Chihiro Iwazaki

สำหรับคนส่วนใหญ่ชื่อของอาจารย์ชิฮิโระ อิวาซากิ (Chihiro Iwazaki) อาจจะไม่คุ้นหูนัก ความจริงแล้วอาจารย์เป็นศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศญี่ปุ่นแต่โด่งดังไปไกลถึงโลกฝั่งตะวันตกโน่น แถมดังมาตั้งแต่สมัยที่อาจารย์สร้างผลงานออกมาใหม่ๆ (ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) จนกระทั่งปัจจุบัน แม้อาจารย์จะเสียชีวิตไปนานแล้วก็ตาม

ถึงแม้ชื่อของอาจารย์จะไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน แต่เชื่อว่าหากได้เห็นผลงานสีน้ำที่เป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์อิวาซากิแล้ว หลายคนต้องร้อง “อ๋อ” แน่ๆ ไปทำความรู้จักอาจารย์กันค่ะ

 

อาจารย์ชิฮิโระ อิวาซากิ ที่มา: https://goo.gl/VtNhEK

 

อาจารย์ชิฮิโระ อิวาซากิ เกิดในปี 1918 ที่จังหวัดฟุคุอิ (Fukui) ก่อนจะย้ายเข้าโตเกียว เธอชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก พอเป็นวัยรุ่นก็เริ่มเรียนศิลปะแขนงนี้อย่างจริงจังกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสอนอยู่ในโรงเรียนศิลปะแห่งโตเกียว นอกจากสีน้ำแล้ว อาจารย์ยังระบายสีน้ำมันและคัดตัวอักษรญี่ปุ่นได้อย่างเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ผลงานส่วนใหญ่ของอาจารย์เป็นงานสีน้ำ โดยอาจารย์ชอบการวาดรูปเด็กๆ และดอกไม้เป็นพิเศษ

 

หนึ่งในภาพวาดเด็กๆของอาจารย์อิวาซากิ ที่มา: https://goo.gl/6SpJ9P

 

เห็นภาพวาดน่ารักนุ่มนิ่มและสดใสของอาจารย์แล้ว อาจจะคิดว่าอาจารย์คงเป็นหญิงสาวที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบ ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถวาดภาพออกมาได้อย่างอบอุ่นขนาดนี้ได้ แต่จริงๆ ก็ไม่เชิงนะคะ ชีวิตของอาจารย์ผกผันและต้องผจญกับเรื่องราวต่างๆนานา ตั้งแต่การถูกจับแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับชายผู้หนึ่งเมื่อเธออายุ 21 ปี จนกระทั่งย้ายไปอยู่กับเขาที่ประเทศแมนจูเรีย แต่แล้วเขากลับฆ่าตัวตายทำให้เธอกลายเป็นหญิงม่าย เมื่อกลับมาบ้านที่โตเกียวก็พบว่าว่าบ้านของครอบครัวถูกระเบิดเพราะสงครามโลก จึงทำให้เธอต้องย้ายไปพำนักกับญาติที่จังหวัดนากาโน่ทางตอนเหนือ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ตอนนั้นเอง เธอจึงมีโอกาสได้ทำงานวาดภาพที่เธอรักและถนัด โดยได้วาดภาพประกอบหนังสือเด็กให้กับสำนักพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ส่วนเรื่องส่วนตัวนั้น อาจารย์ก็ได้แต่งงานใหม่กับคนที่รัก มีลูกชายหนึ่งคนค่ะ ลองนับนิ้วดูแล้ว สรุปว่ากว่าอาจารย์จะตั้งตัวได้ ก็อยู่ในวัย 20 ปลายๆ แล้วล่ะ

หนังสือภาพเล่มแรกของอาจารย์มีชื่อว่า “ฮิโตริเด เดคิรุโย” ที่แปลได้ว่า “หนูทำเองได้นะ” มันได้รับการตีพิมพ์ขึ้นในปีค.ศ. 1956 และได้รับรางวัลด้วย หลังจากนั้น อาจารย์ยังผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับรางวัลอีกมากมายทั้งจากสถาบันในประเทศและต่างประเทศ จนอาจารย์เสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1974 เพราะโรคมะเร็งตับ

 

ภาพจากเรื่อง“ฮิโตริเด เดคิรุโย” (หนูทำเองได้นะ) ที่มา: https://goo.gl/h4vsRk

 

คราวนี้เรามาดูกันค่ะว่าผลงานของอาจารย์มีความโดดเด่นอย่างไร

ความเรียบง่าย
ตัวละครส่วนใหญ่ของอาจารย์คือเด็กๆ หญิงชายที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ หรือเล่นกันอย่างสนุกสนาน ถ้าเด็กอยู่นอกบ้าน ฉากหลังมักจะเป็นธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล มีดอกไม้นานาพันธุ์และสัตว์น้อยใหญ่เป็นส่วนประกอบ เป็นภาพที่เรียบง่ายน่ารัก เต็มไปด้วยเสน่ห์และเป็นตัวของตัวเองจริงๆ

