป็นต้น แม้ว่าแต่ละคนก็มีวิธีการที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดก็ทําให้เราค้นพบคําตอบว่า ไม่ใช่แค่เราคนเดียวสินะ เพราะมีเรื่องที่เราไม่กล้าบอกใครด้วยเกรงจะโดนว่า “บ้าไปแล้ว” 

การได้พบว่ามีคนที่คิดถึงญี่ปุ่นมากๆ เหมือนกันก็เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจดีว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ก็เป็นเรื่องที่ปกติที่ใครๆ ก็เป็นกันนี่นา ! ก็แค่อาการโหยหาเพราะความคิดถึงญี่ปุ่นแบบสุดๆ ก็เท่านั้นเอง… ซึ่งเราค้นพบสิ่งที่ช่วยคลายอาการนั้นได้ด้วยการดูซีรีส์เรื่อง Solitary Gourmet ที่สร้างจากมังงะตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวละครเอกที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวที่งานของเขาจะต้องออกไปพบลูกค้าที่นัดไว้ในย่านต่างๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งเนื้อหาที่ดำเนินไปจะทำให้เห็นว่าที่จริงแล้วสิ่งสำคัญสำหรับเขาไม่ใช่ธุระของงานที่ไป แต่กลับเป็นเรื่องของอาหารในแต่ละมื้อที่เขาจะบรรจงค่อยๆ เลือกอย่างใส่ใจ และไม่ว่าเขาจะรู้สึกหิวมากแค่ไหนก็ตาม เขาก็ไม่ลดละความพยายามในการเลือกร้านอาหารสำหรับเขาอย่างพิถีพิถัน…ซึ่งร้านอาหาร หรือย่านการค้าที่เป็นบรรยากาศตามท้องเรื่องก็ชวนให้เรารู้สึกถึงญี่ปุ่นแบบบ้านๆ ที่เราชื่นชอบ และการตามหาร้านอาหารอร่อยๆ ที่น่าสนใจก็ไม่ต่างไปจากตอนที่เราไปเที่ยว ดังนั้นก็เลยเหมือนได้สัมผัสช่วงเวลาตอนที่เราอยู่ญี่ปุ่น ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ตอบสนองอาการความรู้สึกที่โหยหา และคิดถึงญี่ปุ่นมากๆ ของเราได้ดีทีเดียว แม้บางครั้งอาจมีเสียงลอยมาว่า ดูเรื่องนี้กี่รอบแล้วไม่เบื่อบ้างหรือไง !!!

 

ช่วงเวลาวางแผนทริป 

ถ้าต้องเลือกระหว่างสถานที่เที่ยวกับอาหารอร่อย? ส่วนใหญ่เรามักให้ความสําคัญอย่างหลังเสมอ และสิ่งแรกที่จะทําก็คือ การหาข้อมูลว่าที่นั่นมีอาหารท้องถิ่น หรือร้านอาหารที่น่าสนใจบ้างไหมก่อนที่จะปักหมุดลงแผนที่การเดินทางในแต่ละครั้ง เพราะเราถือคติพจน์ว่า อาหารอร่อยๆ ทําให้หัวใจเบิกบาน ช่วยให้มีพลังในการเดินเที่ยว และมีความสุขกับการ Snap ภาพด้วย กล้อง Ricoh GR ที่ถ่ายรูปสนุกได้ตลอดเส้นทาง

เมื่อนึกขึ้นมาว่า Go on a Journey with Ricoh GR ได้เดินทางมาถึงบทส่งท้ายแล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าช่างมาถึงเร็วจังเลย ! ซึ่งทําให้คิดว่าครั้งนี้เป็นบทความครั้งสําคัญ จึงทําให้ต้องคิดอยู่นานว่าควรจะเขียนเรื่องราวอะไรดีนะ และหลังจากคิดอยู่นานมาก… ก็ไม่อาจตัดสินใจเลือกเรื่องที่เหมาะที่สุดเพียงเรื่องเดียวเพราะพอจะเลือกเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่พอเรามาไล่ดูเห็นภาพถ่ายไดอารี่ที่บันทึกไว้ตลอดการเดินทางด้วยกล้อง Ricoh GR ก็ทําให้คิดถึงเรื่องราวตามภาพถ่ายรูปนั้นๆ ไปด้วย ก็เลยเหมือนมีเรื่องราวหลายๆ เรื่องที่รู้สึกว่าอยากแบ่งปันประสบการณ์ออกไปด้วยพร้อมกัน ก็เลยคิดว่างั้นเราก็นําความประทับใจจากหลายๆ ทริปมาร้อยเรียงเป็นบทความในครั้งนี้ดีกว่า  

ถ้างั้นเรามาเริ่มต้นกับเรื่องราวต่างๆ กันเลย…

 

Nagahama, Shiga 

ด้วยความชอบไปเดินเที่ยวสถานที่ที่ยังคงความเป็นเมืองท้องถิ่นอยู่ เราก็เลยไปที่เมืองนากาฮามะ (Nagahama) จังหวัดชิกะ (Shiga) โดยมีจุดสนใจ คือ จัตุรัสคุโรคาเบะ (Kurokabe Square) เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อเรื่องสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 16 ในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) โดยมีอาคารเก่าหลังหนึ่งที่เป็นไฮไลท์ ซึ่งเดิมเคยเป็นธนาคารที่สร้างในสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) แต่ปัจจุบันปรับเป็นแกลเลอรี่เกี่ยวกับเครื่องแก้วที่เป็นงานผลิตท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเมือง โดยบริเวณของจัตุรัสคุโรคาเบะนี้เป็นถนนย่านร้านค้าที่จําหน่ายสินค้าท้องถิ่นรวมไปถึงมีร้านอาหารด้วย 

ที่นี่มีวัตถุดิบที่เป็นอาหารประจําท้องถิ่นก็คือ เป็ดป่า และ ปลาแมคคลอเรล ซึ่งเป็นเมนูที่ร้านอาหารท้องถิ่นนําเสนอกัน ทําให้เราเดินไปร้านนี้แวะดูร้านนั้น และไปร้านโน้น เพื่อเลือกหาร้านที่ดูน่าสนใจที่สุดสําหรับมื้อกลางวันของเรา อันที่จริงจะมีร้านอาหารชื่อ Yokaro ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมกัน ถ้าใครจะตรงไปชิมเมนูท้องถิ่นที่ร้านนี้เลยก็ได้ บางครั้งเราก็อยากลองร้านอาหารใหม่ๆ ที่ยังไม่ฮิตติดดาว เผื่อจะเจอร้านท้องถิ่นที่อาจกลายเป็นดาวดวงใหม่ที่น่าประทับใจสําหรับเราก็ได้ ! 

