นอกจากรองเท้าดีแล้ว หากพื้นฟุตปาธดี วันนี้คงเดินสนุกกว่าเดิม!

กลับมาต่อกันจากคราวที่แล้ว (อ่านได้ที่นี่) บอกไป 5 ปัจจัยที่ทำให้ฟุตปาธในญี่ปุ่นเดินได้แสนสบายใจ ใน Part2 นี้มาต่อปัจจัยที่เหลือกันครับ ^^

เรื่องความประทับใจในฟุตปาธทางเดินของญี่ปุ่นนี้ ได้รับเสียงตอบรับในด้านดีจากนักท่องเที่ยวชาวไทยหนาหูมากๆๆๆ เพราะล้วนเป็นสิ่ง “พื้นฐาน” ที่ทุกคนได้สัมผัสและได้ประสบพบเจอมากับตัวเอง 

 

 

6) ทางเดินผู้พิการทางสายตา

ไม่ได้สบายใจเฉพาะคนแข็งแรงทั่วไป แต่ผู้พิการ อาทิ พิการทางสายตาหรือมีปัญหาด้านการมองเห็น (เช่น ผู้สูงวัยบางท่าน) ก็สบายใจได้ด้วย เพราะมีการสร้างผิวต่างสัมผัสสำหรับนำทางผู้พิการทางสายตา เรียกว่า “Tactile Paving” (点字ブロック- Tenji burokku) นำทางไปตามฟุตปาธ ข้ามถนน เข้าตัวตึกอาคาร ฯลฯ

 

ทางเดินผู้พิการทางสายตา โดยทั่วไปมีสีเหลือง (ขวามือนำทางเข้าอาคาร เป็นสแตนเลสสีเงิน)
นำล้อเข้าไปร่องทางเดิน สัญจรได้สะดวกขึ้น เยี่ยมจริงๆ

 

สังเกตได้ง่ายๆ โดยทั่วไปมักมีสีเหลือง (ภายในอาคารอาจเป็นสแตนเลสสีเงินแทน) ผู้ใช้รถเข็นยังสามารถนำ “ล้อ” เข้าไปในร่องทางเดินเพื่อความสะดวกสบายมากขึ้นในการสัญจรได้

 

เชื่อมต่อกับขนส่งมวลชนด้วยนะ (เช่น ขึ้นรถบัส / เข้าสถานีรถไฟ)
ไม่ใช่แค่เมืองใหญ่ แต่เมืองเล็กลงมาก็มีนะ

 

7) สัญญาณไฟข้ามถนน

เมื่อจะข้ามไปยังฟุตปาธฝั่งตรงข้าม ญี่ปุ่นจะออกแบบทางม้าลายที่พ่วง “สัญญาณไฟคนข้าม” มาด้วยแทบจะทุกแยก (แม้แต่ทางข้ามเล็กๆ หลายแห่งก็มี) สิ่งนี้ทำให้คนเดิน “รู้” ว่าเมื่อไรข้ามได้ เมื่อไรข้ามไม่ได้ ไม่ต้องคอยลุ้นกะจังหวะรถเอาเอง ^^

 

ไฟคนข้ามเขียวก็เดินข้ามได้สบาย
มีอยู่แทบทุกแยกจริงๆ
รู้ว่าข้ามได้เมื่อไร จึงเกิดความเป็นระเบียบ

 

8) การสูบบุหรี่

หากคุณมาเดินใน London จะพบเลยว่าตามท้องถนนทางเดินที่คนพลุกกพล่านจะเต็มไปด้วยกลิ่นควันบุหรี่ ฮ่าๆๆ แต่เรื่องนี้จะไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในญี่ปุ่น เพราะได้มีการทำ Smoking Area จุดสูบบุหรี่ไว้ตามที่ต่างๆ ทั้งภายในสถานี, ภายในร้านค้าร้านกาแฟ และภายในตึกอาคาร เพราะมีความตั้งใจและพยายามจะไม่ปล่อยให้คนเดินไปสูบไปตามท้องถนน 

 

ห้องสูบบุหรี่ภายในตึกอาคาร 

 

สำหรับคนไม่สูบบุหรี่ก็จะเดินได้สบายใจมากขึ้นด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ คงจะเป็นเรื่องชวนเสียอารมณ์ไม่น้อยสำหรับคนไม่สูบบุหรี่ที่เดินไปตามท้องถนนด้วยความสบายใจอยู่ดีๆ ดันมีกลิ่นบุหรี่ลอยเข้าจมูก มาทำให้เสียสุขภาพ

 

บ้างก็เป็น Outdoor หลบมุม

 

9) ก่อสร้างแสนใส่ใจ

เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการปิดพื้นที่ทางเดินบ้างเพื่อซ่อมบำรุงหรือก่อสร้างอะไรสักอย่าง แต่ที่ญี่ปุ่นจะปิดทาง ปิดพื้นที่นั้นๆ โดยยังคำนึงถึงคนเดินเท้าก่อนเสมอ พื้นที่ที่ถูกปิดจะมีอุปกรณ์เช่น การตั้งกรวยบอกล่วงหน้า มีพื้นที่เหลือพอให้เดินสวนกันได้อยู่ รวมถึงมักมีเจ้าหน้าที่มายืนคอยอำนวยความสะดวกและควบคุมจราจรการเดินด้วยนะ (แถมมารยาทดีสุภาพสุดๆ!)

 

ปิดซะละเอียดรอบคอบแบบนี้ เห็นแล้วก็อดขอบคุณไม่ได้ ^^
ปิดนิดๆ หน่อยๆ ก็เล่นใหญ่เชียว (ขอบคุณนะครับ)
ปิดแบบลงไปเดินบนถนน ก็ยังล้อมกรวยเป็นทางเดินให้

 

10) สภาพบ้านเมือง

หากจะพูดกันตรงๆ เลยคือ สภาพแวดล้อมของญี่ปุ่นเป็นสภาพบ้านเมืองแบบ “โลกที่ 1” คือจัดอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความกว้างของตัวฟุตปาธ เสาไฟฟ้าก็ถูกเอาลงดินหมดแล้วในถนนใหญ่ มีต้นไม้พอให้ร่มเงาริมทางเดิน ตึกรามอาคารก็ดูสวยงาม การตกแต่งร้านค้ามีสีสัน “ผู้คน” แต่งตัวดีออกมาเดินกันคึกคัก

 

ผู้คนคึกคัก เต็มไปด้วยพลังงาน
สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย

 

ในเมื่อการตกแต่งภายในห้างเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญให้คนอยากมาเดินห้าง สภาพแวดล้อมตามท้องถนนสองข้างทางก็มีผลอย่างมากให้คนอยากออกมาเดินเล่นใช้ชีวิตเช่นกัน 

 

 

เชื่อว่าความใส่ใจรายละเอียดขนาดนี้กับเรื่องทางเท้า คงจะตอบคำถามของใครหลายคนได้แล้วว่า “ทำไมฟุตปาธในญี่ปุ่น ถึงเดินได้อย่างสบายใจ?” ^^

 

 

ทางเท้านั้นน่าจะเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สุดแล้วของการสร้างเมือง ที่ประชาชนผู้จ่ายภาษีพึงสมควรจะได้รับเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่า Japan could teach us a thing or two ทางเท้าญี่ปุ่นคงจะเป็นต้นแบบแนวทางให้เราเรียนรู้นำไปพัฒนาต่อได้ไม่มากก็น้อยนะครับ ^^

TAGS

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