เครื่องแต่งกายแก๋ๆของเด็กๆ
ในขณะที่ภาพวาดของอาจารย์เรียบง่ายแต่เสื้อผ้าของเด็กๆ นี่ทันสมัยใช่ย่อยนะคะ ปกติแล้วหนังสือภาพที่มีตัวละครเป็นเด็กๆ นี่จะไม่เน้นเรื่องเสื้อผ้า (ยกเว้นจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเสื้อผ้าน่ะนะ) แต่ลองสังเกตผลงานของอาจารย์ดูจะเห็นเลยค่ะว่าอาจารย์ให้ความสำคัญกับเรื่องเสื้อผ้าเยอะเลย แต่ละชุดคือน่ารักๆ ทั้งนั้น พอลองสืบเสาะเรื่องของอาจารย์มากขึ้น ถึงได้ทราบค่ะว่าอาจารย์เป็นแฟชั่นนิสต้าตัวยงคนหนึ่ง และมักตัดเย็บเสื้อผ้าในสไตล์ตัวเองเพื่อใช้สวมใส่ตลอด ไม่แปลกใจที่อาจารย์จะใส่ใจเรื่องนี้

เทคนิคสีน้ำอันเป็นเอกลักษณ์
อาจารย์อิวาซากิไม่ค่อยร่างภาพด้วยดินสอค่ะ ส่วนใหญ่จะผสมสีแล้วระบายลงกระดาษเลย คืออาจารย์ต้องแม่นเรื่องสรีระของทั้งคน สัตว์ สิ่งของมากถึงมากที่สุด แม่นอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ยังต้องมีความจำดีเยี่ยมถึงขนาดที่ว่าถ้าอยากวาดเด็กชายกำลังปีนบันได อาจารย์ก็สามารถจุ่มพูกันลงในสีแล้วปาดๆๆ ให้ภาพออกมาตามความคิดได้โดยปราศจากนางแบบนายแบบ แต่รูปที่วาดด้วยดินสอก็มีนะคะ เช่น รูปที่ใช้เป็นหน้าปกเรื่องโต๊ะโตะจังที่จะกล่าวถึงต่อไป

 

ภาพเด็กชายหญิงกลุ่มหนึ่งที่กำลังเล่นดนตรี ที่มา: https://goo.gl/ydK5j4

 

ที่ญี่ปุ่นมีพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสร้างเพื่ออุทิศให้กับอาจารย์ถึง 2 แห่งค่ะ แห่งแรกอยู่ที่เมืองโตเกียว มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระแห่งโตเกียว” หรือ Chihiro Art Museum Tokyo ซึ่งเคยเป็นบ้านของอาจารย์ตอนมีชีวิตอยู่ ภายหลังได้แปลงไปเป็นพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวในปี 1977 และ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระแห่งอาซุมิโนะ” หรือ Chihiro Art Museum Azumino ในเมืองอาซุมิโนะ จังหวัดนากาโน่ เมืองที่อาจารย์เคยใช้ชีวิตและทำงานวาดภาพเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ โดยทั้ง 2 แห่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากมูลนิธิชิฮิโระ อิวาซากิ ภายในมีการแสดงผลงานของอาจารย์ (ทั้งภาพต้นฉบับและภาพพิมพ์) สลับสับเปลี่ยนกันไป อีกทั้งยังมีงานแสดงภาพของศิลปินท่านอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีของที่ระลึก รวมถึงหนังสือรวมภาพของอาจารย์วางขายอยู่ด้วยค่ะ

พิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งได้รับการปรับปรุงตามยุคสมัยอยู่เรื่อยมาจนปัจจุบันมีการขยายการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแก่สาธารณะ เช่น การจัดนิทรรศการเคลื่อนที่เพื่อเผยแพร่ผลงานของอาจารย์ให้คนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ การจัดงานทางการศึกษาแก่สถานศึกษาต่างๆ การจัดงานบันเทิง และการจัดโปรแกรมฝึกวาดภาพตามสไตล์ของอาจารย์อิวาซากิ เป็นต้น ในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์บอกว่าปีๆ หนึ่ง มีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งไม่ต่ำกว่าสองแสนคนต่อปีต่อแห่งเลยทีเดียวเชียว

 

ภาพจากเรื่อง “โต๊ะโตะจัง” ที่มาภาพ: https://goo.gl/SrhQfz

 

ว่ากันว่าตลอดชีวิตการเป็นศิลปินของอาจารย์ เธอได้วาดภาพเด็กๆ เอาไว้หลายหมื่นรูป กระทั่งหลังจากที่อาจารย์เสียชีวิตแล้ว ผลงานของอาจารย์ยังไปปรากฏอยู่ในสื่อรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เป็นภาพประกอบของหนังสือเรื่องโต๊ะโตะจัง นวนิยายที่โด่งดังซึ่งเขียนโดยเท็ตสึโกะ คุโรยานางิ หรือแม้กระทั่งในรูปแบบของ “แสตมป์” ซึ่งไปรษณีย์ของญี่ปุ่นได้จัดทำออกมาเป็นที่ระลึกในปี 2016

 

แสตมป์ที่ระลึก ที่มาภาพ: https://goo.gl/AdiXS9

 

ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ โดยเฉพาะภาพเด็กน้อยน่ารักๆ ของอาจารย์อิวาซากิต้องแวะไปให้ได้ถ้ามีโอกาสนะคะ มาเสพงานศิลป์น่ารักๆ ให้อบอุ่นหัวใจกันเถอะ : -)

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