หลังจากสํารวจกันอยู่พักใหญ่ในที่สุดเราก็ตัดสินใจเพราะเริ่มรู้สึกหิวล่ะ ร้านที่เราเลือกเป็นร้านที่อยู่ในเขตย่านการค้าชื่อ 旬彩dining Yoshino โดยระหว่างทางที่เดินมาก็จะพบร้านค้าต่างๆ และร้านอาหารหลากหลายประเภท แต่เราเลือกร้านนี้เพราะดูน่าสนใจ อีกทั้งมีเมนูท้องถิ่นที่เราอยากลิ้มลอง

Kamo-suki (สุกี้ยากี้เป็ดป่า) เป็นอาหารพิเศษในฤดูหนาวของเมืองนากาฮามะ โดยจะเริ่มตั้งแต่เปิดฤดูกาลล่าสัตว์ของทุกปีในวันที่ 15 พฤศจิกายน ร้านอาหารส่วนใหญ่ในเมืองนากาฮามะจะใช้เป็ดป่าซึ่งมีไขมันมาก และไม่ค่อยมีกลิ่นสาบในการปรุงอาหารสไตล์แบบดั้งเดิม รสชาติก็อร่อยทีเดียว โดยเฉพาะน้ําซุปที่กลมกล่อม ส่วนเนื้อเป็ดป่าที่สไลด์มาก็ให้รสสัมผัสที่นุ่ม ซึ่งที่จริงเป็ดป่ามีสรรพคุณบํารุงสุขภาพ และช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย จึงเหมาะมากที่จะเป็นอาหารสำหรับช่วงฤดูหนาว…

อาหารชุดนี้เสิร์ฟมาพร้อมข้าว เส้นโซบะ และกับข้าวเครื่องเคียงที่ทําจาก Ayu sweetfish ปลาอะยุขนาดเล็กที่จับได้ในทะเลสาบบิวะ หรือเรียกอีกชื่อว่า “Ko-ayu” ส่วนมากนิยมนํามาปรุงอาหารที่สามารถรับประทานได้ทั้งตัว เช่น ทอดแบบ เทมปุระหรือเอามาทอดทั้งตัวแล้วปรุงรสด้วยน้ําส้มสายชูหมักกับพริกแห้ง และใส่ผักอย่างหอมหัวใหญ่ที่ซอยเป็นเส้นบางๆ เรียกว่า Nanbanzuke หรือเมนูอย่างที่เราได้ชิมวันนี้คือ Tsukudani คือการนําปลาอะยุมาต้มโชยุ (ซอสถั่วเหลือง) จนนุ่ม และปรุงรสออกหวาน ซึ่งเป็นรสชาติที่เหมาะสําหรับรับประทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ ทีเดียว

 

Grilled Mackerel Sushi 

อาหารแนะนําประจําเมืองนากาฮามะอีกอย่างก็คือ ปลาแมคเคอเรลย่างปรุงรสด้วยโชยุรสหวานและเผ็ดเล็กน้อย รับประทานพร้อมกับเส้นโซเมน (Somen) หรือข้าวซูซิซึ่งแต่เดิมในภูมิภาคโคโฮคุทางตอนเหนือของทะเลสาบบิวะนี้เคยมีประเพณีที่พ่อแม่จะส่งมาให้ลูกสาวที่แต่งงานแล้ว และกําลังยุ่งกับการเตรียมการเพาะปลูกในไร่ที่กําลังเข้าสู่ในช่วงฤดูเพาะปลูก เพราะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจากนี้ยังเป็นอาหารประจําเทศกาลที่เสิร์ฟให้กับผู้มาเยือนในเทศกาล Nagahama Hikiyama

แม้ว่าปกติพอได้ยินว่าเป็นปลาแมคเคอเรลก็มักไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่ค่อยชอบรับประทานปลาที่มีเนื้อแน่นอย่างปลาซาบะ หรือปลาอินทรีแต่ในหลายๆ ครั้งเราพบว่ามีการใช้ชื่อเรียกชนิดปลาแบบรวมๆ อย่างเช่น การเรียกปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาอินทรี หรือปลาที่คล้ายกันที่อยู่ในวงศ์ปลาหางแข็ง หรือวงศ์ Hexagrammidae และวงศ์ Gempylidae ก็เรียกรวมว่าปลาแมคเคอเรลด้วย ซึ่งที่จริงปลาแต่ละชนิดจะมีรสชาติและลักษณะที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว ดังนั้นเมื่อเราเห็นรูปเมนูข้าวซูซิปลาแมคเคอเรลแล้วก็คิดว่าลักษณะเนื้อปลาดูน่าสนใจดี อาจจะเป็นปลาแมคเคอเรลชนิดที่เราถูกใจก็ได้ และยิ่งเป็นเมนูแนะนําประจําท้องถิ่นก็อยากลิ้มลองเพื่อเป็นประสบการณ์สําหรับเราต่อไป…

เมื่อได้ชิมก็รู้สึกติดใจเพราะว่าเนื้อปลานุ่มนวลชุ่มฉ่ำด้วยไขมันปลา และการย่างไฟก็เพิ่มความหอม และให้รสสัมผัสที่ดียิ่งขึ้น เมื่อกินคู่กับข้าวซูซิที่ผสมงาขาวเล็กน้อยก็ยิ่งเสริมรสชาติที่ดีมากขึ้นไปอีก ทําให้เป็นอีกหนึ่งในเมนูประจําท้องถิ่นที่เราประทับใจ และภาพจากกล้อง Ricoh GR ก็ถ่ายมาโครมาได้ถูกใจอีกเช่นเคย เมื่อดูแล้วก็นึกถึงรสชาติที่อร่อยของจานนี้ขึ้นมาจนชวนรู้สึกหิวขึ้นมาซะอย่างนั้น

แม้ว่าเมืองนากาฮามะจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่คึกคักมาก แต่ก็มีร้านค้าต่างๆ ที่น่าสนใจ หรืออย่างร้านขนมที่เราเดินมาพบแล้วรู้สึกถูกใจ แม้ว่าตลอดทางเดินมามีร้านขนมอื่นๆ อีกหลายร้าน แต่เรารู้สึกว่าร้านนี้แหละก็เลยลองเข้าไปวัดดวงกันนิดหนึ่ง เพราะการใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาในการประเมิน และตัดสินใจเลือกร้านต่างๆ ที่ผ่านมาก็มีทั้งเลือกได้ถูกต้อง หรือพลาดไปบ้าง แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่สนุก และมีสีสันดีสําหรับเรา สําหรับครั้งนี้ก็เป็นความโชคดีของเราที่เลือกร้านได้ถูกต้องไม่ผิดหวัง… 

 

Cafe Kanou Shoujuan Nagahama Kurokabe 

ร้านนี้ตั้งอยู่ที่หัวมุมของจัตุรัสคุโรคาเบะ เป็นอาคารเก่าโบราณอายุกว่า 100 ปี ตกแต่งในโทนสีดําที่เป็นงานสถาปัตยกรรมสไตล์ญี่ปุ่นแบบโบราณ พื้นที่ด้านในร้านให้บรรยากาศที่ผ่อนคลายสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจ และพนักงานให้การบริการดีมาก นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกทั้งของหวานแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมและแบบตะวันตก ซึ่งเราก็เลือกขนมเค้ก Mont Blanc สไตล์ญี่ปุ่นชื่อ 森の華やぎ ที่เป็นเมนูที่มีเฉพาะร้านสาขานี้เท่านั้น นอกจากหน้าตาขนมจะดูดีสวยงามแล้วรสชาติก็อร่อยด้วย



เค้ก Mont Blanc ก็น่ากินขึ้นมากด้วย กล้อง Ricoh GR

ด้วยความที่ร้านนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีบรรยากาศของย่านร้านค้าท้องถิ่นก็เลยชวนให้คิดถึงทริปที่ไป Kurashiki Bikan Historical Quarter ที่อยู่ในจังหวัดโอคายาม่า (Okayama) ซึ่งมีตึกแถวสไตล์ญี่ปุ่นโบราณที่ปัจจุบันได้กลายเป็นย่านร้านค้าต่างๆ เรียงรายมากมายอย่างร้านอาหารญี่ปุ่น (Washoku) ร้านขนมหวาน และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าท้องถิ่นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอาคารสีขาว Kominka บ้านญี่ปุ่นโบราณที่เรียงรายไปตามถนนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ทำให้ได้รับความสนใจ และเป็นสถานที่เที่ยวสำคัญ จนได้รับรางวัลมิชลินกรีนไกด์ 2 ดาวประเทศญี่ปุ่น และด้วยความที่เรามีความชื่นชอบอย่างมากกับการได้เที่ยวชม Shoutengai หรือถนนย่านการค้าอยู่เป็นทุนเดิม ดังนั้นที่นี่จึงมีแรงดึงดูดสำหรับเราเป็นพิเศษ และเป็นทริปที่เราประทับใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการได้มีโอกาสไปสัมผัสตลาดท้องถิ่นที่จัดขึ้นในช่วงที่เราไปพอดี…

 

Kurashiki Morning Market 

เราได้ข้อมูลมาเล็กน้อยเกี่ยวกับตลาดนัดท้องถิ่นที่เคยจัดมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) แต่ก็ได้ระงับไปจนกระทั่งปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูและจัดงานนี้ขึ้นมาใหม่ โดยเป็นตลาดสําหรับจําหน่ายผักผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่ และอาหารทะเลที่หาได้จากทะเลเซโตะใน (Seto Inland Sea) รวมทั้งหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น มาวางขายในตลาดที่จัดอยู่ในย่านร้านค้าหน้าสถานีคุราชิกิ (Kurashiki Station) เริ่มตั้งแต่ 8:00-11:00 น. จัดเฉพาะวันอาทิตย์ในสัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือน แม้พยายามหารายละเอียดเพิ่มเติมก็ไม่พบ แต่อย่างไรก็ตามเพียงข้อมูลเท่านี้ก็ชวนให้เราสนใจแล้วล่ะ ! 

พอดีกับจังหวะโอกาสที่ดีสําหรับเราที่กําลังจะไปเมืองคุราชิกิ หรือในทางกลับกันก็คือ เพราะกําลังวางแผนเที่ยวญี่ปุ่น แล้วก็เล็งๆ Kurashiki Bikan Quarter อยู่ก็เลยหาข้อมูลแล้วก็มาเจอข้อมูลสั้นๆ เพียงไม่กี่บรรทัดที่ทําให้เราสรุปปักหมุนสถานที่ และวันเดินทางกันเลย… 

แม้จะไม่ได้ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตลาดนัดท้องถิ่นนี้แต่เราก็คิดว่าเผื่อๆ ไว้ว่าพอมาถึงก็ลองสอบถามดู ถ้ามีการจัดตลาดนัดเราก็ไป… ซึ่งเราพักที่โอคายาม่าอยู่หลายวันก็ทําให้เราสามารถสลับปรับเปลี่ยนแผนท่องเที่ยวของเราให้ลงตัวกับวันที่มีตลาดเช้าได้อยู่ ดังนั้นเมื่อเราเดินทางมาถึงก็สอบถามข้อมูลก่อนเลย และได้คําตอบว่า ตลาดเช้ามีจัดอยู่นะ ไชโย ! 

เราตื่นแต่เช้าเพราะตลาดมีถึงราวๆ 11 โมง และพอเดินออกจากโรงแรมที่พักก็เจอกับสายฝนที่ทําให้อากาศหนาวเย็นขึ้นมากกว่าเดิม แต่การเดินทางไปที่คุราชิกิจากสถานีโอคายาม่า (Okayama Station) สะดวกมากแค่นั่งรถไฟมาไม่นานก็ถึงสถานีรถไฟคุราชิกิ (Kurashiki Station) แม้ว่าต้องเดินเท้าต่ออีกระยะหนึ่งแต่ก็ไม่ไกลมาก เมื่อมาถึงทางเข้าที่จัดงานเราเห็นควันสีขาวๆ ลอยคุ้งไปทั่วที่ส่งกลิ่นหอมๆ ที่ชวนให้อยากลองชิม ว่าแต่เขาขายอะไรบ้างนะ พอเห็นคนรอคิวซื้อเป็นแถวยาวๆ อยู่ก็เลยเดินเข้าไปด้านในของตลาดเช้าเพื่อหลบฝน และเดินดูงานก่อนสลับกลับมาสังเกตว่าตกลงร้านนี้ขายอะไร สุดท้ายก็พบว่าเป็นร้านขายยากิโทรินี่เอง และรอจังหวะให้คนน้อยลงค่อยวิ่งไปเข้าแถวซื้อ…

นอกจากยากิโทริแล้วก็มีร้านอาหารอื่นๆ ในงานซึ่งจะมีกางเต็นท์และจัดโต๊ะเก้าอี้ไว้ได้สําหรับนั่งรับประทานอาหารที่ซื้อมาได้ ซึ่งเราเดินไปดูรอบๆ แต่ละร้านก็มีคนอุดหนุนแวะเวียนไม่ขาดสาย ดูเหมือนคนท้องถิ่นจะมากินอาหารเช้าที่งานกัน ทําให้ที่นั่งในเต็นท์คนเยอะมากๆ แม้ฝนจะตกก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ โดยรวมเป็นงานออกร้านค้าที่จัดขึ้นเป็นตลาดเช้าท้องถิ่นที่น่าสนใจ สินค้าที่มีจําหน่ายก็เป็นลักษณะเจ้าของร้านทําเอง หรือปลูกผัก ผลไม้ชนิดนั้นๆ เอง และเราก็ได้ชิมทั้งขนม อาหาร และผลไม้ รวมทั้งได้ช็อปปิ้งสินค้าที่เราสนใจติดมือกลับด้วย แถมระหว่างนั้นยังได้ถ่ายรูปไปเดินชมตลาดไปตามสไตล์กล้อง Ricoh GR พาเพลิน

ถ่ายภาพได้ด้วยมือเดียวจาก กล้อง Ricoh GR ขนาดเล็กกะทัดรัด

จริงๆ งานนี้ไม่ได้เป็นตลาดเช้าที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ชอบตรงที่เป็นตลาดท้องถิ่นที่คนขายกับคนซื้อก็คือคนในพื้นที่เป็นส่วนมาก ทําให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน และได้สัมผัสความมีอัธยาศัยที่ดีจากคนท้องถิ่นที่มาในงานก็ทําให้รู้สึกอิ่มเอมในหัวใจ นอกจากนี้แล้วยังได้ลองชิมอาหาร และขนมท้องถิ่นต่างๆ ที่นำมาจำหน่ายก็เลยสร้างสีสันให้กับการเดินตลาดเช้าแห่งนี้ ในขณะเดียวกันร้านค้าที่อยู่ในย่านที่จัดงานพอมีการจัดตลาดเช้าแบบวันนี้ก็เลยมีร้านค้าที่เปิดเช้าขึ้นมาร่วมงานด้วยก็เลยเพิ่มความหลากหลายให้เราได้ช็อปสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก

หลังจากเล่าเรื่องเกี่ยวกับเมนูอร่อยๆ แล้วก็นึกขึ้นว่า กล้อง Ricoh GR เป็นกล้องที่ใช้ในการท่องเที่ยวถ่ายรูปต่างๆ ได้ดีเช่นกัน แล้วก็นึกถึงทริปหนึ่งที่ทําให้รู้สึกความสุขใจทุกครั้งที่ได้คิดถึงก็คือ ทริปฮอกไกโดที่ได้ไปดูดอกพิงค์มอส (Pink Moss) หรือดอกชิบะซากุระ (Shibazakura) เพราะเป็นทริปที่ขับรถไปเที่ยวเองกับครอบครัว 

 

Shibazakura @ Hokkaido

Shibazakura มีชื่อตามสายพันธ์ุว่า Moss Phlox/Phlox Subulata หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า Pink Moss ดอกไม้ขนาดเล็กประมาณ 1.5 ซม. มีลักษณะคล้ายกับดอกซากุระแต่บานและออกดอกบนพื้นดิน จึงเป็นที่มาของชื่อ Shiba (พื้นดิน) กับคําว่า Zakura (ใช้ Z เป็นตัวสะกดตามการเปลี่ยนเสียงของภาษาญี่ปุ่น) ฤดูกาลชมชิบะซากุระในฮอกไกโดอยู่ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งมีสถานที่ชมพิงค์มอสที่น่าสนใจอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ Higashimokoto Park ในเมืองอาบาชิริ (Abashiri) แต่ในช่วงที่เราไปนั้นได้ข้อมูลว่าดอกไม้เริ่มโรยราไปมากแล้ว ดังนั้นก็เลยเลือกมาที่ Takinoue Park เมืองอาซาฮิกาวะ (Asahikawa) แทน ซึ่งที่นี่เป็นสวนสาธารณะที่เริ่มปลูกต้นชิบะซากุระมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 โดยชาวเมืองช่วยกันปลูกจนตอนนี้ได้ขยายพื้นที่ออกไปมากถึง 100,000 ตารางเมตร และจะมีการจัดงานเทศกาลประจําทุกปี

วันที่เราไปนั้นเป็นช่วงต้นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุยายน แม้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน แต่ที่ฮอกไกโดอากาศยังเย็นๆ อยู่ แต่ว่าแดดจะแรงมาก ซึ่งก็ทําให้ได้เห็นท้องฟ้าสีเข้มสวยตัดกับดอกสีชมพูสดของชิบะซากุระ เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าดอกไม้เริ่มสลดกันไปเป็นหย่อมๆ เพราะแสงแดดที่แรงกล้า แล้วจะทํายังไงดีนะที่จะถ่ายรูปออกมาได้ความสดใสอยู่ และกล้องคอมแพคขนาดเล็กๆ อย่าง Ricoh GR จะทําได้ดีไหมนะ ในขณะที่พี่ๆ ที่ไปด้วยกันเขาใช้กล้องตัวโตๆ ติดเลนส์ซูมยาวๆ กัน แต่เราเน้นความเบาสบายเลยใช้กล้องเล็กๆ ที่ได้คุณภาพใหญ่ๆ แทน ซึ่งจะว่าไปตามจริงชิบะซากุระเป็นดอกไม้ที่มีขนาดเล็กมากๆ เลยนะ

กล้อง Ricoh GR เก็บสีสันได้ครบ

ดังนั้นทริปนี้เราเลยพกตัวช่วยมาด้วยก็คือ เลนส์มาโครของ Ricoh GR สําหรับกล้อง GRII ของเรา ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมที่ทําให้สามารถถ่ายรูปมาโครได้คุณภาพดีมากไปอีกระดับ นอกจากเลนส์มาโครยังมีเลนส์มุมกว้างขนาด 21 มม. ที่ช่วยให้เก็บภาพวิวกว้างๆ ได้สบายๆ และแม้จะต่อเลนส์เสริมแล้วกล้องก็ยังมีขนาดเล็ก และน้ําหนักเบาอยู่ ทําให้การเดินท่องเที่ยวเป็นไปแบบสบายๆ ไม่เหนื่อย แถมยังหามุมภาพ และเข้าถึงตัวแบบได้ง่ายอีกด้วย

แม้ว่าชิบะซากุระจะเป็นดอกไม้ที่มีความน่ารัก แต่การถ่ายภาพใกล้จนเห็นตัวดอกไม้แบบเดี่ยวๆ อาจจะไม่ได้เห็นบรรยากาศของ Shibazakura ที่บานเต็มไปตามเนินทุ่งก็เลยลองหาดอกไม้ที่สวยสมบูรณ์ และกลีบดอกยังเบ่งบานรับแสงแดดเต็มที่แต่ยังไม่สลดจากแสงแดดที่เริ่มร้อนแผดเผาขึ้นทุกขณะเป็นดอกไม้ที่ใช้เป็นฉากหน้า และให้ฉากหลังเบลอ ซึ่งเป็นความสามารถในการเก็บรายละเอียดต่างๆ ของกล้อง และเลนส์อย่าง Ricoh GR ที่ให้ฉากหลังละลายสวยๆ ในขณะที่ยังให้รายละเอียดต่างๆ ได้ดีทําให้เราปลาบปลื้มกับประสิทธิภาพของกล้องทุกครั้งที่เห็นภาพถ่ายของเรา เพราะเรารู้ว่าการผลิตกล้องขนาดเล็กๆ ที่จะให้คุณภาพสูงนั้นมีข้อจํากัดมากมาย แต่ Ricoh GR กลับให้คุณภาพได้ดีขนาดนี้ทั้งที่มีพื้นที่นิดเดียวในการใส่เทคโนโลยีทันสมัยที่มีประสิทธิภาพที่ดีเข้าไปภายในตัวกล้องขนาดเล็กๆ นี้

ดังนั้นทุกครั้งที่เห็นภาพจากกล้องตัวนี้ทําให้เรารู้สึกขอบคุณทีมวิศวกรและทาง Ricoh ที่พัฒนากล้อง GR อย่างต่อเนื่องมาตลอด 30 กว่าปี แถมราคาของกล้อง Ricoh GR ก็ไม่สูงมากจนยากจะเอื้อมถึง ซึ่งทําให้ทุกคนสามารถจับต้องได้ก็เลยรู้สึกดีใจที่เลือก Ricoh GR เป็นกล้องคู่กายคู่ใจจริงๆ ส่วนความอินดี้ของ Ricoh GR ก็ชวนให้คิดว่าแม้อาจจะมีความยากลําบากในการยืนหยัดแนวความคิดที่อาจดูแตกต่างจากความคุ้นเคยทั่วไป แต่หากมีความมุ่งมั่น และความตั้งใจในเรื่องที่ดีก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

โหมดมาโครจาก กล้อง Ricoh GR

บริเวณเนินเขาที่เป็นทุ่งชิบะซากุระก็ยังมีดอกไม้ดอกหญ้าที่ขึ้นแซมอีกและมีสีสันสวยงาม อย่างต้นนี้ดอกสีสวยตัดกับสีชมพูสดก็เลยอดที่จะถ่ายภาพมาโครไม่ได้ เมื่อดูภาพแล้วก็รู้สึกว่าได้เห็นดอกสวยเต็มตาทั้งที่ของจริงดอกเล็กนิดเดียวเอง

เราใช้เวลาเดินชมทั่วบริเวณ และถ่ายรูปจนได้ภาพที่ถูกใจแล้ว ในขณะที่คนอื่นๆ ยังหามุมกันอยู่ก็เลยมีเวลาเหลือให้เราไปชิม Shibazakura Soft Cream และไปเดินดูของในร้านค้าที่อยู่ในบริเวณสวน ซึ่งมีถ้วยชาที่เป็นงานปั้นมือของช่างท้องถิ่นเมืองทาคิโนะอุเอะ (Takinoue) ก็เลยเลือกกลับมาเป็นที่ระลึกด้วย ซึ่งพอกลับมาถึงบ้านพี่ๆ ก็สงสัยว่าไปได้มาตอนไหนนะ อืม… ก็เพราะ Ricoh GR ทําให้เรามีเวลาสบายๆ ได้ชิลล์ๆ ทําเวลาได้ดีครบทุกสิ่งที่ต้องการ ได้ทั้งถ่ายรูป ทั้งชิมไอศครีม แถมยังได้ช็อปปิ้งอีก

ฮอกไกโดเป็นเกาะที่มีความน่าสนใจนอกจากมีสถานที่ที่เป็นวิวสวยๆ หรือดอกไม้น่ารักๆ อย่างชิบะซากุระแล้วก็ยังมีของอร่อยๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลนั้นไม่น้อยหน้าเมืองอื่นๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งพอนึกถึงตรงนี้แล้วก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงร้านซูชิที่เราประทับใจ ซึ่งร้านนี้อยู่ที่เมืองโอตารุ (Otaru) บนเกาะฮอกไกโดนี่เอง

             

Isezushi

แม้ไม่ได้ชื่นชอบเมนูปลาดิบอย่างซาซิมิหรือซูชิมากนัก แต่ก็มีบ้างที่อยากลองโดยเฉพาะเมื่อมาถึงแหล่งที่อุดมไปด้วยอาหารทะเลสดๆ มีคุณภาพดีอย่างฮอกไกโดก็อดไม่ได้ที่อยากจะลิ้มลอง แต่ด้วยความที่ไม่ค่อยอยากกินอาหารดิบบ่อยๆ ดังนั้นพอจะรับประทานสักมื้อก็จะเจาะจงพิถีพิถันกันหน่อย ซึ่งส่วนมากจะเลือกร้านท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบที่ดี หรือตามฤดูกาล โดยเฉพาะ Uni หรือ ไข่หอยเม่นที่แต่เดิมไม่ชอบนัก เพราะถ้าไม่ได้อูนิที่สดใหม่หรือมีคุณภาพที่ดีจริงๆ มักจะเจอกับรสสัมผัส หรือกลิ่นคาวที่รับไม่ค่อยไหว แต่พอได้มาลองที่ฮอกไกโดก็ติดใจก็คงเพราะความสดใหม่ และคุณภาพที่ดีทําให้อูนิที่นี่มีรสหวาน และสัมผัสที่ดีมากอย่างชัดเจน…

สําหรับทริปนี้นึกอยากลองร้านใหม่ๆ บ้าง เราก็เลยเลือกร้าน Isezushi ที่อยู่ในเมืองโอตารุ เมื่อนั่งรถไฟมาถึงประมาณ 11 โมง จากสถานีรถไฟก็เดินผ่านตลาดสด และข้ามถนนไปยังร้าน Isezushi ตามแผนที่ ขณะที่เราเดินวนหาร้านอยู่พอดีกับที่เจอกับคุณน้าท่านหนึ่งเดินผ่านมาแล้วก็คงเห็นเราดูแผนที่อยู่ก็เลยเข้ามาถามเราประมาณว่ามีอะไรให้ช่วยไหม (ใจดีจัง) ต่อมาคุณน้าท่านนี้พาเราเดินไปถึงหน้าร้านเลย ซึ่งระหว่างทางที่พาเดินไปก็หันมาแล้วถามเรา… แต่แล้วแกก็ทําท่าเหมือนนึกได้ว่าเราต่างสื่อสารกันไม่ได้เพราะเราไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น ส่วนคุณน้าก็ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แกก็เลยยิ้มๆ ทําท่าแบบไม่เป็นไรๆ ช่างเถอะนะ ซึ่งอาจจะสงสัยกันว่าแล้วคุณน้าท่านนี้รู้ว่าเราต้องการไปร้านนี้ได้อย่างไร? ก็เพราะจากชื่อร้านที่เราออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นกับแผนที่ในมือ คุณน้าก็เลยนําหน้าพาเดินเพราะอยู่ใกล้ๆ ตรงที่พบกันเพียงแต่คนละซอย แต่ทว่าเราคาดเดาว่าแกคงถามว่าเรามาจากประเทศอะไร? เลยบอกว่ามาจากประเทศไทย แกก็พยักหน้าแล้วตอบกลับว่า คนไทยนี่เอง ! (อาจจะสงสัยว่าแล้วคุยกันรู้เรื่องได้อย่างไรล่ะ ก็ด้วยความที่ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นมาก ในตลอดหลายๆ ปีนี้ก็ทำให้เรามีความสนใจที่จะเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ไว้บ้าง ก็เลยพอจะตอบคุณน้าได้บ้าง) ซึ่งพอตอบเสร็จพวกเราก็เดินมาถึงหน้าร้านพอดีก็เลยกล่าวขอบคุณคุณน้าท่านนี้สำหรับความช่วยเหลือ และเราต่างก็โบกมือร่ำลาจากกันด้วยความรู้สึกที่ดีๆ ในใจ…

เมื่อเราเข้าไปในร้านก็มีพนักงานเดินมาต้อนรับ และสอบถามเราว่าได้จองไว้หรือไม่? เราก็ตอบว่าไม่ได้จอง พนักงานก็ทําท่าว่าสักครู่นะ แล้วก็กลับมาแจ้งว่าตอนนี้โต๊ะเต็ม แต่เขาสามารถจัดที่นั่งให้เราได้ตอนบ่ายโมง ซึ่งจากตอนนี้เราต้องรออีกประมาณ 2 ชม. เราสะดวกหรือไม่ เราตอบว่า…OK ตกลงตามนั้น เย้ !

ถ่ายในห้องอาหารที่มีแสงน้อยมากด้วย กล้อง Ricoh GR

เราใช้เวลาที่ต้องรอ ด้วยการเดินไปยังถนนย่านร้านค้าที่นักท่องเที่ยวไปเดินซื้อของกัน เราจับเวลาไว้ก็เลยรู้ว่าเดินจากร้านไปประมาณ 45 นาที เพราะเราตั้งใจว่าจะมาถึงก่อนเวลานัดเล็กน้อย ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ และพอมาถึงทางร้านก็เตรียมที่นั่งให้เรียบร้อยแล้วตรงหน้าเคาน์เตอร์ ซึ่งเป็นที่นั่งที่ดีมากเพราะได้เห็นเชฟปั้นซูชิ และพูดคุยกับเชฟที่พอจะพูดอังกฤษได้บ้าง ทําให้เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจ และวิธีการปั้นในแต่ละคําก่อนที่จะวางเสิร์ฟสําหรับเราโดยเฉพาะ ซึ่งว่ากันว่าหลังจากเชฟวางซูชิแต่ละคําแล้วก็ควรรีบรับประทานเพื่อความสดใหม่ และรสชาติที่ดีที่สุด

เมื่อเราอยากได้ภาพก็ทําให้เราต้องรีบกดชัตเตอร์ และคาดหวังว่าต้องได้ภาพสวยในจังหวะเดียว ซึ่งกล้อง Ricoh GR ก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยมที่สุด เพราะประสิทธิภาพที่ดีทําให้เราไม่ต้องใช้เวลามากในการ Snap ภาพซูชิ และไม่เสียเวลาหรือจังหวะการปั้นของเชฟ ทําให้เราได้ลิ้มลองซูชิในแต่ละคําที่แสนอร่อยนั้นในเวลาที่พอเหมาะลงตัวพอดี ถ้าวันนั้นเราใช้กล้องยี่ห้ออื่น รุ่นอื่นเราคงไม่ได้รูปมาสําหรับเป็นไดอารี่แห่งความทรงจําที่ดี และคงเล่าเรื่องโดยไม่มีภาพประกอบเรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์จริงของเราอีกด้วย

 

ตามปกติเชฟจะเริ่มเสิร์ฟซูชิที่ใช้วัตถุดิบรสอ่อนก่อนแล้วจึงค่อยๆ ขยับเป็นซูซิที่ให้รสเข้มข้นขึ้นไปจนจบคอร์ส และจากนั้นถ้ายังติดใจหรือชื่นชอบแบบไหนก็สามารถสั่งซูชิแบบที่ต้องการเพิ่มได้ และแน่นอนเราสั่งซูชิเพิ่มอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกุ้งโบตั๋นย่างไฟ (Aburi) ที่จะนำตัวกุ้งมาปั้นเป็นซูชิและย่างไฟที่ด้านบน ส่วนหัวกุ้งเอาไปทำเป็นซุปมาเสิร์ฟ นอกจากนี้เรายังสั่งอูนิเพิ่ม ซึ่งเราชอบแบบกุงกังซูชิ (Gunkan sushi) เพราะรู้สึกว่าสาหร่ายช่วยเสริมรสชาติอูนิให้อร่อยยิ่งขึ้น และเมื่อมีการสั่งเบิ้ลก็ดูเหมือนเชฟจะเพิ่มอูนิให้มากขึ้นด้วย…ใจดีจัง ! 

แม้ว่าเราไม่สามารถลงภาพซูชิทุกคําที่รับประทานในวันนั้นได้ทั้งหมด เพราะจํานวนรูปอาจจะมากเกินไป แต่บอกเลยว่าเป็นรสชาติ และการได้รับบริการที่ประทับใจมากจนอยากจองโต๊ะเพื่อมาอีกในวันรุ่งขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องตัดใจเพราะมีจองร้านอื่นสําหรับพรุ่งนี้ไว้แล้ว…!

