Kobe Waterfront Plaza สวนคอนกรีตผู้ฟื้นผืนดินจากภัยพิบัติ
ที่ภูมิภาคคันไซ เมืองโกเบ ในจังหวัดเฮียวโงะถือว่าเป็นอีกเมืองท่าที่สำคัญ ครั้งแรกที่ผมไปเยือนโกเบ เป็นเมืองที่แตกต่างออกไปจากเมืองที่ห่างจากทะเล ความต่างนั้นคือความใหม่ของบ้านเรือนละแวกนี้ ผมไม่พบบ้านที่มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมประเพณีตลอดเส้นทางมายังโกเบ แต่คำตอบที่ทำให้ผมหายสงสัยก็คือการเดินทางมาเข้าชม Hyogo Prefectural Museum of Art ซึ่งออกแบบโดย อันโดะ ทาดาโอะ (Ando Tadao) เมื่อปีก่อน ทำให้ได้รู้ว่าเมืองโกเบ ได้ถูกภัยพิบัติทำลายไปอย่างราบคาบในเหตุการณ์แผ่นดินไหว Great Hanshin Earthquake เมื่อปี ค.ศ. 1995
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้เกิดโครงการฟื้นฟูเมืองด้วยสถาปัตยกรรม เช่น Hyogo Prefectural Museum of Art ที่อันโดชนะประกวดแบบ และอาคารอื่นๆ โดยรอบอ่าวโอซาก้า (Osaka Bay) ส่วนทางรัฐบาลท้องถิ่นได้มอบหมายให้อันโดออกแบบสวน Kobe Waterfront Plaza ที่อยู่ข้างกันกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเฮียวโงะด้วย
แม้ว่าจะเป็นคนละโครงการ บริหารงานโดยต่างเจ้าของ แต่หากมาเยือนด้วยการเดินอย่างต่อเนื่องเลียบอ่าวโอซาก้า จะพบความต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน ที่มีส่วนทางเข้าของ 2 งานนี้คั่นไว้ด้วยเส้นที่มองไม่เห็นเท่านั้น
โดยทั่วไปความคุ้นเคยของผมต่อการออกแบบของอันโดะคือการออกแบบสถาปัตยกรรม คงมีสวน Kobe Waterfront Plaza ที่เป็นหนึ่งในไม่กี่งานที่ทำการออกแบบแลนด์สเคป แต่ในภาพจำของผมคือซามูไรผู้ที่ใช้คอนกรีตเป็นดาบในงานออกแบบ แต่การออกแบบแนวนี้ล้วนต้องสร้างความสัมพันธ์ของคอนกรีตและต้นไม้ได้เป็นอย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่เช่นนั้นจะได้พบแต่ความแห้งแล้งของคอนกรีตที่ไร้ชีวิต ที่ไม่สื่อสารกับต้นไม้ แต่กับงานนี้อันโดะใช้คอนกรีตเป็นส่วนประกอบของสวนที่ต้องใช้ความพยายามในการค้นหา “เส้น” ’ที่มองไม่เห็นอย่างมาก เพราะมันถูกซ่อน และเผยไปกับที่ตั้ง
วิธีการสร้างเส้นที่มองไม่เห็นไม่ใช่สิ่งที่อันโดะใช้กับงานนี้เป็นงานแรก แต่มันแฝงอยู่ในหลายงานก่อนหน้านี้ของเขาอย่างต่อเนื่อง มันปรากฏชัดในงานสถาปัตยกรรมไม่ใช่แลนด์สเคป เมื่อมองจากมุมสูง จะเห็นได้ว่าสวนนี้มี 3 แกนที่ตัดกันจากแผงผนังคอนกรีตที่ถูกออกแบบไว้ให้ขาดเป็นช่วง แกนแรกคือเส้นที่วิ่งตรงไปหา Hyogo Prefectural Museum of Art แกนที่ 2 คือเส้นที่เอียงตามแนวอ่าวทิศตะวันตก แกนที่ 3 คือเส้นที่เอียงมาจากสุดเขตที่ดิน จุดตัดของทั้ง 3 เส้นนี้กลายเป็นศูนย์กลางของสวน โดยมันถูกวางเป็นโรงละครกลางแจ้ง ห้องน้ำสาธารณะ และพื้นที่ส่วนนี้เองที่ทำหน้าที่ถ่ายระดับจากถนนด้านหลังสู่ลานที่ติดอ่าวโอซาก้า พื้นที่นี้ถูกออกแบบให้เป็นลานโล่ง ให้เป็นศูนย์รวมของชุมชนโดยรอบ สามารถมาทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งออกกำลังกาย พักผ่อน แต่ในช่วงเย็นที่ผมมาถึง ความหนาวของปลายปีได้ทำให้ผู้คนพากันกลับบ้าน มาใช้พื้นที่สวนนี้น้อยกว่าที่คาดไว้
ผมใช้เวลาที่เหลือสำรวจร่องรอยผนังคอนกรีตที่หายไปเป็นช่วงๆ จนมาพบว่าถูกซ่อนอยู่หลังกำแพงในส่วนที่ปลูกต้นไม้เป็นระบบตาราง เหล่าต้นไม้นี้มีหน้าที่ช่วยสร้างขอบเขตส่วนที่ติดถนนด้านหลังและลานติดอ่าวโอซาก้า ในการเดินทางมาชมสวนนี้ สำหรับผมเป็นการตามหาสิ่งที่ซ่อนไว้ของสถาปนิก ได้เห็นความพยายามที่จะฟื้นฟูเมืองด้วยการออกแบบในความเงียบปนสลัว ผมมองไปยังทะเลลอดแผงคอนกรีตทางทิศใต้ และจำได้ว่าเมืองไทยอยู่ทางนั้น แต่ห่างออกไปอีก 3 พันไมล์