Isezushi เป็นร้านที่เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าได้ดาวระดับมิชลินสตาร์ในฮอกไกโด ซึ่งไต่ระดับจาก 1 มาเป็น 2 ดวง แล้วในวันนี้ก็เลยยิ่งเพิ่มความพิเศษสําหรับประสบการณ์ที่ได้รับมาเพราะเป็นร้านที่มีบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเองไม่ตึงเครียดเลย โดยเฉพาะพนักงาน และเชฟดูแลดีมาก แถมราคาก็นับว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับคุณภาพและรสชาติที่ได้รับ สําหรับเราร้านนี้อยู่ในความทรงจําที่ดีเสมอ แม้ว่าได้มีโอกาสไปลองร้านโน้นร้านนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงรู้สึกว่า Isezushi คือร้านซูชิที่เราประทับใจที่สุด

 

Unimurakami Hakodate Honten 

เมื่อพูดถึง Uni ก็ทําให้อดนึกถึงร้านนี้ไม่ได้ Unimurakami Hakodate Honten มี 2 สาขาในฮอกไกโด สําหรับสาขาหลักอยู่ที่ตลาดเช้าในเมืองฮาโกดาเตะ (Hakodate) เป็นร้านที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับอูนิ มีเทคนิคพิเศษเฉพาะของร้านในการรักษาความสดใหม่ของอูนิ และเพื่อรักษารสชาติความอร่อยตามธรรมชาติของอูนิเอาไว้ ที่นี่เป็นร้านเล็กๆ มีจำนวนที่นั่งไม่มากก็เลยอาจจะต้องเข้าคิวรอกันหน่อย นอกจากเป็นร้านที่มีอูนิที่คุณภาพดีที่ทําให้ลิ้มลองกันได้อย่างจุใจกันแล้วก็ยังมีเมนูอาหารทะเลอื่นๆ ที่สดอร่อยอีกด้วย

สีสวยสดแบบไม่ผ่านการแต่งภาพใดๆ จาก กล้อง Ricoh GR

 

Amanohashidate

พอพูดถึงอาหารทะเลสดๆ อร่อยๆ ก็ทําให้คิดถึงเมนูต่างๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งจากครั้งที่ไปเที่ยวอามาโนะฮาชิดาเตะตามแผนเดิมที่ตั้งใจพักที่เรียวกังในเมืองแล้วรุ่งขึ้นเราจะไปเที่ยวที่หมู่บ้านประมงอิเนะ (Ine) ซึ่งใช้เวลาเดินทางไปด้วยรถบัสประมาณ 1 ชั่วโมง และที่นี่เราตั้งใจว่าจะไปชิมอาหารประจําฤดูกาลในมื้อเที่ยงอย่างชาบู ชาบู ปลาฮามะจิ และถือโอกาสเดินเที่ยวเล่นด้วยก่อนที่จะเดินทางกลับเกียวโต (Kyoto) แต่ว่าเช้าวันนั้นฝนตกลงมาพร้อมกับละอองหิมะ ทําให้อากาศดูขมุกขมัว เมื่อลองไปปรึกษากับศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวเขาแนะนําว่าหากไปอิเนะวันนี้ สภาพอากาศก็คงอย่างที่เห็น หรืออาจจะหนักกว่านี้ ซึ่งในที่สุดเราก็เห็นด้วยก็เลยตัดใจจากอิเนะ คิดว่าไว้ค่อยกลับมาเที่ยวอีกในรอบหน้าก็แล้วกัน แต่ครั้นจะกลับเกียวโตเลยก็เหมือนว่ากระไรอยู่ก็เลยลองดูว่ามีอะไรมาทดแทนปลอบใจกันได้บ้าง ! 

ชาบู ชาบู ปลาฮามะจิคือ ความอร่อยที่ยากจะตัดใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่แนะนําว่าสามารถไปรับประทานได้ที่ร้านอาหารตรงหน้าสถานีรถไฟที่ใช้วัตถุดิบไม่ต่างที่อิเนะ เพราะมาจากแหล่งเดียวกัน และอากาศตอนนี้จะมีอะไรดีไปกว่าการได้หลบสายฝน และซดน้ําซุปร้อนๆ พร้อมความนุ่มละมุนของเนื้อปลาฮามะจิในหน้าหนาวที่อุดมไปด้วยไขมันปลาชั้นดี และให้รสชาติแสนอร่อยที่เราติดใจ เพราะมื้อเย็นที่เรียวกังก็มีเสิร์ฟเมนูนี้ด้วยและอร่อยมากๆ จนอยากลิ้มลองกันอีกครั้งก่อนกลับเกียวโต

                                    

Tango-Akamatsu Train 

หลังจากมื้อว่างในตอนเช้าอย่างชาบู ชาบู ปลาฮามะจิแล้ว เราเปลี่ยนแผนจากเดิมที่คิดว่าจะใช้บัตรโดยสารที่สามารถนั่งรถไฟด่วนพิเศษตรงไปยังเกียวโตได้เลย แต่เมื่อไม่สามารถไปอิเนะ ก็เลยเลือกนั่งรถไฟขบวนนี้แทน เพราะส่วนหนึ่งก็คิดเสมอว่าอยากหาโอกาสได้นั่งรถไฟสายท้องถิ่นขนาดเล็กๆ ที่วิ่งระหว่างสถานีท้องถิ่นที่เงียบสงบ เพียงแต่ก็ไม่ได้คาดคิดว่าพอมีโอกาสกลับได้นั่งรถไฟขนาด 2 โบกี้ที่ตกแต่งสวยในสไตล์สบายๆ แบบห้องนั่งเล่นซะงั้น ! เพราะว่า Tango-Akamatsu Train ได้รับการออกแบบเป็นรถไฟท่องเที่ยวเพื่อชมวิวระหว่างเส้นทาง 7 สถานี จากสถานีอามาโนะฮาชิดาเตะ (Amanohashidate Station) ไปยังสถานีนิชิไมซุรุ (Nishimaizuru Station) ใช้เวลาประมาณ 50 นาที อัตราความเร็วในวิ่งจะเป็นแบบหวานเย็น คือไปเรื่อยๆ สบายๆ มีชะลอความเร็วลงในบางช่วง เพื่อให้ผู้โดยสารได้ชมวิวสวยๆ พร้อมคําบรรยายแนะนําสถานที่จากพนักงานที่ทําหน้าที่ไกด์นําเที่ยว และระหว่างนั่งชมวิวเรายังได้จิบเครื่องดื่มร้อนๆ หรือเย็นก็ได้ตามแต่จะเลือกจากเมนูซึ่งทั้งหมดอยู่ในค่าตั๋วรถไฟแล้ว !

แม้ว่าสภาพอากาศอาจจะยังมีฝนตกมาตลอดทาง แต่ว่าสีสันของธรรมชาติที่เห็นอย่างพื้นน้ําที่ให้สีฟ้าอมเขียวกับความชุ่มฉ่ําที่สร้างความรู้สึกที่สดชื่นให้กับบรรยากาศที่เราสัมผัสได้ก็ชวนให้รู้สึกถึงความสดใส…

จากบรรทัดแรกมาถึงตรงนี้… 

ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ หลั่งไหลมาจากความทรงจําราวกับว่าเราเพิ่งไปเที่ยวกลับมาเมื่อวานนี้เอง อาจเป็นเพราะภาพถ่ายมากมายจากการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ด้วยกล้อง Ricoh GR ตัวเก่งของเรา ซึ่งเสมือนเราได้จดบันทึกเรื่องราว และรายละเอียดต่างๆ ไว้ด้วยภาพถ่ายเหล่านี้จากที่มีคํากล่าวว่า “ภาพถ่ายหนึ่งภาพ แทนข้อความได้เป็นร้อยเป็นพัน” ก็คงจะใช้ได้ดีสําหรับเราและกล้อง Ricoh GR

เมื่อ Go on a Journey with Ricoh GR ในครั้งนี้เป็นตอนสุดท้ายก็เลยนึกขึ้นมาว่าอยากนําภาพที่เราประทับใจที่แม้อาจจะไม่ได้เป็นภาพถ่ายที่สวยที่สุด แต่ทุกๆ ภาพมีเรื่องราวจากประสบการณ์ที่เป็นความทรงจําอันแสนวิเศษ จึงอยากนําภาพแห่งความสุขเหล่านั้นเพื่อขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามผลงาน และหากมีโอกาสเราอาจจะได้พบกันใหม่อีกครั้ง…

โหมดภาพขาวดำจาก กล้อง Ricoh GR ก็สวยชัดที่สุด

แม้แสงขณะถ่ายภาพจะน้อย กล้อง Ricoh GR ก็เอาอยู่ แถมสีคมชัด

แม้ว่ากล้อง Ricoh GR จะมีชื่อเสียงที่โดดเด่นอย่างมาก และเลือกใช้สําหรับช่างภาพสายสตรีท (Street Photography) ทั่วโลก แต่การออกแบบของกล้องตัวนี้ Ricoh ตั้งใจให้เป็นกล้องที่เจ้าของกล้องพกพา และใช้ถ่ายรูปที่ต้องการได้ในทุกๆ วัน ดังนั้นเราอาจจะพบเห็นภาพของนักถ่ายภาพทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่นที่ถ่ายภาพสิ่งที่พบเจอในแต่ละวัน อย่างเช่นระหว่างที่เดินทางไปทํางาน หรือภาพอาหารที่ประทับใจในช่วงพักเที่ยง หรือเมื่อออกเดินทางไปท่องเที่ยวเอง หรือไปกับเพื่อนพ้อง หรือครอบครัว กล้อง Ricoh GR เป็นคําตอบของการถ่ายภาพที่ทําให้เรารู้สึกถึงความสุขในการถ่ายภาพได้อีกครั้ง และเมื่อใดที่เราพบเจอเหตุการณ์ที่ชวนให้เรายกกล้องขึ้น Snap เมื่อนั้นความสนุกในการถ่ายภาพก็กลับมาด้วยเช่นกัน…

โหมด macro ของ กล้อง Ricoh GR ก็สวยงามทั้งยังใช้งานง่ายมาก

ระหว่างเดินเล่นก็ขอเก็บภาพไว้ด้วย กล้อง Ricoh GR

ในฐานะนักเขียนมือสมัครเล่นที่เป็นนักเดินทางเล็กๆ คนหนึ่งที่หลงใหลความเป็นญี่ปุ่นมานาน การได้กลับไปทบทวนความทรงจําต่างๆ กับการได้ค่อยๆ ดูรูปภาพแต่ละใบที่บันทึกด้วยกล้อง Ricoh GR ทั้งหมดนี้ก็ยิ่งทําให้เรารู้ว่าในทุกๆ ทริปที่เดินทางไปญี่ปุ่นเรามีความสุขมากแค่ไหน และกล้องตัวนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการเดินทางสําหรับเราไปแล้ว เพราะสามารถตอบสนองการถ่ายรูปได้ดีในทุกครั้งที่ต้องการ และทําให้เรามีไดอารี่ภาพถ่ายที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก เพราะทุกภาพเป็นมุมมองความสนใจ และความต้องการในแบบเฉพาะของตัวเราเท่านั้น ! 

เราเชื่อว่าทุกๆ คนสามารถมีไดอารี่ภาพถ่ายที่มีหนึ่งเดียวในโลกของคุณผ่าน Ricoh GR กล้องมินิมอลสัญชาติญี่ปุ่นตัวนี้ได้เช่นกัน

ขอบคุณทีมงานสื่อนิตยสารออนไลน์ KIJI สําหรับความร่วมมืออันดีตลอดระยะเวลาของการทํางานร่วมกัน และขอขอบพระคุณผู้ที่มีส่วนสําคัญอย่างยิ่งต่อการมีโอกาสในการแบ่งปันประสบการณ์ข้อมูล และการเดินทางทั้งหมด 

 

          “บริษัท อิสท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด ผู้แทนจําหน่ายกล้อง Ricoh แต่ผู้เดียวในประเทศไทย”  

            ผู้สนับสนุนหลักสําหรับพื้นที่ทั้งหมดของคอลัมน์ Go on a Journey with Ricoh GR 

 

และสุดท้ายนี้… ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามเรื่องราว… หวังว่าจะได้พบกันใหม่… สวัสดี ! 

อ่านบทความทั้งหมดในซีรีส์ Go on a journey with Ricoh GR ได้ที่ www.kiji.life/writer/ricoh-gr/

ข้อมูลเพิ่มเติม:
www.kurashiki-tabi.jp/, www.takinoue.com/, www.isezushi.com/menu.html
www.uu-hokkaido.com/corporate/uni-murakami.shtml
www.willerexpress.com/en/train/tantetsu/akamatsu.html

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